The Knight in Rusty Armor (2)


The Knight in Rusty Armor (2)

หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือบางๆ แค่ 74 หน้า แต่เต็มเปี่ยมด้วยสาระ หากว่าเรากำลัง "มองค้นหาและใคร่ครวญ" คุณสมบัติที่ว่านี้ ("เต็มเปี่ยมด้วยสาระ หากว่าค้นหาใคร่ครวญ") ที่จริงก็อยู่ในนิเวศรอบตัวเรานี่เอง ในทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่เราใช้ชีวิต สังเกต ค้นหา ใคร่ครวญ จะพบนานาสาระมากมายที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จักจบสิ้น ขอวิพากษ์ต่ออีกสักหน่อย หลังจากภาคแรก แต่แนะนำว่าถ้ามีโอกาส ให้หาเล่มจริง หรือเล่มแปล มาอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่น่าจะใช้เวลานาน แต่คุ้มค่าทีเดียว

                               

บทที่ 2: In Merlin's Woods

หลังจากที่อัศวินออกเดินทางเข้าไปในป่าใหญ่ เพื่อค้นหาเมอร์ลินผู้วิเศษ เพื่อหวังจะให้บอกวิธีถอดเกราะให้ อยู่เป็นเวลานานแสนนาน อัศวินก็เริ่มหมดแรง และหิวโหยอย่างยิ่ง เพราะรูกระจังหน้าหมวกนั้นเล็กนิดเดียว กินอะไรก็ไม่ได้ เช้าวันหนึ่งจู่ๆอัศวินก็เจอเมอร์ลินนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ แวดล้อมด้วยสัตว์เล็กสัตว์น้อย นก เกาะอยู่บนตัวและรอบๆข้าง

อัศวินมองไปอย่่างแทบไม่เชื่อสายตา "How could all these animals find Merlin so easily when it was so hard for me?"

อัศวินค่อยๆตะกายลงมาจากหลังม้า รำพึง "I've been looking for you. I've been lost for months."

"You've been lost all your life," เมอร์ลินตอบ

อัศวินหงุดหงิด "I didn't come all this way to be insulted." ข้าไม่ได้เดินทางตรกตรำขนาดนี้มาให้ใครดูถูกหรอกนะ

"Perhaps you have always taken the truth to be an insult." เมอร์ลินว่า

อัศวินทรุดตัวลงนั่ง หมดเรี่ยวหมดแรง เมอร์ลินมองอย่างเมตตา "You are most fortunate. You are too weak to run."

"What's that supposed to mean?"

"A person cannot run and also learn. He must stay in one place for a while."

 

 อุปมานี้เหมือนจะเน้นที่ว่า "When pupils are ready, teacher appears." อัศวินเมื่อค้นหาอย่างจริงจัง ทุ่มเทพลังกายลงกระทำจริงในการค้นหานั้น ไม่ได้แค่นั่งแช่ จินตนาการไปเอง หรือพร่ำรำพัน เมอร์ลินก็ปรากฏกายขึ้นมา

การสอนของเมอร์ลินจะใช้การถามกลับเกือบตลอดเวลา ทั้งนี้ "การเรียนที่แท้ (authentic learning)" นั้นเป็น active process ไม่ได้เป็น passive process นักเรียนจะต้องตั้งคำถามเอง ตั้งสมมติฐานของคำตอบ ทดสอบ ทดลองเอง จนกระทั้งเกิดเป็นความรู้แบบฝังลึก และเข้าไปอยู่ข้างในเนื้อตัว 

เมื่ออัศวินบอกว่าเขาหลงวนเวียนมาเป็นเดือนๆนั้น อัศวินหมายถึงการค้นหา Merlin ในป่าแห่งนี้ แต่ที่เมอร์ลินตอบว่า ที่จริงอัศวินหลงทางมาทั้งชีวิตนั้น หมายถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดของอัศวินต่างหากที่หลงทางอยู่ อัศวินใช้เวลาส่วนใหญ่ นั่งบนหลังม้า สวมใส่เสื้อเกราะ ค้นหาความหมาย ปกปิดความกลัวของตนเอง แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่อัศวินจะรู้ตัวแล้วว่า Glory ที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น มันเพ้อฝัน เลื่อนลอยแค่ไหน

เมื่อเมอร์ลิน "สะกิด" ปุ๊บ  อัศวินก็โกรธทันที อันนี้ก็เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของ "เกราะ" ที่สวมใส่นานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเราที่สวมเกราะ ท่องมนต์ บริกรรม เพียงเพราะ "ความกลัว" กลัวที่จะบาดเจ็บ กลัวที่จะสูญเสีย self กลัวคำตำหนิติเตียน ฯลฯ เกราะของเราจะทำหน้าที่แบบอัตโนมัติ เมื่อไรก็ตามที่ self เราทำท่าว่าจะถูกคุกคามจากภายนอก เราก็จะรีบตั้งการ์ด หรือรีบรุกรานออกไปก่อน ที่ชานเมือง หรือตัวตน ของเราจะถูกข้าศึกตีแตก โดยเฉพาะที่กลัวทีสุดก็คือ "ข้าศึกแห่งความจริง" ที่กำลังจะเตือนว่า ที่แท้เราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ (หรือไม่ทำอะไรอยู่)

เมอร์ลินจึงบอกว่า "อัศวินนั้น อาจจะถือเอาความจริงที่สะท้อนกลับมานั้น เป็นการดูถูก ดูแคลน แทนที่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน"

ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้สัจจธรรมนั้น ประสาทสัมผัสของเราทุกส่วน ควรที่จะได้สัมผัส รับทราบ และดื่มด่ำอย่างเต็มที่กับประสบการณ์ กับปรากฏการณ์ต่่างๆ เมอร์ลินจึงบอกว่าอัศวินโชคดีที่หมดแรงวิ่งแล้ว เพราะการใช้ชีวิตแบบ "จานด่วน" นั้น เราไม่มีเวลาจะสังเกตอะไรเลย ภาพทิวทัศน์รอบข้างเหมือนเงาเบลอๆนอกหน้าต่างรถไฟด่วน สัจจธรรมที่จะเห็นก็ไม่มีอะไรจะสังเกตได้ เมอร์ลินจึงบอกว่า "ถ้าจะเรียนอะไรให้ดีนั้น ต้องหยุดวิ่งไปวิ่งมา และเริ่มใช้จิต ใช้สติ มาสังเกตและใคร่ครวญ"

เมอร์ลินเอาต้นฟางเล็กๆมาทำเป็นหลอด แล้วให้อัศวินดูดน้ำทางหลอดที่สอดผ่านกระจังหน้าหมวกเกราะ  อัศวินก้มดูดน้ำอย่างกระหายเพราะกินอะไรด้วยความยากลำบากมานาน จิบแรกที่ดูดมีรสชาติขมทีเดียว ต่อๆมารสชาติก็เริ่มดีขึ้นๆ อึกสุดท้ายนั้นกลับรู้สึกว่าเป็นรสชาติที่ชุ่มชื่นรื่นรมย์ทีเดียว อัศวินถึงกับบอกกับเมอร์ลิน ขณะที่ยื่นถ้วยคืนว่า "นี่ถ้าเอาวางขายละก็ รุ่งแน่ๆเลยนะครับ"

เมอร์ลินยิ้ม

"น้ำอะไรน่ะ?" อัศวินถาม

"ชีวิต" เมอร์ลินตอบ

"น้ำชีวิตเหรอ?"

"ถูกแล้ว รสชาติจิบแรกมันค่อนข้างขมใช่ไหม ต่อๆมาพอชิมมากๆเข้า รสชาติมันดีขึ้นใช่ไหม?"

"อืม.... อือ จริง อึกสุดท้ายนี่ยิ่งสุดยอดเลย"

"เธอรู้สึกอย่างนั้นได้ก็เพราะ เธอเริ่มที่จะ "ยอมรับ" ในส่ิงที่เธอกำลังดื่มอยู่"

"ท่านหมายความว่าชีวิตของเราจะดีขึ้นเอง เพียงแค่เรายอมรับมันเหรอ?

"ใช่หรือไม่ใช่ล่ะ?" เมอร์ลินถามตอบยิ้มๆ

"ท่านจะหมายความว่า ข้าควรจะยอมรับเจ้าเสื้อเกราะหนาหนักเนี่ยน่ะนะ?"

"อา....." เมอร์ลิินตอบ "แต่เธอไม่ได้เกิดมากับเกราะมิใช่หรือ? เธอเป็นคนเอาเกราะมาใส่ทีหลังนี่เอง เคยถามตัวเองไหมล่ะ เอามาใส่ไปทำไม?"

"........."

 
 

 ชีวิตจะดีขึ้นเอง เพียงแค่เรายอมรับมัน

เมอร์ลิน เริ่มบทเรียนสำคัญบทแรกๆให้แกอัศวิน

ชีวิตของเราแต่ละคน บางทีเราก็รู้สึกว่าเหลือจะทนทาน สิ่งที่เรามีนั้น ไม่เคยมีอะไรดีอย่างที่เราคาดหวังเลย เรามักจะมองเห็นสิ่งที่เราขาด สิ่งที่เราอยากจะมีแต่ยังไม่มี แต่ไม่ค่อยใช้เวลาสังกตและใคร่ครวญว่า ที่แท้จริงแล้ว เรานั้นร่ำรวยมหาศาลทีเดียว นับตังแต่ที่เราได้เกิดมา และมีชีวิต ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ privilege แล้ว

ถ้าหากเราเพียง "ยอมเสพ" ชีวิต รสชาติตอนแรกๆที่ขมๆ มันจะค่อยๆดีขึ้นเอง ไม่ใช่เพราะเราเปลี่ยนน้ำชีวิต แต่ที่เปลี่ยนก็คือ เจตนคติ มุมมองของเราต่อชีวิต ต่อหน้าที่การงาน มองเห็นความเป็นเอกลักษณ์ วัตถุประสงค์ และความหมายว่าทำไมเราจึงเกิดมา ทำไมเราจึงได้เรียนโน้น มีประสบการณ์นี้ ได้ทำนั้น ไม่ได้ทำตรงนี้ ได้ไปอยู่ที่นั้น แต่ไม่ได้อยู่ตรงนี้ ฯลฯ

"การยอมรับ" เป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว

คำถามที่อัศวินถามก็น่าสนใจ พอเมอร์ลินบอกให้ "ยอมรับ" อัศวินก็งงงวย อ้าวแปลว่าเขาควรจะยอมรับเกราะนี้เหรอ แต่อัศวินลืมไปว่า ทุกข์ของเขา หรือเกราะที่ถอดไม่ออกนี้ ครั้งหนึ่งเขาไม่เคยมี เคยอยู่ได้โดยปราศจาก เคยไม่ต้องสวมใส่

คนเราบางครั้งก็เผลอคิดไปว่า เราเกิดมาพร้อมกับเกราะหนาหนักนี้ก็มี ความคิดที่ว่าจะอยู่โดยไม่ต้องสวมเกราะ หายไปจากมโนทัศน์ไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ ตัวเองก็รู้สึกว่าหนักขึ้นๆ กอปรกับมีกระบวนทัศน์ที่ว่า เราจะ "ต้องอยู่กับเกราะ" นี้ มันฝังแน่น หยั่งรากลึกซึ้ง อาจจะเป็นเพราะความใฝ่ฝันแต่เด็กๆ สิ่งที่เราขาดและโหยหามาแต่ไหนแต่ไร กลายเป็น craving ที่มีแต่จะต้องหามาให้ได้ และหามาแล้วก็ต้องเก็บมันไว้ให้ได้ แบกมันไว้ให้ได้ การหาทางแก้ไขในชีวิต จะมีแต่เพียงจะแบกเกราะนี้อย่างไร จะเก็บเกราะนี้ยังไง จะขัดสีฉวีวรรณให้เกราะแวววาวอย่างไร วันละกี่ครั้ง เป็นอัตตาของตนเองที่ใหญ่ขึ้นๆ กลายเป็น Burden ที่หนักขึ้นๆ สุขภาวะของตนเองก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะมันถึงขีดจำกัด ทั้งๆที่ศักยภาพของมนุษย์นั้นมหาศาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะปู้ยี่ปู้ยำมัน แต่่เราควรจะหล่อเลี้ยง ทำนุบำรุง ให้เติบโต เรียนรู้ มีภูมิคุ้มกันมากกว่า

เหมือนนิเวศของโลกใบนี้ มีทรัพยากรเหมือนว่าจะเหลือเฟือ จนบางทีเราเผลอไป ด้วยอวิชชา consume พลังงานและทรัพยากรอย่างหลงระเริง ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย สมบุกสมบัน หารู้ไม่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีข้อจำกัดอย่างยิ่งทั้งสิ้น 

ปัญหาของแต่ละคน ณ ขณะนี้ อาจจะเป็น เราจะ "ยอมรับ" ชีวิตของเราในแบบไหน มีเกราะ ไม่มีเกราะ มีเกราะแต่วางเกราะได้ หรืออย่างไรดี? 

 
หมายเลขบันทึก: 165734เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เท่าที่เคยเห็นมา บางคนก็ต้องการเกราะป้องกันตัวค่ะ

เช่น ตัวเองก็ไม่ได้มีความรู้อย่างแท้จริง ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากนัก แต่อาศัย ปริญญาที่ได้มา ซึ่งจะเป็นทางทฤษฏีเป็นส่วนใหญ่ ของฝรั่งทั้งนั้น

และทฤษฎี (theory) บางทีไม่ใช่ ความจริง

 (fact)เป็นการตีความจริง และทฤษฎีจึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

นักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยหลงคิดว่าทฤษฎี เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

มีตัวอย่างจริงๆค่ะ แต่อาจไม่เหมาะ จะนำมาเล่า ขออภัยค่ะ

สวัสดีครับ คุณ Sasinanda

ทฤษฎีก็เป็นทฤษฎีแหละครับ แค่สมมติฐาน​(hypothesis) ที่บางส่วนได้รับการพิสูจน์ ว่า "จริง" ในบริบทหนึ่ง

พอเปลี่ยนบริบท ก็เปลี่ยนค่า เปลี่ยนผลไป

ที่จริง ทฤษฎีของไทย  theory ของฝรั่ง มันไม่มีค่าทั้งสิ้น ตราบใดที่เรายังไม่ได้นำมาทำเพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ

นักวิชาการชาติไหนๆ หรือ ประชาชนไม่จำกัดเชื้อชาติภาษา ก็อยู่ในวงจรนี่เหมือนๆกันไหมครับ 

  • ชอบที่อาจารย์สรุปไว้ค่ะ
  • ที่ว่า "ความกลัวจะสูญเสีย self "  นี่แหละค่ะ น่าสำคัญ
  • ตัวข้า ใครอย่าแตะ  แตะแล้วของขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะความกลัวนี่แหละค่ะ
  • วันนี้วันมาฆะบูชา  น่าที่จะช่วยกันออกแบบวิธีตั้งหลัก และช่วยกันปลดปล่อยความกลัวจะสูญเสีย self ของบุคคลกันดู  เพื่อโลกจะได้รื่นรมย์ขึ้นอีกโข
  • เกราะที่หุ้มตัวเรา มีไว้เพื่อ หุ้มห่อ self มิใช่หรือ 
  • ขอบคุณ บทความดีๆที่มีให้อ่านอยู่เรื่อยๆ ค่ะ

พี่หมอเจ๊ครับ

FEAR นี่เป็นสุดยอดแล้วครับ แล้วสาเหตุที่เรามีความกลัวก็สำคัญไม่น้อย ก็คือเพื่อการอยู่รอดนั่นเอง ถ้าเราไม่กลัว เราก็คงจะทะเร่อทะร่าไปอยู่ในที่ที่มีความเสี่ยง และเกิดอันตรายต่อตัวเราเองได้

แต่มนุษย์ถูกอวยพรมาด้วย "จิตใหญ่" ที่สามารถทำได้ทั้งเอาตัวรอด และเอาชนะความกลัว

บางคนยิ่ง "สะสม self" เท่าไร ยิ่งมีเรื่องที่จะ "เสีย self" เพ่ิมมากขึ้นเท่านั้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ และไม่จำกัดอาชีพ จำกัดวัยด้วยนะครับ ผมมีเพื่อนบางคน ลืม dose ยา (ใครจะไปจำได้หมด TIMS บ้าง) จะเปิดคู่มือดู ก็ต้องบอกคนไข้ว่าขอไปเข้าห้องน้ำ กลัวเขารู้ว่าจำไม่ได้ เสียฟอร์ม (เขาบอกว่าคนไข้จะหมดศรัทธาเอาเลยทีเดียว) ซึ่งก็ไม่เชิงไร้เหตุผลนะครับ วันก่อนก็มีคนวิจารณ์ว่า "เอ... หมอที่ รพ.ม.อ.นี่ ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองเลยนะ ตรวจทีไร ก็ต้องไปถามคนนี้เพิ่ม คนนั้นเพิ่ม สู้ตรวจข้างนอกไม่ได้ เขาตรวจแป๊บเดียวก็ฟันธงแล้วว่าเป็นอะไร" ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ ใน รร.แพทย์เรามีระบบปรึกษา และเป็นที่ฝึกอบรม แพทย์ประจำบ้านก็จะถูกสอนให้แสวงหาความรู้จากอาจารย์เพ่ิมเติม นอกเหนือจากที่ตนเองรู้้อยู่ ก็กลายเป็นไม่มั่นใจไป

จะเห็นว่าจะหนีความกลัวนั่นไม่ง่ายทีเดียว มันมีอะไรเป็นเดิมพัน แต่ก็ถ้าเราคิดว่าสำคัญ และน่ากระทำ ก็ไม่มีอะไรจะมาขวางกั้นเราได้เหมือนกันนะครับ

ขอบคุณค่ะ

รู้สึกโดนใจจนภายในสะเทือนเลื่อนลั่นเลยค่ะ

ขอบคุณอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท