มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

เราหวังผลลัพธ์อะไรจากการสอนจริยธรรมให้กับนักศึกษาสายสุขภาพ


เมื่อวานมีประชุม การพัฒนา grant proposal ระดับเบิ้ม โครงการ 5 ปี ค่ะ

--------------------------------------------------------------------------

หัวข้อโครงการวิจัย คือ Oral Health-related Disparities

หรือ ความไม่เสมอภาคในสังคมที่มีผลต่อสุขภาพช่องปาก

-------------------------------------------------------------------------- 

อ.ที่ปรึกษาของผู้เขียนเป็นหัวหน้าทีม มี co-investigators จากหลายสาขาทั้งจากมหาวิทยาลัย จากกระทรวงสาธารณสุข และ จาก NGO (ทันตแพทยศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ วางแผนและนโยบาย)

ที่ British Columbia นี้ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากไม่รวมอยู่ใน สวัสดิการรัฐเหมือนการดูแลรักษาสุขภาพทั่วไปค่ะ

ประชาชนส่วนมากต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หรือไม่ก็ซื้อประกันเพิ่มเติม

คนจนมี welfare แต่มีปัญหาคือ หมอไม่ค่อยอยากรับคนไข้ เพราะรัฐออกให้ 80% อีก 20% ทางคลินิกต้องรับผิดชอบเอง

ในจังหวัด (ที่มีขนาดใหญ่เกือบเป็นประเทศเล็กๆ) แบบ BC นี้ มีคลินิกที่ให้บริการฟรี หรือ คิดราคาถูกมากอยู่ 8 แห่ง ทุกแห่งอาศัยหมอมาเป็นอาสาสมัคร ทำให้เดือนละหน วนกันมา บางที่อาทิตย์ละหน เป็นการทำงาน"แบบ pro-bono" "แบบ random act of kindness" "แบบ charity"  ใครมาได้ก็มาช่วยทำโดยไม่คิดค่าหมอ ส่วนค่าวัสดุอุปกรณ์ทางผู้บริหารงานคลินิกต้องจัดการไปหาทุนมาเอง คลินิกเปิดแค่อาทิตย์ละวันสองวัน ส่วนมากก็อุด ขูด ถอน ธรรมดา ทำให้หายอาการเจ็บปวดบวม

ทางคณะวิจัยก็ต้องการไปศึกษาคลินิกพวกนี้ ไปดูว่าทำงานอย่างไร มีประวัติอย่างไร คนก่อนตั้งมีแรงจูงใจอะไร

ผลที่ต้องการคือ

  1. โมเดลของคลีนิกที่จะเอาไปดัดแปลงพัฒนาในเมืองเล็กๆอื่นๆ ที่ไม่มีคลินิกพวกนี้ได้
  2. เอาความรู้ที่ได้ไปร่างหลักสูตรสอนนักศึกษาทันตแพทย์ให้จบไปแล้วไป ทำงานเพื่อคนจนบ้าง ไม่ใช่ทำงานแต่ในคลินิกสวยหรูในเมืองอย่างเดียว

ฟังดูดีใช่ไม๊ค่ะ แต่แล้วก็มีเสียงสวรรค์มาให้หยุดเพ้อฝันว่า proposal เสร็จแล้ว

-------------------------------------------------------------------------------

อ.จากคณะศึกษาศาสตร์เสนอขึ้นมาด้วยคำถามว่า

แล้วผลลัพธ์ที่พวกเราต้องการคืออะไร? สอนจริยธรรมเพื่อให้หมอพวกนี้จบออกมาแล้วมาเป็นอาสาสมัครแบบนั้นเหรอ

วงจรการทำงาน"แบบ pro-bono" "แบบ random act of kindness" "แบบ charity" ก็ไม่จบนะ เราต้องการแค่นั้นเหรอ 

ฉันว่าเรามาสร้าง มาtransform นักศึกษาให้เป็นหมอที่ (engage) เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ไปเปลี่ยนวิถีการดูแลสุขภาพช่องปาก ไป advocate ให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายไม่ยั่งยืนกว่าเหรอ! 

โอยยยยย ถูกใจผู้เขียนมากค่ะ

------------------------------------------------------------------------------- 

เทียบกับกรณีคนไทยนะคะ

เราต้องการสอนให้นักศึกษาจบมาแล้ว มีจิตใจดีพอที่จะไปอาสาออกงานทันตกรรมเคลื่อนที่หรือ ตั้งรับให้บริการราคาย่อมเยาเท่านั้นเหรอ

-------------------------------------------------------------------------------

การดูแลสุกขภาพช่องปาก มีสองส่วน คือ

  1. ดูแล ป้องกัน ส่งเสริม กับ
  2. รักษา

ผลลัพธ์ที่เราต้องการคืออะไร

อันนี้ตอบง่าย  - เราต้องการมากกว่านั้น ต้องการให้ pro-active ไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ไปมีส่วนผลักดันรัฐบาล 

แต่......จะสอนยังไงหล่ะทีนี้! 

------------------------------------------------------------------------------- 

ผู้เขียนนั่งคิดในใจ โอ๊ยยยยย บ้านเราง่ายกว่าที่แคนาดาเยอะ ที่แคนาดานักศึกษาทันตแพทย์ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพงมากๆ เป็นหนี้ธนาคารกันแทบทุกคน เรียนจบก็ต้องรีบๆหาเงินมาคืนธนาคาร

แถม "ชนบท" ที่นี่มันช่างไกลแสนไกล มันมีภูเขา มีหิมะ มันเข้าถึงลำบากกว่าบ้านเราเยอะเลยค่ะ

ค่าทำฟันก็แสนแพง บ้านเรายังพอมีรัฐช่วย ถึงแม้ระบบ 30 บาทจะไม่เป็นที่พอใจของหลายๆคนก็เถอะ

แต่ถึงจะง่ายกว่า.....ผู้เขียนก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า เราสอนนักศึกษาให้ pro-active ได้จริงรึเปล่า 

ใครมีตัวอย่าง หรือ comment กรุณายิงมาเลยค่ะ! 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 90332เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2007 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับอาจารย์

  • น่าเห็นใจพี่น้องชาวบ้านที่นั่นจังครับ  เรื่องนี้ลำบากกว่าเมืองในเยอะเลยครับ  ที่บ้านเราแม้จะไกลอู่ไกล้ชายแดน บนดอยแบบที่แม่ฮ่องสอน การให้บริการด้านทันตกรรมนั้นผมคิดว่า หรูมากครับ  ที่เรามีหมอฟันตั้ง 3คน ทำงานตั้งจันทร์ถึงศุกร์  บางครั้งต้องเปิดให้บริการจนถึง 2 ทุ่ม  เดือนก่อนเห็นพี่หมอฟันนัดน้องนักเรียนมาทำตอนวันเสาร์ด้วยครับ
  • ดูปัจจัยและบริบท ที่ทำให้เกิดสถาพการบริการแบบปัจจุบันที่นั่นแล้วก็ ...อืม ยากเหมือนกันครับ  แต่ก็คิดว่าเป็นไปได้ครับ   ที่บ้านเรากำลังเน้น Humanized Healthcare  ผมคิดว่าดีมากครับตอนนี้
  • ตอนนี้ที่เมืองไทย กำลังก้าวเข้าไปในเรื่องของ ทีมสุขภาพ ภาคีเครือข่าย ชุมชน การมีส่วนร่วมค่ะ
  • ของกรมอนามัย เน้นในเรื่องภาคีเครือข่ายขึ้นมาก มาก
  • ให้งานส่งเสริมสุขภาพทั้งหลาย คลุกคลีกับเครือข่ายสุขภาพให้มากขึ้น
  • ในส่วน นศ. เมืองไทยยังไม่ใกล้ชุมชน
  • เห็นบางพื้นที่ เช่น ทันตฯ เชียงใหม่ สงขลา แต่ไม่ทราบมีความเข้มข้นกันอย่างไรนะคะ
  • แต่ดูว่า สิ่งที่น่าจะสร้างให้ นศ. มีความใส่ใจเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพ ก็คือ
  • เขาต้องมีใจรัก รับฟัง คุ้นเคย และมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อที่จะได้ร่วมสร้างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพไปพร้อมๆ กับชุมชนได้ละค่ะ
  • อาจเป็นบริบทของเมืองไทยนะคะ
  • หมอมัท ว่าไง

หมอสุพัฒน์  - พี่หมอนนท์ ค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะที่มาช่วยกันคิดช่วยกันเขียน

ใช่ค่ะ มัทมีหวังกำลังใจกับบ้านเรามากค่ะ เมื่อมาเห็นปัจจัยต่างๆที่นี่

เคยคิดว่าสอนให้นักศึกษาไทยมีส่วนร่วมกับชุมชน สอนยาก ตอนนี้ก็ยังคิดว่ายากอยู่ แต่ มีกำลังใจมากขึ้นมากๆ

ยิ่งรู้ว่ามีบุคคลากรทั่วประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ด ีแบบที่พบได้มากมายใน gotoknow ยิ่งมีกำลังใจค่ะ 

วันนี้ อ่าน หนังสือ เรื่อง สุขภาวะ องค์รวมแนวพุทธ  ของ หลวงพ่อ พรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ. ปยุตโต )  มี ประโยคหนึ่ง ที่รู้สึก ใช่เลย  ท่านบอกว่า

เราพัฒนาแต่ วิธีหาความสุข  แต่ไม่พัฒนา ศักยภาพที่จะมีความสุข

เราค้นหาวิธีที่จะมีความสุข แบบใหม่ ๆ  เรามี วิทยาการใหม่ ๆ เพื่อคาดว่าจะได้ความสุข สบาย มากขึ้น เราแสวงหาวิธีใหม่ ๆ มีเรื่องใหม่ ๆ  ไม่เหมือน 50 ปีก่อน  แต่ทำไมเราก็   ยังทุกข์มากกว่า เมื่อ 50 ปีก่อน   เพราะ  เราไม่เคยสร้างศักยภาพ ที่จะมีความสุขด้วยตัวเอง ไม่ใช่ความสุขที่ต้องพึ่งพา สิ่งรอบตัวที่ไม่จีรัง อยู่ร่ำไป

การทำงานเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เพื่อ สาธารณสุขจริง ๆ   ไม่ง่ายครับ แต่ก็เป็นไปได้ ( ภาษา positive thinking )  ยิ่งงานสร้างคน แบบของคุณหมอแล้ว ก็ไม่ง่าย (แต่ก็เป็นไปได้ ) ( ตัวสีจางอย่าไปสนใจนะครับ สนใจแต่ตัวสีเข้ม )

ไม่ใช่เฉพาะทันตแพทย์หรอกครับ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด้าน สาธารณสุขทั้งหมด แหละครับ พวกเรา ทั้งหมด คงต้อง transform ทั้ง  ตัวนักศึกษาเอง อาจารย์   และ ระบบ ที่เอื้ออำนวย ให้การทำงานแบบนี้ มีที่ยืน

ทำให้ เด็ก ๆ นักศึกษา มองเห็น ตัวอย่าง วิถีการทำงานแบบนี้ ให้เขาคุ้นเคยกับการทำงาน กับมนุษย์  และรู้สึกเป็น  เรื่องธรรมดา ที่เมื่อจบมาแล้วก็น่าจะทำงานแนวนี้ ทำงานกับชุมชน   ทำงานกับความทุกข์ และความเจ็บป่วย    ไม่ใช่เรื่อง ของสังคมสงเคราะห์ ทำบุญ หรือ อาสาสมัคร  ( เป็นเรื่องแปลกจริง ๆ ทีงานของเรา ก็เป็นงาน ที่ทำบุญ สงเคราะห์ ช่วยเหลือให้คนพ้นทุกข์อยู่แล้วนี่นา แค่ทำตามที่ควรจะเป็น  ตามครรลอง ทำไม่ต้อง มาทำสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัครกันอีก  )

มีข้อเสนอของ อ.โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์  

" 2. สนับสนุน ให้เกิดการ  ค้นหาและ ชื่นชม  เรื่องราวเกี่ยวกับความดี คุณธรรมของวิชาชีพ อุดมคติที่แฝงไว้ในระบบงาน  โดยเฉพาะเรื่องราวของคนเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างใส่ใจและทุ่มเท  ในหน่วยงานต่าง ๆ ."

จาก องค์กรไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรัก และความเข้าใจ
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ บรรยาย 14 มีค.50

 

ที่ผ่านมา เราพัฒนาหา model ต่าง ๆ หาวิธีต่าง ๆ ที่จะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ทำมานาน

 

แต่เราไม่ค่อยได้พัฒนา ศักยภาพของคน ของระบบ ที่จะให้บริการสาธารณสุข  เพื่อ ช่วยเหลือ เพื่อนทุกข์ เลย

 

อ้อ ผมไม่เคย หวัง และสนใจกับ นโยบายของ รัฐบาล เลยครับ เพราะ  รํฐบาลเปลี่ยนบ่อยกว่า รถยนต์ที่เราขับอีก ครับ  ถ้ามัวแต่หวัง การสร้างนโยบายจากรัฐบาล ก็ไม่เป็นอันต้องทำอะไรพอดี  เหนื่อย มั๊กมาก

 

เอากำลังไปทุ่มเทกับขอบเขต ที่เราสามารถทำได้ ทำให้เต็มที่ดีกว่า ครับ

 

คุณหมอทำได้อยู่แล้ว  You can do it.

  • ขอโทษ อ.หมอมัท ค่ะ ตามมาฟังอีกแล้ว
  • ตามมาขอชอบ เรื่องเล่าจากหมอจิ้น อีกแล้วละค่ะ ที่ว่า
  • ข้อเสนอของ อ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ " 2. สนับสนุน ให้เกิดการ  ค้นหา และชื่นชม  เรื่องราวเกี่ยวกับความดี คุณธรรมของวิชาชีพ อุดมคติที่แฝงไว้ในระบบงาน โดยเฉพาะเรื่องราวของคนเล็กๆ ที่ทำงานอย่างใส่ใจ และทุ่มเท ในหน่วยงานต่างๆ"
    จาก "องค์กรไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรัก และความเข้าใจ"
  • เรื่องดีดี อย่างนี้ ก็ได้มาฟังที่ G2K นี่เอง

หมอจิ้น ค่ะ ขอบคุณมากๆ หรือ ขอบคุณ มั๊กมาก ค่ะ : )

คุณหมอเขียนได้ตรงใจมากๆ เหมือนมีคนมาช่วยร้อยเรียงความคิดให้เป็นตัวอักษรให้ ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
----------- 
"ที่ผ่านมา เราพัฒนาหา model ต่าง ๆ หาวิธีต่าง ๆ ที่จะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ทำมานาน

 

แต่เราไม่ค่อยได้พัฒนา ศักยภาพของคน ของระบบ ที่จะให้บริการสาธารณสุข  เพื่อ ช่วยเหลือ เพื่อนทุกข์ เลย"

-----------

โดนมากค่ะ ประโยคนี้เลยคือหัวใจ thesis ที่มัททำอยู่ : )

แล้วที่โดนใจที่สุดคือ

-----------

" เป็นเรื่องแปลกจริงๆ ที่งานของเรา ก็เป็นงาน ที่ทำบุญ สงเคราะห์ ช่วยเหลือให้คนพ้นทุกข์อยู่แล้วนี่นา"

" มองให้มันเป็นเรื่อง ธรรมดา"

"ทำไมต้อง มาทำสังคมสงเคราะห์ อาสาสมัครกันอีก"
-----------  

อีกอย่างหนึ่งที่มัทอยากให้อ. ภาคชุมชนทุกที่ มองเห็นคือ ชุมชน ไม่ได้แปลว่าพื้นที่ห่างไกลความเจริญ  ไม่ใช่ บ้านนอกคอกนา แต่ชุมชนมีอยู่ทุกที่ ปัญหาในอ. เมือง หรือ เขตอุตสาหกรรม ก็มีไม่น้อย อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเราดูกันที่ social determinant ต่างๆ ไม่ใช่แค่งานบริการ

 

พี่หมอนนท์ ค่ะ มัทดีใจจังค่ะที่ได้มาอยู่ในชุมชน gotoknow! 

 

 

ขอชื่นชมความรู้ ความสามารถในการเรียนของอาจารย์มากค่ะ   สนใจเรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพค่ะ ไม่ทราบว่าอาจารย์มี  paper เกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพทางทันตกรรมบ้างไหมคะ หายากมากค่ะ ขอบคุรล่วงหน้าค่ะ

พี่หมอฉลองค่ะ paper พอหาได้ค่ะมีให้เห็นมากขึ้นมากค่ะ 

เช่น

  • การหาปัจจัยอุปสรรค ปัจจัยความสำเร็จ ของงานที่สนใจ  
  • การหาเหตุภายใต้ความสำเร็จ หรือ ไม่สำเร็จของงาน 
  • การถามความคิดเห็น ความรู้สึก เกี่ยวกับ ความสำคัญของสุขภาพช่องปาก
  • การค้นหา"ความหมาย. ของ "สุขภาพช่องปาก" ในกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ คนจน ผู้ปกครองของเด็ก

 ฯลฯ

แต่ paper พวกนี้มีพื้นที่ให้เขียนส่วน วิธีวิจัย สั้นมากๆ ถ้าพี่สนใจการวิจัยเชิงคุณภาพ มัทขออาจเอื้อมแนะนำให้อ่าน หนังสือ หรือ อ่าน paper ที่เกี่ยวกับ วิธีวิจัยโดยเฉพาะด้วยค่ะ

พี่สนใจด้านไหน หรือมีคำถามวิจัยอะไรในใจไม๊ค่ะ email มาคุยกันได้ มัทจะได้เลือก paper ให้ตรงใจค่ะ เพราะงานวิจัยเชิงคุณภาพก็ยังแบ่งย่อยลงไปได้อีก

จริงๆ อ.ที่ ภาค ชุมชน ทันตะ ม.อ. ก็ มีหลายคนสนใจและเรียนด้านนี้มาเช่นกันค่ะ

ไว้ email มาคุยกับมัทได้ค่ะ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท