กว่าจะมาเป็นคุณเอื้อแห่ง มน.


บนเส้นทางนี้ แม้ว่าจะเหนื่อยและยากมากสำหรับผม แต่ผมก็รู้สึกมีความสุขกับมันมาก เป็นเส้นทางที่เปิดโอกาสให้ผมได้พบกันคนดี ๆ มากมาย หลายท่านนั้นแค่ได้เข้าไปช่วยงานหรือเข้าไปใกล้ชิดก็นับเป็นบุญวาสนาของชีวิตแล้ว

         ผมเขียนเล่าเรื่องนี้ด้วยความภาคภูมิใจครับ จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านล่วงหน้าไว้ก่อนเนื่องจากจะพบว่ามีการยกหางตัวเองเป็นระยะ ๆ แต่ว่าจะพยายามให้ไม่เกินงามครับ

         ภูมิใจที่ได้มีโอกาสมารับผิดชอบงานวิจัย-QA-KM ของมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ซึ่งมีอายุของความเป็นมหาวิทยาลัยย่างเข้าปีที่ 17

         ค่อนข้างใหม่ก็จริง แต่ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือตอนล่าง หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จัก จึงขอแนะนำหน่อยว่าตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก (สองแคว)

         ท่านผู้อ่านที่ได้ชมภาพยนตร์ของท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) เรื่อง “สุริโยไท” และ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หรือว่าเด็ก ๆ ที่ได้ชมภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “ก้านกล้วย” ทุกท่านจะรู้จักและเห็นความสำคัญของเมืองนี้ดี

         และจะเข้าใจด้วยว่าทำไมชาว มน. จึงได้ภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัย ทำไมมหาวิทยาลัยนี้จึงควรตั้งอยู่ที่พิษณุโลก และทำไมชาว มน. (ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิต) จึงมีอุปนิสัยหรือบุคลิกร่วมกันเช่นในทุกวันนี้

         ก็เนื่องด้วยทุกคนล้วนรู้สึกเป็นข้าราชบริพารในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยึดเอาพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างของการทำงานและการดำเนินชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง

         ในฐานะคุณเอื้อแห่ง มน. ผมจะเน้นในจุดนี้กับทีมงานทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสืบทอดเจตนารมณ์

         ผมเริ่มต้นเดินทางบนเส้นทางนี้ตั้งแต่ต้นปี 2544 ในตำแหน่งที่เป็นทางการว่า “ผู้ช่วยอธิการบดี (ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา)” ต่อมาในต้นปี 2547 ขยับเป็น “รองอธิการบดี (ฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ)” จนกระทั่งต้นปี 2548 ถึงปัจจุบันเป็น “รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ” นอกจากนี้ยังมีคำสั่งอย่างเป็นทางการให้ทำหน้าที่เป็น CKO (Chief Knowledge Officer) หรือคุณเอื้อของ มน. อีกด้วย

         ตลอดเส้นทางนี้ผมได้รับโอกาสและการเกื้อหนุนในทุก ๆ ด้านจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรคนปัจจุบัน (รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี) เป็นอย่างดียิ่ง หากไม่ใช่ท่านผมก็คงจะไม่มีโอกาสได้มาเดินบนเส้นทางสายนี้หรือไม่ก็คงหลงทางเข้าป่าเข้ารกหรือถูกเสือจับไปกินนานแล้ว ไม่มีโอกาสมานั่งเขียนเล่าเรื่องนี้อย่างแน่นอน จึงขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ ณ โอกาสนี้อีกครั้งหนึ่ง

         ในฐานะคุณเอื้อแห่ง มน. ผมจึงขอเล่าว่าผมมีจุดแข็งจุดนี้ที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบหรือยังมองไม่เห็น และอาจจะเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญจากคุณเอื้อท่านอื่น ๆ

         ถึงตอนนี้ หลายท่านอาจจะคิดว่าบนเส้นทางคุณเอื้อแห่ง มน. ของผมคงโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ จะคิดหรือไม่คิดก็ตาม ขอความกรุณาให้ผมได้เล่าให้ท่านฟังต่อไปจนจบ

         ผมจะขอแยกเล่าเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ (1) กว่าจะได้มาเป็นคุณเอื้อแห่ง มน. เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นบริบทของที่มาที่ไป และ (2) เมื่อมาเป็นแล้วได้ทำอะไรไปบ้าง เผื่อว่าอาจจะมีบทเรียนที่เป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านอยู่บ้าง โดยจะเน้นที่ในประเด็นหลังมากกว่า

         ในประเด็นแรก (บริบท) ผมได้เกริ่นนำไปบ้างแล้ว จะเล่าต่ออีกเพียงเล็กน้อยเพื่อท่านผู้อ่านจะได้สามารถจินตนาการได้เองว่าบนเส้นทางสายนี้ผมต้องเรียนรู้และปรับตัวมากน้อยแค่ไหน

         ผมเพิ่งเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเมื่อตอนอายุมากแล้ว (ประมาณ 40 ปี) เมื่อปลายปี 2537 ด้วยการชักนำของหัวหน้าโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มน. ในสมัยนั้น (ท่านอธิการบดีในปัจจุบัน)

         แต่ทันทีที่โอนมาเป็นอาจารย์ก็ต้องเดินทางไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ (UK) เลย กลับมา มน. (เริ่มต้นทำงานจริง ๆ) ปลายปี 2541 นับเป็นอาจารย์คนแรกที่คณะส่งไปเรียนปริญญาเอกแล้วจบกลับมา

         อยากจะสอนอยากจะทำวิจัย (ลูกเดียว) อย่างที่อาจารย์ทั่วไปในมหาวิทยาลัยที่โตเต็มที่แล้วพึงทำให้ดีก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอาจารย์รุ่นน้อง ๆ ในคณะที่เขาทำงานแทน ขณะที่เราลาเรียนเขาก็เข้าคิวเตรียมไปเรียนต่อเช่นกัน พอกลางปี 2542 ผมก็ต้องรับบท “รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มน.” และต้นปี 2544 ก็ต้องรับบท “ผู้ช่วยอธิการบดี (ด้านประกันคุณภาพการศึกษา)” เมื่อคณบดีคณะเภสัชฯ สมัยนั้นได้ขึ้นมาเป็นอธิการบดี มน. (จนถึงปัจจุบัน)

         สรุปแล้วผมมีประสบการณ์การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย (ในระดับคณะ) เพียงประมาณ 2 ปี เท่านั้นเอง ก่อนที่จะต้องมารับผิดชอบงานด้านประกันคุณภาพการศึกษา (QA) ของ มน.

         ท่ามกลางความกังขาของคนทั่วไปและของตัวผมเองด้วยว่าจะไปรอดไหม ?

         ประสบการณ์ปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอก (Population pharmacokinetics) จาก UK ของผมนั้นดูจะไม่ตรงนักกับงานที่จะต้องรับผิดชอบและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความกังขาที่ผมได้ยินทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าทำไมเอาคนที่เขาร่ำเรียนทางนี้เข้ามาทำงาน ?

         ข้อกังขาที่ว่านี้ไม่ได้ serious อะไรมากครับเนื่องจาก QA ยังเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือดีและผมมาพบภายหลังว่าการที่ผมไม่ได้เรียนมาทางด้าน QA กลับเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่ไม่ไปยึดติดอยู่กับทฤษฎีจนไม่ลงมือปฏิบัติ

         นอกจากนี้ผมยังจะพอจะจับสัญญาณได้ว่าในช่วงกำลังเปลี่ยนผู้บริหาร (อธิการบดี) นั้นเป็นโอกาสสำคัญที่ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ให้รีบทำ (ตีเหล็กกำลังร้อน) ผมจึงต้องรีบเรียนรู้และปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง

         ณ ขณะนี้ผมกำลังจะพาท่านผู้อ่านเข้าประเด็นที่ 2 (ทำอะไรไปบ้าง) ดังนี้

         ตอนต้นปี 2544 ขณะนั้นแม้ว่า พ.ร.บ. การศึกษา 2542 มีผลบังคับให้ใช้แล้วก็จริง แต่ว่ายังไม่มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่เป็นตัวเป็นตนจริง ๆ ผมจึงต้องอาศัยแนวทางการดำเนินงานจาก (1) พ.ร.บ. การศึกษา 2542 (2) นโยบายและแนวทางของทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น (3) ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน และ (4) แนวคิดดี ๆ จาก CU-QA 84, ISO, BSC, และ Benchmarking : A Manual for Australian Universities เป็นต้น


รูปที่ 1 ภาพรวมระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร (NUQA)

         ผมตั้งเป้าว่าจะต้องทำการประเมินคุณภาพภายใน (IQA) ให้เสร็จสิ้นทุกคณะและทุกหน่วยงานสายสนับสนุนภายในปลายปี 2544 (ใช้ข้อมูลปีการศึกษา 2543 และปีงบประมาณ 2544 ตามลำดับ) และก็สามารถทำได้จริง ๆ นับเป็นครั้งแรกของ มน. อย่างไม่น่าเชื่อ

         ต้นปี 2545 ผมสำรวจความคิดเห็นของทุกคณะและทุกหน่วยงานที่ได้รับการประเมินว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานของเขาไหม ? จะให้ดำเนินการทำนองนี้ต่อไปหรือไม่ ? ถามแม้กระทั่งว่าคุ้มค่าไหมกับเวลาและเงินที่ลงทุนไป

         ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก ๆ ชนิดว่าคะแนนเต็ม 100 ก็ได้เกือบเต็มเลย บางคนให้เกิน 100 ก็มี เสียงส่วนใหญ่ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอให้ทำต่อไปอีก

         ผมเลยได้ใจ มั่นใจขึ้นและทำติดต่อกันมาทุกปีจนกระทั่งปัจจุบัน


รูปที่ 2 River diagram แสดงภาพรวมผลการประเมินคุณภาพภายในระดับคณะวิชาระหว่างปี 2544 - 2549

         ในปี 2545 สมศ. เริ่มเป็นตัวเป็นตนและต้องการหามหาวิทยาลัยนำร่องที่จะทำการประเมินภายนอก (EQA) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย มน. ก็เลยกลายเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐมหาวิทยาลัยแรกที่ได้รับการทาบทามให้ได้รับการประเมินจาก สมศ. โดยมี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานคณะกรรมการประเมิน

         แรกที่ สมศ. ติดต่อมาเราก็ลังเลอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยรู้ดีว่าอายุมหาวิทยาลัยแค่ประมาณ 12 ปี น่าที่จะไปนำร่องกับมหาวิทยาลัยที่เจริญเติบโตแล้วและเข้มแข็งกว่าเรา แต่ด้วยความที่เรามีประสบการณ์การทำ IQA มาครั้งหนึ่งแล้วและเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงได้ตอบรับให้ความร่วมมือกับ สมศ. ก็เพื่อต้องการให้สิ่งที่พวกเราพบว่าดีมาก ๆ นั้นสามารถขยายผลและ implement เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุดมศึกษาของชาติได้ง่ายยิ่งขึ้น

         การประเมินของ สมศ. ในรอบแรกนั้น ประเมินทั้งหมด 8 มาตรฐาน ผลการประเมินของ มน. โดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ “ดี” ในทุก ๆ มาตรฐาน ยกเว้นอยู่ 2 มาตรฐานคือ มาตรฐานด้านการวิจัยผลคือ “ควรปรับปรุง” และอีกมาตรฐานหนึ่งคือ มาตรฐานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาผลคือ “ดีมากเป็นพิเศษ”

         ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ QA และยังไม่ถึงบทที่ผมได้รับคำสั่งให้เป็นคุณเอื้อ (CKO) อย่างเป็นทางการ แต่ว่าทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์และเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ผมจะได้นำไปใช้ในการรับผิดชอบงานของ มน. ที่สำคัญอีก 2 ด้านต่อไป คือ ด้านการวิจัย และการจัดการความรู้ (KM, Knowledge Management) รวมทั้งการเป็นคุณเอื้อแห่ง มน. อย่างเป็นทางการอีกด้วย

         ปลายปี 2546 ท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ในฐานะนายกสภา มน. ได้มีนโยบายเชิงเป้าหมายให้ผู้บริหาร มน. พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย ภายในปี 2550”


รูปที่ 3 แสดงแนวคิดของการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย

         ต้นปี 2547 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีให้รับผิดชอบงานวิจัยและ QA เพื่อขับเคลื่อน มน. ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย

         ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่ายังไม่ถึงเวลายังไม่พร้อมต่อการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยผมต้องรีบเรียนรู้และปรับตัวครั้งใหญ่อีกแล้วเพื่อที่จะได้บริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็น จึงได้หาโอกาสเข้าไปใกล้ชิดเพื่อขอคำปรึกษาและเรียนรู้จากท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) ขณะที่ท่านกำลังมาจัดกิจกรรม KM ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่าง (HKM, Hospital Knowledge Management) โดยใช้ มน. เป็นศูนย์กลาง

         ผลพลอยได้ก็คือ ผมมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับ KM ไปด้วยในตัว


รูปที่ 4 ภาพรวมระบบการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร

         กลางปี 2547 ผมยังงง ๆ อยู่กับนเรศวรวิจัย-QA-KM งง ๆ อยู่กับชีวิตอยู่ประมาณครึ่งปี แต่ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ของ สคส. ที่ให้โอกาสผมได้เข้าไปทำความเข้าใจเป็นระยะ ๆ ผมจึงได้ถึงบางอ้อในที่สุดว่าจะบูรณาการให้มันเข้ากันได้อย่างไร


รูปที่ 5 วัตถุประสงค์ของการนำการจัดการความรู้มาใช้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร

         ปลายปี 2547 ผมเริ่มหายงง และพอจะจับทางได้ว่าจะจัดการอย่างไรดีกับนเรศวรวิจัย-QA-KM และผมก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคุณเอื้อ (CKO) ของ มน. เป็นคนแรกอย่างเป็นทางการอีกตำแหน่งหนึ่งอย่างไม่เคยนึกไม่เคยฝันมาก่อน

         ในฐานะคุณเอื้อภาพรวม ๆ ก็คือ ผมจะต้องจัดระบบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการประยุกต์ใช้ความรู้หรือใช้ KM เพื่อเป็นเครื่องมือในการ (1) ต่อยอดงาน QA ซึ่งเป็นงานที่มีข้อดีที่เป็นงานที่ครอบคลุมทุกพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย และครอบคลุมทุกหน่วยงานย่อยใน มน. ให้ได้ผลการพัฒนาที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง (CQI, Continuous Quality Improvement) (2) พัฒนาระบบบริหารงานวิจัยของ มน. ให้เข้มแข็งตามนโยบายของมหาวิทยาลัยโดยมีความเชื่อว่าเมื่อระบบดีแล้วก็จะสามารถสร้างนักวิจัยและผลงานวิจัยที่ดีได้ และ (3) ขับเคลื่อน มน. ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO, Learning Organization) อยากให้รั้วของ มน. ขยายออกไปจนกระทั่งสามารถเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับชุมชนต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่างโดยรวม

         ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของ KM ทำให้ผมกล้าคิดที่จะทำประโยชน์ที่มันเกินกำลังของผมโดยลำพังได้ถึงเพียงนี้

         ถามว่าจากปลายปี 2547 จนถึงปัจจุบัน (ต้นปี 2550) รวมเวลา 2 ปีเศษ ผมและชาว มน. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือว่าได้อะไรขึ้นมาบ้างกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

         ตอบยากครับในเนื้อที่ที่จำกัด แต่จะขอยกประเด็นสำคัญ ๆ มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

         (1) ด้านการต่อยอดงาน QA นั้น ยอดเยี่ยม เนียนมากเลยครับขนาดว่าผลการประเมินคุณภาพภายใน (IQA) ที่เราออกแบบระบบไว้ตั้งแต่ปี 2544 ยังสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือของ KM ที่เรียกชุดธารปัญญา (River & Stair Diagram) ได้เป็นอย่างดี ทำให้มีการขยายผลสำเร็จจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งกันอย่างกว้างขวางและทรงพลังมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถดูได้จากผลการประเมินในแต่ละปีและความสุขในการทำงานของบุคลากร

         (2) ด้านการพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยนั้นเป็นไปแบบก้าวกระโดดเช่นกันครับ เราได้ใช้เครื่องมือของ KM ทั้ง Peer Assist และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (ลปรร.) ในกิจกรรม UKM (University Knowledge Management)

         ที่สำคัญคือเราได้มีโอกาสเรียนรู้จากการปฎิบัติงานจริงร่วมกับผู้บริหารงานวิจัยจาก สกว. (รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ รองผู้อำนวยการ สกว.) ในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการนวัตกรรมบริหารงานวิจัยของสถาบัน และโครงการ Area-based Collaborative Research (ABC เหนือล่าง สกว.) เป็นต้น จนทำให้ มน. กลายเป็นศูนย์กลางของการบริหารงานวิจัยในเขตภาคเหนือตอนล่างไปแล้วโดยไม่รู้ตัว มีภาคีต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมงานกันทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการในทุกจังหวัด รวม 10 จังหวัด

         (3) ด้าน KM (LO) นั้นก็เป็นไปได้ด้วยดีโดยอาศัย KM Workshop และการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงเป็นหลัก บุคลากรของ มน. (ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิต) เข้าใจและเห็นความสำคัญของการเรียนรู้และปรับตัวมากยิ่งขึ้น รู้จักสร้างความรู้ขึ้นมาใช้ในการทำงาน รู้จักใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของ KM เพื่อเพิ่มศักยภาพตนเอง ทีมงาน และองค์กรให้มากยิ่งขึ้น จนทำให้ได้รับรางวัลทั้งระดับบุคคลและระดับองค์กรจาก สคส. หลายรางวัล นอกจากนี้หลายหน่วยงานยังได้เชิญบุคลากรของ มน. ให้ไปเป็นวิทยากรด้าน KM หรือให้ไปช่วยจัด KM Workshop ให้อยู่เป็นประจำ ทำให้บุคลากรของ มน. ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากภายนอกมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น และเป็นการทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยไปด้วยในตัว


รูปที่ 6 โครงการ “KM Workshop เพื่อพัฒนางานวิจัยและคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1”
วันที่ 2 – 3 ตุลาคม 2549 ณ ทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต จ.พิษณุโลก


รูปที่ 7 ท่านอธิการบดีรับมอบรางวัล KM BIO Award 2005
ซึ่งทาง สคส. มอบผ่านมาทางหน่วยประกันคุณภาพการศึกษา

         และถ้าถามว่ากิจกรรมสำคัญ ๆ ที่จะแสดงถึงความก้าวหน้าหรือที่เป็น Milestones ที่สำคัญ ๆ ของแต่ละด้านในปี 2550 นี้น่าจะมีอะไรบ้าง ผมขอตอบเป็นเชิงนัดหมายกับทีมงานและทุกท่านที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ

1. ด้าน QA

         เราจะรับการประเมินภายนอกจาก สมศ. ในปลายปี 2550 ดังนั้น IQA ในช่วงกลางปีของเราในปีนี้จะต้องเข้มข้นเป็นพิเศษ

         อีกอย่างหนึ่งคือ วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2550 เรามีนัดกับ สมศ. (ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์) ในโครงการ “KM Workshop เพื่อพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่างทั้งหมดในรูปแบบของเครือข่ายโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ และได้รับการสนับสนุนจาก สมศ. รวมทั้งจากต้นสังกัดคือ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

         อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ สกอ. และ มน. จะร่วมมือกันจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ระดับอุดมศึกษาที่สามารถใช้ร่วมกันทั้งประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เช่นกัน เพื่อที่จะได้นำมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. ด้านวิจัย

         ในปีนี้เราได้รับอนุมัติให้มีการก่อตั้งสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา (IRDA) และกองทุนวิจัยเป็นปีแรก เราจะสามารถพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยที่สมบูรณ์แบบและเข้มแข็งได้เป็นปีแรก ภาพของการบริหารงานวิจัยจะเปลี่ยนจากการเป็น Messenger ไปเป็น Manager และภาพของ Researcher centered จะเปลี่ยนเป็น User centered

         นอกจากนี้ในวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2550 เราจะมีงานนเรศวรวิจัย ครั้งที่ 3 “การนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์” ในงาน นอกจากจะมีการนำเสนอและมอบรางวัลผลงานวิจัยดังเช่นทุก ๆ ปี แล้วยังจะมีการรวบรวมและคัดเลือก 80 ผลงานวิจัยเด่นของ มน. มาเผยแพร่เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งนี้จะจัดทำกันให้ดีเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 พรรษาในหลวงของเรา

3. ด้าน KM (LO)

         ในปีนี้เราได้รับเกียรติให้เป็นผู้ประสานงานหลักของ UKM (University Knowledge Management)

         และยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “มหกรรม KM ภูมิภาคครั้งที่ 1 : อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ในวันที่ 28-29 กันยายน 2550 อีกด้วย

         สุดท้ายก่อนจบ ผมจะบาปมากเลยถ้าไม่ได้เขียนเล่าว่าทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดและทำคนเดียว ทุกงานที่สำเร็จลุล่วงด้วยดีเกิดจากการมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันปรับปรุงจากหลายท่านหลายฝ่ายในหลายโอกาสมาก

         บางงานมีความสำเร็จที่น่าชื่นชมอยู่ก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาทำอยู่แล้วด้วยซ้ำ เช่น กรณีของ QA ถ้าท่านอาจารย์หมอทองจันทร์ (ศ.นพ.ทองจันทร์ หงษ์ลดารมภ์) และท่านอาจารย์ ดร.ชูศักดิ์ (ดร.ชูศักดิ์ เตชะวิเศษ) ไม่ปูทางที่เป็นพื้นฐานที่ดีไว้ให้ ผมก็คงไม่สามารถต่อยอดได้ง่ายนัก

         การพัฒนาและวางระบบประเมินคุณภาพภายใน (IQA) ในปี 2544 ที่เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อก็เช่นกัน ถ้าไม่มีเพื่อนร่วมงานภายใน มน. อย่าง ผศ.ภิรมย์ อ่อนเส็ง รศ.มาลินี ธนารุณ รศ.เทียมจันทร์ พานิชผลินไชย ผศ.ดร.เสมอ ถาน้อย และอีกหลาย ๆ ท่านที่มิได้เอ่ยนามแล้ว การพัฒนาและวางระบบ IQA ของ มน. ในช่วงจังหวะที่สำคัญเช่นนั้นก็คงยากที่จะประสบผลสำเร็จ

         นอกจากกัลยาณมิตรภายใน มน. เองแล้ว ที่มาจากภายนอกที่สำคัญคือ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ศ.นพ.เฉลิม วราวิทย์ รศ.ดำรง ทวีแสงสกุลไทย รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ (อ.หมอ JJ ของเรานั้นเองครับ) และอีกหลายท่านมากที่มิได้เอ่ยนาม ที่มีส่วนช่วยคิดช่วยทำจนทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดีในปี 2544 และทำให้ผมเกิดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน บนเส้นทาง “นเรศวรวิจัย –QA-KM” ในฐานะคุณเอื้อ

         บนเส้นทางนี้ แม้ว่าจะเหนื่อยและยากมากสำหรับผม แต่ผมก็รู้สึกมีความสุขกับมันมาก เป็นเส้นทางที่เปิดโอกาสให้ผมได้พบกันคนดี ๆ มากมาย หลายท่านนั้นแค่ได้เข้าไปช่วยงานหรือเข้าไปใกล้ชิดก็นับเป็นบุญวาสนาของชีวิตแล้ว

         จึงขอกราบขอบพระคุณทุกท่านทุกฝ่ายไว้อีกครั้ง ณ ที่นี้ ตลอดเส้นทางเลยครับ แม้ว่าจะมิได้เอ่ยนาม ที่ได้มีส่วนช่วยกันจนทำให้ผมได้มีโอกาสรู้สึกภาคภูมิใจกับการเป็นคุณเอื้อแห่ง มน. ในวันนี้

         และขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านด้วยครับที่กรุณาอ่านมาจนจบ

         วิบูลย์ วัฒนาธร
         9 เมษายน 2550

**ภาพทุกภาพ ท่านสามารถคลิกที่ภาพ เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้**

หมายเลขบันทึก: 89330เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2007 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • เข้ามาเยี่ยมและอ่านจนจบครับ
  • รู้สึกว่าเขียนยากมากสำ.. สำหรับการเล่าประวัติคุณเอื้ออำนวยของตัวเองแบบนี้ครับ
  • คงต้องมีอะไรกระตุ้นให้เขียนเรื่องนี้เป็นแน่เลยครับ
  • ผมเข้ามาเยี่ยมเป็นคนที่ ๙ ครับ

สวัสดีค่ะ

  •  ภาพโหลดช้ามากเลยค่ะ แต่ไม่เป็นไรค่ะ อ่านจนจบได้
  •  ได้ความรู้เรื่องเอ็มเค เอ๊ยไม่ใช่ เคเอ็ม ค่า ยินดีกับสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ
  • ขอบคุณมากนะค่ะ ราณีจะแอบไปดูค่ะ ได้ไหมค่ะเนี่ย

กราบเรียนท่านเอื้อวิบูลย์

 ติดตามงานท่านมาตั้งแต่เป็น ผู้ช่วยอธิการบดี จนวันนี้เติบโต เป็นรองอธิการบดี อนาคตคงจะไปไกลอีก

 เห็นแต่มุมดีดี เป็นมุมที่สั่งสมไปด้วยประสบการณ์ที่

  "บูรณาการ ไม่เคยเห็นใช้บูรณากู"

 JJ ถือว่าเป็น "คุณเอื้อแห่งปีที่ทำงานด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่น" ครับ

 มาเป็นกำลังใจ ร่วมสร้างองค์การเรียนรู้กู่สร้างสรรค์ ครับ

 รักษาสุขภาพด้วยครับ

บนเส้นทางหนึ่งของคุณเอื้อที่ได้เผื่อแผ่ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า ได้เข้ามาเรียนรู้กับอาจารย์ด้วย ขอบคุณครับ
  • ขอชื่นท่านอาจารย์มากเลยค่ะ  ในความตั้งใจจริงในการทำงาน  ที่บล็อกนี้โหลดช้าอย่างที่อาจารย์ราณีบอกจริงๆค่ะ
มาเป็นกำลังใจให้ครับอาจารย์
  • ขอชื่นชมอ.วิบูลย์ด้วยคนค่ะ
  • เคยได้ร่วมงานกับอ.วิบูลย์เมื่อครั้งไปทำ KM Work shop ได้เห็นการทำงานที่เป็นมืออาชีพ
  • อ.วิบูลย์เป็นคนที่มองการณ์ไกล มองเหตุการณ์ออก และมีวิธีการแก้ปัญหาที่น่าทึ่งมากๆ
  • ทั้งยังเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการทำงานเต็มที่
  • ถึงแม้จะเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แต่อ.วิบูลย์ก็ไม่ถือตัวเลย ให้ความสำคัญก้บทุกคน ด้วยซ้ำ
  • อ.วิบูลย์เขียนได้ดี อ่านไปขนลุกไป ทึ่งในความสามารถและการทุ่มเท จริงๆค่ะ
  • ผู้บังคับบัญชาท่านแรกในชีวิตการทำงานของหนูคือ ผศ.ดร.มณฑล  สงวนเสริมศรี ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ม.นเรศวร
  • ท่านต่อมา คือ ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ที่ดูแลเกี่ยวกับการฝึกงานของคณะฯในสมัยนั้น
  • ท่านที่ 3 คือ รศ.ดร.ภิญญุภา  เปลี่ยนบางช้าง 
  • ปัจจุบัน  ผศ.ดร.ปวีณา  สนธิสมบัติ

      อาจมีทั้งผู้ที่รู้จัก และไม่รู้จัก ผู้บังคับบัญชาของดิฉัน แต่อยากนำเสนอความภาคภูมิใจ ว่า "ดิฉันเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดๆในเรื่องผู้บังคับบัญชาในการงานที่ผ่านมา 15 ปี ใน ม.นเรศวร ที่แรกที่ดิฉันทำงานหาเลี้ยงชีพ  ที่ได้มีโอกาสทำงานภายใต้การควบคุมดูแลของทุกท่านที่กล่าวมา

และทุกวันนี้  อ.วิบูลย์ ยังเป็น idol ในเรื่อง ความมุ่งมั่น ทุ่มเท อดทน รักการเรียนรู้ ที่สำคัญ รักลูกน้อง และอีกหลายสิ่ง สำหรับหนูเสมอค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูงๆๆๆ...

หนูเคยเรียนกับอาจารย์ค่ะ รู้สึกภูมิใจกับอาจารย์มาก และ รู้สึกว่าอาจารย์คือ IDOL คนหนึ่งของเภสัชกร

จะเป็นกำลังใจให้อาจารย์เสมอนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท