การเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง เทคนิคการจัดการความรู้


ในทีมงาน ในหน่วยงาน ในองค์กร ในภาคี หรือในเครือข่ายที่ร่วมปฏิบัติงานใดๆก็ตาม สู่เป้าหมายความสำเร็จ ธง หรือหัวปลาเดียวกัน น่าจะทำให้เกิดกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเรียนรู้ในองค์กรนั้นๆปรึกษาหารือจากไม่เป็นทางการสลับกับเป็นทางการ เพื่อให้งานมันลื่นไหลไปได้

ผมติดค้างเล่าบรรยากาศการพบปะพูดคุยระหว่าง KM ทีม นครศรีฯนำโดยท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ กับทีมของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ นำโดย อ.สมพร เทพสิทธา ที่ร้านอาหารชาวเรือ นครศรีธรรมราช เมื่อ 4 พ.ค.2550  เอาไว้ เนื่องจากมีเรื่องครบรอบหนึ่งปีที่ตัวผมเองมาเขียนบันทึกที่gotoKnow ที่จะต้องเขียน เขียนแทรกขึ้นมาเสียก่อน ลิ้งค์

เป็นการสนทนากันหลายเรื่อง ใครจะสะดวกคุยกับใครก็คุยกันไป ส่วนใหญ่เท่าที่สังเกตก็เห็นท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ กับท่าน อ.สมพร เทพสิทธา แลกเปลี่ยนอย่างออกรสออกชาติมากที่สุด บางครั้งได้สังเกตเห็น อ.สมพร เทพสิทธา เอาสมุดปากกาขึ้นมาจดบนโต๊ะอาหารเลย ผมนั่งในระยะที่ฟังความไม่ค่อยถนัดนัก

แต่ที่ช่วงหนึ่งที่ท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ ท่านหันมาทางผมและ อ.ภีม ภคเมธาวี จาก มวล. ท่านพูดเรื่องบทบาทคุณอำนวยในโครงการจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำนำร่องในพื้นที่สามตำบลของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อกลางปี 2548 ท่านถอดบทเรียนหรือสรุปบทเรียนของท่านเองว่าการจัดการความรู้ที่ทำนำร่อง ในตอนนั้นยังผลสำเร็จเป็นอย่างดีเป็นที่น่าพอใจเพราะระดับคุณอำนวยของโครงการที่ไปกระตุ้น ทั้งระดับบนและระดับล่างจนได้ผล ดันขึ้นบนไปขับเคลื่อนวงคุณเอื้อได้ (คุณเอื้อเข้ามามีบทบาททีหลังเพราะแรงดันของคุณอำนวย) และคุณอำนวยก็ไปทำหน้าที่ผลักดันชาวบ้านหรือคุณกิจข้างล่างที่เข้าร่วมโครงการฯโดยทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนร้ facilitate กระตุ้นเร่งเร้าอย่าให้ชาวบ้านเฉื่อยหรือคะตะไลซ์ และสร้างเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่ networker ท่านพูดถึงการรวมตัวของคุณอำนวยในตอนนั้นว่าเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับกิจกรรมของชาวบ้าน ท่านพูดถึงบทบาทของคุณอำนวยในโครงการจัดการความรู้ว่าเป็นบทบาทของคนระดับกลาง  มิดเดิลอะไรสักประโยคหนึ่ง ผมฟังได้ไม่ชัด ว่ามีผลต่อการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

ท่านจึงอยากนำบทเรียนของคุณอำนวยที่ได้จากโครงการนำร่องฯที่รวมตัวกันอย่างเป็นธรรมชาติที่เคลื่อนไหว ให้เกิดผลทั้งข้างบนและข้างล่างครั้งนั้นมาปรับใช้ในการทำกับทั้งจังหวัดในครั้งนี้ ท่านใช้คำของท่านว่า "การเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง" ในทีมงาน ในหน่วยงาน ในองค์กร ในภาคี หรือในเครือข่ายที่ร่วมปฏิบัติงานใดๆก็ตาม สู่เป้าหมายความสำเร็จ ธง หรือหัวปลาเดียวกัน น่าจะทำให้เกิดกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเรียนรู้ในองค์กรนั้นๆ ปรึกษาหารือจากไม่เป็นทางการสลับไปมากับเป็นทางการ เพื่อให้งานมันลื่นไหลไปได้"การเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง" ท่านยกตัวอย่างเมื่อครั้งท่านเป็นปลัดจังหวัด ท่านได้เชื่อมการทำงานกับลูกน้องข้างล่างถัดลงไปจากตำแหน่งรองของท่าน ผมจำตำแหน่งพวกนี้ไม่ได้ และมองกลับกันขึ้นไปข้างบน ท่านก็ประสานอย่างไม่เป็นทางการกับท่านผู้ว่าฯได้ ท่านให้ข้อคิดการทำงานแบบนี้ตามความเข้าใจของผม น่าจะประมาณว่า ตรงนี้นั้นต้องใช้เทคนิคให้ดี อย่าให้ใครตีความไปว่าข้ามหัวหรือข้ามหน้าข้ามตาใครได้ เพราะเรามุ่งเอางานสำเร็จเป็นที่ตั้ง ใช้วงเรียนรู้ ใช้เครือข่าย ใช้คนคอเดียวกันเป็นเครื่องมือ

นี่คือ  "การเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง" ตามที่ผมเข้าใจ ครับ

ผมว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัย เหมาะกับนครศรีธรรมราชยุคนี้มากๆ น่าจะขยายผลโดยเร็ววัน ทำอย่างไรอย่าให้วัฒธรรมราชการที่แข็งทื่อ ประเพณี จารีตนิยมจัด ถอดหมวกก็ยาก มาเป็นอุปสรรคต่อการทำงานจัดการความรู้ชุมชนอินทรีย์

ตอนท้ายก่อนที่ท่านจะหันไปพูดคุยกับอาจารย์สมพร เทพสิทธา ต่อไป ท่านพูดว่านครศรีธรรมราชเราต้องพัฒนาสมรรถนะคุณอำนวยกันอย่างจริงจังเสียที และได้ยกตัวอย่างหน่วยงานของจังหวัดคือสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดยหัวหน้า สุทิน ศรีเผด็จ
ที่ได้พัฒนาสมรรถนะให้กับคุณอำนวยในสังกัดทั้งจังหวัดโดยท่านผู้ว่าฯได้ไปร่วมในโอกาสนั้นๆด้วย

ผมมีภาพบรรยากาศมาฝากครับ

<div style="text-align: center"> การพบปะทานอาหารร่วมกันระหว่าง KM ทีมของนครศรีฯนำโดยผู้ว่าฯวิชม และทีีมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯนำโดย อ.สมพร เทพสิทธา </div>

หมายเลขบันทึก: 95606เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

เรียน อ.จำนง

ดิฉันเข้าใจเอาว่า เมื่อระดับกลาง เชื่อมกับระดับบน  และเชื่อมกับระดับล่างแล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ทำให้บนกับล่างเชื่อมกันได้ เรียนรู้ร่วมกันได้ (จากเดิมที่บนกับล่างไม่ค่อยเชื่อมกัน)  จึงถือเป็นการเชื่อมโยงที่เป็นวิถีโค้งโดยมีระดับกลางเป็นผู้ทำหน้าที่สำคัญ

เป็นความเข้าใจตอนที่ฟังท่านผู้ว่าฯตอนนั้น  ตามประสาคนนอกที่พยายามปะติดปะต่อเรื่องนะคะ

ครูนงคะ

       "การเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง" แค่ชื่อก็สละสลวย งดงามแล้ว ยิ่งได้อ่านกระบวนการยิ่งเข้าใจว่า ทำไมเมืองคอนนั้น เป็นจังหวัดแนวหน้าด้านการใช้ KM ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นี่หรือเปล่าที่ครูนงเคยสะท้อนว่า ทำไมผู้นำไม่ถือธง KM นำหน้า เหมือนที่ครูนงได้สัมผัสผลแล้วว่า  ถ้าผู้นำ"นำจริง"  ผู้ตามก็มีแรงที่จะเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน 

บทสรุปของท่านผู้ว่า(ที่ปรับเปลี่ยนจากการเรียนรู้ตลอดเวลา)ในโครงการ3ตำบลคือทีมงานระดับกลาง(ครูนง ผม พัชณีและคณะ)ใช้วิธีเชื่อมโยงผู้บริหารระดับสูง(คุณเอื้อ)ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้มาดัน(ลง)คุณเอื้ออำเภอ

ในขณะเดียวกันเราก็เชื่อมโยงกับแกนนำชุมชน      (คุณกิจ)เพื่อให้มาดัน(ขึ้น)คุณอำนวยตำบล

ซึ่งเป็นการทำงานวิถีโค้ง

ท่านเห็นว่าการทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่โดยตรงในลักษณะวิถีโค้งดังกล่าวจะทำงานได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่าสายบังคับบัญชาตรง 

ซึ่งผมเดาว่ามันช่วยลดโครงสร้างอำนาจที่คนเรารู้สึกจำยอมหรือแข็งต้านอยู่ในจิตใต้สำนึกออกไป ทำให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นอิสระ เกิดcareตามมาด้วยshareและทำให้เกิดการเรียนรู้learnได้โดยสะดวกใจ

ถ้าลองมองดูใกล้ตัวก็อาจจะเห็นจริงตามทีท่านสรุป

 

อ.ปัทมาวดี ครับ

        เหมือนว่าทีมคุณอำนวยคือนักฟุตบอลกองกลางอย่างนั้นไม๊ครับอาจารย์ ที่พร้อมรุดไปช่วยกองหน้า(คุณกิจ)เพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ และถอยกลับช่วยกองหลัง(ช่วยชาจแบตเตอร์รี่กองหลังหรือคุณเอื้อทั้งหลาย)เพื่อกระตุ้นให้กองหลังแทคทีมกันทำหน้าที่มากขึ้น อย่าให้เขาทำประตู  เสียประตูได้

อ.น้องอ๊อด ครับ

               การเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง คุณอำนวยคือตัวกลางเชื่อมโยง ให้ปลาทูทั้งตัวมันว่ายทวนหรือตามกระแสน้ำไปอย่างมีพลัง...ผู้นำองค์กรต้องถือธง KM นำหน้า และเปิดช่องทางให้คนทำงาน หรือกลไกการทำงาน มันยืดหยุ่น พร้อมที่จะให้เกิดวงเรียนรู้หรือบรรยากาศการเรียนรู้ได้สะดวกง่ายดายขึ้นที่ไหนก็ได้ เป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับความต้องการของเหล่าคุณกิจหรือกลุ่มเป้ามหายผู้เรียน หรือผู้รับบริการ ไม่ใช่เป๊ะๆ ต้องทำตามกฏเกณฑ์อะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่บรรยากาศการเรียนรู้เลย ถ้าไม่อย่างนี้แล้ว มันเชื่อมโยงวงเรียนรู้ในองค์กร นอกองค์กร อย่างเป็นทางการและอย่างไม่เป็นทางการม่ได้ มันจะโค้งได้อย่างไรเล่า เมื่อจะขยับซ้ายทีหรือขวาทีต้องเจอแต่กฏเกณฑ์ ระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่นเอาเลย.......หากจะสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่าความสำเร็จส่วนใหญ่ มักจะมาจากการทำงานอย่างไม่เป็นทางการแบบการเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้งนี่แหละครับ คนที่ทำงานอย่างนี้เพียงไม่คนนี่แหละที่อุ้มชู องค์กรไว้ได้ การรับรู้อย่างเป็นทางการมันเกิดขึ้นทีหลัง อย่างที่ท่านผู้ว่าวิชม ทองสงค์ ผู้ว่านครศรีฯ ว่าไว้นั้นแหละครับ ว่าการยยอมรับอย่างเป็นทางการ ในนามองค์กรหรือในนามหน่วยงานเข้ามาทีหลัง หลังจากที่คนพวกหนึ่งได้พิสูจน์การทำงานวิธีหนึ่งที่แหวกแนว(นอกกรอบ)ออกไปให้เห็นแล้วว่ามันดีจริง

             แต่พอรับรู้และได้ยอมรับกันเป็นทางการมันเข้าจะเข้าอีหรอบเดิม วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อก็กลืนกลับเข้าไปอีก ฉะนั้นกลุ่มที่คิดแหวกแนว(นอกกรอบ)หรือคนระดับกลางขององค์กรก็จะเป็นหน่วยนำทำกิจกรรมสร้างสรรค์ อยู่อย่างไม่เป็นทางการ หรือเชื่อมโยงการเรียนรู้วิถีโค้ง สลับกันไปอีก

            สรุปคือต้องผสมผสานกันทั้งแบบความสัมพันธ์ทางตรง(ทางการ) และแบบเชื่อมโยงการเรียนรู้วิถีโค้ง(ไม่เป็นทางการ) ให้เป็นวงเรียนรู้ที่เหลื่อมหรือทับซ้อนกันได้ให้มากที่สุด

            ขอบคุณนะครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

อ.ภีม ครับ

             ถูกต้อง เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ.....ว่าการเรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้ง มันสร้าง care ...share ...and learn.....ตอนที่เราทำนำร่อง 3 ตำบล ทีมงานทุกคนก็ว่าอย่างนั้นคือ ทั้ง care ...share.... and learn  แม้ 2 ปี จะผ่านมาแล้วก็จริง แต่เหล่าคุณอำนวยทุกคน ยังมีความรู้สึกอย่างนั้น จึงอยากจะมีโอกาสทบทวนความรู้สึกดีๆ กันสักวันได้ไม๊ละครับอาจารย์ เราอาจจะได้บทเรียนแปลกใหม่อีกก็ได้นะครับอาจารย์สำหรับการทำดครงการชุมชนอินทารีย์ของท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์

  • ตามมาเรียนรู้ด้วยคนนะครับ..
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน

น้องสิงห์ป่าสักครับ

              เรียนรู้เชื่อมโยงวิถีโค้งก็คือวิธีการทำงานอย่างไม่เป็นทางการ ใต้ดิน อย่างสร้างสรรค์ในองค์กรประมาณานั้นไม๊ละครับ อย่างที่เราทำๆกันนั่นนะ แต่นี่เป็นศัพท์ของท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท