จิตแพทย์ (psychiatrist) กับนักจิตวิทยา (psychologist)


จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ และนักกิจกรรมบำบัด ทำงานร่วมกันเป็นทีมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

จิตแพทย์ กับนักจิตวิทยา คำสองคำนี้มีคนสับสนกับพอสมควร  เลยคิดว่าน่าจะเขียนให้ละเอียด เผื่อมีคนสนใจจะได้ค้นหาได้ ตามที่ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ  แนะนำไว้สืบเนื่องจาก นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ครับ

ผมขอย่อสั้นๆ ก่อนว่า

จิตแพทย์ (psychiatrist) : ต้องเรียนจบแพทย์มาก่อน แล้วศึกษาเพิ่มเติมต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ ส่วนใหญ่จะสนใจในเรื่องของความผิดปกติ เรื่องโรค และการรักษา

นักจิตวิทยา (psychologist) :  ศึกษาระดับปริญญาตรี -โท -เอก ทางด้านจิตวิทยา ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องจิตใจในลักษณะทั่วไป การพัฒนาศักยภาพ ในกรณีของจิตวิทยาเฉพาะทาง เช่น จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) จะเน้นด้านความผิดปกติทางจิตมากกว่าแขนงอื่น

ผมจะขอพูดถึงเฉพาะเรื่องจิตแพทย์นะครับ ส่วนเรื่องนักจิตวิทยานั้น จะขอเชิญนักจิตวิทยามาเล่าให้ฟังต่อไป

เล่าแบบให้เห็นภาพเลยนะครับ  เริ่มจากเมื่อเรียนจบ ม.ปลายแล้วก็เข้าเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ ตอนเรียนปี 4-6 จะต้องขึ้นวอร์ด (ดูคนไข้ตามอาจารย์ ศึกษา ทำรายงานส่ง)  ตามแผนกต่างๆ เช่นสูติ-นรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม ตอนปี 4 หรือ 5 จะมีผ่านวอร์ดจิตเวชศาสตร์ประมาณ 1 เดือน ก็ดูคนไข้จิตเวช ทั้งแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ตอนอยู่ปี 6 อาจมีดูคนไข้จิตเวชอีก 1- 2สัปดาห์

พอเรียนจบแพทย์ 6 ปีแล้ว ก็ต้องไปทำงานต่างจังหวัด 3 ปี ก่อนจะมาเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ถ้าเทียบกับแขนงอื่นๆ ผู้ที่จบแพทย์ทั่วไปจะอยู่ในระดับปริญญาโท  ระหว่างนี้เราเรียกว่าเป็นแพทย์ทั่วไป คือสามารถรักษาได้ทุกโรค ผ่าตัดได้ในบางกรณี โรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ก็รักษาได้ แต่หากซับซ้อนหรือจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลก็จะส่งให้จิตแพทย์รักษาต่อ

กรณีของจิตแพทย์ถือเป็นแพทย์สาขาขาดแคลน ดังนั้นหลังจากเรียนแพทย์จบ 6 ปีแล้ว หากใครสนใจก็มาเรียนต่อได้เลยโดยไม่ต้องไปทำงานก่อน
การเรียนต่อเป็นจิตแพทย์ทั่วไปใช้เวลา 3 ปี (รักษาผู้ใหญ่) ถ้าเป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นใช้เวลาเรียน 4 ปี โดยสมัครเรียนที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา หรือรพ.พระมงกุฎเกล้า ที่ๆ หนึ่งจะรับจิตแพทย์ประมาณ 2-6 คน ตามแต่ว่าแต่ละสถาบันมีอาจารย์จิตแพทย์มากหรือน้อย  โดยรวมปีๆ หนึ่งมีแพทย์ที่เรียนต่อเป็นจิตแพทย์ทั่วไปประมาณ 25-30 คน  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประมาณ 12 คน ระหว่างนี้เราเรียกว่าเป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ (resident in psychiatry)

ที่บอกว่าเรียนนั้น ไม่ได้เป็นการเล็กเชอร์หรือเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวเหมือนกับการเรียนปริญญาโท เอก แต่จริงๆ แล้วเป็นแบบการฝึกงานมากกว่า คือต้องดูคนไข้ทุกวัน ทั้งคนไข้ในและคนไข้นอก ร่วมกับอยู่เวรนอกเวลาราชการ นำประวัติคนไข้มาปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำ นำกรณีคนไข้เข้าที่ประชุมเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน

 ปี 1 จะเรียนจิตเวชศาสตร์พื้นฐานทั่วๆ ไป เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ ทางจิตวิทยา และความผิดปกติทางจิต เรียนเรื่องโรคทางจิตเวช และการรักษา
ปี 2 จะเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคทางร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ถูกไฟไหม้ ไตวาย มะเร็ง ที่มีปัญหาทางจิตใจ เช่นซึมเศร้า สับสน การเรียนรู้กรณีผู้ป่วยทางประสาทวิทยาเช่นโรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก ฯลฯ และดูแลผู้ป่วยเด็กทีมีปัญหาทางจิตใจ
ปี 3 ก็จะเป็นการเรียนลงลึกมากขึ้นเช่น ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีปัญหาสมองเสื่อม นิติจิตเวช จิตเวชชุมชน  การส่งเสริมสุขภาพจิต การทำจิตบำบัดแนวลึก จิตเวชในโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช  จิตเวชทหาร  การวิจัยทางจิตเวช ฯลฯ  ในแต่ละปีก็มีการสอบถ้าไม่ผ่านก็ต้องซ้ำอีก 1 ปี

พอเรียนจบ 3 ปีแล้ว ประมาณต้นเดือนมิถุนายนก็จะมีการสอบใหญ่รวมทุกสถาบันโดย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ใช้เวลาสอบประมาณ 7 วัน การสอบจะเป็นการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติคืออาจารย์จิตแพทย์จะสังเกตการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและให้แพทย์อภิปรายกรณีผู้ป่วยและการรักษา ถ้าสอบไม่ผ่านอีก 6 เดือนก็ต้องสอบใหม่ หรือสอบใหม่ปีหน้า ถ้าสอบผ่านทั้งหมดแล้วก็จะได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์ จากแพทยสภา ซึ่งเราเรียกสั้นๆ ว่าเขาเป็น จิตแพทย์

อีกวิธีหนึ่งในการเป็นจิตแพทย์เป็นการศึกษานอกระบบการฝึกอบรม กล่าวคือหลังจากจบแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้ว ก็ทำงานในโรงพยาบาลจิตเวช หรือโรงพยาบาลทั่วไปที่มีการบริการตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช และ มีการบริการผู้ป่วยในจิตเวช หรือมีการให้คำปรึกษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชในแผนกอื่น โดยได้รักษาผู้ป่วยนอกจิตเวชไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 30 ราย  และดูคนไข้ในด้านจิตเวชไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15 คน  ทำอย่างนี้จนครบ 5 ปีแล้วก็มาสอบพร้อมกับแพทย์คนอื่นที่ผ่านการฝึกอบรม สอบผ่านแล้วจะได้เป็นหนังสืออนุมัติฯ ซึ่งเราก็เรียกจิตแพทย์เหมือนกันเพราะเขามีคุณสมบัติครบทั้งทางประสบการณ์และความรู้

ปัจจุบันเราสามารถดูรายชื่อผู้ที่เป็นจิตแพทย์โดยดูจากหน้า http://www.tmc.or.th/service_check.php ของแพทยสภาครับ ขอขอบคุณแพทยสภาที่ทำให้การแพทย์เป็นระบบมากขึ้น

จิตแพทย์ทำอะไรบ้าง  เรื่องยาวเหมือนกัน แล้วค่อยต่ออีกตอนนะครับ เดี๋ยวจะไปเชิญคุณ เบิร์ด   มาเล่าเรื่องนักจิตวิทยาให้ฟังครับ อีกตอนจะเป็นนักจิตวิทยากับจิตแพทย์ทำอะไรมั่ง โดยคุณเบิร์ด เริ่มก่อนในหน้าคุณเบิร์ดครับ  ^___^

หมายเลขบันทึก: 94224เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2007 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

ขอบพระคุณค่ะคุณหมอ  หนิงจะจำแบบง่ายๆตามความเข้าใจตัวเองแบบนี้อ่ะค่ะ

จิตแพทย์  : รักษา

นักจิตวิทยา : บำบัด

สวัสดีครับอาจารย์หมอ

ตอนนี้ผมกำลังอ่านหนังสือชื่อเรื่อง Mistake were made (but not by me) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่ครับ อ่านๆแล้วก็สนุกดีครับ แต่ก็มีข้อสงสัยอยากกราบขอความรู้อาจารย์หมอนิดนึงครับ

ในหนังสือนั้นได้เขียนว่า eating disorder นั้นจากการศึกษาพบว่าส่วนหนึ่งมาจาก sexual abuse ที่ได้รับตอนเด็กๆ ทำให้ผมอยากจะทราบนิดหนึ่งครับว่า แล้วในเมืองไทยในวงการจิตวิทยานั้นมีการพูดถึงเรื่อ eating disorder ว่าเกิดจากอะไรบ้างหรือเปล่าครับ

เพราะผมคิดว่า sex abuseที่ได้รับในตอนเด็กๆที่เกิดขึ้นในเมืองไทย อาจจะไม่ได้พบบ่อยนักถ้าเทียบกับกรณีนี้ที่เกิดในอเมริกาครับ

ซึงกรณีนี้ทำให้เกิดกรณีน่ากลัวอย่างหนึ่งครับ คือการตั้งธงของนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์พอเวลาเจอผู้ป่วยที่เป็นโรค eating disorder ก็จะตั้งธงว่าเกิดจาก eating disorder นะครับ แล้วก็ทำการรักษาตามที่ตั้งธงไว้ โดยที่ไม่สนใจว่าจริงแล้วอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้ครับ

กรณีนี้ไม่ทราบว่าที่เมืองไทยเคยมีการพูดถึงกันบ้างหรือเปล่าครับ

ขอบพระคุณอาจารย์หมอมากครับ

  • มาอ่านครับ ขอบคุณครับ

จำแบบคุณหนิงก็ช่วยในการจำดีครับ จริงๆ แล้วงานด้านจิตวิทยากว้างมากไม่เพียงแค่การบำบัดเท่านั้น เช่น จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการศึกษา 

คุณไปอ่านหนังสือ อ่ านหนังสือเยอะจริงๆ ครับ เรื่องการถูกทารุณกรรมทางเพศในโรคกินผิดปกติเป็นผลการวิจัยของทางตะวันตก ซึ่งจะไม่ค่อยตรงกับบ้านเราเท่าไร เรื่องทางจิตเวชเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางวัฒนธรรมมากครับ ในการดูแลคนไข้จริงๆ เราจะเอาคนไข้เป็นตัวตั้งครับ ไม่ใช่จับทฤษฎีมาเข้ากับคนไข้ อันนี้ตอนผมเรียนอาจารย์เน้นมากๆ  เราจะช่วยเหลือตามแต่ว่าเขามีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งแต่ละคนก็มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันไป โรคนี้ในบ้านเราที่ผมพบเป็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการเป็นตัวของตัวเองครับ
ขอบคุณ อาจารย์ นมินทร์ ครับที่แวะเยี่ยม

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอมาโนช

  • ตามมาอ่านค่ะ  อ่านแล้วได้ความรู้มาก รู้สึกชื่นชมวิชาชีพที่ต้องรับรู้ทุกข์และบำบัดทุกข์ของผู้อื่น  เพราะคงต้องเป็นผู้มีใจเมตตาและมีความมั่นคงทางจิตใจสูงมาก
  • และขอบพระคุณอาจารย์หมออย่างสูงอีกครั้งนะคะ ที่ได้เขียนถ่ายทอดเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วย  ดิฉันตามอ่านด้วยความดีใจ  และภาวนาอยู่เสมอว่าหากต้องเจ็บไข้ไปนั้น
  • ก็ขอให้มีบุญได้พบกับคุณหมอที่มองเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยด้วยเถิด

อาจารย์ ดอกไม้ทะเล ครับ จริงครับที่ว่าต้องมีความมั่นคงทางจิตใจระดับหนึ่ง เพราะไม่อย่างนั้น จะเอาเรื่องของตัวเองไปปะปนกับปัญหาของคนไข้จนยุ่งเหยิงได้ การฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพื่อที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะได้ชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น

บุคลากรทางการแพทย์ ไม่เฉพาะแพทย์เท่านั้น เป็นผู้ที่อยู่กับกองทุกข์ ทั้งทุกข์ทางกายและทางใจ แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะได้เรียนรู้จนเกิดการตระหนักถึงความไม่เที่ยงของคนเรา เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและฝืนธรรมชาติของคนเรามาก ผมเองก็พยายามทำแต่มองได้แค่ครั้งคราวเองครับ และส่วนใหญ่ก็เป็นการรู้ทางความคิดมากกว่ารู้ด้วยจิต นี่คงต้องอาศัยการฝึกฝนอีกแบบหนึ่งซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้สอนไว้ครับ

สวัสดีค่ะ

แล้วโรค ลมชักเหมือนโรคจิตไหมคะ

คุณหมอมาโนชครับ

อ่านแล้วชอบใจหลายประโยคครับ พร้อมมีคำถามจำนวนหนึ่งครับ

  • "เรื่องทางจิตเวชเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางวัฒนธรรมมาก" คำถามคือ ในหลักสูตรแพทย์ ทั้ง ๖ ปีแรก และ ๓ ปีเฉพาะทาง มีเรียนวิชาวัฒนธรรมไหมครับ?
  • "ในการดูแลคนไข้จริงๆ เราจะเอาคนไข้เป็นตัวตั้งครับ ไม่ใช่จับทฤษฎีมาเข้ากับคนไข้ อันนี้ตอนผมเรียนอาจารย์เน้นมากๆ" อันนี้ไม่มีคำถามครับ แต่ชวนให้นึกถึงคำพูดของบางคนเรื่องการศึกษาว่า ระบบการศึกษาบ้านเราเอา "วิชา" เป็นตั้ง ไม่ได้เอา "ชีวิตคน" เป็นตัวตั้ง คุณหมอประเวศเคยวิจารณ์ว่า "ที่ผ่านมา วิชาการได้ทอดทิ้งชุมชน การศึกษาที่ผ่านมามิได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม ดังนี้วิชาการจึงอ่อนแอทางปัญญา เพราะไม่รู้จริงกับปัญหา" (พูดที่จุฬาฯ เมื่อปลายปี ๒๕๔๕)
  • "โรคนี้ในบ้านเราที่ผมพบเป็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง" คำถามก็คือ ความเป็นตัวของตัวเอง กับความสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไรครับ เพราะผมสังเกตว่าชาวบ้านเรา หลังจากถูกกระตุ้นให้ไหลตามกระแส "ทันสมัย" นับแต่แผนพัฒนาฯ แห่งชาติ ฉบับแรก (พ.ศ.๒๕๐๔) จนถึงปัจจุบัน คนชนบทส่วนใหญ่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เป็นหนี้เป็นสินกันแทบทุกครัวเรือน โรคภัยไข้เจ็บก็มากขึ้น แต่ที่สำคัญคือพาให้ "จิตใจ" ล้มละลายไปด้วย คือ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมทั้งไม่เชื่อถือตัวเองด้วย เศรษฐกิจก็หวังพึ่งพ่อค้าพึ่งรัฐบาล การศึกษา(ในความหมายจริงๆ)ก็หวังพึ่งสถานศึกษา สุขภาพก็หวังพึ่งโรงพยาบาล หวังพึ่งอะไรต่อมิอะไรข้างนอกทุกอย่าง ยกเว้น "ตัวของตัวเองที่รู้สึกว่าพึ่งไม่ได้สักอย่าง" อันนี้จะเป็นสาเหตุของ โรคทางจิตต่างๆ ด้วยหรือเปล่าครับ

สวัสดีค่ะ อ.มาโนช

เบิร์ดต้องกราบขออภัยที่เข้ามาช้า.... มาก แต่จะชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องนะคะ ( อาจารย์ให้การบ้านอีกบันทึกแล้ว....ว ^ ^ )

เอาสั้นๆก่อนแล้วกันค่ะ..จิตแพทย์...เน้นด้าน Medical  treatment ร่วมกับ Psychological  treatment....นักจิตวิทยา..เน้นด้าน Psychological  treatment และนักจิตวิทยามีหลายสาขามาก แต่ในการทำงานกับผู้ป่วยจะเป็นนักจิตวิทยาคลินิกอย่างเบิร์ดนี่แหละค่ะ ( อยู่ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ )..ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับนักจิตวิทยาคลินิกจะบรรยายความตามไท้ เพิ่มเติมให้ในบันทึกของเบิร์ดนะคะ ( อย่างนี้ทางบ้านเบิร์ดเรียกว่า ...โกงค่ะอาจารย์ ^ ^ )

จุดสำคัญคือการทำงานเป็น" ทีม " ที่จิตเวชทำกันมานาน...นก่อนที่จะมีการเต้นพึ่บพั่บในเรื่องการดูแลแบบองค์รวมในปัจจุบันเสียอีก เพราะแต่ละฝ่ายก็มีหน้าที่ของตนเองตั้งแต่จิตแพทย์ที่ถือว่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน ( แต่มีจำนวนน้อยมาก อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไรคะ ที่แพทย์เลือกเรียนจิตแพทย์น้อย...ยเหลือเกิน ? ..ตาเบิร์ดมั่ง อิ อิ )..นักจิตวิทยาคลินิกที่ดูแลในเรื่องการใช้แบบทดสอบต่างๆ  และการร่วมค้นหาปัญหาคนไข้ที่เน้น ในความเป็นปัจเจกชน  ไม่ใช่เหมารวม และหยิบทฤษฎีมาใช้โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ..เรื่อยไปจนถึงการวางแผนในการรักษา  การจำหน่าย การติดตาม..ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อน  มั่นคง  ไม่มีอคติ และการยอมรับซึ่งกันและกัน..

" เรา "..ทีมจิตเวชที่ประกอบด้วยหลายๆวิชาชีพทั้งจิตแพทย์  นักจิตวิทยา  พยาบาลจิตเวช  นักสังคมสงเคราะห์  นักกิจกรรมบำบัด  นักอาชีวบำบัด ต่างล้วนมีหน้าที่ที่ต้องทำในส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้นเพราะ มนุษย์ไม่ได้มีเพียงมิติเดียว และต่างก็เป็นปัจเจกชนทั้งหมด ไม่มีทฤษฎีใดที่เหมาะสมกับทุกคน และไม่มีทฤษฎีเดียวที่ใช้ได้ในแต่ละคน..นี่คือสิ่งที่ทุกคนที่ทำหน้าที่ตรงนี้ถูกหล่อหลอม เคี่ยวกรำมาตลอดชีวิตการเรียนและการทำงาน ทำให้ " เรา " ยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์และชื่นชมในความแตกต่างเหล่านี้

เบิร์ดไปประชุมที่ กทม. ตั้งใจว่าจะไปแวะหาอาจารย์อยู่ค่ะ แต่ถูกฝนที่ตกลงมาตลอด 4 วันล็อคไว้ในโรงแรม ( หนีไม่ได้ ) แถมยังต้องเตรียมงานชุมชน และเตรียมชุมชนรักสุขภาพตัวอย่าง ( ชุมชนสันโค้งหลวง ) ที่ได้รับการคัดเลือกจากกองสุขศึกษาให้เป็นตัวแทนของภาคเหนือ ไปแลกเปลี่ยนกับชุมชนน้ำพองของขอนแก่น ก็เลยปลีกตัวไปไม่ได้ ( ของฝากที่เตรียมไปก็เลยทานเองไปแล้วค่ะ แหะ แหะ )..

ขอบพระคุณค่ะที่อาจารย์กรุณาไขข้อข้องใจให้หลายๆท่านได้ทราบถึงความแตกต่างและความเหมือนของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก..

คราวนี้ถึงตาเบิร์ดที่ต้องไขเรื่องความแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยาคลินิกกับนักจิตวิทยาสาขาอื่น ^ ^

 

 

 

 

คุณ sasinanda  ครับ โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาท คนไข้จะมีอาการชักเป็นครั้งคราว แต่บางคนก็มีอาการแสดงออกเป็นอาการโรคจิตได้เหมือนกันครับ คนไข้ลมชักถ้าป่วยนานหลายๆ ปี ตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น บางคนเกิดอาการโรคจิตตอนหลังก็มี เวลาซักประวัติส่วนใหญ่จะต่างกันชัดเจน แต่บางรายอาการก็ก้ำกึ่งของ 2 โรคเหมือนกัน ต้องตรวจเพิ่มเติมอีก ขอบคุณครับสำหรับประเด็นที่น่าสนใจนี้

อาจารย์ สุรเชษฐ ครับ ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็มีเรียนพวกสังคมวิทยา สังคมวิทยาการแพทย์ หรือเลือกลงได้ แต่พอขึ้นปีสูงๆ ปี 5-6 ก็จะลืมกันหมด การสอนก็จะไม่มีอีกแล้ว เรียกว่าใครสนใจก็อ่านเอง ไม่สนใจก็ดูแต่การแพทย์  ส่วนตอนเรียนเป็นจิตแพทย์ 3 ปี ก็จะไม่มีเรียนตรงๆ ครับแต่จะเป็นการสอนผ่านกรณีผู้ป่วยเสียมากกว่า (ความจริงก็น่าจะมีนะครับ พวก anthropology แต่พอถึงระดับนี้แล้วส่วนใหญ่จะเน้นอ่านเองแล้วมาคุยกับอาจารย์มากกว่า)

ข้อสังเกตเรื่องการเอาวิชาเป็นตัวตั้งมากกว่าคนผมเห็นด้วยครับ เราเห็นบ่อยๆ ว่าบางครั้ง เด็กอยู่ชนบทแต่อาจารย์ก็จะสอนให้พูดอังกฤษเสียให้ได้อยู่นั่น ทั้งๆ ที่พอจบแล้วก็ไม่ได้ใช้ ขณะที่วิชาที่ใช้ในการดำรงชีพกลับไม่ค่อยได้สอน

เรื่องการเป็นตัวของตัวเอง สัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าของตนเอง มาจากการเลี้ยงดู การอบรม ค่านิยมทางสังคมฯลฯ มีปัจจัยเกี่ยวข้องกันเยอะครับ ขอบคุณครับสำหรับประเด็นดีๆ

ขอบคุณคุณเบิร์ด  มากครับที่ชี้ให้เห็นภาพชัดขึ้น  ใช่ครับพอพูดถึงนักจิตวิทยาคนส่วนใหญ่จะนึกถึงนักจิตวิทยาคลินิก   คุณเบิร์ด เขียนเรื่อง นักจิตวิทยาคลินิกกับนักจิตวิทยาสาขาอื่นอีกเรื่องก็ดีครับ  แล้วช่วยแวะมาทำลิงค์ไปที่บันทึกคุณเบิร์ด ด้วยนะครับ (อ้อ ฝากทำลิงค์ไปบันทึกคุณเบิร์ดด้วย) เผื่อวันหลังมีคน search ทาง google เจอจะได้เข้าใจชัดเจนไปเลย

 

สวัสดีค่ะ อ.มาโนช

การบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ ^ ^

http://gotoknow.org/blog/beutifulmemories/94801

ขอคุณ ท่านอาจารย์หมอ มากเลยครับ

ได้เข้าใจ และเห็นถึงการทำงาน ของจิตแพทย์ตรงๆเลยครับ

ผมแอบอ่าน ความเห็นที่อาจารย์ไปแสดงความคิดเห็นต่อบันทึกอื่นๆ ครับ

ชอบ ครับ ได้ประเด็น เกิดไอเดีย เอาไปต่อยอดได้เลยครับ

นี่คงเป็นประโยชน์ จาก G2K จริงๆเลยครับ

คุณเบิร์ดครับ ขอบคุณมากที่จัดการการบ้านให้เรียบร้อย หยั่งนี้ต้องให้คะแนนเต็มแล้วละมั๊ง แบบว่าตั้งใจทำงานดีมาก ^O^

ขอบคุณ ตาหยู ครับที่แวะเยี่ยม ดีใจครับที่คุณตาหยู่ได้อ่านความคิดเห็นต่อบันทึกอื่นๆ ของผม เพราะผมเองไม่ค่อยได้เขียนบันทึกอะไรเท่าไร ชอบอ่านและถกมากกว่าครับ แล้วผมจะแวะไปต่อความคิดในบันทึกคุณตาหยูนะครับ

สงสัย + ทึ่งค่ะว่าจิตแพทย์มี "วิธีจำ" รายละเอียดคนไข้อย่างไรคะ   ทั้งที่คนไข้ก็เยอะมาก แต่คุณหมอก็ยังจำรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเราได้ ซึ่งบางครั้งเราเองก็ลืมไปแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ ช่วยให้เข้าใจได้มากเลย

สวัสดีค่ะ

งงตัวเองเหมือนกันว่ามาเจอบล๊อกคุณหมอยังไง ...เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงการด้านนี้เลยะค่ะ แต่หนูทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ในเรือนจำ ทำงานกับคนที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับคุณหมอ แต่ความลึกซึ้งกับชีวิตมนุษย์คงน้อยกว่า เพราะหนูเพิ่งเรียนบมา 2 ปี และทำงานด้านสังคมสงเคราะห์มา 1 ปี ได้ร่วมงานกับนักจิตวิทยาค่ะ แต่ก็ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก จนกระทั่งได้มาอ่านบล๊อกคุณ ได้ความรู้หลายอย่างมากๆมายเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ แล้วจะเข้ามาหาความรู้อีก แต่คงยากที่จะได้แลกเปลี่ยนเพราะประสบการณ์น้อยนิดเหลือเกินค่ะ

อยากให้พี่บอยหายดี

อาจารย์มาโนช คะ คนที่หนูรักเขาเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 10 ปี แล้ว ช่วงนี้เขาอยากตายมากขึ้น เขาอายุ 47 ปี ตกงานซ้ำๆ ทำงานที่ไหนก็ไม่ได้นาน ตอนนี้ว่างงานมาตั้งแต่กลางปี 51 เป็นลูกคนกลาง เป็นที่รักของพ่อแม่ เพราะมีบุคลิกเรียบร้อยเชื่อฟังพ่อแม่ มีปมด้อยในสมัยเด็ก ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่แบบผิดๆ เกลียดและถูกพี่ชายทำให้มีปมด้อย ไม่กล้ามองตัวเองในกระจก อยากมีงานทำเพื่อให้เหมือนคนอื่นๆ อาการที่สำคัญคือมักจะนอนฝันร้าย ทำให้ตื่นมากลางดึกและหลับต่อไม่ได้และส่งผลต่อสุขภาพในตอนเช้าและตลอดวัน ทำให้อยากตาย ทรมานกับอาการแบบนี้ เรื่องที่ฝันก็เป็นเรื่องเดิมๆที่อยู่ในจิตใต้สำนึก คือ มักจะเกี่ยวกับงานหรือสถานที่ๆ เคยทำงาน รักษาตัวกับนักจิตเวชชื่อดังตั้งแต่อายุยี่สิบกว่า และรักษาโดยจิตแพทย์มากว่า 16 ปี 3 รพ. ก็ยังไม่หาย และคิดอยู่เสมอว่าตัวเองคงไม่มีวันหาย เขาไม่อยากฝันร้ายเพราะทำให้เขาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้ เพราะจะมีอาการทางกายรุนแรงและรู้สึกอยากตาย เขาอยากหลับสบายๆ โดยไม่ฝันร้าย ไม่ต้องกินยา เพื่อจะได้มีชีวิตเหมือนคนอื่นๆ อะค่ะ หนูอยากจะเรียนเป็นนักจิตบำบัด อยากช่วยคุณหมอรักษาเขาให้หาย เขาเป็นคนดีที่น่าสงสารจริงๆค่ะ

วันนี้เข้ามาหาข้อมูลให้คนรักที่ชื่อพี่บอยอีกครั้ง ก็ได้มีโอกาสกลับมายังหน้าที่ตัวเองได้เคยเข้ามาโพสต์ไว้เมื่อนานมาแล้ว (คห.ที่ 23) ตอนนี้พี่บอยของหนูดีขึ้นบ้างเล็กน้อยเพราะเขาพยายามออกกำลังกายด้วยการออกวิ่งเกือบทุกวัน แต่พี่บอยก็ยังไม่หายขาด เพราะเวลาที่มีเรื่องเข้ามาให้ต้องคบคิดหรือคนรอบข้างทำให้กังวลหรือเกรงกลัว อาการก็จะตกลงเป็นครั้งคราวไป พี่บอยรักษาอยู่ที่คลีนิคส่วนตัวของจิตแพทย์จาก รพ.จุฬาท่านหนึ่งตั้งแต่ 31 พ.ค.51 จนถึงปัจจุบัน แต่ตอนนี้พี่บอยอยากจะรักษาที่ รพ.รามา เพราะค่ายาคงจะถูกกว่ามาก วันนี้หนูโทรไป รพ.รามา พยาบาลแผนกจิตเวชบอกว่าหากจะรับการรักษาจาก อ.มาโนช ต้องรอคิวถึง 6 เดือน(นานขนาดนั้นเลย) แต่หากคนไข้ไม่เลือกแพทย์ก็สามารถรับการรักษาได้เลย หนูสงสารพี่บอยจังค่ะ เวลาที่เขาป่วยเขาจะทรมานมาก ต้องนอนปวดศรีษะถึงสี่โมงเย็น พี่บอยเป็นมานานและมีคนรอบข้างทำร้ายจิตใจ และทำร้ายร่างกาย ตอนนี้พี่บอยอายุสี่สิบแปดแล้วยังไม่กล้ามองกระจกเลยอะค่ะทั้งๆที่ตัวเขาก็เป็นน่าตาดี ผิวพรรณก็ดี หนูกราบเรียน อ.มาโนช ช่วยรับพี่บอยของหนูไว้ในความดูแลด้วยอีกคนเถอะนะคะ ค่ายาก็ถือว่าแพงสำหรับคนที่ไม่มีงานทำอย่างพี่บอย(สามสัปดาห์ประมาณ 5600 บาท) และพี่บอยคงอยากพบ อ.มาโนชไวไวค่ะ พี่บอยเป็นคนเก่งและมีความสามารถหลายหลากโดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษ หนูอยากให้พี่บอยดีขึ้นไวไว พี่บอยจะได้มั่นใจว่าจะเปิดบริษัทของตัวเองได้ซะทีค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ

S.D./S.L.

จิตแพทย์ท่านใดสนใจอยากย้ายมาประจำที่ รพ.ชัยนาท ขอเชิญนะครับ ตอนนี้อยากได้จิตแพทย์มาประจำ รพ ชัยนาทมาก จิตแพทย์ท่านใดสนใจย้ายมาได้นะครับ ขาดแคลนมาก คนไข้ต้องการจิตแพทย ถ้าท่านมาโอกาสก้าวหน้าได้เป็นหัวหน้ากลุ่มงานจิตเวชนะครับ

หนูอยู่ม.4เองค่ะ

ยังไม่ค่อยเข้าใจมากเท่าไหร่

หนูคิดว่าหาข้อมูลมาเยอะพอควร เพราะหนูอยากเรียนด้านนี้

อยากเป็นจิตแพทย์ หรือไม่ก็นักจิตวิทยา แต่มีคนบอกว่าอยากเรียนต้องหาข้อมูลให้มากๆๆ จะดีต่อตัวเรา แต่หนูอ่านมาหลายบทความ มันยัง งงอยู่เลยค่ะ รู้แค่ว่า

จะเป็นจิตแพทย์ คือต้องสอบเข้าแพทย์ แล้วแยกเรียนทางสาขานี้ใช่ไหมค่ะ?

แล้วมหาลัย ไหนรับบ้างค่ะ เท่าที่อ่านๆๆมา ดูเหมือนสาขานี้จะรับน้อยนะค่ะ

ข้อมูลที่หนูได้อ่านมันทำให้หนูงง ค่ะ ขอข้อมูลเยอะกว่านี้หน่อยได้ไหมค่ะ

หนูเด็กไปสำหรับเรื่องนี้รึป่าวค่ะ ขอบคุณค่ะ

จะเริ่มต้นยังไงดีนะ เริ่มตอนอายุ19มักฝันแปลกบ่อย ฝันว่ามีเทพเจ้ากวนอูมาอวยพรวันเกิด หลังจากนั้นก็ฝันเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านมาเรื่อย แบบเดือนละครั้งอาทิตย์ 2 ครั้ง จนอายุ 27 ตอนนี้ และมักจะพบปะเรื่องราวของท่านโดยบังเอิญ จนทำให้อย่างรู้ว่าตัวเองเป็นโรคทางจิตหรือป่าว เพราะโดยส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์

สวัสดีค่ะ

คือหนูเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ลาดกระับังขึ้นปีที่5

แล้วกำลังทำทีสีสเกี่ยวกับโรงพยาบาลจิตเวช

โดยทีสีสที่ทำก็เหมือนกับการสร้างโครงการนี้ขึ้นมาจริงๆโดยอ้างอิงถึงหลักความเป็นจริง

ทั้งกฎหมายฯลฯ ค่ะแล้วที่สนใจเรื่องนี้เพราะว่าสภาพแวดล้อมกับสภาพจิตใจของมนุษย์

นั้นเป็นเรื่องสำคัญแล้วงานสถาปัตยกรรมเป็นสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ใกล้ชิดที่สุด

โยงมาถึงการบำบัดอาการป่วยทางจิตเวชอยากคุณหมอก็จะรักษาและบำบัดในทางกา

แพทย์แต่อย่างสถาปนิกก็สามารถบำบัดผู้ป่วยได้ในทางสภาพแวดล้อม

ที่เขียนมาค่ะก็คือว่าอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการพื้นที่ของทั้งผู้ป่วยแพทย์หรื

แม้กระทั่งญาติผู้ป่วย เช่น สีที่มีผลต่อผู้ป่วย หรือพื่นที่เกี่ยวกับผู้ป่วย ความต้องการพื้นที

ของแพทย์ ที่ต้องเข้าถึงผู้ป่วยตลอด24ชั่วโมง เพราะอีกนัยหนึ่ง

โรงพยาบาลจิตเวชก็เหมือนคุกสำหรับผู้ป่วย แต่ที่หนูต้องการจะสร้างขึนมาคืออยากให้

สถานที่นั้นให้ความรู้สึกไม่เหมือนคุก คือ อาจจะเรียบเรียงคำพูดงงไปหน่อยนะคะ

เพราะว่ายังลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานได้ไม่มากคะ่ ขอความกรุณาคุณหมอและทุกๆท่าน

ช่วยให้ความรู้ด้วยค่ะ หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสียของสถานที่ที่ทำงานอยู่ก็ได้นะคะ

เพื่อวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จะได้เป็นความรู้เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมสำหรับจิตเวชอีกชิ้นหนึ่ง

ของเมืองไทยเพราะตอนนี้มีผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้น้อยมากถ้าเทียบในจำนวนวิทยานิพนธ์ทาง

สถาปัตยกรรมประเทศไทย

ขอความกรุณาด้วยค่ะ ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

กราบสวัสดี อ.มาโนชค่ะ

หนูชอบทางด้านจิตวิทยามากเลยค่ะ

อยากทราบว่าหนูควรจะเรียนพิเศษเพื่อสอบตรงที่คณะจิตวิทยาดีมั๊ยคะ?

เเต่ว่า ถ้าหนูเรียนที่จุฬาหนูก็ต้องเรียนเลขใช่มั๊ยคะ

เเต่หนูเรียนเลขไม่ได้เลย ไม่ชอบมากๆค่ะ

เลยอยากทราบว่าถ้าสมมุตว่าถ้าหนูอยากเรียนด้านนี้จริงๆเเล้วมีอาชีพไหนบ้าง

ที่พอจะเปิดรับอาชีพนี้คะ?? แล้วหนูควรจะเลือกเรียนมหาลัยไหนดีคะ?

ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

อ.หมอคะหนูอยากจะเรียนจิตเเพทย์ แต่หนูเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไม่เก่งเลยกลัวว่าจะเอนไม่ได้ อ.หมอคะหนูอยากถามว่า

-ถ้าต้องการเรียนจำเป็นที่ต้องเอนเข้าคณะเเพทย์อย่าเดียวหรือคะ

-จิตแพทย์, นักจิตวิทยา ทำงานที่ไหนบ้างคะ

ตอนนี้กำลังเรียนทำวิจัยทางการพยาบาลอยู่

เรียนยากจัง ทำงัยดีค่ะ

อยากเป็นหมอจิตแพทย์- -

อยู่ม.5 ละ

อยากเป็นจิตแพทย์มากเลยคะ เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝัน แต่พอบอกแม่ แม่ไม่อยากให้เป็นบอกว่าเครียด แม่เราเป็นหมอฟัน

เราอยู่ ม.1 คะ อยากเป็นนักจิตวิทยาเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่ ป.5เลยแต่เริ่มมาจริงจังตอนนี้เอง(555) ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะค่ะ (แต่บางทีเราคิดว่าเราเองก็มีปัญหาทางจิตอ่อนๆด้วยมั้งเพราะเราอ่านเรื่องแนวนี้รู้สึกดีจนยิ้มไม่หุบเลย ล้อเล่นน่า555)

หนูเพิ่งเข้ามาอ่าน ชอบมากเลยค่ะ แต่หนูสงสัยนิดนึงว่า คนที่เขามาหาจิตแพทย์ส่นมากเขามาด้วยอาการผิดปกติทางจิตใช่มั้ยคะ แล้วจิตแพทย์มีวิธีการรักษาเขายังไงอะคะ แล้วจิตแพทย์มีส่วนในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความเครียดมั้ยคะ อย่างเช่น โรคกระเพาะ ไมเกรน ไรงี้อะค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ คือ เพลินไม่รู้ว่าเพลินอยากเป็นอะไร ระหว่างจิตแพทย์กับนักจิตวิทยา ตอนนี้เพลินกำลังจะเรียน ม.3 ค่ะ คือ เพลินเป็นคนชอบสังเกตคนรอบข้าง แล้วก็ชอบคิดว่า ทางครอบครัวเขาสอนมายังไง เขาเป็นคนแบบนี้เพราะอะไร แล้วเพลินก็เคยช่วยเพื่อนที่ชอบทำร้ายตัวเอง เช่น กรีดแขน กรีดขา อ่ะค่ะ คือ เพลินช่วยโดยการเป็นผู้ฟัง ให้เขาระบายอารมณ์แทน แล้วพยายามบอกเขาว่า "ที่พ่อแม่เขาต้องหย่ากันเพราะเขามีเหตุผล ทั้งพ่อและแม่ของเขาก็รักเขา เพียงแค่แสดงความรักไม่เก่ง แล้วที่ไม่มีเวลาให้เขาเพราะต้องทำงานหาเงินมาให้เขาสบาย โดยที่เขาแค่ลืมคิดว่า ความอบอุ่นของครอบครัวเป็นยังไง ควรทำยังไง เขาแค่ต้องการให้ลูกสบาย" ตอนนี้เขาอาการดีขึ้นโดยไม่กรีดแขนตัวเองแล้ว แต่ก็ยังเหวี่ยงใส่แม่ของเขาอยู่ เพลินก็พยามให้เขาไปหาจิตแพทย์ แต่เขาไม่ไป เขาบอกว่า ไม่มีตังค์ แต่เพลินทำแบบนี้มา ตั้งแต่ ป.4 แล้วค่ะ ตอนนี้ ม.2 เขาก็ดีขึ้นมาก เพลินเลยไม่รู้ว่าควรเป็นอะไร แต่จากการอ่านจากเว็บต่างๆว่า ทั้ง2ต่างกันยังไง ทำให้เกิดข้อสงสัยค่ะ

-เพลินไม่เก่งวิทย์ คณิต เกรดต่ำมาก เคยได้ 1 วิชาวิทย์ด้วย (ครั้งเดียว) จะเรียนด้านนี้ได้หรือเปล่า

-เพลินสนใจด้านภาษามากกว่า กะว่า ม.ปลาย จะเรียน ศิลป์-ฝรั่งเศส เพราะชอบ แต่อยากทำอาชีพเกี่ยวกับจิตใจคนควรเรียนอะไรดี

-ฐานะทางบ้านก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถึงแม้ตอนนี้จะเรียน EP ค่าเทอม 4 หมื่นกว่า แต่ก็ต้องผ่อนผันกับทางโรงเรียน จะเรียนได้มั้ย

-เป็นคนที่ขี้กลัว เช่น *กลัวมดตัวใหญ่ๆ *กลัวไมค์ จับไมค์ทีไรหูดับ มือสั่น น้ำตาจะไหล *อีกอาการคือไม่รู้ว่ากลัวอะไร แต่พอเวลาเห็น นึกถึงหรือได้ยิน เช่น เห็นมีดบาดมือใครสักคน ได้ยินเพื่อนพูดถึงการเจาะเลือด นึกถึงอุบัติเหตุ เห็นเพื่อนเอาไม้บรรทัดมาเลื่อยแขนตัวเองแต่ยังไม่เป็นแผล ไม่มีเลือด เห็นแผลที่เพิ่งล้มของตัวเอง หรือนึกถึงเรื่องแผล อุบัติเหตุ ฯลฯ แขนจะอ่อนแรง แต่ไม่ถึงขนาดล้มหรืออะไร แค่อ่อนแรง ใจเริ่มสั่น เหมือนตัวเองเจ็บเอง จะเป็นได้หรือเปล่า

-ถ้าจะมุ่งเรียนทางด้านนี้จะต้องเรียนสายอะไรใน ม.ปลาย

-ถ้าเป็นไม่ได้ทั้ง 2 อย่าง ควรเป็นอะไรดีคะ เคยเปิดใจกับหลายๆอาชีพแล้วแต่ก็ชอบเรื่องจิตใจมากกว่า เคยอยากเป็นผู้กำกับการแสดงด้านจิตวิทยา แต่ก็สร้างบทหนังไม่เก่ง คิดได้แค่เคร้าโครงเรื่อง


ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท