Share & Shine ชาวทันตฯ (7) อีกครั้งกับ แปรงสีฟันติดดาว ... เรียนรู้จากเครือข่าย


แต่เมื่อมาประชุมกันแล้ว เราพบว่า หน่วยงานเหล่านี้จะมีความรู้ในส่วนของหน่วยงานของเขา ... ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้นึกตั้งแต่ตอนแรกนะคะ มันจะไปช่วยต่อยอดความรู้ของเราได้

 

หมอหวี่ ทีมแปรงสีฟันติดดาว มาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังอีกครั้ง หลังจากที่ได้เล่า ลปรร. กับศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข ไปครั้งหนึ่งแล้ว ที่นี่ ลปรร. กองทันตฯ กับ ศูนย์ฯ กฎหมาย (4) KM กับเครือข่ายสิ่งแวดล้อม

หมอหวี่ยังคงความเสมอต้น เสมอปลาย ของผู้ที่พูดไว คิดไว ทำไว อยู่เสมอค่ะ เธอพูดเล่าเร็วมาก ขอบอก จนที่ประชุมให้น้องอู๋ลองสรุป ก็ทำได้ดี แต่ตอนจบ น้องอู๋ก็บอกเคล็ดลับ เพราะว่าฟังมา 2 ครั้งแล้วค่ะ ถึงได้จำได้ อิอิ

เอาเรื่องที่หมอหวี่เล่าให้ฟังดีกว่า คือ เรื่องความสำเร็จในการสำรวจคุณภาพแปรงสีฟัน โดยเจาะพูดในเรื่องภาคีเครือข่าย งานคุ้มครองผู้บริโภคละค่ะ

  • เรื่องของแปรงสีฟัน เรามีการสำรวจคุณภาพแปรงสีฟัน ซึ่งจริงๆ แล้ว ความสำเร็จของการทำงานนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคีเครือข่ายของเรา เพราะว่าความรู้เกี่ยวกับแปรงสีฟันนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เรียนมา หรือมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น
  • ภาคีเครือข่ายของเรานี้ ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะว่า เขาจะมีทั้งความรู้ เทคโนโลยีและช่องทางที่ทำให้เราสามารถต่อยอดความรู้ในเรื่องของการทำงานตรวจคุณภาพแปรงสีฟันได้
  • ในการที่เราจะตรวจคุณภาพแปรงสีฟันนั้น เราจะต้องมีทั้งมาตรฐาน มีทั้งห้องปฏิบัติการ หรือว่าจะเป็นในเรื่องของฉลาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาจากความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งสิ้น
  • เรามีการสะสมความรู้นี้ด้วยการทำ KM ในการตรวจคุณภาพแปรงสีฟัน ความรู้ที่เราได้จากภาคีเครือข่ายไม่ได้มาด้วยวิธีการประชุม ลปรร. เพียงอย่างเดียว แต่เชิญเขามาประชุม
  • หน่วยงานที่เชิญมา เช่น อย. สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่มาเกี่ยวกับงานแปรงของเรา
  • แต่เมื่อมาประชุมกันแล้ว เราพบว่า หน่วยงานเหล่านี้จะมีความรู้ในส่วนของหน่วยงานของเขา ... ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้นึกตั้งแต่ตอนแรกนะคะ มันจะไปช่วยต่อยอดความรู้ของเราได้
  • ตรงนี้ขอยกตัวอย่างว่า ภาคีเครือข่ายของงานตรวจคุณภาพแปรงนี่ ได้ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ อย่างไร
  • ... ตอนแรกที่เราเริ่มงานนี้ ก็เริ่มจากเราไปเป็นภาคีเครือข่ายของ มอก. คือ กระทรวงอุตสาหกรรมเขาจะร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์แปรงสีฟัน ก็เชิญเราเป็นกรรมการด้วย
  • ... พอเราไปประชุมก็พบว่า มาตรฐานของเขาเป็นมาตรฐานเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งมันจะเยอะมาก และไม่มีใครตรวจจริง เพราะว่าค่อนข้างซับซ้อน และไม่มีหน่วยงานที่ทำจริงๆ
  • ... ทางหน่วยงานของเราก็เลยคิดว่า มันก็ต้องมีมาตรฐานที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากจริงๆ เราก็ควรจะสามารถตรวจได้จริงด้วย เราก็เลยมาร่างเป็นมาตรฐานแปรงสีฟันของเรา เป็นมาตรฐานของกรมอนามัย
  • ... ก็เชิญคณะกรรมการจาก มอก. และเพิ่มเติมอาจารย์จากคณะทันตแพทย์ และท่านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากมาร่างมาตรฐานของเรา ตรงนี้เราก็เลยได้เป็นมาตรฐานวิชาการแปรงสีฟัน ก็เลยได้ความรู้ขึ้นมา ซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ
  • ... เสร็จแล้วเราก็ทำการตรวจสอบคุณภาพแปรงสีฟันของประเทศไทยดู ปรากฎว่า มาตรฐานของเรา ซึ่งตอนนั้นเราอิงตัวเลข มอก. และ มอก. เขาเอามาจาก ISO toothbrush กลายเป็นว่ามันไม่ครอบคลุมลักษณะแปรงสีฟันในประเทศไทย มันไม่ตรงกับลักษณะแปรงสีฟันในท้องตลาดของไทยเราจริงๆ พอมาถึงตรงนี้ เราก็เลยต้องมีการปรับมาตรฐานใหม่
  • ซึ่งพอในการปรับมาตรฐานใหม่ เราก็เชิญคณะกรรมการวิชาการจากคณะทันตแพทย์ อาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านทำงานเรื่องนี้มาดี และท่านไปประชุม ISO ของแปรงสีฟันในต่างประเทศ ... ท่านก็จะมีความรู้ที่จะ update คุณภาพแปรงจากตรงนี้เยอะมาก
  • ท่านให้คำแนะนำเราว่า ตอนนี้ ISO เขามีวิธีการตรวจแปรงสีฟันแบบใหม่ ซึ่งเป็นการค่า G เราสามารถเอามาปรับใช้กับมาตรฐานเราได้
  • อาจารย์ท่านก็มีแปลนการสร้างเครื่องมือการใช้เครื่องตรวจอันนี้ด้วย เพราะฉะนั้น เราจึงอาศัยความรู้ตรงนี้ของภาคีเครือข่ายของเรา คือ อาจารย์ มาปรับมาตรฐานของเรา และอาศัยเทคโนโลยีด้วย ขอสร้างเครื่องมือแบบอาจารย์ ก็สามารถแก้ปัญหาในเรื่องมาตรฐานของเราได้
  • ตอนนี้ก็สามารถที่จะตรวจแปรงสีฟันในประเทศไทยได้อย่าง cover แต่ปรากฎว่า ค่าตัวเลขที่มาจาก ISO นี่ไม่เหมาะสมกับแปรงในไทยนัก ... เรา ... พี่สุวิภา หมอวิกุล และอาจารย์ก็เลยทำงานวิจัยร่วมกัน
  • ในการแลกเปลี่ยนตรงนี้ก็รู้ว่า ค่า G ของประเทศไทย แปรงไทย ควรจะอยู่ในช่วงไหนๆ ก็ได้เป็น paper ออกมา และได้เป็นมาตรฐานที่เหมาะกับประเทศไทย
  • เพราะฉะนั้นตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ความรู้ที่ได้มานั้น มันไม่ได้มาจากเราเท่านั้น คือ เราอาศัยทั้งความรู้ และเทคโนโลยี และช่องทางจากภาคีเครือข่ายของเรา
  • นอกจากเรื่องมาตรฐานแล้ว ยังมีเรื่องห้องแลป ... เราเชิญกรมวิทย์ฯ มาเป็นกรรมการแปรงสีฟัน กรมวิทย์ฯ บอกเราว่า จริงๆ แล้วกรมวิทย์ฯ มีมาตรฐานห้องแลปอยู่ 3 อย่าง ซึ่งห้องแลปตรวจแปรงของเรานี่ก็จัดอยู่ในหมวดหนึ่งของเขาด้วย เขามีความยินดีที่จะช่วยเราพัฒนาห้องแลป และบอกว่าจะให้การรับรองด้วย เมื่อมันผ่านแล้ว เขาก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลือตรงนี้
  • หรือไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของฉลากแปรงสีฟัน คุณสุวิภาก็ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่า ช่วยกันมากำหนดว่า ข้อความที่ควรกำหนดไปบนฉลากแปรงสีฟันนี่ ควรจะมีอะไรบ้าง
  • ก็เชิญ สคบ. กองทันตฯ บริษัทผู้ผลิตฯ ทั้งหลาย ที่สามารถจะติดต่อได้ทั้งหมดมา มาประชุมกัน มาคุยแลกเปลี่ยนกัน ในที่สุดก็ได้ความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่ง ว่าข้อความที่อยู่บนฉลากแปรงสีฟันนั้นควรเป็นอะไร ซึ่งตรงนี้ก็มาจากภาคีเครือข่ายด้วยกันทั้งสิ้น
  • อย่าง อย. ก็ช่วยเรา อย. ให้คำแนะนำว่า การที่เราจะรับรองคุณภาพแปรงสีฟัน เราควรที่จะไปดูโรงงานเขาด้วย อย. ก็พาเราไปดูวิธีการตรวจโรงงานเขา ว่า ในการตรวจโรงงานควรดูขั้นตอนไหนบ้าง ดูอะไรๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นในเรื่องของโรงงาน จะเห็นได้ว่า มันมีการต่อยอดความรู้ในส่วนต่างๆ ออกไป
  • ความจริงเราก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะมีเจตนาตรงนั้น แต่ว่าภาคีเครือข่ายของเราได้ให้คำแนะนำ และให้ช่องทางแก่เราด้วย ตรงนี้ก็เลยคิดว่า ในการที่มีการประชุม ลปรร. กับภาคีเครือข่ายนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และมีความจำเป็นในการที่ประชุมแต่ละครั้ง เราจะเห็นว่า จะมีความรู้ที่ต่อยอดขึ้น มันไม่ใช่แต่เราได้ ภาคีเครือข่ายก็ได้จากเรา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน
  • สคบ. เขาก็ได้ประโยชน์ จากการที่เรามารับรองฉลากแปรงสีฟัน อย. ก็ได้ประโยชน์จากการที่เราดูแลคุณภาพแปรงให้ เพราะฉะนั้นนี่ มันก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ก็เป็นความรู้ที่เราได้จากการทำงานตรวจคุณภาพแปรงสีฟัน

วันนี้ก็แอบเข้าไปดูเครื่องมือสำหรับแปรงสีฟันของกลุ่มนี้ ค่ะ น่าทึ่งจริงๆ เขาพัฒนาไปได้ไกล ด้วยทั้งเครื่องมือส่องขยาย หรือโปรแกรมอ่านคุณลักษณะของแปรงสีฟัน ... อิอิ เรียกรายละเอียดของเขาไม่ถูกอะค่ะ เพราะว่า เพิ่งแอบไปดูวันเดียว แป๊บๆ เอง ... โอกาสหน้าฟ้าใหม่ จะเข้าไปเจ๊าะแจ๊ะให้มากกว่านี้ละนะคะ

รวมเรื่อง Share & Shine ชาวกองทันตฯ

 

หมายเลขบันทึก: 133780เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาเยี่ยมค่ะ เลยได้เทคนิคการเขียนสรุป "แบบเล่าให้ฟัง" เลยขอไปขยายผลต่อนะค่ะ

  • สวัสดีค่ะ คุณศิริวรรณ
  • ไม่ค่อยไป F2F กันเลยค่ะ แต่แอบไปหาที่ blog บ่อยเหมือนกัน
  • ให้กำลังใจเพื่อสร้างผลงานดีดี ... อนาคต คงจะมีเวลา หรือเวทีที่จะมาร่วมวงไพบูลย์กันบ้างนะคะ
  • ขอบคุณค่ะที่มาเยี่ยมเยียน
  • และยินดีที่เทคนิคนี้มีประโยชน์ และนำไปใช้ต่อยอดได้ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท