เด็กเก่งคอมพ์ กับเด็กติดเกมฯ ต่างกันตรงไหน?


สวัสดีครับทุกท่าน

         น้องชายจากเมืองไทย ส่งบทความมาให้อ่าน ลองอ่านกันดูนะครับ ว่าด้วย เรื่องคอมพ์ๆ  ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง เกมส์ๆ คอมพ์ๆ ผมเคยเขียนไว้หนึ่งตอนลองไปอ่านดูครับ แลกเปลี่ยนกันเมามันส์ เปลี่ยนจาก ติดเกมส์ เป็น ผลิตเกมส์

หรือใครจะเปลี่ยนจาก ติดเกมส์ เป็นเก่งคอมพ์ ก็ได้ครับ แต่เด็กเล่นเกมส์เก่ง ไม่ได้หมายถึงว่าเก่งคอมพ์ อันนี้ต้องทำความเข้าใจด้วยนะครับ 


เด็กเก่งคอมฯ กับเด็กติดเกมฯ ต่างกันตรงไหน?



            ปัญหาเด็กติดเกมหรือหมกมุ่นอยู่กับการ chat ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเริ่มสร้างปัญหาให้กับครอบครัวและสังคมไทยมากขึ้น เรื่อยๆ เห็นได้จากโรงเรียน คลินิกเด็กของโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง ที่เต็มไปด้วยผู้ปกครองมายื่นรอเข้าคิวเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเหล่า นี้ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งปัญหาที่พบก็มีมากบ้างน้อยมากตามระยะเวลาที่เล่น แต่ล้วนเป็นปัญหาที่น่าขบคิดเป็นอย่างยิ่ง

            ปัญหาอยู่ตรงไหนแน่

            สาเหตุหนึ่งก็คือ ความต้องการที่จะพัฒนาความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ ให้กับเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ผิดก็คือ เราเกิดไปเข้าใจแบบผิดๆ ว่าการส่งเสริมให้เด็กได้ “เล่น” กับคอมพิวเตอร์ คือ วิธีพัฒนาเรื่องนี้

           ความเข้าใจผิดตรงนี้ก็ทำให้ครูและพ่อแม่ส่วนหนึ่งพยายามให้ลูกได้ “เล่น” คอมพิวเตอร์ผ่านเกม ผ่านการท่องอินเทอร์เน็ตโดยผู้ใหญ่ไม่สนใจรายละเอียดของสิ่งที่ลูก “เล่น” ต่างคิดว่านี่คือการเรียนรู้ที่สำคัญ คือทักษะที่จำเป็น เมื่อเด็กๆ มีทักษะเหล่านี้และมักจะส่งผลให้พวกเขามีความสามารถ มีความเก่งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถที่จะแข่งขันกับใครๆ ก็ได้

            ความเข้าใจผิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะว่าการได้เล่นหรือได้สัมผัสกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป แม้จะเก่งกาจแค่ไหนเราก็เป็นได้แค่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคโปรแกรมที่เขาผลิตมา ขายให้เราแค่นั้นเอง เราไม่สามารถที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ด้วยพื้นฐานเพียงแค่การเป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภคโปรแกรมที่ชำนาญเท่านั้น เพราะการที่จะเป็นคนเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างแท้จริงนั้นพื้นฐานที่สำคัญอยู่ที่ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์

            อยากให้ผู้อ่านศึกษากรณีของประเทศอินเดียดูสักนิด หลายปีก่อนมีการสำรวจความสามารถทางคณิตศาสตร์ของคนอินเดียพบว่า ผู้คนทางแถบภาคใต้ของอินเดียมีคนที่เก่งคณิตศาสตร์ในสัดส่วนที่สูงกว่าคนในแถบอื่นๆ ขอวงประเทศ

            แน่นอนครับ Srinivasa Ramanujan สุดยอดอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ของโลกก็มีพื้นเพอยู่ทางภาคใต้ของอินเดียนี่เอง นี่คือคำตอบว่าทำไมเขาถึงเลือกเมืองบังกาลอร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ อินเดียให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของเขา จากพื้นฐานความสามารถของคนในแถบนี้ อินเดียใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี พัฒนาบังกาลอร์จนกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกไป เรียบร้อยแล้ว

            และไม่กี่ปีมานี้เอง Bill Gates เจ้าพ่อแห่ง Microsoft ได้บริจาคเงินจำนวนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับรัฐบาลอินเดียเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ จนองค์การอนามัยโลกสำนักงานประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตั้งอยู่ที่ กรุงนิวเดลีต้องถามว่าทำไมจึงต้องบริจาคมากมายถึงปานนั้น

            สิ่งที่ Bill Gates ตอบก็คือ ไมโครซอฟท์จะไม่มีวันนี้เลยหากไม่มีวิศวกรคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเมอร์ผู้ เก่งกาจจากอินเดียเรียกได้ว่าไมโครซอฟท์เป็นหนี้บุญคุณของคนเก่งชาวอินเดีย

            และก็ไม่ต้องตกใจนะครับถ้าพบว่าพนักงานไมโครซอฟท์เกินครึ่งเป็นคนอินเดีย ประเทศอินเดียพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้คนของเขาจากพื้นฐาน ทางคณิตศาสตร์ครับ ไม่ใช่ส่งเสริมให้คนของเขาเล่นเกมคอมพิวเตอร์

            เกมคอมพิวเตอร์ให้โทษมากกว่าคุณ

            เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยสหรัฐฯ กลุ่มหนึ่งได้ทำการศึกษาเด็กชั้นประถมและมัธยมของเขาที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ พบว่าเกมทุกเกมที่ผลิตออกมาขายจะมีการออกแบบเกมให้มีความท้าทาย น่าสนใจ น่าติดตาม และสุดท้ายเด็กที่ชอบเล่นเกมส่วนใหญ่ก็จะติดเกมไม่ว่าจะเป็นเกมที่บอกว่า เป็นเกมสร้างสรรค์หรือเกมประเภทที่เต็มไปด้วยความรุนแรง สรุปได้ว่า ไม่ว่าเด็กจะเล่นเกมแบบไหนก็มีโอกาสติดได้ทั้งนั้น

            และ เมื่อศึกษาลึกลงไปอีกเขาก็พบว่า ทั้งเกมสร้างสรรค์และเกมรุนแรงต่างก็ทำให้การเรียนของเด็กที่ติดเกมแย่ลง ทำให้เด็กมีสังคมแคบลง แยกตัว ไม่มีเพื่อน แต่เกมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงจะน่ากลัวกว่าตรงที่มันทำให้เด็กมีพฤติกรรม ก้าวร้าวมากขึ้นชอบเถียงครู ชอบใช้กำลัง มีความคิดว่าการใช้ความรุนแรงคือความถูกต้องชอบธัรรมและเป็นทางออกของการ แก้ไขปัญหา

            สำหรับบ้านเรายังไม่มีการศึกษาที่ลึกแบบนี้ มีแค่การศึกษาถึงความชุกของปัญหา ซึ่งพบว่าบ้านเราก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้ไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเด็กติดเกม เด็กที่มีปัญหาการเรียนจากปัญหาติดเกม รวมทั้งการหนีเรียนไปเล่นเกม ถึงแม้จะยังไม่มีข้อมูลผลกระทบต่างๆ แบบของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้แปลว่าบ้านเราจะไม่มีปัญหาแบบของเขา เพราะไม่ว่าเกมประเภทฆ่าฟันกันอย่างไร้กฎเกณฑ์ ไร้ศีลธรรม เกมลามกทุกรูปแบบที่เด็กอเมริกันได้สัมผัส ลูกหลานของเราก็สามารถที่จะสัมผัสได้ไม่ต่างกัน จะไปซื้อแผ่นเกมมาเล่น ไปเล่นตามร้าน หรือเล่นออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตลูกหลานของเราทำได้ทั้งนั้น

            พ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง ต้องตื่นตัวและมีมุมมองใหม่

            การที่เราอยากจะพัฒนาความสามารถของลูกหลานในเรื่องคอมพิวเตอร์หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เราต้องมีวิธีที่ถูกต้อง การให้เด็กเล่นเกมแล้วคิดว่ามันจะช่วยให้ลูกหลานเราเก่งเป็นความเข้าใจผิด ภายในเกมคอมพิวเตอร์ ภายในเว็บไซต์ต่างๆ ที่เด็กของเราท่องไป มันมีหลุมพรางมากมายที่จะดักล่อให้ลูกหลานของเราไปติดกับ

            เพราะ ฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ใหม่ ต้องคอยดูแลลูกหลานของเราอย่างใกล้ชิด หากเราใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการค้นคว้าและเพื่อการเรียนรู้ นั่นคือ สิ่งที่เราต้องสนับสนุน แต่หากเขาใช้เพื่อเล่นเกมหรือเพื่อการเข้าไปข้องแวะกับเว็บไซต์ที่อาจจะ เป็นอันตรายกับเขา เราต้องพูดคุยและตักเตือน

            นอกจากนี้ การดูแลและควบคุมเวลาการใช้คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมก็จำเป็นเพื่อป้องกันการติด เพราะเมื่อไรพวกเขาติดเกมหรือติดคอมพิวเตอร์แล้ว การแก้ไขมันยากมากทีเดียว

 

 ศึกษาและเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธีได้ที่

 

ข้อมูลและภาพแระกอบจาก
 


ขอบคุณมากๆ นะครับ สำหรับข้อมูล จาก http://hilight.kapook.com/view/14881

 

ขอบคุณมากครับ

เม้ง 

หมายเลขบันทึก: 123734เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • สวัสดีครับ น้องเม้ง
  • เห็นด้วยครับ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มาก
  • ผมขอยกประเด็นนี้ไปต่อใน http://gotoknow.org/blog/intertwined/124157 นะครับ
  • คุณเม้งเองก็ช่วยได้ด้วยการเปิด blog สำหรับเด็ก ความรู้ที่คุณเมงมี น่าสนใจออกจะตาย

 

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเคยนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเด็กติดเกมส์ให้ กลายมาเป็นเด็กสร้างเกมส์ ไปเสียเลยครับ หากเด็กติดหนักๆ เพื่อให้เค้าเข้าถึงการสร้าง โดยไปดึงจินตนาการของเค้าออกมาให้ทำงานกันเป็นทีมให้ได้

ผมเคยนำเสนอ แนวคิดในงานประชุมหนึ่งผ่านผู้ใหญ่ในกระทรวงวิทย์นะครับ เป็นแนวทางหนึ่งผมว่าหากจัดทีมให้ดีทำได้นะครับ อาจจะคัดเด็กออกมาเป็นสามส่วนเ่ช่น

  • ส่วนที่สามารถพัฒนาไปยังผู้สร้างเกมส์ได้เป็นทีม
  • ส่วนที่สามารถจะเป็นผู้ทดสอบระบบ
  • ส่วนที่สามารถคิดวางแผน ต่างๆ และอื่นๆ

    เป็นนำเด็กให้หันมาสู่แนวทางการคิดและพัฒนาตนเอง จะนำไปสู่การวางแผนหลายๆ อย่างในสาขาอาชีพได้เป็นอย่างดีเช่นกันนะครับ
  • เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ครับ

  • เปลี่ยนจาก ติดเกมส์ เป็น ผลิตเกมส์
  • ขอบคุณมากครับ

 

  • ทางการควบคุมผู้ให้บริการและผู้บริโภคไม่ได้
  • ผู้ปกครองตามดูแลบุตร หลานไม่ได้
  • ครู  อาจารย์บอกสอนนักเรียน นักศึกษาไม่ได้
  • เมื่อทั้งหมดดูแล ควบคุมความประพฤติของเด็กไม่ได้แล้ว  การตามใจตัวเอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ อยากทำอะไรก็ทำ 
  • เล่นที่บ้านไม่ได้ ก็ขอเงินผู้ปกครองไปเช่าเน็ต. คาเฟ่  เล่น
  • ผู้ประกอบการยิ่งชอบมีลูกค้าใช้บริการ ไม่คำนึงถึงผลกระทบ
  • ฯลฯ....
  • ประเทศไทยเรากำลังเป็นอย่างนี้จริงๆ ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์

สำหรับเรื่องบล็อก สำหรับเด็ก น่าสนใจนะครับ หากเด็กสนใจจะมาอ่าน  ไว้จะหาโอกาสเปิดบล็อก คุยกับลุงเม้ง เรื่องคอมพ์ๆ ดีไหมครับ อิๆๆๆ

เดี๋ยวลุงเม้ง ไม่จ๊าบ ไม่แบ๊ว ต้องกลับไปทำความรู้จักกับเด็กๆ ก่อนนะครับ

ขอบคุณมากครับ 

P
สะ-มะ-นึ-กะ

 

สวัสดีครับพีสะมะฯ

  •  ขอบคุณมากครับพี่ ที่ช่วยอัพเดตอะไรดีๆ ให้รับทราบครับ สู่กันอ่านครับ
  • การพัฒนาอยู่ที่ว่าจะเน้นความสำคัญในส่วนไหนครับ หากมองว่าเด็กคืออนาคตของชาติ หากเน้นไปความสำคัญไปที่การพัฒนาเด็ก พัฒนาครู พัฒนาคน พัฒนาสมอง คนก็จะไม่จนความรู้ รวยความรู้ ก็จะไปทำอะไรก็ได้ ตกงานก็ผลิตงานเองได้ มีอิสระเสรีต่อการสร้างงานได้
  • ส่วนเรื่องเกมส์ เป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่สะท้อนให้เรารู้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่กับอนาคตของชาติเรา...เราเอาใจใส่และจริงใจกันแค่ไหน
  • ขอบคุณมากครับ

ดีมากที่คนไม่ติดเกม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท