คำถาม: "การบริหาร+ภาวะผู้นำ"


คุณหมอสุพัฒน์ (kmsabai) ถามมาว่า 

  1. การบริหาร จำเป็นต้องเรียนจริงๆ จังๆ หรือไม่
  2. ขอคำแนะนำเรื่องสิ่งสำคัญหรือขั้นตอน ที่ช่วยให้เรียนรู้ เข้าใจและเชื่อมโยงแนวคิดได้อย่างถูกต้อง

ผมอยากเป็นวิศวกรมาตั้งแต่เรียนมัธยมครับ และเรียนวิศวกรรมมาเป็นพื้นฐาน แล้วไปเรียนบริหารด้วยเหตุผลที่ขณะนั้น (นานมากแล้ว) กำลังสนุกกับงาน ไม่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เลยหาเหตุเรียน MBA; ตอนที่เรียนจบ ก็มั่นใจมากเลยครับ ว่าถ้าให้บริหารกิจการใด เจ๊งแน่ๆ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น; สมัยที่เรียน ก็เรียนเหมือนเป็นงานอดิเรก แต่ทำงานเป็นเรื่องจริงจัง แต่ได้วิชามาเยอะเหมือนกันครับ (ได้เพื่อนดีๆ มาหลายคน ได้ความมั่นใจ+ความรู้สึกดีมาด้วย)

พูดอย่างนี้เดี๋ยวครูบาอาจารย์จะมาว่าเอาว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ประเด็นคืออย่างนี้ครับ

  • เครื่องปรุง เวลาจะใช้ก็ยังต้องเจือจางเสียก่อน ไม่มีใครกินน้ำปลาจากขวดใช่ไหมครับ หรือเวลาให้ IV ก็เอาตัวยาบริสุทธิ์ไปละลายก่อนตามความเข้มข้นที่ต้องการ และให้ในอัตราที่ต้องการใช่ไหมครับ
  • ความรู้ทางทฤษฎี และองค์ความรู้ก็เช่นกันครับ หากรับมาแล้วนำไปใช้ทั้งดุ้น แทนที่จะช่วย กลับอาจทำให้ช๊อคตาย (รู้เรื่องคนเดียว คนอื่นๆ เค้าหน่ายกันหมด)
  • องค์ความรู้ไม่ลอยน้ำ+ไม่ละลายน้ำ+ไม่ลอยไปในอากาศ; ถ้าอยากได้ ต้องแสวงหาเอา ไม่ใช่รอใครมาจับยัดลงไปในสมอง; ยัดอย่างไรก็ไม่เข้าครับ ติดกะโหลก
  • องค์ความรู้จะมีประโยชน์หรือไม่ ขึ้นกับว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หรือไม่; หากประยุกต์ไม่ได้ ก็เป็นอาการความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
  • การที่จะประยุกต์ได้ มีสององค์ประกอบเป็นอย่างน้อยคือ รู้จนเข้าใจจริง-พลิกแพลงได้ และมีโอกาสที่จะได้ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์
  • ดังนั้น การเรียนตามกระบวนการศึกษาตามรูปแบบมาตรฐาน จึงเปรียบเหมือนการลงทุนครับ บางทีเรียนแล้วได้ใช้ความรู้ตรงกับวิชาชีพ ก็จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล บางทีไปทำงานนอก field สิ่งที่เรียนมาก็ไม่ตรงกับงาน; แต่ถึงเรียนมาไม่ตรง ก็ไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะคนเราถ้าหากจะเรียน ก็เรียนรู้ได้ตลอดเวลา; ถ้าไม่อยากเรียน ต่อให้จับเข้าห้อง ก็จะไม่ได้อะไรออกมาครับ

คำถามแรกว่า "เรื่องการบริหารจำเป็นต้องเรียนหรือไม่" ผมคิดว่าไม่จำเป็นครับ แต่ถ้าเรียนมา ก็น่าจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น มีความรู้ที่ถูกย่อย-ถูกกลั่นกรอง-ถูกพิสูจน์มาแล้วว่าเคยใช้ได้

ในความหมายของผม การบริหารคือการจัดสรรทรัพยากร(คน เงิน เวลา/โอกาส)อย่างเหมาะสม เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าประสงค์ การจัดการหมายถึง การเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าประสงค์ นิยามเหล่านี้ไม่ตรงกับที่ผู้รู้หลายท่านให้คำจำกัดความไว้ (แต่ผมเฉยๆครับ ตราบใดที่มันยังใช้ได้)

เราไม่ได้ไปเรียนการบริหารเพื่อเอาสูตร มาจัดสรรทรัพยากร เราไม่ได้ไปเรียนการบริหารเพื่อเอารายการวิธีการ ที่จะเอาชนะข้อจำกัดมาใช้; ทั้งทรัพยากร ทั้งข้อจำกัด เป็นเรื่องเฉพาะตัวขององค์กร แต่ละองค์กรก็แตกต่างกันไป และแตกต่างกับที่อยู่ในตำรา-กรณีศึกษาอย่างแน่นอนครับ

เราใช้สามัญสำนึก+ความคิด+ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในองค์ประกอบต่างๆ ขององค์กร+ความเข้าใจในพลวัตของสิ่งที่อยู่รอบๆ มาจัดทัพเพื่อนำองค์กรให้บรรลุเป้าหมายครับ

สำหรับคำถามที่สองเรื่อง "ขอคำแนะนำเพื่อช่วยให้เรียนรู้ เข้าใจ และเชื่อมโยงความคิดได้อย่างถูกต้อง"

อันนี้ต้องตีความคำว่า "ถูกต้อง" เสียก่อนครับ ถ้าถูกต้องแปลว่าตรงตามตำรา ผมแนะให้ไปเรียนครับ; ถ้า "ถูกต้อง" แปลเหมือนที่ผมป้ายสีเหลืองไว้ท้ายคำตอบแรก ลองใช้วิธีการ/หลักการต่อไปนี้ได้ครับ

สำหรับการเรียนรู้

  • เช่นเดียวกับการทำงานใดๆ ใช้หลักอิทธิบาท ๔ เป็นหลักครับ
  • เรียนรู้ทุกโอกาส; หากัลยาณมิตรแลกเปลี่ยนความรู้; ฝึกฝนจนแตกฉาน
  • KM ครับ มี K เป็นสาระ มี M เป็นรูปแบบวิธีการ; ต้องรู้ว่า K อยู่ตรงไหน เปิดหนังสืออะไร ถามใคร; เก็บความรู้ที่แม้ไม่เข้าใจ ลงลิ้นชักไว้ก่อน; เวลาแคะกระปุกเอาเงินไปใช้ ไม่ว่าเหรียญหรือธนบัตร ก็เงินซื้อของได้เหมือนกันนะครับ
  • การเป็นคนช่างสังเกต อ่านคนเป็น เห็นในสิ่งที่ไม่ได้ดู ฟังในสิ่งที่ไม่ได้พูด -- พวกนี้จะช่วยครับ
  • ประสบการณ์จะช่วยเชื่อมโยงแนวคิดครับ พวกนี้ใช้เวลาบ้าง แต่ทักษะอื่นๆ ก็ใช้เวลาฝึกเช่นเดียวกัน
สำหรับการปฏิบัติฝึกฝนตน
  • ขอสองข้อแรกในมรรค ๘ เป็นอย่างน้อยครับ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ; เป็นเรื่องที่อยู่ในใจทั้งคู่
  • เข้าใจบทบาทอย่างชัดเจนครับ: ผู้บริหารอยู่ในระดับสูง มองเห็นภาพใหญ่ มองทิศทางชัด แต่มองรายละเอียดไม่ชัด; ถ้าเป็นเรื่องในรายละเอียด ต้องขอความรู้จากผู้ปฏิบัติซึ่งอยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์มากกว่า เขามองภาพชัดกว่า; อย่าได้หลงไปกับความยิ่งใหญ่อลังการของตำแหน่งหน้าที่นะครับ
  • การจัดการคนยาก-เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะคนมีความแตกต่างกัน มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน; อย่าเอาตัวเราหรืออุดมคติของเรา impose ลงไปนะครับ จะมีแต่ผิดหวัง เขาไม่ใช่เรา ยังไงก็ไม่เหมือนกัน; ต้องใช้วิธีปรับตัวเข้าหากันครับ
หมายเลขบันทึก: 90696เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2007 01:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับ

  • ขอบคุณมากๆครับ 
  • เป็นคำตอบที่ผมรู้สึกว่าตรงกับที่ตังเองอยากรู้อยากเข้าใจ  อยากได้มุมมองจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ครับ
  • ขอเวลาอ่านคำตอบอาจารย์(จะยังขอเรียกว่าอาจารย์ครับ  แต่จะน้อยและจำเป็นที่สุดครับ)หลายๆรอบก่อนครับ

Conductor........

เห็นด้วยในประเด็นว่า...

 การบริหารไม่จำเป็นต้องเรียน.....แต่ถ้าได้เรียน..........

เจริญพร

 

อ่านมาถึงหัวข้อนี้เลยอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองค่ะ เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยอยากจะเรียนต่อ MBA เพราะจบทางด้่านคอมพิวเตอร์ แต่ต้องมาทำงานบริหาร เลยรู้สึกไม่มั่นใจ  แต่หัวหน้าโดยตรงในขณะนั้นบอกว่า ไม่ต้องไปเรียนหรอก เรียนรู้จากประสบการณ์ก็ได้  MBA ไม่จำเป็นเท่าไหร่  ดิฉันเลยทำงานบริหารและเรียนรู้ไปพร้อมๆกันจากหลากหลายแหล่ง ทั้งจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หนังสือ บทความต่างๆ   เวลาผ่านมาสิบปี หัวหน้าอีกท่านเปรยว่า น่าจะไปเรียน MBA นะ ก็เลยเป็นแรงบัลดาลใจให้ไปลองสมัครดู และสุดท้ายก็เรียนจนจบ คะแนนเป็นที่ 2 ของห้อง  ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า เรียนก็ดี แต่ไม่เรียนก็สามารถเรียนรู้เองได้ แต่อาจจะช้าหน่อย  แต่ที่สำคัญมากๆึืคือ ตอนไปเรียนเค้าสอนเรื่องการเงินการบัญชี ซึ่งเป็นวิชาเดียวที่คิดว่าไปเรียนเอาพื้นฐานดีกว่า เพราะเข้าใจได้ยากมาก ตอนนี้ย้อนกลับไป ก็คิดขอบคุณหัวหน้าทั้งสองท่านค่ะ ที่ coach ได้ดีมากจนสามารถทำงานได้มาจนถึงทุกวันนี้  และยังไม่เสียดายที่ไปเรียนเลยค่ะ เพราะสามารถปรับใช้และเข้าใจงานที่ทำได้มากขึ้น

หัวหน้าทั้งสองท่าน คงยินดีกับคุณ kapook เป็นที่สุดครับ เพราะว่าสำหรับคนเป็นนาย ลูกน้องที่เก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่จะผลักดันองค์กรไปสู่ความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป

แต่นั่นเป็นเรื่องในอุดมคติ ;-) ... ไม่เชิงหรอกครับ-ดูลายมือแล้ว ผมน่าจะรู้จักหัวหน้าของคุณ kapook ทั้งสองท่านและคิดว่าอ่านไม่ผิด

ในสถานการณ์จริง มีอีกสามสถานการณ์ที่พบเห็นกันบ่อยครับ

  1. นายหัวกลวง เจอลูกน้องของจริง เลยกดหัวไว้; สถานการณ์นี้ นายจะรู้สึกไม่มั่นคงว่าถ้ามีลูกน้องที่เก่งกว่า ตัวเองอาจจะทำงานสู้ลูกน้องไม่ได้

    ผมคิดว่านายคนนี้คิดผิดมาตั้งแต่ต้น ถ้านายทำงานเหมือนกับลูกน้องแล้ว จะจ้างนายไปทำมัมมี่อะไร เพราะให้ลูกน้องทำงานไปได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

  2. นายเห็นข้อบกพร่อง ลูกน้องมั่นใจว่ามีดี แต่พูดภาษาไทยกันไม่รู้เรื่องทั้งคู่: ฝ่ายหนึ่งมีดี อีกฝ่ายหนึ่งก็อยากให้ดีขึ้นอีก แต่กลับไม่สามารถสื่อสารกันจนเข้าใจได้

    ไม่มีความจริงใจมากไปกว่าการบอกความจริงครับ เพียงแต่ต้องหาวิธีบอกไม่ให้หักหาญน้ำใจกัน-ไม่ให้เสียหน้า แนะนำ ส่งเสริม ให้โอกาส

    ลักษณะนี้เห็นได้มากในการเสนอสิ่งใหม่ๆ ผู้เสนอได้ค้นคิดมาแล้วว่าดีจริง มั่นใจว่าจะสำเร็จ และติดอยู่ในความคิดนั้น แต่ภารกิจขององค์กรเป็นเรื่องซับซ้อน การที่ได้ผลดีในเรื่องหนึ่ง อาจเกิดผลเสียหายได้ในอีกด้านหนึ่งซึ่ง ผู้เสนอมองไม่เห็น เช่นไม่มีการจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนแอบแฝงเช่นต้นทุนทางด้านทรัพยากรทางอ้อม ไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ (กติกา ต้นทุนทางการเงิน คนลาออก ฯลฯ)

    การที่ต่างฝ่ายต่างยึดในความคิดของตน แทนที่จะยึดประโยชน์ขององค์กร และไม่สามารถจะใช้ประโยชน์จากความแตกต่างทางความคิดได้ เป็นโศกนาฏกรรมของผู้ที่ต่างกระทำเพื่อองค์กร

  3. ห่วยทั้งคู่ แต่อยู่กันได้ (ด้วยการป้อยอ หลอกกันเองไปวันๆ): ไม่ต้องอธิบายแล้วครับ

สวัสดีครับ

น่าจะมีอีกอย่างนะครับ คือ

นายงี่เง่า ไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งนั้น (อาจจะมีเสียงเล็ก ๆ "แล้วไปอยู่กับมันทำไม") ขอโทษทีครับ จริง ๆ อาจจะไม่ร้ายแรงขนาดงี่เง่าหรอก แต่เป็นประมาณว่า นายมีวิสัยทัศน์ แต่ลูกน้องมองไม่เห็น เช่น นายเห็นดาวอังคารแต่ลูก้องเห็นแค่ ดาวเทียม(หนักไปหน่อย) ดวงจันทร์แล้วกัน ปัญหาอาจจะอยู่ที่การสื่อสารอีกนั่นแหละครับ(ทำให้เลอะซะแล้ว)

ขอบคุณคุณอุทัยครับ แหมเป็นลูกค้านี่ ทำให้เถียงไม่ได้ถนัด ;-)

เราจัดนายงี่เง่าเป็นนายหัวกลวงตามข้อ 1 แล้วจัดอาการที่คนในบริษัทไม่สามารถจะพูดจากันจนรู้เรื่องเข้าใจกันเป็นกรณีข้อ 2 ได้ไหมครับ

สวัสดีอาจารย์ตอนดึกๆครับ

  • อืมอย่านอนดึกมากนะครับ
  • นอนวันละกี่ชมครับ..ขอให้ได้ 6-8 ชม นะครับ
  • วันนี้หาลูกค้าให้เพิ่มอีก3 คนครับ  ทุกคนบอกว่าอ่านแล้ว ชอบ  แบบนี้ใช่เลย  โดนใจครับ
  • วันนี้อยู่เวรอีกแล้วเลยได้มาเยี่ยมอาจารย์ครับ
  • ปล..ใช้คำว่าอจ.  แค่ 2ครั้งเองนะครับ คงไม่ว่ากัน

 ขอบคุณอาจารย์ที่ให้แง่คิดดีๆอีกแล้ว อยากให้ใครบางคนมาอ่านบันทึกอาจารย์จัง อิอิ

  ขอบคุณครับ

ไม่นอนดึกแล้วครับ (นอนเช้า) แต่ว่านอนพอครับ ความแก่นี่มีดีอยู่อย่างนึง คือไม่ต้องฝืนมากครับ มันฝืนไม่ไหว เพราะสังขารไม่อำนวย ฮ่าๆๆ

ตามมาอ่านอย่างละเอียดแล้วครับ .. ลงมติว่า ชอบด้วยเหมือนกัน เห็นด้วยทุกรายการ ทั้งๆพยายามจะหาสิ่งที่เห็นต่าง แต่ก็หาไม่เจอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท