เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติ "คุณเอื้อ"


ขณะที่ Tacit ไหลเลื่อนผ่านเรื่องเล่าสู่ผู้ฟัง มันเป็นส่วนผสมของ Fact + Feeling เพราะฉะนั้น มันจะ perfect ใน momemt นั้นเท่านั้น ผู้ฟังเท่านั้นที่จะบันทึกไว้ได้ ต่อให้ถ่ายภาพ บันทึกเสียง หรือวีดีโอ ก็ตาม ไม่มีเครื่องบันทึกใดจะมาแทนที่คนฟังได้

          เมื่อวันที่ 8 - 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สคส.: สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  ได้จัดให้มีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ปฏิบัติ "คุณเอื้อ" ขึ้น  ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล "บ้านผู้หว่าน" อำเภอสามพราน  จังหวัดนครปฐม

          ท่านอาจารย์วิบูลย์ (ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร : รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้  ดิฉันเองก็ได้รับเกียรติอย่างสูงเช่นกัน  เราสองคน จึงเดินทางไปเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยนเรศวร

          ผู้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ มีจำนวนไม่มาก นับว่ากำลังพอดี รวมทั้งสิ้นที่มาได้จริง 14 ท่าน (ไม่รวมบุคลากรของ สคส. เอง อีก 12 ท่าน)  ได้แก่

  1  คุณธุวนันท์    พานิชโยธัย    กรมส่งเสริมการเกษตร 
  2 พญ.นันทา    อ่วมกุล    กรมอนามัย 
  3 นพ.ประเทือง    ตียะไพบูลย์สิน    โรงพยาบาลตาคลี 
  4 พญ.ปารมี    ทองสุกใส    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
  5 ดร.พิชิต    เรืองแสงวัฒนา    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
  6 รศ.มาลินี    ธนารุณ    มหาวิทยาลัยนเรศวร 
  7 คุณเรืองศักดิ์    ศรีวัฒนะ    บริษัท TRUE 
  8 ดร.เลขา    ปิยะอัจฉริยะ    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 
  9 ผศ.นพ.วรรษา   เปาอินทร์    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
 10 ผศ.ดร.วิบูลย์    วัฒนาธร    มหาวิทยาลัยนเรศวร  
 11 คุณสมใจ    เนียมหอม    โรงพยาบาลศิริราช 
 12 นพ.สมพงษ์    ยูงทอง   โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 
 13 คุณสุรเดช    เดชคุ้มวงศ์    มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร 
 14 พญ.อัจฉรา    เชาวะวณิช    สถาบันบำราศนราดูร 

          จะเห็นได้ว่า คละเคล้าหลายกลุ่มหลากอาชีพ ไม่น่าจะมาคุยกันได้เลย

          แต่ในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ เราคุยกันอย่างออกรส จนทำให้กำหนดเวลาคลาดเคลื่อนไปบ้างด้วยซ้ำ  เพราะสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ทุกท่านเหมือนกันยังกับแกะคือ มี "วิญญาณคุณเอื้อ" ที่ใช้สัมผัสที่ 6 แตะแค่ผิวๆ ต่างก็รับรู้ได้

          วันแรก (8 พ.ค.) หลังจากที่ท่าน อ.หมอวิจารณ์ เกริ่นนำวัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาครั้งนี้ตามสมควรแล้ว  คุณแกบ (คุณสุปราณี  จริยะพร : ผู้จัดการสำนักงาน สคส.) พิธีกรจำเป็น (อ.วิจารณ์ฝึกคนเก่งจริงๆ ใครก็ตามที่ทำงานกับ สคส. สามารถทำงานได้ทุกอย่าง) เปิด "เวทีแนะนำตัว" ด้วยกิจกรรม "ทายใจ ทายตัว จากชื่อเล่น"   เป็นกิจกรรมที่สนุกมาก  ทำให้ผู้เข้าร่วมเสวนา  ตลอดจนบุคลากรของ สคส. ทุกท่าน สนิทสนม คุ้นเคย กันมากขึ้น และสร้างบรรยากาศผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี  น่าจดจำไว้เป็นแบบอย่าง กรณีที่มีวงเสวนามีจำนวนคนไม่มากเช่นนี้

          ช่วงเวลาที่เหลือในครึ่งวันเช้า เป็นการแบ่งกลุ่มย่อย เล่าประสบการณ์ความสำเร็จของ "คุณเอื้อ"  โดยแบ่ง "คุณเอื้อ" เป็น 2 วง นอกจากจำนวนคนในแต่ละวงจะกำลังพอดีแล้ว สคส.ยังได้จัดให้มี "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" ประจำวงด้วย  ทำให้คนเล่าเรื่อง เล่าได้อย่างสบายๆ ไม่มีกังวล

          คุณอ้อม (คุณอุรพิณ  ชูเกาะทวด) ซึ่งเป็น "คุณอำนวย" ในกลุ่มดิฉัน ทำหน้าที่ได้ดีมาก  น่าจดจำเป็นแบบอย่างอีกเช่นกัน  เพราะเธอสามารถควบคุม "คุณเอื้อ" ช่างพูดทั้งหลาย ให้อยู่กับร่องกับรอย อยู่ในกรอบของเวลา อีกทั้ง "คุณลิขิต" คุณอ๋อม (คุณพรพิมล ยุตติโกมิตร์) ประจำกลุ่มดิฉัน ก็เป็นผู้มีความสามารถในการบันทึกและจับประเด็นที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างเยี่ยมยอด

          การนำเสนอ ผลสรุปของแต่ละกลุ่ม ในช่วงเช้า คุณลิขิตเป็นผู้นำเสนอ  ซึ่งตรงนี้ อาจขาดรสชาดไปนิ๊ด (ไม่ใช่คนนำเสนอไม่ดีนะคะ) เพราะคนพูดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้พูด อีกทั้งเวลามีจำกัด จึงได้เพียงประเด็นสรุปของ"บทบาทคุณเอื้อ" แบบรวมๆ ของกลุ่มย่อยให้กลุ่มใหญ่ฟัง

          ดิฉันจะลองสกัดประเด็นเฉพาะของกลุ่มที่ดิฉันร่วม เท่าที่จดและจำได้ ให้เห็นภาพ ดังนี้

    บทบาท "คุณเอื้อ" 

ผู้เล่า

       
 1.    ได้ประสบการณ์จากการตั้งหัวหน้าทีมงานทำ HA ซึ่งเดิมคาดว่าผู้มีวัยวุฒิสูงและขยันทำงานจะเหมาะสม แต่พบว่าในทางปฏิบัติ หากเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ไม่ดี จะไม่ได้รับการยอมรับ จึงใช้เวลาในการเฟ้นหาหัวหน้าทีมใหม่ ซึ่งเน้นคุณสมบัติด้านเป็นผู้มีทักษะในการสื่อสารที่ดี ทำให้ประสบผลสำเร็จในการทำ HA     พญ.อัจฉรา 
       
 2.   เรียนรู้เรื่อง KM ด้วยการศึกษาจากตำราและการเข้าอบรมต่างๆด้วยตนเองก่อน แล้วลองนำไปปฏิบัติตามขอบข่ายหน้าที่ที่ทำอยู่  เช่นอำนวยการตั้ง Cop  การเป็นวิทยากรกระบวนการ  การเขียน Blog ทดลองใช้เครื่องมือต่างๆ ของ KM เช่น BAR , AAR, story telling, deep listening ใน Cops ต่างๆ และหน่วยงานของตน ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง สามารถนำไปสอนแก่หน่วยงานต่างๆ ต่อได้อีก เป็นวัฎจักรของ  Learning=>Doing=>Teaching     รศ.มาลินี 
       
 3.   เริ่มจากการจัดระบบให้กองและสำนักต่างๆ คัดเลือกประธานและเลขาและตั้งทีมงานที่คัดสรรกันเอง แล้วเรียนรู้ปรึกษาจากผู้รู้ (สคส.) ร่วมกันหาหัวปลาก่อน สรุปได้ว่า "เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคงและพึ่งพาตนเองได้" จากนั้นเริ่มนำไปใช้กับจังหวัดนำร่อง 6 จังหวัด ต่อมาเพิ่มเป็น 9 จังหวัด กรมทำหน้าที่เหมือนแม่ข่าย เป็นทีม KM กรม คอยลงไปร่วมกระบวนการในจังหวัด กระตุ้น ให้จังหวัดดำเนินการ จนมีการขยายผลไปอีกหลายจังหวัด      คุณธุวนันท์  
       
 4.   เริ่มจากเคาะประตูผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อน และให้อธิการเดินสาย แล้วนำ KM เข้าไปบูรณาการบุคลากรสายสนับสนุนก่อน  จัดทำโครงการพัฒนางาน ให้รางวัลเป็นเงินเพื่อจูงใจ ในการสร้างผลงาน มีกระบวนการให้เขียนร่างโครงการ จนถึงนำเสนอผลงานในเวทีที่จัดให้ ควบคู่กันยังจัดโครงการเฟ้นหา Best Practice ของหน่วยงานโดยให้ผู้ประเมินเป็นผู้ชี้  ให้รางวัล ให้นำเสนอ และจับคู่หน่วยงาน site visit อย่างมี guide line เพื่อให้ host + guest เตรียมตัวก่อน กลับมาต้องทำแผนด้วย   ดร.พิชิต  
       
 5.   เป็นงานพัฒนาระบบตอบคำถามของลูกค้า (Call center) ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบจัดเก็บฐานข้อมูล เข้ามาช่วยจัดการ เพื่อให้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน   คุณเรืองศักดิ์  
       
 6.  

ในมิติภาคราชการ เริ่มผลักดันผ่าน Key person ที่มีผลสำเร็จสูงอยู่แล้ว จาก HA และ PCU แล้วใช้ KM เติมเต็มอีกที

ในมิติภาคเกษตรกร  เริ่มด้วยการสร้างเวทีให้บุคลากรชั้นล่างสุดเป็นวิทยากร ฟังชาวบ้าน  ถามนายอำเภอว่า มีปราชญ์ชาวบ้านที่ไหนบ้างมั้ย แล้วเชิญภาครัฐมาฟัง ใช้มูลนิธิเป็นเครื่องมือ ใช้เงินจาก สสส.  

คุณสุรเดช  
       
 7.   สร้างเครือข่ายภาคประชาชน  สร้างโรงเรียนชาวนา  เรียนรู้ โดยร่วมกันวิเคราะห์เชิงระบบแล้วทำแผนยุทธศาสตร์ (แบบอิทัปปจยตา) เก็บเกี่ยวความรู้จากความไม่สำเร็จ  นพ.สมพงษ์  

          หลังอาหารกลางวัน เป็นการแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 3 กลุ่ม ตาม "แก่นความรู้" 3 ประเด็น คือ

  1. การใช้ KM ที่เนียนในเนื้องาน เพื่อพัฒนาคุณภาพของหน่วยงาน
  2. บทบาทคุณเอื้อในการขับเคลื่อน CoPs
  3. การพัฒนาบุคลากรเป็นบุคคลเรียนรู้และ LO ด้วย KM

          ที่มาของ "แก่นความรู้" ก็น่าสนใจไม่น้อย  สคส. ใช้วิธีประมวลจากแบบสอบถามของผู้เข้าร่วมเสวนา ก่อนถึงวันเสวนา นั่นเอง โดยถามว่า "ท่านต้องการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้จากการปฏิบัติของ "คุณเอื้อ" ในประเด็นใดมากที่สุด ?" แล้วก็นำไปจัดกลุ่ม ได้ 3 กลุ่มดังกล่าว

          ดิฉันสมัครใจที่จะอยู่ กลุ่ม 3 แม้จะเลือกแทบไม่ถูกว่าอยากอยู่กลุ่มไหน เพราะน่าสนใจไปหมด

          เมื่อเสวนากลุ่มย่อยกันได้ราว 1 ชั่วโมง ก็เข้ามารวมกลุ่มใหญ่กันใหม่ สำหรับดิฉัน ช่วงนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากที่สุด เพราะแต่ละท่านในวงจะสรุปประเด็นที่ตนได้เรียนรู้ในกลุ่มย่อยให้ฟังพร้อมกันอีกครั้ง  เป็นการกลั่นกรองจากผู้ที่ฟังเองจริงๆ

          อย่างไรก็ตาม มีข้อสรุปอยู่อย่างหนึ่งว่า ขณะที่ Tacit ไหลเลื่อนผ่านเรื่องเล่าสู่ผู้ฟัง มันเป็นส่วนผสมของ Fact + Feeling เพราะฉะนั้น มันจะ perfect ใน momemt นั้นเท่านั้น ผู้ฟังเท่านั้นที่จะบันทึกไว้ได้  ต่อให้ถ่ายภาพ บันทึกเสียง หรือวีดีโอ ก็ตาม ไม่มีเครื่องบันทึกใดจะมาแทนที่คนฟังได้

          ตัวอย่างประเด็นเรื่องเล่า แบบรวมๆ ทุกประเด็น ได้แก่

  • วิสัยทัศน์ที่ดี  (share vision) ต้องทำให้เกิดความรู้สึกท้าทาย ใช้ภาษาที่โดนใจ และเห็นภาพพจน์ เช่น อยากให้ลำน้ำน่านใสสะอาด เต็มไปด้วย กุ้ง หอย ปู ปลา
  • คุณเอื้อ ไม่ต้องทำอะไร ทำอย่างเดียวคือ เป็น ช่างเชื่อม
  • พัฒนาคนให้เป็นบุคคลเรียนรู้ ด้วยวิธีให้ทำงานข้ามสายงาน ทำงานได้หลายอย่าง เช่นให้ทำโครงการ จะช่วยให้เรียนรู้ระบบ และเป็นผู้มีความยืดหยุ่น
  • การ empowerment ดีกว่า การให้รางวัล/เงิน
  • ใช้ Visual control board เช่น ปลาทู KM  ช้าง KM ในองค์กร
  • ขยายช่องทางสื่อสารในองค์กร ให้มีหลายๆทาง  ฯลฯ

          หลังอาหารมื้อเย็น  ยังมีกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ โดยคุณแกลบ (คุณสุปราณี  จริยะพร) มาสร้างความบันเทิงให้กับพวกเราอีก พวกเราถูกจำแนกเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ มี หมี เหยี่ยว หนู กระทิง  ทายซิคะว่า ดิฉันเป็นประเภทไหน? .....ม่าย บอกก....

          และยังมีเสียงเรียกร้องจากบรรดาสหายธรรมทั้งหลาย (ก็ทั้งหมดนั่นแหละ)  ให้ท่านอาจารย์ประพนธ์ (ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด) เล่าเรื่อง เต๋า (เต๋า นะคะ ไม่ใช่เต่า) ให้ฟังหน่อย ....คืนนั้น เมื่อพวกเราแยกย้ายกันกลับไปพักผ่อน เราต่างก็ท่องว่า นอนแต่ไม่นอน นอนแต่ไม่นอน...ใครอยากรู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ต้องสมัครเป็นลูกศิษย์อาจารย์ประพนธ์ก่อนค่ะ.....

          วันที่ 9 แบ่งกลุ่มวางแผนขับเคลื่อนชุมชน "คุณเอื้อ" จำนวน 2 กลุ่ม คราวนี้ ให้กลุ่มระดมความคิดว่า ถ้าไม่มี สคส. เหล่าคุณเอื้อทั้งหลาย จะทำยังงัย ให้แพร่พันธุ์ KM ออกไปทั่วทั้งประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา  แถมต้องให้ยืนยงคงกระพันด้วยนะ  โอ! ภารกิจอันยิ่งใหญ่

          หลังจากคุยกันประมาณ 2 ชั่วโมง ก็กลับเข้าวงใหญ่ เพื่อให้ผู้แทนกลุ่มสรุป อีกที  ดิฉันจำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่มีวิธีคิดสลับซับซ้อนเหลือเกิน จำได้แต่ความคิดของตนเอง และดิฉันได้เรียนเสนอเพิ่มเติมไปว่า

          สคส. เปรียบเสมือน พ่อ-แม่ ผู้ให้กำเนิดคุณเอื้อ KM ทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้ คุณเอื้อและ CoPs ต่างๆ ล้วนยังอยู่ในภาวะเด็กน้อย ที่ยังไม่โตเต็มวัย สคส.จะให้ทำงานเลี้ยงตัวเอง แถมจะให้ชิงสุกก่อนห่าม แพร่พันธุ์กำเนิดลูกหลานต่อไป คงไม่รอดแน่  อาจได้ลูกปัญญาอ่อนเป็นทายาท

          คุณเอื้อ KM ทั้งหลาย ยังต้องการให้ สคส. เลี้ยงดูประคบประหงมอีกสักหน่อย คุณเอื้อไหนที่โตแล้วเป็นพี่ใหญ่ ได้เรียนหนังสือมีพื้นฐานดี  เปรียบเหมือนหน่วยงานที่มีพื้นฐานด้านประกันคุณภาพดี มีระบบ กพร. ควบคุม  ก็ให้ดูแลน้องๆ ที่ยังเล็กและอ่อนแอ  เป็น Node ของเครือข่าย เช่น UKM   HKM  โรงเรียนชาวนา กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ ไปก่อน

          พอต่างเติบใหญ่ทำงานได้ มีประสบการณ์ต่างรูปแบบกัน ก็นัดพบกันบ้าง เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้อย่างเช่นคราวนี้  เมื่อถึงวันสงกรานต์ ก็ต้องกลับไปรดน้ำขอพร พ่อ-แม่ รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เหมือนวันมหกรรมตลาดนัดความรู้แห่งชาติ ประจำปี ที่เราไปรวมตัวกัน อย่างคราวที่ผ่านมา

          ในกาลข้างหน้า เมื่อ Node ต่างๆ เข้มแข็งขึ้น มี Node ย่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นเครือข่ายโยงใยไปทั่ว สคส. ก็จะเบาแรงลง และได้ชื่นชมผลสำเร็จของ KM ในประเทศไทยที่เจริญเติบโตแบบยั่งยืน (อ.หมอวิจารณ์ แซวว่า ยังไม่อยากให้ พ่อ แม่ ตาย ใช่มั้ย.....ฮา )

          ช่วงท้าย ตอนบ่าย ก่อนแยกย้ายกันกลับ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ต้อง AAR กันก่อน  ดิฉัน AAR ไป ดังนี้

  1. วัตถุประสงค์ของการมาเสวนาในครั้งนี้ : เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเป็น "คุณเอื้อ" จากบุคลากรที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน
  2. สิ่งที่ได้เกินคาด : ได้เกิดความคิดแบบปิ๊ง หลายแว๊ป ในระหว่างเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า
  3. สิ่งที่ได้น้อยกว่าคาด : ไม่ได้พบคุณเอื้อจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และจากภาคเอกชนที่ สคส. เชิญให้มาร่วม
  4. สิ่งที่ได้เรียนรู้ และจะนำกลับไปทำ : นำความรู้ที่ได้กลับไปสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ของตน เพื่อจะได้ช่วยเหลือชุมชนอื่นได้อีกต่อไป  จะกลับไปทำ visual control board  ฝึกคนให้ทำงานผ่านการบริหารโครงการ  และนำเทคนิคกระบวนการกลุ่มขนาดเล็กแบบที่ สคส. ทำคราวนี้ ไปลองทำเอง
  5. จะนำสิ่งที่ได้จากการรวมกลุ่ม "คุณเอื้อ" ไปทำอะไร : นำ idea ต่างๆ ไปเผยแพร่ ใน Blog คุณเอื้อ
  6. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม : อยากให้จัดเสวนาอย่างนี้อีกต่อไป ตามโอกาสอันควร

 

  ดิฉันทำตาม สัญญา ข้อที่ 5 แล้วนะคะ...สัญญา ต้องเป็นสัญญา....

คำสำคัญ (Tags): #คุณเอื้อ#f2f
หมายเลขบันทึก: 28105เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
"วิญญาณคุณเอื้อ" ที่ใช้สัมผัสที่ 6 แตะแค่ผิวๆ ต่างก็รับรู้ได้--> ว่าทำไม หลาว ๆ
อาจารย์สรุปได้ครบทุกประเด็นเลยค่ะ   เก่งจริงๆ

          ในการไปเสวนาครั้งนี้  นอกจากดิฉันจะมีเพื่อนร่วมเดินทางเป็น อาจารย์วิบูลย์แล้ว ดิฉันยังมีเพื่อนร่วมห้องที่น่ารัก คือ อาจารย์ปารมี จากมอ. อีกด้วย

อ.ปารมี เป็นทั้งคุณเอื้อ และนักบันทึกที่เก่งฉกาจอีกท่านหนึ่งที่ดิฉันเคยพบ

          ในความเสียดายที่ดิฉันไม่ได้ร่วมเสวนากลุ่มเดียวกับอาจารย์ปารมีแม้แต่กลุ่มเดียว  ก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง ที่อาจารย์ปารมีได้บันทึกไว้ใน blog อย่างละเอียด

          ดิฉันจึงขอ นำมาเติมเต็ม แก่ท่านที่สนใจเวทีเสวนาของ "คุณเอื้อ"  ให้ได้รับทราบอีกดังนี้ค่ะ

          ตอนที่ 1    ตอนที่ 2    ตอนที่ 3    ตอนที่ 4    ตอนที่ 5    ตอนที่ 6

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท