อนุทินล่าสุด


ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

19 พ.ค.56

'บั้งไฟล้าน-กือ' บ้านปะอาว  

วันนี้ไปรับประทานอาหารเย็นที่บ้านปะอาว เป็นกิจวัตรที่ทำทุกสัปดาห์มาหลายปีแล้ว  มีสิ่งที่แปลกตา
ไปสำหรับวันนี้คือ ป้ายประชาสัมพันธ์งานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านปะอาวที่มีคำว่า 'บั้งไฟล้าน-กือ'
ปกติแค่บั้งไฟล้านก็ต้องคอยระวังตัว พร้อมวิ่งทุกเมื่อ ปีนี้มีบั้งไฟกือ มันคืออะไร สอบถามผู้นำชุมชน
จึงทราบว่าเป็นบั้งไฟที่ใหญ่กว่าบั้งไฟล้านนั่นเอง
การกำหนดขนาดของบั้งไฟนั้น กำหนดโดยความกว้างของท่อ PVC  หากเส้นผ่าศูนย์กลางท่อ 5 นิ้ว
เรียก 'บั้งไฟหมื่น' เส้นผ่าศูนย์กลางท่อ 6 นิ้วเรียก 'บั้งไฟแสน' เส้นผ่าศูนย์กลางท่อ 8 นิ้วเรียก 
'บั้งไฟล้าน'  กรณี 'บั้งไฟกือ' ใช้ท่อที่มีเส้นผ้าศูนย์กลาง 10 นิ้ว

ดิฉันสงสัยว่าบั้งไฟล้านที่เคยเห็นนั้นมีขนาดใหญ่กว่า 8 นิ้ว มีน้ำหนักมาก ใช้ผู้ชายร่างกายกำยำ
ช่วยกันแบกไม่ต่ำกว่า 7-8 คน .. เป็นเพราะ การทำบั้งไฟต้องอัดดินปืนและส่วนประกอบเข้าไปให้แน่น
แน่นจนไปขยายขนาดของท่อ PVC ให้ใหญ่กว่าเดิม

กำหนดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านปะอาว 8-9 มิ.ย.56 นี้ เป็นความภาคภูมิใจของคนปะอาว ดังคำกล่าว
ของผู้นำชุมชนท่านหนึ่งกล่าวว่า  "งานบุญบั้งไฟที่จะยิ่งใหญ่กว่าบ้านปะอาว เห็นทีจะมีก็แต่ยโสธรเท่านั้น" 
คนในชุมชนมีกิจกรรมร่วมกันหลายอย่าง เช่น การทำบั้งไฟ ขบวนแห่ การฟ้อนหน้าขบวนแห่ของแต่ละ
หมู่บ้าน การถวายบั้งไฟบูชาแถน การเล่นกลองตุ้มยามค่ำคืน การยิงบั้งไฟ ฯลฯ รวมทั้งการดื่มสุรา การพนัน
และวัยรุ่นตีกัน  ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี  ดิฉันจะเก็บรายละเอียดเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเชิงคุณภาพมาฝากนะนะ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

15-17 พ.ค.56

เหยื่อของระบบราชการ!

"ครั้งหนึ่ง .. เมื่อไม่นานมานี้ที่ผู้บริหารคนหนึ่ง ประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่ง ว่ามีทักษะด้านหนึ่ง
น้อยมาก น้อยจนคะแนนประเมินต่ำกว่าเกณฑ์"

และในครั้งนั้น .. ผู้บริหารคนนั้น ก็ได้รับการประเมินจากผู้บังคับบัญชาว่ามีทักษะด้านเดียวกันนั้นน้อย
มาก น้อยจนคะแนนประเมินต่ำกว่าเกณฑ์"

ดิฉันมองเห็นเหยื่อ! .. เหยื่อของการประเมิน .. เหยื่อของระบบราชการ



ความเห็น (1)

ปีสองปีนี้ดิฉันก็ยังคงอยู่ในบรรยากาศเช่นนี้อยู่เช่นเดิม และดูเหมือนจะไม่ถูกโดดเดี่ยวอีกด้วย (ฮา)

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

12 พ.ค.56

จ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 300 บาท

วันนี้ไปทำธุระส่วนตัวหลายอย่าง ก่อนเข้าบ้านก็แวะซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ตตามปกติ
ก่อนหน้านี้เคยปรับพฤติกรรมตนเอง
     (1) ให้พิจารณาก่อนจะหยิบของใส่ตะกร้าว่า 'จำเป็น' ต้องซื้อตอนนี้หรือไม่ ถ้าไม่จำเป็น
           หมายถึง ยังต้องกินต้องใช้สิ่งนี้ แต่ถ้าจะมาซุปเปอร์มาเก็ตอีกก่อนของหมด ก็จะ
           ไม่หยิบใส่ตะกร้า
     (2) ทบทวนสิ่งของที่เลือกอีกครั้งก่อนชำระเงิน แล้วบังคับให้ตนเองหยิบของออก
           1-2 ชิ้น ผลที่ได้คือ ประหยัดไปได้มาก

วันนี้เปลี่ยนวิธีการใหม่ให้เข้มข้นขึ้นให้เลือกของที่จำเป็นใส่ตะกร้าได้ในราคาไม่เกิน 300 บาท 
จะเอาอะไรมาล่อก็ไม่ยอม (หมายถึงโปรโมชั่น) ได้ผลนะ  
... ถ้าทำแบบนี้ได้ทุกครั้งคงเจอข้อหาเป็น 'ต้นเหตุ' ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินแน่เลย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

10 พ.ค.56

ขอบคุณ อาจารย์พรเทพ จรัสศรี

ขออนุญาตขอบคุณ อาจารย์พรเทพ จรัสศรี  blogger ของ G2K ที่รับเชิญเป็นวิทยากร
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง 
"การจัดการความรู้ขั้นสูง ระยะที่ 2" 
รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ใน
วันที่ 25-26 เม.ย.56 ที่ผ่านมา ท่านขอแลกเงินค่าเหนื่อย 2 วันเต็ม
(จำนวนเงิน 5 หลัก) กับอนุโมทนาบัตรเพียง 1 ใบ
 เพื่อเป็นค่าน้ำแข็ง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ
สำหรับผู้ป่วยจิตเวช 
สาธุ.. ขอให้อาจารย์พรเทพ จรัสศรี ผู้มีจิตใจดีงาม จงเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุข พละ ด้วยนะคะ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

10 พ.ค.56

ปลาร้าเรียกวิญญาณ

วานนี้ดิฉันเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพ ครั้งที่ 2 
จัดที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ดิฉันเล่าให้สมาชิกฟังว่า ดิฉันเขียนบทความเรื่อง (31) 'มะม่วงน้อย' กับ
'การฟื้นฟูทางจิตวิญญาณ' 
ใน G2K ว่าจาการถอดบทเรียนฯ ครั้งที่ 1   ดิฉันเขียนพาดพิงกรณี
สมาชิกท่านหนึ่งอธิบายวิธีฉีกปลาร้าด้วยสายตาเปี่ยมสุขด้วยนะ เธอตอบสวนกลับมาทันทีว่า

                "หนูก็เขียนถึงพี่เหมือนกัน หนูลง facebook ว่า 'ปลาร้าเรียกวิญญาณ' "

เธอเล่าว่า มีพยาบาลคนหนึ่งคิดหาวิธีรวบรวมผู้ป่วยที่แยกตัวเองตามมุมต่างๆ ให้มารวมกันโดยเร็ว
ด้วยการปิ้งปลาร้าห่อใบตองบนเตาถ่าน เมื่อผู้ป่วยได้กลิ่นก็จะรีบมาโดยเร็ว  ได้ผลตอบรับด้วยดี
จาก รพ.จิตเวชอื่นๆ อาทิเช่น  รพ.สวนสราญรมย์ ตอบกลับมาว่า ภาคใต้ก็มีน้ำบูดูเช่นกัน แต่คง
ไม่ได้ผลเหมือนปลาร้าของภาคอีสานหรอก งานนี้ขอยอมแพ้ เพราะเป็นนวตกรรมเฉพาะถิ่นอย่าง
แท้จริง !

เห็นไหมล่ะ.. 'ของ' บางอย่างมันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอย่างแท้จริง เลียนแบบกันไม่ได้หรอก
วันนี้จะไปถอดบทเรียนวันที่ 2 น่าจะมีอะไรมาบันทึกไว้เป็นที่ระลึกอีก.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

3 พ.ค.56

ขอบคุณ อ.ชยพร แอคะรัจน์

ในอนุทิน 29 เม.ย.56  เมื่อดิฉันได้รับดอกไม้จาก รศ.ดร.ชยพร แอคะรัจน์ รู้สึกเหมือนมีคน 'รับรู้'
ความรู้สึกของเรา เข้าใจเรา รู้สึกว่ามีเพื่อนอยูู่ที่ไหนสักแห่ง ไกลแสนไกล ไม่ได้สบตา พูดคุยด้วย
แต่ส่งกระแสจิตผ่านมากับดอกไม้ที่น่ารักดอกนี้ (ระวังนะคะ เริ่มแปลกๆ แล้วใช่ไหม ลักษณะที่
ดิฉันบรรยายหากเกิดกับผู้ป่วยจิตเวชเรียกว่าหลงผิด : Delusion)
รู้สึกยินดีมากกว่าได้ 2 ขั้นเสียอีก

 ขอบคุณค่ะ



ความเห็น (1)

ผมให้ดอกไม้ เพราะเหมือนกับว่า เป็นคำชี้แนะทางสว่างให้กับผมจริง ๆ ครับ... ขอขอบคุณมากครับ

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

29 เม.ย.56

กล่องวิเศษ!

วันหนึ่ง เราเสนอจัดทำ 'กล่องวิเศษ' ให้ท่านใบหนึ่ง (ศูนย์สารสนเทศ : Cockpit) อยากได้ 'อะไร'
ก็บอกมา (สารสนเทศที่ต้องการในการบริหาร) จะเนรมิตให้ (วิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ
พร้อมใช้ หรือเฉพาะกิจเมื่อต้องการ) ไม่มีใครต้องการ!

ต่อมา เราเสนอจัดทำ 'กล่องวิเศษ' ให้อีก ตอนที่ท่านเริ่มมองเห็นความจำเป็นว่าต้องมีกล่องใบนี้
(มาตรฐานมันบังคับ) ท่านไหว้วานคนใกล้ชิดทำให้  
ก็ดี.. ใครทำก็เหมือนกัน แค่หวังดีอยากให้มีไว้ใช้ ใครทำก็เหมือนกันนั่นแหละ

แต่มันไม่เหมือนกันน่ะซิ  ก็.. มันไม่ใช่ 'กล่องวิเศษ' ที่จะเนรมิตอะไรก็ได้

ด้วยความที่ท่านไม่เคยต้องใช้อะไร ท่านจึงไม่รู้ว่าท่านอยากได้อะไร  ดังนั้น ไม่ว่าใครก็เนรมิต
ให้ท่านไม่ได้ ขนาดมองเห็นประตูอยู่ตรงหน้าชัดๆ ยังยิงบอลให้เข้าประตูไม่ได้ แล้วนี่ไม่รู้ประตู
อยู่ตรงไหน

เฮ้อ! เวรกรรม..



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

25 เม.ย.56

7 habit ของ John Covey

เวลาใกล้เที่ยงมากแล้ว ดิฉันยังอยู่ในห้องประชุมเดิม อาจารย์พรเทพ จรัสศรี  กำลังพูดเรื่อง 
7 habit ของ John Covey  ดิฉันฟังแล้วอยากแสดงความคิดเห็นมาก แต่ไม่กล้าพูด เพราะ
เวลาใกล้เที่ยงเช่นนี้คนพระศรีฯ ไม่นิยมให้ใครแสดงความคิดเห็นนัก   ก็ดิฉันเคยรับบท
'หน้าม้า' ในการเตือนวิทยากรด้วยการแสดงพฤติกรรมต่างๆ นานา เพื่อให้วิทยากรยุติการ
ถ่ายทอดตรงเวลา .. แอบแสดงไว้ใน G2K ก็ได้ฟะ

ดิฉันมีประสบการณ์การนำ 7 habit มาประยุกต์ใช้กับเพื่อนๆ ตอนเรียน ป.โท  มีเพื่อนบางคน
มาขอ copy การบ้านบ่อยๆ เธอว่างานเธอยุ่งมาก ดิฉันก็ให้ไปทุกครั้ง หลังจากอ่าน 7 habit
แล้วดิฉันก็เริ่มแผนการดัดนิสัยเพื่อนโดยบอกเธอว่า   ให้ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านแล้วมา
สรุปให้ฟัง หากทำได้ดิฉันจะให้เธอ copy งานทุกครั้งไป สัญญา หคาดหวังว่าเมื่อเธอรู้แล้ว
เธอจะอายไม่กล้ามาของานอีก

ได้ผลนะ เวลาผ่านไปเดือนกว่าๆ  เธอกลับมาหาดิฉันเพื่อบอกว่า 
        "พี่มาเพื่อบอกว่า พี่จะไม่ขอ copy งานเธออีกแล้ว แต่จะให้เธอทำให้ด้วยเลย!! "

เอ๊ะ! ดิฉันเขียนชื่อหนังสือเล่มไหนให้เธอนะ


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

25 เม.ย.56

สุนัขคาบไปรับประทาน

11.00 น. ขณะนี้กำลังอยู่ในห้องประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "การจัดการความรู้ขั้นสูง
ระยะที่ 2" อาจารย์พรเทพ จรัสศรี สมาชิก G2K เลขที่ 23000 เป็นวิทยากร อาจารย์ใจดีมาก อนุญาต
ให้ใครทำอะไรก็ได้ตามอัธยาศัยในห้องประชุมนี้ (ขอให้อยู่ในห้องประชุมก็พอ) อาจารย์บรรยาย
หน้าต่าง 4 บานของโจฮาริ ปรากฎว่ามีช่อง "คนโง่อย่างแท้จริง" ด้วย  คำนี้คุณสมปอง ผู้ร่วมประชุมที่
นั่งใกล้ดิฉันเป็นผู้บัญญัติ เธอบ่นว่า มีคนโง่แล้ว ยังมีคนที่โง่กว่าอีก

                  "ไม่น่าเชื่อเลย มีตัวจริงนั่งอยู่แถวๆ นี้ด้วย"

ดิฉันนึกถึงเรื่องขำขันเรื่องหนึ่ง ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่จะเล่าให้ฟังค่ะ
ก่อนปี 2530 ณ รพ.ศรีธัญญา ก่อนทำกลุ่มบำบัด (group therapy) ดิฉันจะออกไปยืน 'ทอดอารมณ์'
หลังอาคารหอผู้ป่วย เตรียมความพร้อมด้วยการปล่อยวางอารมณ์ก่อนทำกลุ่ม

วันหนึ่งดิฉันสังเกตเห็นว่ามะม่วงเริ่มออกลูกเป็นพวง สวยงามมาก แต่ เอ๊ะ! มีอะไรเกาะอยู่ที่มะม่วง
ลูกล่างสุด เดินเข้าไปดูพบว่ามีข้อความที่ลูกมะม่วงเขียนไว้ว่า "จองแล้ว" รู้สึกขำๆ  ตั้งใจว่าจะ
สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าใครมาเขียน (ขูด)ไว้ พยาบาล เจ้าหน้าที่ หรือผู้ป่วย
.. แล้วก็ลืมความตั้งใจของตนเองไป

วันหนึ่ง ดิฉันไปยืนทอดอารมณ์ที่เดิมอีก จึงถือโอกาสเดินไปดูมะม่วงลูกนั้นอีก  พบว่ามีผู้เขียน
กากบาททับ "จองแล้ว" แล้วเขียนลงไปในพื้นที่ที่เหลือเพียงน้อยนิด (ก็มะม่วงลูกเล็กนิดเดียวเอง)
ว่า "กูจองก่อน" เอาละซิ เคยคิดจะถามว่าใครเขียน ไม่ถามแล้ว รอดูของดีดีกว่า

เมื่อไปทำงานในสัปดาห์ต่อมาดิฉันรีบเดินไปดูลูกมะม่วง คุณว่าดิฉันพบอะไร?

มันเข้าทำนอง "ตาอินกับตานา" หรือ "สุนัขคาบไปรับประทาน" เพราะลูกมะม่วงหายไปแล้ว
ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร เป็นคนที่ "จองแล้ว" "กูจองก่อน" หรือคนที่ไม่ได้จอง..



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

15 เม.ย. 56

 'Impact ของทุนทางสังคม' ทุนสำคัญในวัฒนธรรมไทย

วันนี้เริ่มวันใหม่ด้วย e-mail จากหัวหน้า ในหัวตัวเองได้ยินแต่คำว่า

                   " ...เขาเป็นคนเก่ง แต่ทำงานด้วยยาก... "

มันไม่ยากหรอกหากใส่ใจ ทำอาหารแบบใส่ใจยังอร่อยเลย แล้วทำงานแบบใส่ใจมันจะไม่ดีกว่า
ซากศพเดินไปมายังไงนะ 

สรพ.เข้าตรวจเยี่ยม 11-12 เม.ย.56 ที่ผ่านมา  ดิฉันสรุปเองว่าให้ทำงานแบบใส่ใจนั่นแหละ
หัดสงสัยตั้งคำถามบ้าง ระหว่างทำงานก็ถามตนเองไปด้วยว่า ทำอะไร ทำอย่างไร ทำไมต้องทำ
ด้วย(วะ) ถ้าไม่ทำ(ลดขั้นตอน)จะเป็นอย่างไร และถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ล่ะได้ไหม
ไม่ได้แนะนำให้
เปลี่ยนวิธีการทุกวันตามใจฉัน ทุกคำถามต้องการการพิสูจน์ระยะหนึ่งจนสรุปออกมาได้ว่าดี
หรือไม่อย่างไร (R2R+ถอดบทเรียน)

comment ของ สรพ.ที่สำคัญคือการเล่นกับข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังเชิงระบบ (alarm call) ต้องเริ่ม
จากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ แล้วมานั่งดู มาวิเคราะห์ร่วมกันด้วยความสงสัยว่า ทำไม ๆ ๆ
ก็จะได้แนวทางการพัฒนา เรื่องเล่นกับข้อมูลเรื่องเดียวก็มีเรื่องพัฒนา นำเสนอระดับนานาชาติ
ได้ทุกปีไม่อดไม่อยากแล้ว

ใครเคยรู้สึกอึดอัดกับเรื่องแบบนี้บ้าง อยากทำแต่ไม่ได้ทำ อยากช่วยแต่ไม่ได้ช่วย อยากพูดก็
ไม่ได้พูด ต้องนั่งมองเรือรั่วเสี่ยงต่อการจมน้ำเมื่อถึงเส้นตายอย่างทุกข์ทรมานใจ  

เฮ้อ! ชะตาของผู้มีทุนทางสังคมน้อยในสังคมเครือข่ายที่ให้ความสำคัญกับทุนทางสังคม
เหนือทุนอื่นๆ
ก็เป็นเช่นนี้แล..


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

10 เมย.56

เหนื่อยจัง! ขอพักหน่อย วันหลังค่อยคุยกันนะ GTK



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

29 มี.ค.56

"น้ำเย็นนะหมอนะ"

สัปดาห์นี้อากาศร้อนอบอ้าวมากนะคะ  ที่ จ.อุบลฯ นี่ร้อนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว  
วันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. ดิฉันถึงกับต้องหาน้ำแข็งก้อนใส่แก้วน้ำมานั่งกัดเล่นในห้องนอนที่เปิดแอร์
จนเย็นฉ่ำ ชดเชยที่ทนร้อนมาทั้งวัน

เช้าวันจันทร์ที่ 25 อากาศยังคงร้อนอบอ้าวแต่เช้า ขณะที่ดิฉันง่วนอยู่กับการจัดเตรียมเอกสารที่
จะไปรายงานแพทย์ ก็เหลือบมองผ่านช่องประตูด้านข้าง เห็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่เป็นมนุษย์ล้อ
อีก 8-9 คน นั่งคอตกอยู่ใต้ร่มไม้เพราะอากาศร้อน  พยาบาลและเจ้าหน้าที่กำลังช่วยกัน
วัดสัญญาณชีพบ้าง  บ้างก็เดินเสริฟน้ำดื่มให้เพราะผู้ป่วยเดินไม่ได้และไม่รู้จักร้องขอ  ผู้ป่วย
ส่วนใหญ่ของตึกนี้ก็เป็นเช่นนี้ มีสภาพเรื้อรังมากจนไม่รู้ร้อนรู้หนาว บอกความต้องการของตนเอง
ไม่ได้  เอาเป็นว่า.. เห็นผู้ป่วยร้อนจนคอตกแล้วรู้สึกเวทนา จึงให้เจ้าหน้าที่ไปซื้อน้ำแข็งยูนิตมา
2 กระสอบ ใส่คูลเลอร์ 3 ใบ ช่วยกันเสริฟน้ำเย็นให้ผู้ป่วยได้ดื่มเพื่อคลายร้อนบ้าง  เมื่อผู้ป่วยได้
ดื่มน้ำเย็นๆ ก็ชื่นขึ้นเหมือนต้นไม้ได้น้ำ  ยิ้มแย้มแจ่มใส
 คนที่เดินได้ก็มายืนออรอส่วนแบ่งของ
ตนเอง  เราจึงเห็นภาพน้องพยาบาลและเจ้าหน้าที่สนุกสนานกับการเสริฟน้ำ โดยมีน้ำเย็นดื่มฟรี
เป็นรางวัลอีกด้วย

บ่ายวันนั้น เมื่อน้ำเย็นหมดแล้ว ผู้ป่วยคนหนึ่งมายืนเกาะขอบประตูด้านข้าง ร้องตะโกนบอกดิฉัน
ที่กำลังเขียนรายงานอยู่ว่า

             "หมอ น้ำเย็นหมดแล้ว มีอีกไหม" "น้ำเย็นนะหมอนะ" 

ดิฉันต้องรับปากว่าจะจัดหาให้จึงหยุดร้องตะโกน ผลที่ตามมาคือดิฉันต้องจัดหาน้ำแข็งยูนิตให้
ทุกวัน ทั้งเช้าและบ่าย โดยบอกกับพ่อบ้านจาง (นิคเนม) ที่ออกไปซื้อน้ำแข็งให้ว่า  "พ่อบ้านจาง
เรามาทำบุญทำทานร่วมกันนะ"  
เพื่อบอกเป็นนัยว่า "ไม่มีค่าน้ำมันรถให้เหมือนเคย นะจ๊ะ" 


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

24 มี.ค.56

คืนนี้ไม่ได้พบกันนะ gotoknow

วันนี้ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมต่างๆ ที่ควรกระทำหมดแล้ว ก็เข้าห้องนอนเร็วขึ้น
(ห้องนอน = ห้องทำงาน) เปิดแอร์จนเย็นฉ่ำชื่นใจ ได้น้ำเย็นใส่น้ำแข็งอีก 1 แก้ว แค่นี้ก็สุขกาย
สบายใจแบบง่ายๆ แล้ว  ที่นี้ก็เปิด comp. แล้วก็เปิดเพลง 'ก้อนหินก้อนนั้น' ที่วางไว้บน desktop
หรี่เสียงเพลงเบาๆ เปิดคลอไว้สัก 10-20 เที่ยวระหว่างนั่งสงบอารมณ์ เมื่ออารมณ์สงบลง
กายพร้อม ใจพร้อม จะคิดจะเขียนอะไรก็ง่ายขึ้น

คืนนี้มีแผนการจะ review วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล/ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช
เรื้อรัง ที่มีโรคแทรกซ้อนทางกาย อายุมาก ไร้ญาติ และไม่มีบ้านให้กลับ แนวโน้มจะอยู่คู่กับ
พระศรีมหาโพธิ์ไปเรื่อยๆ จนเราหรือเขาตายจากกันไปข้างหนึ่ง
คืนนี้เราจึงไม่ได้พบกันนะ gotoknow 


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

22 มี.ค.56

ทักษะการพักผ่อนด้านนันทนาการของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง 

หอผู้ป่วยที่ดิฉันปฏิบัติงานนั้น เป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังทั้งหมด หลายคนปัญญาอ่อน ลมชัก autistic ก็มี 
อาการร้อนๆ เช่นนี้ผู้ป่วยมีอาการหงุดหงิดมาก วันนี้จึงทดลองนำลูกบอลขนาดกลาง ผิวนุ่ม น้ำหนักเบา
มาให้ผู้ป่วยเล่น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ผู้ป่วยอาจแสดงปฏิกิริยาตอบรับได้หลายอย่าง แม้เจตนาดีแต่
ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่ตามมาด้วย

ก่อนนำลูกบอลไปให้ผู้ป่วย ดิฉันได้เรียกประชุมทีมบุคลากรเพื่อร่วมกันวางแผนว่าใครจะทำอะไร
อย่างไร โดยสรุปก็เริ่มด้วย
   (1) การคาดการณ์ว่าเมื่อนำลูกบอลเข้าไปในกลุ่มผู้ป่วยที่สนามแล้ว ผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เช่น
อาจจะเข้ามาเตะ เข้ามาหยิบไปกอดเอาไว้ไม่ให้ใคร หรือทำเฉยๆ ไม่รับรู้ ไม่สนใจ แย่สุดอาจเตะบอล
ใส่ผู้อื่น หรือแย่งบอลกันซึ่งเป็นพฤติกรรมรุนแรง
     (2) การจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้น ใครจะทำอะรในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ
เป็นอุปกรณ์นันทนาการให้ผู้ป่วยได้วิ่งเล่น ได้หัวเราะ

เมื่อนำลูกบอลเข้าไปในกลุ่มครั้งแรกก็ซีเรียสมากว่าจะออกหัวหรือก้อย  และแล้ว.. เป็นไปตามคาด
ผู้ป่วย 20 กว่าคนมีพฤติกรรมตอบสนองตามที่เราคาดการณ์ไว้ บางคนเข้ามาเตะเล่น บางคนเตะส่งให้
เพื่อน (แต่เพื่อนกลับเฉย) หยิบไปถือไว้เฉยๆ ก็มี ไม่มีกรณีแย่งบอลกันกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เฉยๆ ไม่รับรู้
ไม่สนใจ

เฮ้อ.. พวกเราต่างปลอบใจกันเองว่ามันเป็นของใหม่ ผู้ป่วยไม่เคยชิน  
1 ชม.ผ่านไปเราไม่ได้ยินเสียงหัวเราะจากผู้ป่วยเลย ก็ช่างเถอะ อย่างน้อยเราก็ได้ยินเสียงหัวเราะของ
บุคลากรที่บางคนบอกว่า "มีแต่พวกเราที่สนุก ตกลงเอามาบำบัดใครกันแน่"  ก็ปลอบใจไปว่า
"เจ้าหน้าที่หัวเราะน่ะดีแล้วจะได้ช่วยกันสร้างบรรยากาศกระตุ้นผู้ป่วย ต่างคนต่างเงียบหมด ก็ไม่มีใคร
กระตุ้นใคร"
 แอบวางแผนในใจว่าจะทดลองซ้ำๆ ทุกวันต่อเนื่องสัก 1 สัปดาห์ น่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้
มากขึ้น ผู้ป่วยต้องการเวลาเพื่อเรียนรู้สิ่งเร้ามากกว่าคนทั่วไป  รอได้..ไม่กังวลหรอก.


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

21 มี.ค.56

วันครบรอบ 66 ปี โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี มีวัฒนธรรมที่น่ารักอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกเราชาวพระศรีฯ จะทำบุญ
ตักบาตร ในตอนเช้า ซึ่งปกติคณะกรรมการจริยธรรมฯ จะจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเดือนละ 1 ครั้ง
อยู่แล้ว แต่จัดในพื้นที่ตกลางแจ้งหน้า รพ.หรือเวียนไปตามหอผู้ป่วยใน งานครบรอบฯ จะจัดที่ห้อง
ประชุม 50 ปี ชั้น 4 อาคารอำนวยการ เสร็จพิธีก็รับประทานอาหารร่วมกัน ตามด้วยพิธีมอบทุน
การศึกษาแก่บุตรธิดาของบุคลากร ปีนี้จัดพิเศษโดยเพิ่มพิธีเจิมห้องบริการแพทย์แผนไทย ซึ่งอยู่บน
ชั้น 2 อาคารสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ด้วย 

คณะสงฆ์ที่มารับบิณฑบาต ได้บริจาคอาหารคาวหวานจำนวนมากแก่ผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษา 
ชาวพระศรีฯ ขออนุโมทนาในบุญกุศลอันนี้ด้วยค่ะ สาธุ


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

18 มี.ค.56

การพิจารณาทุนการศึกษาของลูกหลานพระศรีมหาโพธิ์

ดิฉันมีพื้นความหลังว่า เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนั้นลำบากนัก หากประกวดความลำบากกันแล้ว ดิฉัน
ต้องได้เหรียญทองเป็นแน่ ก็ตั้งใจไว้ว่าหากตนเองเรียนจบสมความตั้งใจเมื่อใดจะทำประโยชน์
แก่สังคม โดยการมอบทุนการศึกษาแก่ลูกหลานของบุคลากร โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
หน่วยงานที่ดิฉันปฏิบัติงานอยู่ คาดหวังว่าจะสร้าง Trust ต่อสังคมให้แก่เด็กๆ ให้เด็กๆ มีความ
ไว้วางใจสังคมเหมือนที่ดิฉันมีอยู่ แม้ชีวิตจะลำบาก แต่การได้รับการแบ่งปันสิ่งของเหลือใช้
จากผู้อื่น แม้ไม่มากนัก ก็ทำให้ดิฉันมีความรู้สึกที่ดีต่อสังคม
ว่าในสังคมอันวุ่นวายนี้ยังมี 'คนใจดี'
มีความเอื้อเฟื้อต่อผู้ด้อยกว่า ไม่รู้สึกต่อต้านสังคมแม้จะเป็นถูกกระทำในบางครั้ง

เมื่อเรียนจบก็ได้ทำตามปณิธานของตน ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว และวันนี้ก็มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์
การพิจารณามอบทุนการศึกษาให้แก่ลูกหลานพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งจะมอบในวันคล้ายวันก่อตั้ง
โรงพยาบาล 21 มี.ค.ของทุกปี คณะกรรมการดำเนินการอยู่หลายรอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส 
รอบแรก ผู้รวบรวมข้อมูลจะนำเสนอข้อมูลผู้ขอรับทุนทั้งหมดทีละคน โดยกรรมการที่ถือเอกสาร
ของผู้ขอรับทุนรายนั้นๆ จะตรวจสอบเอกสารหลักฐานไปพร้อมกัน ทำเช่นนี้จนครบทุกคน
แล้วสรุปว่าผ่านเกณฑ์กี่คน

รอบที่สอง นำข้อมูลของผู้ขอรับทุนรายที่มีเอกสารไม่ครบหรือผิดหลักเกณฑ์ขึ้นมาพิจารณา
กรรมการแสดงความคิดเห็นแล้วลงมติว่าจะให้ทุนหรือไม่ ทีละราย จนครบทุกราย รอบที่สาม 
นำยอดเงินทุนที่ต้องจ่ายกับยอดเงินรับบริจาคมาพิจารณาร่วมกัน ระหว่างการพิจารณานี้
ประธานกรรมการชุดนี้ (ดร.สุภาภรณ์ ประดับสมุทร) โทรศัพท์ขอเงินบริจาคเพิ่มจากผู้ใหญ่
ใจดีทั้งหลายไปด้วย  กรรมการบางท่านก็บริจาคเพิ่มด้วย ดิฉันได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความ
เอื้ออาทรของผู้ใหญ่ใจดีที่มีความตั้งใจจะเป็นผู้ให้ 

การพิจารณาในวันนี้คณะกรรมการได้เรียนรู้ถึงข้อจำกัดของกฎระเบียบเดิมๆ จึงร่วมกันร่าง
กฎระเบียบใหม่ที่ยืดหยุ่นกว่าเดิมไว้สำหรับปีหน้า
จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ว่าปีหน้าลูกหลานพระศรี
มหาโพธิ์จะได้รับทุนการศึกษามากขึ้น  พ่อแม่ของเขาเหล่านั้นก็จะมีกำลังใจ ตั้งใจทำงาน อุทิศตนมากขึ้นเช่นกัน



ความเห็น (1)

18 มี.ค.59 วันนี้ดิฉันบรรลุเป้าหมายสพหรับเจตนารมย์ของตนเองแล้วค่ะ หลังจาก 'รวมหัว' กับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างปัจจัยความผูกพันขององค์กร .. ดิฉันเพิ่มทุนแบบผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้เพียงสองปี ปีต่อๆ มาก็มีผู้ร่วมสานต่อเจตนารมย์จำนวนมาก ยอดบริจาคเพิ่มขึ้นทุกปี .. ตอนนี้เงินรางวัลนำเสนอผลงาน เงินค่าเวร ฯลฯ เต็มกระป๋องอีกแล้วค่ะ ทำไงดี!

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

17 มี.ค.56

"ชุมชนนักปฏิบัติ"

ลูกสาวคนเล็กเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีที่ มธ.และสอบเรียนต่อปริญญาโทได้ที่ มธ.เช่นกัน จึงต้องย้าย
จากรังสิตไปท่าพระจันทร์   ความที่ดิฉันเป็นแม่ จึงรู้สึกเป็นห่วง ไปช่วยหาที่พัก ช่วยจัดหาข้าวของ
เครื่องใช้ที่จำเป็น ดิฉันไม่ห่วงเรื่องการกินการอยู่นัก ห่วงเรื่องการเรียนมากกว่า เพราะวิธีการเรียน
ปริญญาตรีกับปริญญาโทนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างช่วยเก็บข้าวของก็ชวนลูกพูดคุย และ
เลียบเคียงถามไปด้วย สุดท้ายก็ขายความคิดแก่ลูกว่า

"จำตอนที่แม่เรียนได้ไหม แม่ทำบอร์ดใหญ่ๆ ไว้บนผนังบ้าน สรุปแนวคิดหลักการที่เราเรียนไว้ที่บอร์ด"
"เพื่อนๆ ของแม่มาพักหรือแวะมาทักทายด้วยก็จะพูดคุยแสดงความคิดเห็นกัน แล้วก็เขียนไว้บนบอร์ด
 ใครมาก็ทำอย่างเดียวกัน ความรู้มันก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ มีทั้งแนวคิด หลักการ และตัวอย่างที่ใช้
 วิเคราะห์ร่วมกัน"
 "ลูกว่าแม่ทำแบบนี้ดีไหม?"  ลูกตอบว่า   "ดี"  
 
เข้าทางเรา รีบสรุปปิดประเด็นว่า
"ลูกทำแบบนี้ก็ได้นะ สมัยนี้ทำง่ายมาก ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นร่วมกันได้โดยไม่ต้องอยู่ใน
 ที่เดียวกัน และบันทึกทุกอย่างก็จะถูกเก็บไว้อย่างดีโดยอัตโนมัติ"  
เสียงลูกตอบว่า "ค่ะ"

ทำไมตอบสั้นนักล่ะ!
หันไปมองลูก เห็นก้มหน้าก้มตาเก็บของ คงยังไม่เหมาะนักหากจะขายแนวคิดชุมชนนักปฏิบัติของ
gotoknow ให้ลูกในเวลานี้
รอให้เธอจัดเตรียมเรื่องที่อยู่ที่กินและพร้อมที่จะเรียนแล้วค่อยคุยกับลูก
ใหม่ก็ยังไม่สายเกินไป สรุปว่า.. แม้แนวคิดดีๆ ก็ต้องรอจังหวะที่เหมาะสมเช่นกัน


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

17 มี.ค.56

"ถุงผ้าเอื้อาทรที่ มธ.รังสิต"

12-15 มี.ค.56 ดิฉันไปร่วมประชุม HA Forum ครั้งที่ 14 ที่เมืองธานี ระหว่างนี้ก็ไปพักกับลูกสาว
คนเล็กที่ มธ.รังสิต จึงมีโอกาสเข้าไปใช้บริการที่หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ อีกครั้ง นั่งในหอสมุด
แล้วมีความสงบ-สุขอย่างลึกๆ อย่างไรบอกไม่ถูก   วันที่เข้าไปใช้หอสมุดนั้น นศ.เพิ่งสอบปลาย
ภาคเสร็จ ทยอยกลับบ้านไปเกือบหมดแล้ว บรรยากาศในหอสมุดจึงเงียบเหงาสักหน่อย ดิฉันไป
พบเรื่องดีๆ ที่เห็นแล้วยิ้มออกมาได้ จึงถ่ายภาพมาให้ดู
น่ารักไหมคะ อันที่จริงหอสมุดหรือห้องสมุดที่อื่นอาจมีมาก่อนหน้านี้แล้วก็ได้ เอาเป็นว่า หาก
ท่านใดมีถุงผ้าน่ารักๆ ที่เหลือใช้ ให้ช่วยกันนำไปบริจาคให้ห้องสมุดที่ไหนก็ได้ ช่วยกันขยายผล
แนวคิดดีๆ 'ทำดีให้เด็กดู เป็นครูด้วยการกระทำ' กันนะคะ




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

10 มี.ค.56

"ผลิตซ้ำความสัมพันธ์"

ลูกสาวคนโตไปเรียน กทม.เสีย 6 ปี กลับบ้านปีละไม่กี่วัน วันนี้เรียนจบแล้วก็กลับมาให้พ่อแม่
ชื่นชมได้นานหน่อยกว่าจะทำงาน ไปมีวิถีชีวิตของตนเอง วันนี้แม่ชวนไปกินข้าวเย็นที่บ้านปะอาว
พร้อมกับเขียนรายการอาหารคาวหวานที่จะไปกินกับชาวบ้านและเป็นของฝากด้วย ลูกสาวเกิด
ความสงสัยว่า "พ่ออี๊ดของแม่นี่เขาเป็นใคร ทำไมแม่จึงดีกับเขานัก" ก็น่าสงสัยหรอก เพราะเขา
ไม่ได้เป็นเครือญาติฝ่ายใดของเรา แต่เขามีบุญคุณกับเรามาก เมื่อครั้งที่แม่ไปทำงานวิจัย
ภาคสนาม เขาเป็นคนพาแม่ไปแนะนำกับผู้นำชุมชนที่บ้าน ทีละคน จนครบหมดทุกคน แม้แต่
ฝ่ายตรงกันข้ามเขาก็แบกหน้าพาแม่ไป โดยไม่ได้ค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว  แล้วอธิบาย
คำว่า "ผลิตซ้ำความสัมพันธ์" ในมุมมองของนักวิจัยเชิงคุณภาพให้ลูกฟัง ไม่รู้ว่าลูกเข้าใจได้
แค่ไหน

วันหนึ่งถ้าลูกเติบโตขึ้น มีประสบการณ์การสร้างสัมพันธ์และเครือข่ายกับผู้อื่น แล้วลูกก็จะเข้าใจ
คุณค่าของการผลิตซ้ำความสัมพันธ์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระดับเครือข่าย


"ทำไมแม่ต้องให้เขาด้วย"

ลูกสาวคนโตอีกแล้ว เห็นแม่จัดเตรียมสิ่งของเพื่อตอบแทนผู้ที่มาแสดงความยินดีวันรับปริญญา
ก็อดถามแม่ไม่ได้ว่า "งานรับปริญญาของรุ่นพี่ ก็เห็นรุ่นน้องมาแสดงความยินดี เอาดอกไม้มาให้
ไม่เห็นพี่เขาให้อะไร น้องเลย"  "ทำไมแม่ต้องให้เขาด้วย"  ก็ตอบลูกสาวไปแบบกวนๆ ว่า 
"อยากจะให้ มีอะไรไหม"

ลูกสาวก็ทำหน้างงๆ ลูกเอ๋ยแม่ไม่ใช่เด็กแล้วนะ คนอื่นเขาไม่ใช่ญาติพี่น้อง แต่เขากุลีกุจอตื่น
ตั้งแต่เช้า อาบน้ำ แต่งตัว เดินทางมาเพื่อมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับเรา ทั้งที่อากาศ
ร้อนและคนมากมาย จะกินข้าวกินน้ำยังไง จะเข้าห้องน้ำที่ไหน ลำบากไปหมด  ลองถามตัวเอง
ว่าเราเป็นใคร หากเขาไม่รักไม่ปรารถนาดีเขาจะมาไหม ต่อให้ทำไปเพื่อรักษามารยาทก็เถอะ
เราน่าจะขอบคุณเขาบ้างเท่าที่ทำได้ไม่เดือดร้อน ถามตัวเองว่าถ้าลูกไปงานรับปริญญารุ่นพี่
แล้วเขาให้ของชำร่วยขอบคุณ .. ลูกจะรู้สึกอย่างไร 


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท