อนุทิน 122058


ดารนี ชัยอิทธิพร
เขียนเมื่อ

22 มี.ค.56

ทักษะการพักผ่อนด้านนันทนาการของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง 

หอผู้ป่วยที่ดิฉันปฏิบัติงานนั้น เป็นผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังทั้งหมด หลายคนปัญญาอ่อน ลมชัก autistic ก็มี 
อาการร้อนๆ เช่นนี้ผู้ป่วยมีอาการหงุดหงิดมาก วันนี้จึงทดลองนำลูกบอลขนาดกลาง ผิวนุ่ม น้ำหนักเบา
มาให้ผู้ป่วยเล่น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ผู้ป่วยอาจแสดงปฏิกิริยาตอบรับได้หลายอย่าง แม้เจตนาดีแต่
ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่ตามมาด้วย

ก่อนนำลูกบอลไปให้ผู้ป่วย ดิฉันได้เรียกประชุมทีมบุคลากรเพื่อร่วมกันวางแผนว่าใครจะทำอะไร
อย่างไร โดยสรุปก็เริ่มด้วย
   (1) การคาดการณ์ว่าเมื่อนำลูกบอลเข้าไปในกลุ่มผู้ป่วยที่สนามแล้ว ผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เช่น
อาจจะเข้ามาเตะ เข้ามาหยิบไปกอดเอาไว้ไม่ให้ใคร หรือทำเฉยๆ ไม่รับรู้ ไม่สนใจ แย่สุดอาจเตะบอล
ใส่ผู้อื่น หรือแย่งบอลกันซึ่งเป็นพฤติกรรมรุนแรง
     (2) การจัดการกับพฤติกรรมเหล่านั้น ใครจะทำอะรในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ
เป็นอุปกรณ์นันทนาการให้ผู้ป่วยได้วิ่งเล่น ได้หัวเราะ

เมื่อนำลูกบอลเข้าไปในกลุ่มครั้งแรกก็ซีเรียสมากว่าจะออกหัวหรือก้อย  และแล้ว.. เป็นไปตามคาด
ผู้ป่วย 20 กว่าคนมีพฤติกรรมตอบสนองตามที่เราคาดการณ์ไว้ บางคนเข้ามาเตะเล่น บางคนเตะส่งให้
เพื่อน (แต่เพื่อนกลับเฉย) หยิบไปถือไว้เฉยๆ ก็มี ไม่มีกรณีแย่งบอลกันกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เฉยๆ ไม่รับรู้
ไม่สนใจ

เฮ้อ.. พวกเราต่างปลอบใจกันเองว่ามันเป็นของใหม่ ผู้ป่วยไม่เคยชิน  
1 ชม.ผ่านไปเราไม่ได้ยินเสียงหัวเราะจากผู้ป่วยเลย ก็ช่างเถอะ อย่างน้อยเราก็ได้ยินเสียงหัวเราะของ
บุคลากรที่บางคนบอกว่า "มีแต่พวกเราที่สนุก ตกลงเอามาบำบัดใครกันแน่"  ก็ปลอบใจไปว่า
"เจ้าหน้าที่หัวเราะน่ะดีแล้วจะได้ช่วยกันสร้างบรรยากาศกระตุ้นผู้ป่วย ต่างคนต่างเงียบหมด ก็ไม่มีใคร
กระตุ้นใคร"
 แอบวางแผนในใจว่าจะทดลองซ้ำๆ ทุกวันต่อเนื่องสัก 1 สัปดาห์ น่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้
มากขึ้น ผู้ป่วยต้องการเวลาเพื่อเรียนรู้สิ่งเร้ามากกว่าคนทั่วไป  รอได้..ไม่กังวลหรอก.


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท