Final Score, สู้เพื่อแม่ และขำกลิ้ง ลิงกับหมา


ดูสามเรื่องนี้ผูกเป็นเรื่องราวข้อสรุปได้เรื่องหนึ่ง คิดขำๆ นะครับ อย่าหาว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลย

ได้ดูรายการขำกลิ้งลิงกับหมาก่อนคนฝึกลิงให้ไปซื้อของที่ห้าง, ไปเก็บเห็ด ไปทำโน่นทำนี่ อีกไม่กี่วันต่อมาก็เปิดโทรทัศน์ไปเจอสู้เพื่อแม่ตอนเด็กน้อยสะพายเป้ไปหาคุณป้าขายขนมจีนแล้วไปช่วยป้าปอกทุเรียนในสวน ต่อมาอีกหลายสัปดาห์ได้ดูแผ่นภาพยนต์ เรื่อง Final Score ภาพยนต์แนว reality ตามติดชีวิตนักเรียน ม.6 สี่ห้าคน ตลอดหนึ่งปีในการเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์

ดูสามเรื่องนี้ผูกเป็นเรื่องราวข้อสรุปได้เรื่องหนึ่ง คิดขำๆ นะครับ อย่าหาว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลย

ข้อสรุปคือ

เด็กไทยโดยเฉพาะลูกหลานชนชั้นกลาง (รวมผมด้วยแหละ) ไม่ค่อยมีทักษะในการดำเนินชีวิตในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการอยู่ในเมืองใหญ่และมีพ่อแม่คอยประคบประหงม จึงไม่รู้จักความเชื่อมโยงไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ และที่สำคัญคือไม่รู้จักตัวเอง

ในขณะที่เราพยายามสอนเด็กไทยให้ไปสู่พื้นที่อื่นๆ นอกเมือง และให้มีทักษะทำโน่นทำนี่เองได้ แต่ที่ญี่ปุ่น...ทักษะประเภทคล้ายๆ กันนี้ ลิงมันทำได้แล้ว

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 96571เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อาจารย์เขียนได้satire ดีค่ะ และก็เป็นจริงเช่นนั้นแล เขียนอีกนะเดี๋ยวจะแวะมาใหม่

  • ส่วนที่ที่บ้านเลี่ยงมาอย่างไรก็ส่วนหนึ่ง
  • ส่วนที่โรงเรียนสอนก็อีกส่วนหนึ่ง 

แต่ไม่ว่าคนสอนคือใคร มัทว่าสิ่งที่สำคัญคือ "โอกาสที่เด็กได้ไปเห็นโลกกว้่่าง" ได้ออกจากเมืองใหญ่ไปเมืองเล็กหรือเข้าป่า หรือไปไหนก็ได้ที่ต่างไปจากที่เคยอยู่

ยิ่งมากไว้ยิ่งดี ยิ่งได้ expose แต่เนิ่นๆยิ่งดี

ถ้าที่บ้านพาไปให้รู้ ถ้าโรงเรียนพาไปสัมผัส หรือ ไม่ก็นำสื่อมาให้ดู น่าจะช่วยได้?

มัทเชื่อว่าคนเราจะรู้จักตัวเองได้เมื่อได้เห็นความหลากหลายว่าคนอื่นเป็นอย่างไร ได้มีเวลาคิดสะท้อนใจตัวเองบ่อยๆโดยการเทียบกับสิ่งใหม่ๆที่ได้เรียนรู้ ได้กลับมามองดูตัวเองว่าเราคือใคร เราต้องการอะไร แล้วเราเกี่ยวโยงกับคนกลุ่มอื่นๆอย่างไร

เมื่อเช้าอ่านบันทึกเรื่องการเยี่ยมคนไข้อัมพาตที่บ้าน มีภาพคนไข้ที่อยู่ลำบากมาก ตัวผอมนอนซม อยู่บ้านเก่าๆมุงจาก ภาพแบบนี้ถ้าให้เด็กในเมืองดู เค้าอาจจะคิดว่า ไม่รู้มาก่อนเลยนะเนี่ยะว่า มีแบบในในประเทศเรา จะว่าเด็กผิดไม๊ก็ไม่ผิด เพราะมีเคยมีโอกาสได้รู้มาก่อน เลยไม่มีโอกาสได้คิดต่อ  ไม่เคยมีตัว trigger ไม่ได้พัฒนาทักษะโดยเฉพาะด้าน เจตคติ (Affective skill)

ถ้ามามองกันเฉพาะการศึกษาที่โรงเรียน อย่างหมอฟันนี้มี psychomotor skill แต่อาจมี cognitive skill ไม่พอ ยิ่ง  affective skill ยิ่งขาด 

เช่น การเปิดใจ เต็มใจรับประสบการณ์ใหม่ การมีทัศนคติที่พร้อมมีส่วนร่วมกับชุมชนคนรอบข้าง ยอมรับความคิดผู้อื่นที่อาจให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพช่องปาก ไม่เหมือนที่เราเรียนมา มีทักษะบริหารจัดการ โดยเฉพาะเวลามีการขัดแย้ง การพร้อมยอมที่จะเปลี่ยนตัวเอง เรียนรู้ไปพร้อมๆคนอื่น (จาก Bloom's taxonomy)

ถามว่าทักษะที่ลิงมีที่เราชอบใจกันคือทักษะด้านไหน? 

จบดีกว่า เริ่มแตกประเด็น : P ไปโรงเรียนก่อนนะคะ ไว้มาคุยใหม่ 

พี่ดู final score แล้วว่ามันเปลี่ยนไปจากสมัยที่พี่เรียนเยอะไม๊?

 

ฮ่าฮ่า นึกแล้วว่าต้องถามคำถามนี้

จริงๆ มีเรื่องอยากเขียนมากเกี่ยวกับ final score แต่พยายามเลี่ยงไม่เขียนประเด็นที่จะทำให้คนอื่นหมั่นไส้ใน blog สาธารณะน่ะ

เอาเป็นว่าลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนไปน้อยมาก

แต่สิ่งที่หนังไม่ได้สื่อออกมาเลยคือ ความเอื้ออาทรของครู, ระบบกิจกรรมที่เข้มแข็ง และความรู้สึกของเด็กนักเรียน ว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะทำอะไรก็ได้ อันหลังนี่สำคัญมาก และพี่ก็คิดว่ามันทำให้เรารักโรงเรียนของเรามากๆ มาจนถึงทุกวันนี้

หนังไม่ได้สื่อถึงความรู้สึกของคนหนุ่มที่เชื่อมั่นในพลังของตัวเอง และพร้อมที่จะออกไปหาที่ทางของตัวเองในโลกกว้าง

จริงอยู่ เราอาจหวั่นๆ ว่าจะเอนท์ไม่ติดบ้าง แต่มันไม่ใช่ประเด็นความรู้สึกหลักที่ตามครอบงำเราไปตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เหมือนที่หนังพยายามจะบอก

หากยังไม่เอียนจนเกินไป ลองเข้าไปดูกลุ่มคนบ้าโรงเรียนที่นี่

http://www.osknetwork.com/

ดีใจที่ได้คุยกันอีก

สวัสดีค่ะ คุณหมอสุธี

ดิฉันเห็น Final Score นึกว่าเป็นบันทึกวิจารณ์หนัง   พอเห็นย่อหน้าสรุปที่ตรงใจ(อย่างที่เคยคิดมานาน)นี้เข้า  ทำให้ดิฉันต้องจองบันทึกไว้เลย..ว่าหลังเสร็จประชุมแล้วต้องมาสื่อสารแน่ๆ 

"เด็กไทยโดยเฉพาะลูกหลานชนชั้นกลาง (รวมดิฉันด้วย)ไม่ค่อยมีทักษะในการดำเนินชีวิตในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการอยู่ในเมืองใหญ่และ  มีพ่อแม่คอยประคบประหงม จึงไม่รู้จักความเชื่อมโยงไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศ      และที่สำคัญคือไม่รู้จักตัวเอง"

ที่คุณหมอพูดข้างต้นตรงใจจังเลย... 
ดิฉันกำลังวิ่งหารากของตัวเองอยู่ค่ะ  และได้คำตอบว่ารากเราอยู่ที่หนึ่งก็จริง   แต่ลำต้น ดอก ใบ เปลี่ยนไปแล้ว  ตามสภาพแวดล้อมอีกชุด ที่ไม่ใช่ชุดที่อยู่กับดิน

ดิฉันเป็นครูและต้องสอนคน  ถ้าคนสอนยังไม่รู้ว่ารากของตัวอยู่ที่ไหน  ก็ไม่รู้จะสอนผู้อื่นให้ตระหนักในรากของตนได้อย่างไร  หนักใจอยู่เหมือนกัน

คำตอบของ อ.มัทนา ที่สรุปได้ว่า

          "หากเรามีโอกาสได้ไปเห็นโลกกว้่่าง  หรือไปไหนก็ได้ที่ต่างไปจากที่เคยอยู่   ได้เห็นความหลากหลายว่าคนอื่นเป็นอย่างไร ได้เทียบกับสิ่งใหม่ๆที่ได้เรียนรู้    แล้วได้กลับมามองดูตัวเองว่าเราคือใคร เราต้องการอะไร    แล้วเราเกี่ยวโยงกับคนกลุ่มอื่นๆอย่างไร   และคิดสะท้อนย้อนถามตัวเองบ่อยๆ น่าจะทำให้คนเรารู้จักตัวเองดีขึ้น"

ทำให้ดิฉันเห็นมุมมองอะไรบางอย่างชัดขึ้นเยอะ 
การสนทนาของคุณหมอสุธีและคุณหมอมัทนาทำให้ดิฉันตระหนักถึง "ราก" ของตัวที่ซ้อนกันอยู่ค่ะ 
(สงสัยจะได้สะท้อนความคิดตัวเองยาวๆอีกบันทึกอะค่ะ อ.มัท)

ขอบคุณคุณหมอทั้งสองท่านมากนะคะ   : )

ยินดีที่ได้รู้จัก และขอบพระคุณ อาจารย์สุขุมาลมากๆ ครับที่กรุณาให้ความเห็น

ผมมองว่าเรื่องรากนั้น หมายถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับสังกัดใดๆ ที่มันหล่อหลอมให้เป็นตัวเราขึ้นมาครับ

สำหรับคนในเมือง...รากอาจจะเป็นสถาบันครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน รวมถึงกลุ่มเพื่อนหรือสมาคมที่เราข้องแวะด้วย

ในชนบท...ผมว่ามันมีความหลากหลายกว่า มีช่องทางการเชื่อมโยงมากกว่า เนื่องจากคนในชนบทนอกจากจะมีระบบครอบครัวแบบขยาย เครือญาติ พี่น้อง หรือตระกูลเดียวกันเกือบทั้งหมู่บ้านแล้ว ยังร้อยรัด และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันด้วยวัฒนธรรมประเพณี

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตชนบท (ผมมีประสบการณ์เฉพาะชนบทอีสาน)คือ  "การเรียนรู้แบบเปิด" ในชุมชน ซึ่งทำให้เด็กๆ ได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตอันหลากหลาย จากการเดินไปบ้านโน้นบ้านนี้

ได้เห็นพ่อใหญ่สานกระบุงตะกร้า ผ่านบ้านนี้เห็นป้ากำลังทอผ้า อีกบ้านหนึ่งอาจจะเห็นหมอนวด กำลังจับเส้นให้คนที่เป็นโรคอยู่ ซึ่งเด็กคนนั้นสามารเดินเข้าไปคุย ไปนั่งเล่น ไปเรียนรู้จากคนเหล่านั้นโดยไม่รู้สึกแปลกแยก

ผมไม่คิดว่าคนเราจะไม่มีรากหรอกครับ อย่างน้อยความรู้สึกที่เรา "สังกัด"อะไรสักอย่างที่หล่อหลอมมาเป็นตัวเรานั้นแหละคือรากของเรา (เปลี่ยนจากคำว่าราก มาเป็นคำว่า สิ่งที่เชื่อมโยงผูกพันและหล่อหลอมเราน่าจะเห็นภาพชัดกว่าครับ)

ขอเล่าเรื่องความเป็นครูครับ

ผมมีลำดับความคิดของความเป็นครูสามชุดความคิดครับ

ชุดแรกคือชุดที่ทำให้ตัดสินใจมาสมัครเป็นครู

"ครูทั่วไป...สอน, ให้ความรู้

 ครูชั้นดี...สร้างความเข้าใจ

 ครูชั้นเลิศ...บันดาลใจ"

ชุดความคิดชุดที่สองเกิดขึ้นหลังได้ทำงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ธรรมศาสตร์ระยะหนึ่ง (ความคิดชุดนี้เกิดมาจากการทำงานนร่วมกับครูชั้นเลิศของผมคนหนึ่งชื่อ ทพ.ดร.ปิยะ ศิริพันธุ์ครับ)

"หน้าที่หลักของครู ไม่ใช่การให้ความรู้ แต่เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย (ทั้งทางกายภาพ และทางการแสดงความคิดเห็น)"

ชุดความคิดสุดท้ายเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้เองครับ

"หากจะสรุปบทบาทของครูในคำคำเดียว คำๆ นั้นไม่ใช่ สอน แต่เป็นคำว่า เชื่อมโยง"

อาจารย์คิดยังไงก็เขียนมาคุยกันต่อนะครับ

พี่สุธี: แล้วแบบนี้จะไม่ให้อยากกลับไปทำงาน กับพี่กับอ.ปิยะได้อย่างไร : )

พี่แอมป์: จะรออ่านบันทึกของพี่แอมป์เรื่องนี้นะคะ : ) 

สวัสดีค่ะ คุณหมอสุธี

ดิฉันขออภัยอย่างสูงที่แวะเข้ามาสื่อสารช้านะคะ   ดิฉันแวะมาหลายรอบแต่นึกคำตอบได้ไม่ตรงใจ  ตั้งใจว่าเมื่อได้คำตอบที่ตรงกับใจที่สุด ก็จะเข้ามาสื่อสารอีกครั้งอย่างตั้งใจ

เพราะคำถามนี้เป็นคำถามสำคัญในชีวิตดิฉัน  และดิฉันไม่เคยตอบตัวเองได้เลย  การตอบตัวเองไม่ได้  ทำให้รู้สึกเหมือนชีวิตมีช่องว่าง  รู้สึกเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง 

และคำตอบของคุณหมอ  ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันกำลังคิดไปเอง  ไปคิดว่าตัวเองขาด  ทั้งที่ไม่ได้ขาด  .........เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง  เปลี่ยนคำ  และเปลี่ยนความหมาย  ก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาก  รู้สึกเข้าใจอะไรๆมากขึ้นด้วย

คงเหมือนที่เขาว่า....  "แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน"  กระมังคะ    .....แค่เปลี่ยนคำว่า  ราก......
เปลี่ยนความรู้สึกจาก  "หยั่งยึด"   เป็น   "เชื่อมโยง" 

ดิฉันรู้สึกสบายใจอย่างมาก  เมื่อคุณหมอบอกว่า  "ราก นั้น หมายถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับสังกัดใดๆ ที่มันหล่อหลอมให้เป็นตัวเราขึ้นมา"  แปลว่าอย่างน้อยๆ  คนเราแต่ละคนก็ไม่ได้มีสังกัดเดียว   และแต่ละสังกัดก็มีความแตกต่างหลากหลาย   อยู่ที่เราจะเรียนรู้ที่จะ"ปรับ" อย่างไรให้ลงตัว   ในตัวคนๆเดียว  โดยไม่จำเป็นต้องร่ำร้องหาสังกัดใหม่ให้เข้ากับตัวเรา 

 ดิฉันเคยรู้สึกว่าตัวเองขาดความเชื่อมโยงกับศิลปะวัฒนธรรมของบ้านเกิด  และรู้สึกสับสนเมื่อต้องสอนให้นักศึกษารักถิ่นกำเนิด  โดยที่ไม่พูดเรื่องศิลปะ และวัฒนธรรมถิ่น  อันเป็น ราก  คือหมายถึงเป็นความเชื่อมโยง : ) กับพื้นถิ่นเลย 

ซึ่งคงเกิดจากภาษาที่ใช้และ วิถี  ชีวิตประจำวันด้วย  เพราะดิฉันโตมากับภาษากลาง  ไม่ใช่ภาษาถิ่น  ดิฉันเรียนรู้จากวัฒนธรรมโทรทัศน์  เทปเพลงสากล  ภาพยนตร์ฝรั่ง และหนังสือตะวันตก   ฯลฯ และวิถีชีวิตไทยแบบประสบการณ์ของชนชั้นกลาง   ที่ห่างดินเหลือเกิน  (ห่างจนกลัวว่าจะไม่เข้าใจ  และกลับไปเข้าใจไม่ได้)

(และดูจากรูป  ........คุณหมอก็มิได้ห่างดินอย่างดิฉันนะคะ)

ดิฉันคิดเอาเองว่าเข้าใจวัฒนธรรม(ซึ่งทำนองว่าเป็น)ชนชั้นกลางข้างต้น  มากกว่าวิถีอะไรๆประจำถิ่นและสื่อพื้นบ้าน   จนกระทั่งต้องมาเป็นผู้สอนอย่างที่เล่าให้คุณหมอฟัง

เมื่อคุณหมอให้ข้อคิด ดิฉันจึงขออนุญาตสรุปตามใจตนในเบื้องต้นก่อนกว่า ดิฉันไม่จำเป็นต้องฝืนเป็น  ในแบบที่ดิฉันไม่ได้เป็น 

แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าดิฉันตัดขาดกับสิ่งเชื่อมโยงสังกัดเดิม
จะ "ขาด" อยู่ก็แต่ว่า ดิฉันต้องเรียนรู้ "ที่จะเรียนรู้" ให้เข้าใจสังกัดเดิม    และเปิดใจกว้างๆที่จะเรียนรู้ "โดยไม่รู้สึกแปลกแยก"  และไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียตัวตนอีกต่อไป   จะได้อธิบายเด็กๆได้อย่างสบายใจ  และไม่จำเป็นต้องกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับสิ่งที่ตนเองกำลังอธิบาย...........(.เสมอไป.)........  

เลยขออนุญาตตู่เอาตามความเข้าใจของตัวเองอย่างผิวเผินเช่นนี้นะคะ .....

และสุดท้ายนี้  ดิฉันอยากเรียนว่าชื่นชมในความเป็น "ครู" ของคุณหมอนะคะ  

 "หากจะสรุปบทบาทของครูในคำคำเดียว คำๆ นั้นไม่ใช่ สอน แต่เป็นคำว่า เชื่อมโยง"

คุณหมอเห็นและเข้าใจ ในสิ่งที่ดิฉันนึกไปๆไม่ถึง  และสรุปเป็นถ้อยคำลึกซึ้งอย่างคุณหมอไม่ได้  แต่ดิฉันรู้สึก "เข้าใจ" บทสรุปสำคัญที่คุณหมอบอก 

ทำให้ดิฉันนึกไปถึงเวลาที่คุยกับพ่อนะคะ   พ่อเล่าคณิตศาสตร์ของพ่อ  ในขณะที่ดิฉัน "ถาม" ด้วยภาษาไทยของดิฉัน  และพ่อกับดิฉันก็ต้องเรียนรู้ที่จะ "เชื่อมโยง"  เข้าหากัน   

ทั้งนี้เพื่อความสมานฉันท์  ต้องเร่งหาจุดเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจระหว่างกันให้เจอ    กว่าจะหากันจนเจอ ก็ต้องเปิดอภิปรายกันจนกับข้าวเย็น  และแม่ดุแว้ดเอา  ถึงจะได้ลงมือทานข้าวเย็นกันอะค่ะ    : )

ขอบพระคุณคุณหมอมากๆนะคะ ที่กรุณาให้ข้อคิดที่ดีและมีคุณค่าแก่ดิฉัน   และเห็นด้วยกับบรรทัดแรกของความเห็นข้างบน  ของคุณหมอมัทนา อย่างยิ่งเลยค่ะ  : )

เรียน อ สุขุมาลครับ

ผมมีรูปที่คิดว่าอาจารย์น่าจะชอบ

ผมถ่ายมาจากบ้านลุงเขียนผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำเครือข่ายอินแปง

ผมว่าเป็นถ้อยและภาพที่ทรงพลังมาก

แปะไว้ที่นี่

http://gotoknow.org/file/sutee_gotoknow/view/83432

ลองคลิกเข้าไปดูนะครับ

สวัสดีค่ะ คุณหมอสุธี

ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ ดิฉันได้เข้าไปดูและเห็นบรรยากาศรอบกระดานดำ   ถ้อยคำเรียบง่าย แต่รู้สึกได้ว่าออกมาจากใจ  และภาพต้นไม้ทั้งทั้งรากเดิมและรากใหม่แล้ว   ก็รู้สึกได้ถึงความเป็นสามัญของผู้ที่เห็นชีวิตมาแล้วอย่างลึกซึ้ง   

ดิฉันมีโอกาสพบท่านที่มีลักษณะข้างต้นมาบ้าง ก็เห็นลักษณะร่วมเดียวกัน คือท่านเข้าใจต้นไม้  และ "รัก"ต้นไม้

ภาพ "ปลูกต้นไม้" ของคุณหมอก็กระทบใจดิฉันมากนะคะ  กระทบใจในที่นี้แปลว่าทำให้ได้คิดได้ตรึกตรองทบทวน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

คุณหมอส่งเรื่องและภาพที่ตรงกับคำถามใหญ่ๆในใจดิฉัน  (อีกแล้ว)      ดิฉันเข้ามาที่นี่(G2K)ครั้งแรก ก็ตรงดิ่งไปที่บล็อกท่านครูบาฯ และเรียนถามท่านเรื่องต้นไม้  เพราะเป็นเรื่องที่...  คือดิฉันอธิบายไม่ใคร่ถูกแต่เรื่องต้นไม้ เป็นเรื่องที่ดิฉันต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจอีกสักพัก 

บางทีความสงสัยของคนก็เกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ซับซ้อน  ที่เมืองฝรั่งเขามีวิชา  ปลูกต้นไม้บำบัด ไหมคะ (ว่าแล้วก็เปิดหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดในโลกดู  เห็นมี plant therapy ด้วย  .... แถมบอกว่าเหมาะสำหรับผู้สูงอายุอีกต่างหาก  : )  )    

นึกแล้วขำตัวเองหน่อยๆอะค่ะ  รู้สึกเหมือนเป็นมนุษย์ต่างดาวที่กำลังพยายามเรียนรู้เรื่องต้นไม้จากมนุษย์ สงสัยจะดูหนังมากไป 

บันทึกนี้และคำตอบดีๆของคุณหมอ   ทำให้ดิฉันได้คิดได้เห็นอะไรๆที่ (เคย) เป็นคำถามในใจ  จากอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งดิฉันคิดไปไม่ถึง   และเป็นมุมมองใหม่ที่ดีจังเลย    ดิฉันได้อ่านในจังหวะชีวิตที่ต้องการคำตอบอย่างยิ่งพอดี   : ) 

             ขอบพระคุณคุณหมอสุธีอย่างมากๆอีกครั้งนะคะ     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท