ระบบนิเวศน์ต้องกลับคืนมา : เป็นคำตอบสุดท้าย


เพราะระบบทรัพยากรดินและที่ดินของภาคอีสานนั้น แม้จะเป็นระบบเปราะบางก็จริง แต่ก็แกร่งพอที่จะฟื้นคืนมาได้เร็วถ้าได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกต้อง

ผมทำงานวิจัยเรื่องความเสื่อมโทรมของระบบทรัพยากรดินในภาคอีสาน โดยการประสานงานร่วมกับนักวิจัยจากประเทศออสเตรเลีย และประเทศจีนที่เกาะไหหลำ

 

พบว่า ในระยะการใช้ประโยชน์ที่ดินเพียงไม่เกิน ๕๐ ปีมานี้ ทำให้ดินมีระดับความ อุดม เหลือเพียง ไม่เกิน ๒๐% ของดินที่ยังคงมีสภาพป่าเหลืออยู่ ทั้งนี้ยังไม่นับอินทรียวัตถุและอาหารสำรองในระบบพืชพรรณของป่า

 

และ ส่วนที่เหลือนี้เป็นส่วนเพียงแกนๆของดินที่เสื่อมลงช้าแล้ว จะทำไปอีกกี่ปีก็จะลดลงอีกไม่เร็วมากนัก เพราะแทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว

 

การไถพรวนปรับที่ดินบ่อยๆ ทำให้ดินเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

 

 ระบบดินที่เสื่อมโทรมนี้จะให้ผลผลิตต่ำมาก และเกษตรกรทั่วไปก็ได้พึ่งระบบปุ๋ยเคมีกระตุ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็นหลัก จึงจะยังให้ผลผลิตได้บ้าง

 

แม้การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรใช้อยู่ ก็จะให้ผลได้ในระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะระบบดินอ่อนแอมาก และไม่มีการสำรองใดๆเหลืออยู่

 

การใช้ปุ๋ยใดๆจะมีประสิทธิภาพต่ำมาก และจะต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากระบบสำรองถูกทำลายตลอดเวลาและทำให้ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับการผลิตให้เท่าเดิม

  

ที่นาจะเสื่อมช้าหน่อย ใช้เวลา ประมาณ ๓๐-๖๐ ปีเพราะมีระบบเติมให้จากตะกอนน้ำไหลลงมาทับถมในที่ลุ่ม

  

ที่ไร่ใช้เวลาเพียง ประมาณไม่เกิน ๕ ปี เพราะมีแต่ระบบไหลออกเป็นส่วนใหญ่

  

แต่เราก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะระบบทรัพยากรดินและที่ดินของภาคอีสานนั้น แม้จะเป็นระบบเปราะบางก็จริง แต่ก็แกร่งพอที่จะฟื้นคืนมาได้เร็วถ้าได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกต้อง

การฟื้นตัวหลังจาก ๗ ปี ที่ถือในมือขุดมาจากแปลงต้นไม้ยืนต้น เทียบกับบริเวณที่ไม่ได้ปลูกพืช ศุนย์เรียนรู้พ่อคำเดื่อง ภาษี จังหวัดบุรีรัมย์

สภาพดินในแปลงเกษตรผสมผสานที่ได้รับการปรับปรุงมา ๑๐ ปี ที่ศูนย์เรียนรู้พ่อจันทร์ที ประทุมภา อำเภอชุมพวง นครราชสีมา

ดินเดิมที่เสื่อมโทรม ที่ไม่มีการปรับปรุง(ด้านซ้าย) และดินที่ปรับปรุงแล้ว ๑๐ ปี (ด้านขวา) ในระบบเกษตรผสมผสาน ของพ่อจันทร์ที ประทุมภา อำเภอชุมพวง นครราชสีมา

 

จากการศึกษาการฟื้นตัวของดิน พบว่า

ถ้าปล่อยตามธรรมชาติจะใช้เวลา ๑๐-๑๕ ปี

 

แต่ถ้ามีการดูแลบ้างจะฟื้นได้ในไม่เกิน ๕-๑๐ ปี

 

และถ้าดูแลอย่างใกล้ชิดจะฟื้นได้ในเวลา ๓-๕ ปี

เช่นในกรณีของเกษตรประณีตหนึ่งไร่ เป็นต้น

 นี่คือเหตุผลที่เราจะต้องทำเกษตรกรรมแบบประณีตที่ใช้ ที่ดินน้อย น้ำน้อย แรงงานน้อย และทำทีละน้อย จากเล็กไปใหญ่

หลักการที่จะทำให้ดินและระบบทรัพยากรฟื้นตัวก็ได้แก่การสร้างระบบเบิกนำ ทางกายภาพ ชีวภาพ ระบบนิเวศน์ ระบบรายได้ และระบบสังคม

 

ที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ทางทรัพยากร และสังคม ที่สมบูรณ์และสอดคล้องกัน

 ฉะนั้น ระบบนิเวศน์จึงต้องกลับมา อย่างเป็นคำตอบสุดท้าย

จึงจะสามารถทำให้ระบบทรัพยากรเกษตรและสังคมที่เสื่อมโทรมไปกลับคืนมา ให้จงได้

 เกษตรกร ชุมชน และประเทศชาติจึงจะรอดครับ


ความเห็น (10)
เข้ามาหาความรู้ในคำตอบสุดท้ายครับ พยายามทำให้ชาวบ้านดู เขาจึงเชื่อแต่ผมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีครับ ขอบคุณครับ
ชุดความรู้มนุษย์ในการทำการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ยอมรับ เชื่อถือ เชื่อมั่น ผมละงงกับงานวิจัยเหลือเกิน โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเกษตรที่ทำปลีกย่อยเจาะลึกที่ต่างคนต่างทำ มันคงแก้วิกฤตอะไรไม่ได้ เพราะการหลงผลลัพธ์จากงานวิจัยที่คลาดเคลื่อน อาจจะดูดีในแต่ละจุด แต่พอเอามาต่อกันเข้ามันถึงจะเห็นความไม่ถูกต้อง ทฤษฎีต่างๆจึงไม่ถูกต้อง เพราะถ้ามันดีความเสื่อมโทรมทำไมยังไม่หยุดชงัก จึงตอบไม่ได้ว่าชุดความรู้เรื่องการเพาะปลูกของมนุษย์ที่ถูกต้องคืออะไร ทำไมจึงเสื่อมทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว และประเทศด้อยพัฒนา

การส่งเสริมการเกษตรมีทางเลือกว่าจะใช้ปุ๋ยยี่ห้อไหน สูตรไหน เท่านั้น

การพัฒนาที่ดินก็เน้นการไถกลบฟาง ถางป่า

ชุดความรู้ที่ถูกต้องคงไม่มีเวลาคิด

ผมขอสรุปง่ายๆ ที่ไม่มีใครฟังว่า

"การเตรียมดินที่ดีที่สุดคือนอนอยู่บ้านเฉยๆ" ครับ

ระวังแต่อย่าให้ให้ใครไปแอบเผาเป็นใช้ได้ครับ

  • จริงดังที่อาจารย์ว่าไว้ครับ งานส่งเสริมการเกษตรมองข้ามดิน-การปรับปรุงดินโดยธรรมชาติไปครับ
  • มองตามกรอบของการเพิ่มผลผลิตเพื่อการสร้างรายได้ แต่สุดท้ายทำลายเกือบทุกอย่าง
  • ผมก็สังเกตดินที่ผมลงมือทำสวนเองก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ ไม่ไถ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เพียงแต่คอยตัดหญ้า นอกนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ
  • 10 ปีผ่านไป จากดินร่วนปนทราย  ขณะนี้เริ่มมีหน้าดินแล้ว   แต่ต้องตัดหญ้าบ่อยๆ ยิ่งตอนนี้แม้หญ้าจะแห้งแล้วก็ต้องตัดให้เตียนกลัวไฟใหม้ครับ

ถ้าจะเปลี่ยนจะมีแรงต้านในระบบการบริหารมากวิชาการไหมครับ

  • แรงต้านในภาคสนามคิดว่าไม่น่าจะมีนะครับ ถึงมีก็จะต้านไม่ได้มากเพราะไม่ได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงโดยตรง(ดินจะเป็นอย่างไรจะกระทบถึงตัวเกษตรกรก่อนเสมอ) แต่ส่วนกลางระดับกำหนดนโยบายไม่แน่ใจครับ
  • ประเด็นแรกอยู่ที่การจะทำอย่างไรให้นักวิชาการเข้าใจ และไม่วนกลับไปใช้วิการส่งเสริมแบบเดิมที่ใช้จำนวนผลผลิตเป็นตัวตั้ง (ความรู้ชุดเก่า-มิติเดียว)
  • ประเด็นต่อมาก็คือตัวเกษตรกรเอง  อันนี้ก็ยากพอสมควรครับ เพราะระยะแรกอาจสะดุดเพราะส่วนใหญ่จะกระทบต่อระบบการผลิตเดิมที่คุ้นชิน ก็คงต้องนำร่องเกษตรกรชนิดหัวไวใจสู้ แบบที่เป็นตัวอย่างในบันทึกนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแกนนำ
  • การจะเปลี่ยนต้องปรับใหญ่ ทั้งนักวิชาการ นักส่งเสริม-พัฒนา ฯลฯ และตัวเกษตรเอง โดยเริ่มตั้งแต่วิถีชีวิต-วิธีคิดดังที่อาจารย์เขียนบันทึก(ลิงค์)  และต้องทำคู่ขนานกันไปในหลายๆ เรื่อง
  • ลปรร.ครับ

ท่านสิงห์ป่าสัก

คำพูดที่เสนอมาเป็นสิ่งที่ผมรอคอยมานานแล้ว ว่าควรจะทำอย่างไรกันดี

ผมพยายามเริ่มที่ระบบการศึกษาก็ได้บ้าง แต่พอผู้เรียนที่ไม่ชัดทางความคิด ไปเจอแรงต้านนิดหน่อยก็หยุด

ขนาดผมทำแปลงสาธิตก็ยังโดนแรงต้านหลายแนวมากเลย

เราคงได้แลกเปลี่ยนและหาแนวทางร่วมกันไปอีกนะครับ

ผมจะชูประเด็นนี้เรื่อยๆ เพราะเป็นแกนของปัญหาและทางออกที่เหลือ

นักวิชาการก็ยังคงติดหล่มอยู่ด้วย จึงต้องมีแนวรบกว้าง และค่อยๆทำครับ

  • ยินดีที่จะได้ ลปรร.ครับ
  • ผมก็จะพยายามค้นหาและนำประเด็นนี้มาบันทึกให้มากยิ่งๆ ขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง-ขยายวงการเรียนรู้ในภาคสนามต่อไปครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ช่วยจุดประกายความคิดนี้ให้

ท่านสิงห์ป่าสัก

ผมอยากเห็นการใช้ความรู้ที่ทำให้เราอยู่ได้ พึ่งตนเองได้ครับ  และลดการใช้ความรู้ที่เป็นพิษครับ

อาจารย์ครับผมขอพูดในสิ่งที่เป็นไปได้  เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะไม่มีเวลาให้กับการปรับปรุงดินนะครับ  เพราะว่าการเกษตรนั้นจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อมีพื้นที่ให้ครอบครองเยอะเพราะว่าหากเกษตรกรที่มัวแต่ทำการปรับปรุงดิน  พื้นที่ทำการเกษตรของเค้ายิ่งจะไม่มีแล้วถ้าหยุดไปถึง3-5ปียิ่งเป็นไปไม่ได้ผมว่าเพราะเกษตรกรสว่นมากต้องทำการเกษตรเป็นแบบปีต่อปีด้วยซ้ำไป ดังนั้นจึงเป้นเรื่องยากในการปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท