สมดุลชีวิต(ตอน4)


4 สมดุลของการใช้จ่ายทรัพย์

ทรัพย์ที่หาได้ควรใช้จ่าย เลี้ยงดูครอบครัว สะสม ต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างสมดุล เพื่อไม่ฟุ่มเฟือยหรือขัดสนจนเกินไป ผูกไมตรีไว้ได้ เป็นหลักประกันให้กับชีวิตในภายหน้า และ ไม่เป็นเหตุให้ต้องว้าวุ่นใจจนอาจส่งผลไปถึงกาย

ในส่วนของการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อจะซื้อหา ควรพิจารณาถึง คุณค่าแท้ (ประโยชน์แท้จริงที่ได้ เช่น กระเป๋าประโยชน์คือใส่ของ)คุณค่าเทียม(สิ่งที่เกินกว่าประโยชน์ที่ได้อันทำให้มูลค่ามากขึ้น เช่น ความภูมิใจว่าใช้กระเป๋าแบรนด์เนม) ประกอบการพิจารณาในการใช้จ่าย

ทางพระมีหลักสอนว่าเมื่อจะฉัน จะทำอะไรก็ให้พิจารณาแล้วเสพ พิจารณาแล้วข่ม พิจารณาแล้วเว้น พิจารณาแล้วบรรเทา ฆราวาสก็นำหลักนั้นมาใช้ได้ค่ะ ไม่ว่ากับเรื่องอะไร

เช่น มีความคิดว่าจะเริ่มออกกำลังกายแต่ก็ยังไม่ได้เริ่ม ก็อาจจะ

#พิจารณาแล้วเสพ เสพในที่นี้แปลว่าทำความคุ้นเคยนะคะ เช่น ทำความคุ้นกับการคิดถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย ทำความคุ้นชินกับการเริ่มต้นวันละนิดๆ

#พิจารณาแล้วข่ม เช่น วันนี้มีเวลาพอ ใจหนึ่งอยากจะไปออกกำลังกาย อีกใจอยากจะไปช็อปปิ้ง ก็คิดในทางที่ทำให้ข่มใจที่อยากไปช็อปปิ้งลงให้ได้ เพื่อให้ใจเลือกที่จะไปออกกำลังกายมากกว่า

#พิจารณาแล้วเว้น เช่น ถ้ารู้ว่าขณะไปยิม จะต้องผ่านร้านที่เมื่อผ่านร้านนี้เมื่อไหร่จะต้องแวะเข้าไปดูเสื้อสักตัวทันที ก็อาจจะเว้นเส้นทางนั้นไป (เนื่องจากความคุ้นชินใหม่ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะต้านทานความเคยชินเดิมได้ จึงควรเว้นไปก่อน)

#พิจารณาแล้วบรรเทา ใจนั้นสัมพันธ์กับวิธีและเส้นทางการคิด เมื่อเราคิดไปในทางใดมากๆ เครือข่ายใยสมองก็จะเจริญไปในเส้นทางนั้น ดังนั้นเมื่อเว้นสิ่งใด ก็ให้หมั่นพิจารณาคุณ โทษ ของสิ่งนั้น เพื่อสร้างเส้นทางใหม่ในสมองและทำให้เส้นทางนั้นเข้มแข็งขึ้น เมื่อคิดไปบ่อยๆ จะเห็นคุณของการเว้นมากกว่าโทษ ความอยากในการทำหรือไม่ทำสิ่งนั้นก็จะค่อยๆลดลง ในที่สุดก็บรรเทาลงได้จนไม่จำเป็นต้องเว้นไปก่อนแต่อย่างใด

5 สมดุลในการหาทรัพย์

เราส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้กายทำงานหาทรัพย์อันเป็นทรัพย์ภายนอก บางคนลืมอาจที่จะหาและสะสมทรัพย์ในภายใน ทรัพย์ภายนอกยิ่งใช้ยิ่งหมดไป แต่ทรัพย์ภายใน ยิ่งใช้ ยิ่งงอกงาม

ในพุทธศาสนาเปรียบทรัพย์ทั้งหลายดุจขุมทรัพย์ มีคำอธิบายว่า ในขุมทรัพย์ทั้ง 4 อันประกอบด้วยขุมทรัพย์ที่ชื่อ #ถาวระ(ทรัพย์สินถาวร ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) #ชังคมะ(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น สัตว์เลี้ยง) #อังคสมะ(ทรัพย์ติดตัว เช่นความรู้ ศิลปวิทยา) และ #อนุคามิกะ (ทรัพย์ติดตัวทางคุณธรรม เช่น การมีศีล การมีฉันทะในการทำความดี ปัญญา) ทรัพย์ที่ชื่ออนุคามิกะ เป็นทรัพย์ที่ใครๆก็ลักไปไม่ได้ ติดตัวไปในทุกที่ บุคคลจึงควรสั่งสมทรัพน์ในแบบสุดท้ายนี้ให้มีมากยิ่งๆขึ้น

ด้วยการหมั่นหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระดับจิต การฝึกสติให้รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบใจ อบรมเมตตาโดยเอาตนเข้าเปรียบ คือ เราอยากได้อะไร(เช่น เวลาเดือดร้อน อยากได้ความช่วยเหลือ อยากได้ยินถ้อยคำไพเราะ) ไม่อยากได้อะไร(เช่น ไม่อยากให้ทรัพย์ถูกขโมย ไม่อยากให้ใครมาละเมิดคู่ตน)ก็ทำหรือไม่ทำอย่างนั้นกับคนอื่น เวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้น ก็อบรมการไม่เพ่งโทษผู้อื่น แต่มาอบรมการคิดว่าเป็นเพราะเราทำหรือไม่ทำอะไร เรื่องอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เพราะการมองที่ตนเอง แก้ปัญหาได้ง่ายกว่าไปบอกให้ใครอื่นแก้ ตนเองเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ง่ายกว่าผู้อื่น อบรมการข่มใจไว้จนไม่พูดส่อเสียดผู้อื่น เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #สมดุลชีวิต
หมายเลขบันทึก: 702550เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท