สมดุลชีวิต(ตอน3)


3 สมดุลระหว่างความแข็งแรง ความทนทาน ความคล่องแคล่ว ความยืดหยุ่น และ ความสามารถในการทรงตัวของร่างกาย

ร่างกายที่แข็งแรงทำให้เรามีพลังในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ทำงาน ออกกำลังกาย ทำให้เรามีภูมิต้านทานโรคที่ดี มีความสามารถในการเคลื่อนที่ ความยืดหยุ่นจะช่วยสนับสนุนให้เราออกแรงได้ดี ความทนทานจะช่วยให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งเรื่องนี้ได้นาน ความคล่องแคล่วทำให้เราเปลี่ยนอิริยาบท เปลี่ยนท่วงท่า หรือ เล่นกีฬาได้ดีขึ้น ถ้าด้านต่างๆเหล่านี้ไม่สมดุล ก็นำไปสู่การติดขัดที่ข้อต่อ (เช่น ไหล่ติด) องค์ประกอบร่างกายไม่ดี (เช่นหลังค่อม กล้ามเนื้อบางส่วนตึงจนล็อค) จนนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังต่างๆ

ส่วนความสามารถในการทรงตัวช่วยให้เรามีมิติสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และ ไม่ล้มง่าย ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะคะ ผู้สูงวัยพลัดล้มวันละหลายคน ครึ่งหนึ่งของผู้พลัดล้มมักกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และ 1 ใน 3 ของผู้พลัดล้มมักเสียชีวิต

ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะได้จากการหมั่นเปลี่ยนอิริยาบทในชีวิตประจำวัน มีอิริยาบททั้ง นั่ง เดิน ยืน นอน สมดุล (ดังได้กล่าวแล้วในตอนแรก) และมีการออกกำลังกายหลายๆรูปแบบ

รูปแบบการออกกำลังกายของเราจึงควรมีทั้งการออกแบบใช้แรงต้าน คาร์ดิโอ ยืดเหยียด ฝึกการทรงตัว และอาจรวมไปถึงการฝึกความคล่อง (agility) เมื่อเราฝึกตามด้านต่างๆข้างต้นได้ดีแล้ว เพื่อต่อยอดไปทางการเป็นนักกีฬา (สว.ก็เป็นนักกีฬาได้ค่า)

4 การใช้เวลาในแต่ละวัน

ควรแบ่งการใช้เวลาในแต่ละวันให้เป็นไปใน 3 ด้านอย่างสมดุล คือทำงาน ดูแลครอบครัว และดูแลตนเอง เพื่อให้งานที่ทำในวันนี้เป็นประโยชน์ปัจจุบันที่ไม่ก่อให้เกิดทุกข์ในภายหน้า ถ้าเราให้เวลากับการทำงานมากไปจนละเลยครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็อาจสั่นคลอน หรือถ้าเราละเลยการดูแลร่างกาย ละเลยการดูแลจิตใจ ก็ทำให้กายใจเกิดความเครียดสะสม จนอาการทางกายแสดงออกทางใจ(Somatic Disorder เช่น ซึม เฉื่อยชา จนหดหู่) หรืออาการทางใจแสดงออกทางกาย (เช่นเครียดจนเป็นโรคกระเพาะ ร้อนใน แผลในปาก เป็นโรคกลุ่มNCDs) หรืออาการทั้งทางใจ ทางกายส่งผลซึ่งกันและกันวนไปไม่รู้จบ

จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า กระทั่ง สู่การฆ่าตัวตาย

เรื่องของเวลา ยังควรพิจารณาเวลาที่ใช้ไปในการคิด คือการคิดถึงเรื่องที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต เวลาส่วนใหญ่ของเราควรเป็นไปเพื่อการดูแล จัดการ แก้ไขข้อบกพร่องอันเป็นความเป็นจริงในปัจจุบัน มากกว่าการหวนละห้อยอาลัยหาสิ่งที่เกิดแล้วในอดีต หรือฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในอนาคต หรือคิดถึงเรื่องเดิมๆด้วยผูกใจเจ็บวนไปวนมาจน "เสียเวลา"

อันที่จริง เรื่องราวในอดีตและอนาคต เราสามารถนำมาคิดได้ แต่เป็นการคิดถึงอดีตเพื่อหาข้อผิดพลาดและแก้ไข คิดถึงอนาคตเพื่อการวางแผน โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน

บางครั้งเวลาที่ใช้ไปก็แทบจะแยกได้ยาก ว่าใช้ไปในการเพ่งหาความผิดของผู้อื่นหรือใช้ไปเพื่อสังเกตว่าผู้อื่นที่ตนมีความสัมพันธ์ด้วยมีความผิดปกติอย่างไร ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ เราต้องหาความสมดุล และสังเกตอาการทางใจของตนเองเอาเองค่ะ
 

คำสำคัญ (Tags): #สมดุลชีวิต
หมายเลขบันทึก: 702549เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2022 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท