เงินคือทุกสิ่งทุกอย่างใช่ไหม ?


ถ้าอยากให้เงินไม่เป็นอสรพิษ ต้องรู้จักหา รู้จักใช้เงินให้เป็นนั้นเอง โดยเฉพาะท่านผู้มีบุญบารมีจากการมีเงินมาก ถ้าจะให้เงินมีประโยชน์หรือเป็นมหาชน ควรนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น สร้างโรงพยาบาล โบสถ์ วิหาร ลานเจดีย์ ศาสนสถาน ศาลาพักร้อนเป็นต้น เพื่อให้ผู้คนพักผ่อนปฏิบัติธรรม เพราะแม้เราจะมีเงินมาก แต่เงินเราที่แท้จริง ก็คือเงินที่เราได้ใช้ไปแล้วเท่านั้น ส่วนนอกนั้น ไม่ใช่ เพราะเวลาเราตาย เราก็ไม่สามารถเอาเงินติดตัวไปได้ แม้จะคิดดีเอาไว้ให้ลูกหลาน แต่ถ้าลูกหลาน เกิดความโลภ ไม่รู้จักพอเพียงอาจจะแย่งชิงมรดกกันถึงกับฆ่ากันตายก็ได้ เพราะเคยมีข่าวให้เห็นมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ควรบริหารจัดการเงินให้เป็น เพราะเงินไม่ใช่ว่าจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างดังที่เราคิดนั้นเอง

เงินคือทุกสิ่งทุกอย่างใช่ไหม ?

ดร.ถวิล  อรัญเวศ

        ในโลกทัศน์ของผู้ที่เชื่อว่า เงินคือทุกสิ่งทุกอย่าง  เงินคือพระเจ้า เงินคือแก้วสารพัดนึกก็อาจจะเคารพนับถือคนมีเงิน โดยไม่ใส่ใจว่าจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม จนถึงกับมีการพูดเปรียบเปรยเงินไว้ว่า เงินนะ...

ตกใส่เหล็ก  เหล็กก็บิ่น

ตกใส่หิน  หินก็ลอย

ตกใส่หอย  หอยก็อ้า

ตกใส่หญ้า  หญ้าก็ตาย

ตกใส่ทราย  ทรายก็ทรุด

ตกใส่มนุษย์  ทำให้มนุษย์ขาดคุณธรรม

       ข้อนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเรา จะต้องหาเงินมาใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งนี้เพราะเงินชาวโลกสมมุติให้สามารถใช้ชำระหนี้สินและค่าบริการได้ทุกอย่าง จะว่าเป็นแก้วสาระพัดนึกก็น่าจะได้ เพราะถ้ามีเงิน จะคิดอยากทำอะไร อยากได้อะไร ก็จะคล่อง ไม่ติดขัด ตรงข้าม ถ้าขาดเงิน จะคิดอะไร จะทำอะไรก็ขาดสภาพคล่อง

       อย่างไรก็ตามในหลักพุทธศาสนา พุทธองค์ทรงให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินไว้ประดุจว่า เงินเปรียบประดุจ “อสรพิษ”

     ทำไม ? เพราะ  “อสรพิษ” คือ สัตว์ที่มีพิษร้ายในเขี้ยว มักหมายถึง งูพิษ คนที่ลอบทำร้าย หรือให้ร้ายได้แม้แต่ผู้มีคุณ

        “อสรพิษ” [อะ-สอ-ระ-พิด] น. สัตว์มีพิษในเขี้ยว มักหมายถึง งูพิษ โดยปริยายหมายถึงคนที่ลอบทำร้ายหรือให้ร้ายผู้มีคุณหรือผู้อื่นด้วยความอิจฉาริษยา เป็นต้น

          เงินแม้จะมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ ถ้าเราใช้ไม่เป็นหรือหามาไม่ถูกต้อง การหาเงินต้องหามาโดยสุจริต ไม่ได้ฉ้อโกงใครเขามา ไม่หาเงินในทางที่ผิดกฎหมาย คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ เงินนั้น สามารถซื้อบริวารได้ แต่ซื้อความซื่อสัตย์จงรักภักดีจากเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องได้ใจเท่านั้น เพราะถ้าได้ใจจะได้ทุกอย่าง เงินนั้น แม้บางครั้งอาจจะสามารถซื้อตำแหน่งได้ แต่จะซื้อศรัทธา ความเคารพรัก นับถืออย่างจริงใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ เงินซื้ออาหารได้ แต่เงินไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีให้กับเราได้ เราต้องดูแลเอง จริงอยู่เงินอาจจะซื้อยามารักษา แต่ไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ เราต้องดูแลเอง ดังนั้น ถ้าอยากให้เงินไม่เป็นอสรพิษ ต้องรู้จักหา รู้จักใช้เงินให้เป็นนั้นเอง

 

ทำไม่พุทธองค์จึงทรงเปรียบเงินเหมือนอสรพิษ

        แม้ว่าเงินจะมีคุณอนันต์ ก็จริง แต่เงินก็มีโทษมหันต์เช่นกัน ดังนั้น พุทธองค์จึงเปรียบเงินไว้ดังอสรพิษ หรืองูพิษ คืออาจจะทำร้ายเราถึงตายได้เมื่อไรก็ได้ เพราะคนเราถูกฆาตกรรม ก็เพราะเงิน ถูกทำร้าย ก็เพราะเงินพุทธองค์จึงสอนให้เราใช้เงินอย่างสำรวมและพึงระมัดระวัง เป็นพระท่านไม่ให้จับ เพราะท่านอยากให้พระปลอดภัยในชีวิต

       พุทธองค์ทรงเปรียบเงินดุจดังอสรพิษ ห้ามพระภิกษุจับต้องเงิน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอาบัติทุกกฎ ต้องให้ไวยาวัจกร จัดไว้ให้ใช้ยามต้องการ

      สำหรับเงินเป็นเสมือนอสรพิษนั้น มีเรื่องเล่าจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบทพาลวรรคที่ ๕ ความว่า

      ครั้งสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จประทับ ณ กรุงสาวัตถี ทรงปรารภเรื่องของชาวนาผู้หนึ่งได้ติดข่ายพระญาณของพระองค์ท่าน ท่านจึงได้เสด็จไปยังที่นาของชาวนาผู้นั้น พร้อมกับพระอานนท์.......

     ณ ที่แห่งนั้น ชาวนาได้ตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำนาเหมือนเช่นเคย เมื่อไปถึงที่นาก็ลงมือทำนา ครั้นได้แลเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์ จึงได้เข้าไปกราบท่าน...

     พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสคำใด ๆ แก่ชาวนา เพียงรับการกราบไหว้ของชาวนาแล้วเสด็จเลยไปในที่พอแก่ชาวนาจะได้ยินพระสุรเสียงของท่านได้...

     พระพุทธองค์ทรงรับสั่งแก่พระอานนท์อย่างนี้ว่า...ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นไหมอสรพิษ ?...

พระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า...เห็นพระเจ้าข้า อสรพิษร้าย..... แล้วพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จจากไป

           ชาวนา นั้น ได้ยินพระดำรัสของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ ก็สำคัญว่ามีงูเห่าอยู่ในที่นาของตน จึงได้หยิบปฏักมา หมายจะตีงูเห่าให้ตาย

          ครั้นเดินมาถึงที่ ๆ พระผู้มีพระภาคได้ยืนประทับเมื่อครู่ ก็ไม่แลเห็นอสรพิษแต่อย่างใดแต่กลับพบเห็นถุงเงินตกหล่นอยู่ที่คันนา

        เมื่อหยิบขึ้นมาดูก็พบว่า มีเงินอยู่ในห่อถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็เข้าใจว่าคงจะมีใครทำตกหล่นไว้

        ความยินดีพอใจก็เกิดขึ้นแก่ชาวนาโดยมิทันปรารภพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคกับ พระอานนท์แม้แต่น้อย จึงได้หยิบห่อเงินนั้นเดินไปที่ท้ายคันนาแล้วขุดหลุมฝังเงินไว้ แล้วก็ไปทำนาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

       ที่มาของเงินถุงนั้นก็มีอยู่ว่า คืนก่อนวันเกิดเหตุ โจรกลุ่มหนึ่งได้พากันมุดอุโมงค์ท่อน้ำ เพื่อแอบเข้าไปยังหมู่บ้าน แล้วได้เข้าไปปล้นเงินในบ้านของเศรษฐีผู้หนึ่ง ได้กวาดเอาทรัพย์สินเงินทองไปเป็นจำนวนมาก แล้วได้จากไปในยามดึกนั่นเอง

       ครั้นลอดออกพ้นจากอุโมงค์ท่อน้ำ แล้วก็พากันหลบหนีมาจนถึงที่นาของชาวนาคนนั้น โจรผู้หนึ่งขณะปล้นทรัพย์ของเศรษฐี ก็เกิดยักยอกเงินจำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ใส่ห่อไว้ เหน็บซ่อนไว้ที่เอว ในขณะที่มีการแบ่งเงิน ทรัพย์สินของพวกโจรทั้งหลาย ปรากฏว่าถุงเงินที่โจรผู้นั้นแอบยักยอกไว้เกิดหล่นลงไปที่พื้นดินโดยไม่มีใครมองเห็น เพราะเป็นเวลาคืนเดือนมืด...

และนี่แหละคือที่มาของเงินที่ชาวนาได้นำไปแอบซ่อนเอาไว้

          ต่อมาในเวลาสาย พวกชาวบ้านได้ออกตามรอยเท้ากลุ่มโจรที่ผ่านอุโมงค์น้ำ ตามมาจนถึงที่นาของชาวนา จากนั้นก็เห็นรอยเท้าใหม่ของชาวนาก็ติดตามไปจนถึงบริเวณที่ชาวนาขุดหลุมฝังห่อเงินไว้ จึงได้ขุดขึ้นมาแล้วพบห่อเงิน ก็สำคัญว่า ชาวนานั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มโจรจึงได้กรูกันเข้ามาทำร้ายชาวนาแล้วมัดมือไพล่หลังนำส่งพระราชาให้ลงโทษ

         พระราชาจึงทรงตัดสินประหารชีวิตชาวนา ราชบุรุษจึงได้นำชาวนาที่ถูกมัดมือไพล่หลังนั้นนำตัวไปเพื่อประหารชีวิต

            ระหว่างทาง ชาวนาได้สำนึกผิดและระลึกถึงคำของพระผู้มีพระภาคขึ้นมา จึงสะท้อนใจว่าตัวไม่เฉลียวใจในคำว่าอสรพิษเลย...จึงคร่ำครวญร้องไห้ แล้วกล่าวขึ้นมาว่า

          “อานนท์ เธอเห็นไหม...อสรพิษ...?” “เห็นพระเจ้าข้า อสรพิษร้าย...”

ชาวนากล่าวไปมาอยู่อย่างนี้ พวกราชบุรุษได้ยินจึงถามชาวนาว่า ทำไมจึงกล่าวอ้างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนั้น

         ชาวนาจึงเล่าเรื่องราวให้ราชบุรุษฟัง ราชบุรุษจึงได้กราบทูลขอพระราชาให้สอบสวนใหม่

         ชนทั้งหลายจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นได้กราบพระผู้มีพระภาค แล้วยืนในที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ได้เอ่ยถามเรื่องของชาวนาแก่พระองค์ พระองค์ทรงตรัสรับรองว่าเป็นจริงแล้วได้กล่าวธรรมกถาว่า....

        “บุคคล กระทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้ เสวยผลของกรรมอยู่ กรรมนั้น..อันบุคคลทำแล้วไม่ดีเลย ไม่ควรทำ ”

        หลังจากได้ฟังธรรมกถาของพระผู้มีพระภาค ชาวนาผู้นั้นก็ได้บรรลุธรรม อันเป็นอริยมรรคสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระราชา....

        คาถาธรรมบทดังกล่าว ท่านแสดงเปรียบให้เห็นถึงความร้ายกาจของเงินประดุจอสรพิษ คืองูเห่าหรืองูจงอาง แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเศรษฐีที่ท่านมีทรัพย์สินเงินทองมากมายที่ตั้งอยู่ในสัมมาอาชีวะ อาทิ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้นนั้นเป็นผู้เลี้ยงงูเห่าไว้..ไม่ปรากฏว่าพุทธองค์ท่านได้ทรงกล่าวไว้เช่นนั้น เป็นเพียงพระองค์หมายถึงว่า ธรรมชาติของเงินนั้นมีความร้ายกาจประดุจงูเห่า หรืองูพิษ ถ้าผู้ใช้ใช้ด้วยความประมาท หรือเกี่ยวข้องกับเงินโดยไม่ระวัง ไม่เป็นอย่างถูกต้องชอบธรรมแล้ว ก็จะถูกงูเห่ากัดตายได้ เพราะเงินนั้นใคร ๆ ก็ชอบ พวกเราทุกคนก็ชอบทั้งนั้น เพราะเราเข้าใจว่า เงินนั้นสามารถซื้อความสุขได้ เงินนั้นมีอำนาจมาก ดังคำเปรียบเทียบเสียดสีในภาษิตของจีนมีอยู่ว่า..

“เงินจ้างผีโม่แป้งได้..” หมายถึงเงินรสามารถทำอะไรๆได้เพราะเงิน เรียกว่าเงินบันดาล หรือ มีภาษิตที่เสียดสีอำนาจของเงินดอลลาร์ว่า

“เงินหยวนพูดภาษาจีน

เงินเยนพูดภาษาญี่ปุ่น

เงินบาทพูดภาษาไทย

ส่วนเงินดอลลาร์พูดได้ทุกภาษา ”

อย่างนี้เป็นต้น

          เงินนั้นมีอำนาจเพราะเป็นที่ปรารถนาของทุกคน แต่ขอให้พิจารณาว่าเงินนั้น ซื้อทุกสิ่งได้จริงหรือ ?

         เพราะเงินนั้น สามารถซื้อบริวารได้ แต่ซื้อความซื่อสัตย์จงรักภักดีไม่ได้

         เงินนั้น สามารถซื้อตำแหน่งได้ แต่ซื้อศรัทธา ความเคารพนับถืออย่างจริงใจของผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้

         เงินซื้ออาหารได้ แต่เงินไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีให้กับเราได้ เราต้องดูแลเอง

         จริงอยู่เงินอาจจะซื้อยามารักษา แต่ไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ เราต้องดูแลเองเท่านั้น

         อนึ่ง คนเราแม้จะมีเงินมากก็จริง แต่ก็สามารถกินได้เพียง ๑ อิ่ม แม้จะมีเงินมากสักเท่าใด บุคคลก็หาได้กิน ๒ อิ่ม ๓ อิ่มในเวลา
เดียวกันไม่

        เงินนั้นแม้จำเป็น แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ผู้หาด้วยว่า มีปัญญาไหม หามาด้วยความสุจริตไหม ?

       บางคนตายจากอัตภาพนี้แล้วไปเป็นเปรตด้วยเหตุแห่งทรัพย์มากมาย หรือไปเกิดเป็นงูเฝ้าสมบัติก็มีมาก

      ท่านแสดงว่า บุคคลหาแสวงหาทรัพย์ด้วยความโลภเกินพอดี นั้นเป็น “วิสมโลภะ” (คือความโลภเกินขอบเขต)

      บุคคลใดหาเงินมาด้วยความไม่บริสุทธิ์ ก็ชื่อว่ามีอสรพิษร้าย ระวังมันกัดเอาถึงตายเช่น หาเงินจากการค้ายาเสพติดให้โทษ หรือยาบ้า หรือแหล่งการพนัน หรือบ่อนคาสิโนผิดกฎหมาย เป็นต้น

         บางคนหาเงินมาได้แม้ชอบธรรม แต่ใช้ไปในทางที่ผิดเหมือนลูกเศรษฐี ๔ ตระกูลที่ได้มรดกมากมาย นำเงินไปเที่ยวเล่นเสเพลจนกระทั้งไปทำบาปต้องไปตกนรกหลายขุม

 

เราควรใช้จ่ายเงินอย่างไร ?

         ตามหลักธรรม บุคคลควรใช้เงิน ในลักษณะ ๔ ประการนี้ คือ

๑. ใช้หนี้เก่า

      คือการตอบแทนคุณพ่อแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย หรือบุพการี ผู้มีบุญคุณต่อเรามาก่อน

๒. ให้กู้

       คือการเลี้ยงดูบุตร ภรรยา และบริวารให้มีความสุข

๓. ทิ้งลงเหว

      คือการบำรุงตัวเองตามฐานานุรูป ไม่กระเหม็ดกระแหม่จนตัวเองต้องทุกข์ยากลำบาก

๔. ฝังดินไว้

      คือการทำทานเพื่อเป็นอริยทรัพย์ที่จะติดตามตัวไปในสังสารวัฏฏ์อันยาวไกลทั้งหลายทั้งปวง คนที่จะได้ฟังธรรม ศึกษาธรรมนั้นส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่พอมีพอใช้ ถามว่าเพราะเหตุใด?? ตอบว่า ก็เพราะคนที่ลำบากยากเข็น ไม่สามารถมีเวลา หรือใจที่จะน้อมฟังธรรมหรอกเพราะตัวต้องปากกัดตีนถีบหาเช้ากินค่ำ หรือคนที่มีความสุขสบายตั้งแต่เกิดย่อมเพลิดเพลินในความสุขและทรัพย์ทั้งหลายเหล่านั้น จะมีจิตใจคำนึงถึงความทุกข์ในชีวิตนั้นแสนยาก ดังนั้นผู้ที่ได้ฟังธรรมก็อยากให้ใส่ใจในเรื่องทาน เรื่องศีลให้มาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องศีลนั้น ถ้าทุกคนมีศีลดี จะทำให้สังคมเป็นปกติสุข ไม่เดือดร้อนเหมือนทุกวันนี้

 

บทสรุป

           เงินแม้จะมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ ถ้าเราใช้ไม่เป็นหรือหามาไม่ถูกต้อง การหาเงินต้องหามาโดยสุจริต ไม่ได้ฉ้อโกงใครเขามา ไม่หาเงินในทางที่ผิดกฎหมาย คนขยันย่อมหาทรัพย์ได้ เงินนั้น สามารถซื้อบริวารได้ แต่ซื้อความซื่อสัตย์จงรักภักดีจากเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องได้ใจเขาเท่านั้น เพราะถ้าได้ใจจะได้ทุกอย่าง เงินนั้น แม้บางครั้งอาจจะสามารถซื้อตำแหน่งได้ แต่จะซื้อศรัทธา ความเคารพรัก นับถืออย่างจริงใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ เงินซื้ออาหารได้ แต่เงินไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีให้กับเราได้ เราต้องดูแลเอง จริงอยู่เงินอาจจะซื้อยามารักษา แต่ไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ เราต้องดูแลเอง เงินทำให้คนตายได้ แต่ทำให้คนฟื้นไม่ได้ เงินซื้อความตายไม่ได้ แต่ว่าช่วยชะลอการตายได้ เงินซื้อความรักไม่ได้ แต่ทำให้คนรักอยู่กับเรา เงินซื้อความจริงใจไม่ได้ แต่ก็ทำให้เห็นธาตุแท้ของคนได้ เงินซื้ออดีตไม่ได้ แต่เปลี่ยนอนาคตได้

        ดังนั้น ถ้าอยากให้เงินไม่เป็นอสรพิษ ต้องรู้จักหา รู้จักใช้เงินให้เป็นนั้นเอง โดยเฉพาะท่านผู้มีบุญบารมีจากการมีเงินมาก ถ้าจะให้เงินมีประโยชน์หรือเป็นมหาชน ควรนำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น สร้างโรงพยาบาล โบสถ์ วิหาร ลานเจดีย์ ศาสนสถาน ศาลาพักร้อนเป็นต้น เพื่อให้ผู้คนพักผ่อนปฏิบัติธรรม เพราะแม้เราจะมีเงินมาก แต่เงินเราที่แท้จริง ก็คือเงินที่เราได้ใช้ไปแล้วเท่านั้น ส่วนนอกนั้น ไม่ใช่ เพราะเวลาเราตาย เราก็ไม่สามารถเอาเงินติดตัวไปได้ แม้จะคิดดีเอาไว้ให้ลูกหลาน แต่ถ้าลูกหลาน เกิดความโลภ ไม่รู้จักพอเพียงอาจจะแย่งชิงมรดกกันถึงกับฆ่ากันตายก็ได้ เพราะเคยมีข่าวให้เห็นมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ควรบริหารจัดการเงินให้เป็น เพราะเงินไม่ใช่ว่าจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างดังที่เราคิดนั้นเอง

            ท้ายสุดของฝากคำกลอนข้อคิดไว้ดังนี้

อันวัวควาย ตายแล้ว เหลือเขาหนัง

อันช้างตายยัง เหลืองา เป็นศักดิ์ศรี

คนเรานี้ตายแล้ว เหลือไว้ แต่ชั่วดี

คุณความมดี ประดับไว้ ในโลกา

 

เมื่อเจ้ามา เจ้ามีอะไร มากับเจ้า

เจ้าจะมัว โลภมาก ไปถึงไหน

เวลาตาย ไม่เห็น เอาอะไรไป

ติดตามได้ แต่บาปบุญ ของคุณเอง

 

พรรณไม้ดอกแม้โตได้วันละนิด

ยังความงามพาจิตใจให้สดใส

ก่อนเหี่ยวแห้งหมู่ภมรได้ชื่นใจ

ดูดเกสรบินร่อนไปเลี้ยงรวงรัง

 

อันมนุษย์ เกิดมาอยู่ คู่กับโลก

มีสุขทุกข์โศก โรคภัย ตายแล้วเผา

ก่อนจะดับ ลับโลกไป เพราะมัจจุราชมารับเอา

ท่านเราและเขาควรปลูกฝังความดีไว้ให้โลกชม

 

เงินกับงาน การศึกษา ต้องหาก่อน

อย่ารีบร้อนหารัก งานจักเสีย

ขาดเงินขาดงาน พาลขาดเมีย

งานไม่เสีย เมียคงมี เงินคงมา

 

สวัสดี ขอให้โชคดี มี Money ใช้

สุขกาย สุขใจ ไร้ร้าย และโควิด-19

ไปจนตลอด ทุกภพ ทุกชาติ เทอญ

 

 

แหล่งที่มาข้อมูล

https://bit.ly/2ZPTFQx

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=15&p=8

https://www.gotoknow.org/posts/683340

 

 

หมายเลขบันทึก: 692671เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2021 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2021 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท