@ หนองหินเตาปูน.....


เก็บเอาวิถีของคนพื้นนี้"ฅนพานต๋าย"มาเล่าผ่านบันทึก การได้นำเอานโยบายลงไปสู่การปฏิบัติถือเป็นบทบาทและภารกิจหลัก และอบอุ่นใจในทุกครั้งที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ไม่เพียงแต่จะทำให้งานสำเร็จแต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือ"มิตรภาพ"และ"ความสุข"ที่เราจะได้รับไปด้วยกัน ณ ที่นี่ @ หนองหินเตาปูน ขอขอบคุณดาราประจำถิ่นทุกท่าน ขอบคุณพื้นที่ออนไลน์แห่งนี้ G2K ที่ได้เก็บเรื่องราวเหล่านี้เพื่อส่งต่อไปยังผู้อ่านทุกๆ ท่านด้วยนะคร้าบ!!!!

                                                    -เริ่มการลงไปปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2560 นี้ ผมมีนัดกับสมาชิก"กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองหินเตาปูน"หมู่ที่ 11 ตำบลพรานกระต่าย เพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการประจำปีงบประมาณ 2561 กับ"โครงการส่งเสริมเคหกิจเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน"ซึ่งปีก่อนได้ดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่ตำบลวังควง ตามบันทึกนี้ ความมั่นคงทางอาหารของฅนลานทอง. และ มั่นคงทางอาหารแบบ "Farm Women Group.. และปีนี้อำเภอพรานกระต่ายก็ยังได้ดำเนินการขยายผลมาดำเนินการต่อ ณ ที่นี่ @หนองหินเตาปูน ว่าแต่กิจกรรมจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง พร้อมแล้วตามผมไปชมพร้อมๆ กันได้แล้วคร้าบ!!!!!

1.สวัสดีเช้านี้ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ตำบลพรานกระต่าย ครับ...เราถือเอาที่นี่เป็นที่ทำการกลุ่มแบบชั่วคราวก่อน เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นในการรวมตัวกันของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองหินเตาปูนครับ และด้วยการผลักดันของผู้นำหมู่บ้านรุ่นใหม่ไฟแรง "ผู้ใหญ่เกศริน เพ็ชรรักษ์"หรือ"ผู้ใหญ่ปุ้ม"ที่เข้ามารับบทบาทผู้นำหมู่บ้านในวัย 30 กว่าๆ แบบนี้ทำให้การประสานงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและเกิดการพัฒนาหมู่บ้านได้เป็นอย่างน่าชื่นชมมากๆ เลยล่ะครับ..

2.และนี่ก็คือ"ผู้ใหญ่ปุ้ม(เสื้อสีเทา) ผู้นำของบ้านหนองหินเตาปูนครับ...หลังจากได้รับหน้าที่ในการเป็นผู้นำเพียงไม่นาน แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถพัฒนาตัวเองได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ของหมู่บ้าน การเชื่อมประสานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งภารกิจเหล่านี้ต้องอาศัยความคล่องตัวในการทำงาน แต่ด้วยการที่มีทีมงานผู้ช่วยที่เข้มแข็งและช่วยแบ่งเบาภารกิจบางอย่างได้ ดังนั้นจึงทำให้การทำงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีครับ ดังเช่นกับวันนี้ที่ผู้ใหญ่ได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำได้อย่างดีเยี่ยม โดยมี"นายวีรวุฒิ  วุ่นอภัย เกษตรอำเภอพรานกระต่าย"และ"เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานระดับจังหวัด"มาร่วมกิจกรรมพร้อมกับชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการฯให้กับสมาชิกกลุ่มได้รับทราบและถือปฏิบัติตลอดระยะเวลการดำเนินงานโครงการในปีนี้ด้วยล่ะครับ...

3.สำหรับวัตถุประสงค์การดำเนินงานโครงการนั้น เกิดจากปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ที่ได้กลายเป็นปัญหาใหม่ที่หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติ(FAO)ได้ระบุว่าความมั่นคงด้านอาหารครอบคลุมถึงการที่ประชาชนมีปริมาณอาหารเพื่อการบริโภคที่เพียงพอ มีความหลากหลายของประเภทอาหารที่ได้รับในคุณภาพที่เหมาะสม จากสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารและความปลอดภัย ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะทุพโภชนาการและโภชนาการเกินและในอนาคตมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการที่เราจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาส่งต่อให้กับพี่น้องในชุมชนของเราได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงได้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมนี้ขึ้นมา ซึ่งการสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ประเภทของอาหาร และการจัดทำแผนที่ทรัพยากรของหมู่บ้านจึงมีความสำคัญที่สมาชิกกลุ่มและต้องรับรู้และช่วยกันประเมิน ดังนั้นจึงได้เกิดกระบวนการแบ่งกลุ่มเพื่อค้นหาข้อมูลและนำข้อมูลมานำเสนอพร้อมกับช่วยกันวิเคราะหฺ์ศักยภาพของการผลิตอาหารให้มีความเพียงพอในการดำรงชีพ โดยทั้งนี้ต้องอาศัยความพร้อมของชุมชนและต้องมีการสร้างความสมดุลของการผลิตอาหารได้อย่างสอดคล้องกับวิถีของชุมชนในท้องถิ่นนี้ด้วยจึงจะสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างยั่งยืนครับ....

4.หลังจากได้ร่วมกันสืบค้นข้อมูลด้านแหล่งผลิตอาหาร ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่แล้ว สิ่งที่ผมนำเสนอต่อไปนั้นก็คือ การรักษาแหล่งอาหารของพื้นถิ่นเอาไว้ให้มากที่สุดครับ โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้านที่นับวันสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะถูกลบเลืิอนไป ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ด้วยวิถีของการกินอยู่ของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป และขาดการส่งต่อการกินอยู่แบบรุ่นต่อรุ่นไปยังชนรุ่นหลัง ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้คงจะต้องถูกนำออกมาพูดคุยกันและนำเอาวิถีแห่งการกินอยู่แบบเก่าก่อนมาถ่ายทอดต่อ และวันนี้ผมก็ได้รู้จักพืชผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่คนพื้นนี้เรียกว่า"ผักกะตัง"ครับ และนี่ก็ถือเพียงตัวอย่างเดียวที่เราได้พบเจอในการค้นหาข้อมูลในพื้นที่ และนำเอาพืชผักพื้นบ้านเหล่านี้มาสร้างเสริมและเพิ่มศักยภาพการสร้างความมั่นคงทางอาหารและผมเชื่อว่ายังมีพืชผักพื้นบ้านอีกหลายชนิดที่ยังคงซุกซ่อนอยู่และรอการนำเสนอออกมาให้เราได้รู้จักและช่วยกันอนุรักษ์กันต่อไปครับ...

5.ใช้เวลาในการจัดกระบวนการต่างๆ หมดไปอย่างรวดเร็วครับ แต่สิ่งที่ได้ก็นับว่ามีความสำคัญและสามารถต่อยอดได้ในการสร้างแหล่งอาหารในชุมชน และเมื่อได้เวลาอาหารกลางวัน มื้อนี้เราก็ได้รับประทานอาหารร่วมกันครับ..โดยเรามีข้อตกลงกันว่าในการอบรมครั้งหน้าวันที่ 25 ธันวาคม 2560 เราจะนำเอาผักพื้นบ้านมาปรุงเป็นเมนูรับประทานร่วมกัน ซึ่งขอให้ผู้อ่านได้รอติดตามชมกันในบันทึกหน้าก็แล้วกันนะคร้าบ 55555

6.ในช่วงบ่ายๆ ทีมงานของเราก็ได้ออกไปติดตามสมาชิกกลุ่มที่สมัครเข้าร่วมเป็น"บ้านตัวอย่าง"กันครับ ซึ่งมีเป้าหมาย 5 หลังคาเรือน ในการสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกกลุ่มและผู่ที่สนใจครับ โดยหลังแรกที่ไปก็คือบ้านของนางเฉลา แผ่ทอง ซึ่งกำลังเพาะต้นกล้าพริกสำหรับนำไปปลูก และหลังที่ 2 บ้านของนางอรวิภา แผ่ทอง โดยแปลงที่ผลิตพืชผักจะอยู่ในอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองครับ แต่สิ่งที่ได้เห็นก็คือ"รูปภาพ"ที่"พี่อรวิภา"ได้เอาออกมาให้เราได้ชมกันครับ...เดี๋ยวตามผมไปเก็บข้อมูลบ้านหลังต่อไปพร้อมๆ กันได้เลยครับ..

7.บ้านหลังที่ 3 เป็นของนางสมการ  พลากร บ้านหลังนี้มีกิจกรรมการเกษตรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงหมู การปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่ง"พี่สมการ"ได้เล่าให้ผมฟังว่าได้แผ้วถางพื้นที่ในบริเวณข้างบ้านปรับเป็นพื้นที่ปลูกผัก และได้เก็บเอาพืชผักเหล่านั้นมาบริโภคในครัวเรือนหากมีมากก็แบ่งให้เพื่อนบ้านและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งครับ ขอบอกว่าบ้านหลังนี้มีกิจกรรมที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากทีเดียวครับ..

8.บ้านหลังที่ 4 เป็นบ้านของ"นางทองมั่น โมลาลาย"ครับ หลังนี้มีเทคนิคในการปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสม มีการแก้ปัญหาด้านดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการก่ออิฐบล๊อคขึ้นมาแล้วนำดินมาใส่ให้เต็ม ปรุงดินให้ดีด้วยปุ๋ยคอก แล้วก็ปลูกพืชผักได้แล้วล่ะครับ นอกจากนี้ยังมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วพื้นบ้านเอาไว้อีกด้วย เห็นแบบนี้แล้วต้องบอกว่าเยี่ยมมากๆ เลยล่ะคร้าบ...

9.หลังสุดท้าย หลังที่ 5 เป็นของ"ป้าบุญนาค คชพล"ครับ ครอบครัวนี้มีความน่าสนใจไม่แพ้กันครับ มีการปรับพื้นที่ปลูกผักหลายแปลง เท่าที่ได้ข้อมูลมา"ป้าบุญนาค"บอกกับผมว่าจะปลูกผักในฤดูแล้งเพราะหากเป็นฤดูฝนน้ำจะท่วมพื้นที่ ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงของการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารด้วยการปลูกพืชผักและหว่านถั่วเขียวด้วยล่ะครับ...และที่น่าประทับใจมากๆ นั่นก็คือที่เราเห็นพืชผักงอกงามดีนั้น "ป้าบุญนาค"ได้เปิดเพลงให้ผักฟังด้วยล่ะครับ 5555 วิทยุที่ถูกแขวนเอาไว้ตรงหน้าต่างบ้านเพียงได้เห็นเราก็รู้สึกได้ถึง"ความสุข"แล้วล่ะครับ...

10.และนี่ก็คือกิจกรรมที่ได้เราได้เข้าไปปฏิบัติภารกิจในวันนี้ครับ กิจกรรมต่างๆ ยังคงต้องดำเนินต่อไปและเรามาช่วยกันลุ้นและให้กำลังใจกับสมาชิกบ้านตัวอย่างทั้ง 5 หลัง ที่จะต้องถูกประเมินโดยสมาชิกกลุ่มเพื่อให้รางวัลครับ ถือเป็นเพียงก้าวแรกของการดำเนินงานแต่สิ่งที่ได้ค้นพบจากชุมชนแห่งนี้มีมากมายเหลือเกินครับ และผมเชื่อว่ายังมีสิ่งดี ดี ที่ซ่อนอยู่อีกมากทีเดียว เอาไว้จะเก็บข้อมูลและนำเสนอผ่านบันทึก เอาเป็นว่าอย่าลืมติดตามและให้กำลังใจสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและทีมงานผู้นำพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ @หนองหินเตาปูน ด้วยนะคร้าบ!!!!

  สำหรับวันนี้.....

                                                                         สวัสดีครับ

                                                                          เพชรน้ำหนึ่ง

                                                                           18/12/2560

คำสำคัญ (Tags): #ความมั่นคงทางอาหาร#กรมส่งเสริมการเกษตร#โครงการส่งเสริมเคหกิจเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชน#บุญส่ง จอมดวง#เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร#นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ#เกษตรตำบล#เกศริน เพ็ชรรักษ์#ผู้ใหญ่บ้าน#บ้านหนองหินเตาปูน#ตำบลพรานกระต่าย#อำเภอพรานกระต่าย#จังหวัดกำแพงเพชร#วีรวุฒิ วุ่นอภัย#สำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย#สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร#ความสุข#เศรษฐกิจพอเพียง#กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร#แผนที่ทรัพยากร#ผักกะตัง#อนุรักษ์ผักพื้นบ้าน#ผักพื้นบ้าน#อาหารพื้นบ้าน#ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน#ที่ทำการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร#Change to the Best#MRCF#T&V Satem#T&V#gotoknow#การจัดการความรู้#km#บ้านตัวอย่าง
หมายเลขบันทึก: 643416เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2017 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

หวัดดีน้องเพชร

ชอบใจเทคนิคการเปิดเพลงให้ผักฟัง

ของป้าบุญนาค นะจ๊ะ  เอ๊ะ !  สงสัยต้องเอาไปใช้บ้างแล้ว

ไม่รู้ว่าป้าจะสงวนลิขสิทธิ์หรือเปล่านะจ๊ะ ๕๕๕


กิจกรรมน่าสนใจมาก

ผมทึ่งผู้ใหญ่อายุไม่มากเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

  • "วิถีของการกินอยู่ของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป และขาดการส่งต่อการกินอยู่แบบรุ่นต่อรุ่นไปยังชนรุ่นหลัง ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้คงจะต้องถูกนำออกมาพูดคุยกันและนำเอาวิถีแห่งการกินอยู่แบบเก่าก่อนมาถ่ายทอดต่อ" ชอบแนวคิดและกิจกรรมนี้มากครับ
  • ชีวิตกับงาน ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว เรื่องเดียวกัน..อย่างนี้ทำงานอย่างมีความสุขแน่ๆ..
  • </ul>

ชอบใจการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านและนำมาใช้ประกอบการอบรมได้ครับ

-สวัสดีครับพี่ครูมะเดื่อ

-คิดว่าเทคนิคนี้ป้าเค้าคงไม่หวงนะครับ 55

-ดูพี่ครูก็งานเยอะเหมือนกันนะครับ

-ขอเป็นกำลังใจให้

-ขอบคุณที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจบันทึกนี้ด้วยนะคร้าบ..

-สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

-กิจกรรมที่ได้การเรียนรู้ในวิถีของชุมชนครับ

-วิถีการกินอยู่แบบนี้คงต้องช่วยกันสืบสานต่อ

-ขอบคุณที่มาเยี่ยมบันทึกนี้ตั้ง 2 รอบ 55

-ด้วยความขอบคุณจากใจ อิๆ

-ขอบคุณคร้าบ...

-สวัสดีครับครูธนิตย์

-ยินดีที่ได้นำเอาวิถีการเป็นอยู่ของคนพรานกระต่ายมาบันทึกเอาไว้ครับ

-สิ่งต่างๆที่ได้ขีดเขียนจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อได้สัมผัสและซึมซับ

-ขอบคุณครูที่มาช่วยให้กำลังใจกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองหินเตาปูนด้วยนะครับ

-หมู่บ้านนี้ครูคงจะคุ้นหูดีใช่หรือเปล่าครับ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท