ครั้งหนึ่งในชีวิตกับภารกิจออกหน่วยฯในดินแดนพุทธภูมิ ตอน "พุทธคยา (Bodhgaya) สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้"


พุทธคยา (Bodhgaya) สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้

หลังจากเขียนบันทึก ครั้งหนึ่งในชีวิตกับภารกิจออกหน่วยฯในดินแดนพุทธภูมิ ตอน "ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติกาล"

เขียนค้างไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม แหะๆ ลืมไปเลยค่ะ มานึกขึ้นได้ก็ อ้าววว ยังเขียนไม่จบนี่นา ขอเล่าต่อเลยนะคะ

ระหว่างที่เราได้ไปปฏิบัติภารกิจ ดูแลผู้แสวงบุญ ทีมเราได้ลงที่รพ.พระพุทธเจ้า ซึ่งอยู่ในวัดไทยพุทธคยา ระยะเวลา 2 สัปดาห์ แม้ว่าเราจะเปิดโรงพยาบาลทุกวันไม่มีวันหยุด แต่เนื่องจากระยะทางระหว่างโรงพยาบาลและพุทธคยานั้นไม่ไกลมาก หลังเลิกงานมีเวลาว่างเมื่อไหร่เราก็มักจะเดินไปเติมพลังที่พุทธคยาเสมอๆค่ะ 


พุทธคยา ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธ ทั่วโลก เป็นศูนย์รวมของการจาริกแสวงบุญจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วโลก รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั่วโลก พุทธคยาเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ คือสถานที่ตรัสรู้ของ พระพุทธเจ้า ในอาณาบริเวณพุทธคยาจะมีวัดชาวพุทธเป็นจำ นวน มากร่วมทั้งประเทศไทย 

พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติเหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ

ภาพภายในเจดีย์ (พุทธคยา) ที่เห็นข้างในคือพระพุทธเมตตา  

ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "พระมหาโพธิเจดีย์" อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก

การกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ เอกลักษณ์ของพุทธทิเบต

ต้นโพธิ์ที่สืบมาจากหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา

บริเวณพื้นที่พุทธคยานั้นเป็น สัตตมหาสถาน หมายถึง สถานที่เสวยวิมุตติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ พุทธคยา แล้ว โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ ๑ : “พระแท่นวัชรอาสน์”

พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งสมาธิที่ “พระแท่นวัชรอาสน์” หรือโพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตลอด ๗ วัน พระองค์ได้ทรงกำหนดนึกในพระหทัยเพื่อพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาทแบบตามลำดับตลอดปฐมยามแห่งราตรีนั้น แล้วมีพุทธอุทานว่า “ในการใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ”

ในเวลากลางคืน ทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาทแบบย้อนตามลำดับ คือ พิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า “ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”

ในปัจฉิมยาม ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งแบบตามลำดับและย้อนตามลำดับแล้วมีพุทธอุทานว่า “ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น”

“พระแท่นวัชรอาสน์” มีลักษณะเป็นแท่นหินสี่เหลี่ยมขนาดยาว ๗ ฟุต ๖ นิ้ว กว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว หนา ๑ ฟุตครึ่ง และสูง ๓ ฟุต สลักด้วยหินทรายวางอยู่บนฐานที่ฉาบไว้ด้วยปูน บนพื้นผิวแกะสลักเหมือนถักหินเป็นดาวสี่แฉก มีบางท่านมองว่าคล้ายเป็นเพชรที่เจียระไนแล้ว มีซีกประดับอยู่ในเรือนแหวน ด้านข้างทั้งสี่ด้านแกะสลักเป็นศิลปะคล้ายดอกบัวกับพญาหงส์แบบโบราณ และรูปดอกไม้ นับเป็นศิลปกรรมแบบฉบับที่ดีเลิศ พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้ทรงดำริให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่รองรับเครื่องสักการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่แต่ละครั้งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังเป็นจำนวนมากมาย โคนต้นไม้ที่เห็นในภาพนื้ คือ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อรักษาคุ้มครองพระแท่นและต้นพระศรีมหาโพธิ์ให้ปลอดภัยจากการสัมผัสจับต้องของผู้เข้าชม ที่ผ่านมาเป็นจำนวนมากไม่ขาดสายในแต่ละวัน ทางการจึงสร้างกำแพงล้อมต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นไว้ดั่งที่เห็นในภาพ กำแพงนี้ถูกตกแต่งด้วยพวงมาลัย ผ้าสีต่างๆ และสายธงทิวต่างๆ ที่ชาวพุทธนำมาบูชาผูกไว้รอบกำแพง จนผู้ชมเดินรอบฐานพระมหาเจดีย์พุทธคยาไม่สามารถมองเห็นพระแท่นได้ในระดับสายตา

สัปดาห์ที่ ๒ : “อนิมิสเจดีย์”

พระพุทธองค์ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้ประทับตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เพื่อทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทรงพอพระทัยในการตรัสรู้นี้เป็นอย่างยิ่ง 

 “อนิมิสเจดีย์” 

สัปดาห์ที่ ๓ : “รัตนจงกรมเจดีย์”

พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน ตรงระหว่างกลางแห่ง “อนิมิสเจดีย์” กับ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ทางด้านทิศเหนือของวิหารมหาโพธิสังฆาราม พุทธคยา สถานที่ตรงนั้นได้ก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุตจากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธเจ้า 

สัปดาห์ที่ ๔ : “รัตนฆรเจดีย์”

เทวดาได้เนรมิต “เรือนแก้ว” ขึ้นทางด้านทิศเหนือของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสด็จไปประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอดเวลา ๗ วัน 

ตรงนี้ไม่ได้ถ่ายรูปไว้เลยค่ะ แหะๆ

สัปดาห์ที่ ๕ : “ต้นไทรอชปาลนิโครธ”

พระพุทธองค์ทรงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยัง “ต้นไทรอชปาลนิโครธ” หรือต้นไทรของผู้เลี้ยงแพะประทับอยู่ ๗ วัน ขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามาร ๓ ตน คือ นางราคะ นางอรตี และนางตัณหา ได้อาสาผู้เป็นบิดาเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ไปเสีย แสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก

สัปดาห์ที่ ๖ : “ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก)”

พระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นมุจลินท์ ริมสระมุจลินท์ (มุจลินท์ เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง คือ ไม้จิก ในปัจจุบันทั้ง “สระมุจลินท์” และ “ต้นมุจลินท์” ไม่มีให้เห็นแล้ว มีเพียงแต่ “สระมุจลินท์จำลอง” ที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารมหาโพธิสังฆาราม พุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระมุจลินท์ดั้งเดิม) ด้วยเพราะมีต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระ จึงเรียกชื่อสระแห่งนั้นว่า สระมุจลินท์ หรือสระราชาแห่งต้นมุจละ

บริเวณทางลงสระมุจลินทร์จำลอง

เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ ตลอด ๗ วันที่ใต้ต้นไทรอชปาลนิโครธแล้ว ก็ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว เป็นฝนหลงฤดู ฝนตกพรำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน ร้อนถึง “พญานาค” ซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ต้องขึ้นมาขดตัว ๗ รอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก) ครั้นฝนหาย ฟ้าสางแล้วพญานาคจึงคลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ พระพุทธองค์จึงได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจ ดังนี้ 

“ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง”

สัปดาห์ที่ ๗ : “ต้นราชายตนะ (ต้นเกด)”

ในสัปดาห์ที่ ๗ สัปดาห์สุดท้ายหลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด หรือต้นไม้ที่อยู่แห่งพระราชา) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาอีก ๗ วัน แล้วจึงทรงออกจากฌานสมาบัติหรือสมาธิ ท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่านับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน มิได้เสวยภัตตาหารเลย จึงนำไม้สีพระทนต์ ชื่อ “นาคลดา” พร้อมน้ำจากสระอโนดาต และผลสมออันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาน้อมถวายในตอนเช้าของวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ หรือเดือนอาสาฬหะ พระพุทธองค์ได้ทรงใช้ไม้สีพระทนต์ บ้วนพระโอษฐ์ สรงพระพักตร์ด้วยน้ำจากสระอโนดาตที่ท้าวสักกเทวราชน้อมถวาย รวมทั้งทรงเสวยผลสมอ

Cr:ขอบคุณข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสัตตมหาสถาน สถานที่เสวยวิมุตติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง จากเวบลานธรรมจักร ด้วยค่ะ

เนื่องด้วยครั้งนี้ไม่ได้ไปแสวงบุญ แต่เป็นการไปออกหน่วยดูแลผู้แสวงบุญ และมีโอกาสหลังปิดรพ.จึงได้มากราบสักการะสังเวชนียสถานครบทั้ง 4 แห่ง อาจเก็บภาพสำคัญๆมาได้ไม่ครบค่ะ แหะๆ และนอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้ไปสถานที่บำเพ็ญทุกระกิริยาของเจ้าชายสิทธัตถะ อีกด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่คาดฝันมาก่อน จะขอเล่าในบันทึกต่อไปนะคะ 

ปล.ขออภัยที่มาเล่าต่อจากตอนที่แล้วช้ามาก ขอสารภาพว่าลืมไปเลย เข้าใจว่าเขียนบันทึกครบแล้ว แหะๆ มาเปิดดูอีกที อ้าว เพิ่งได้แค่สถานที่ประสูติกาลเอง ตกใจเลย 


หมายเลขบันทึก: 635844เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2017 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2017 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

?อนุโมทนาสาธุขอรับ

รายละเอียดชัดเจนมากครับ ;)...

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะคุณ นะโม สาธุค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณWasawat Deemarn

รายละเอียดจริงๆจำได้ไม่หมดค่ะ เครดิตรายละเอียดให้เวปลานธรรมจักร และข้อมูลที่พระอาจารย์ได้เล่าให้ฟังด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท