(ตามทฤษฎีพฤติกรรมสุขภาพ) เราหรือใคร ก็ล้วนไม่ต่าง


ได้เล่าถึง 3 ทฤษฎีพฤติกรรมสุขภาพไปแล้ว อาจมีข้อสงสัยว่า จะออกกำลังกาย หรือจะชวนใครสักคนออกกำลังกาย ทำไมต้องทราบถึงเรื่องเหล่านี้

ที่ราควรทราบก็เพื่อที่จะเข้าใจเขา เห็นใจเขา เพื่อที่เราจะได้ไม่ท้อถอยในการสนับสนุนเขา เพื่อที่จะเข้าใจตัวเราเอง ว่าทำไมเราจึงมีพฤติกรรมสุขภาพอย่างที่เป็น ทำไมเราจึงไม่เปลี่ยนพฤติกรรม หรือทำไมเราจึงรักการออกกำลังกายเป็นอย่างมาก และเพื่อจะทราบว่า การที่แต่ละคนมีพฤติกรรมตามที่เห็น มีวิธีใดบ้างที่จะส่งเสริมให้มีการเริ่มต้น จูงใจให้ทำ กระทั่งให้ยึดมั่นการออกกำลังกายในที่สุดนั่นเองค่ะ

ในทฤษฎีแบบแผนความเชื่อเรื่องสุขภาพ (Health Belief Model) บอกเราว่าถ้าปัจจัยต่างๆที่รวมกันเข้ายังไม่สุกงอมพอ คนเราก็จะไม่เริ่มต้นพฤติกรรมสุขภาพ ไม่เริ่มต้นออกกำลังกาย ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) ทำให้เราเข้าใจว่าแม้เขาจะเริ่มต้นออกกำลังกายแล้ว อะไรทำให้เขารู้ความสามารถของตนเองจนมีความเชื่อมั่น อันทำให้ออกกำลังกายได้ตามโปรแกรมออกกำลังกายจนเป็นผลสำเร็จ ส่วนทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Stage of Change Model) แสดงสาระว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ

โดยในทฤษฏีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นอกจากจะแบ่งพฤติกรรมการออกกำลังกายเป็นขั้นๆตามที่เล่าไปแล้ว ยังบอกเราว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ขั้นที่สูงกว่า ต้องอาศัยการตัดสินใจ สภาพจิตใจ ความพร้อม และ แรงจูงใจของแต่ละคน ต้องมีการรับรู้ความสามารถของตนเอง ต้องมีสมดุลการตัดสินใจ ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ซึ่งก็คือ ทฤษฎีนี้ใช้ทั้งสองทฤษฎีข้างต้นมาเป็นองค์ประกอบด้วย

ลองพิจารณาดูนะคะ ว่าทั้ง 3 ทฤษฎี อธิบายพฤติกรรมสุขภาพของบุคคลเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง


คุณ ก. อายุ 40 ปี มีลูกเล็กๆ 2 คน ตอนกลางคืนพอลูกๆหลับเขาก็มักออกไปสังสรรค์กับเพื่อน หรือไม่ก็ดูซีดี มักเข้านอนตอนตีสองหรือกว่านั้น เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการเขาจึงสามารถตื่นสายได้ คุณ ก. ไม่ออกกำลังกาย

วันหนึ่งเขาลองวิ่งในสวนสาธารณะ ปรากฏว่าวิ่งไปได้สัก 400 เมตร ก็เหนื่อย หอบจนต้องทรุดตัวลงนั่ง คุณ ก. ตกใจ ว่าทำไมจึงอ่อนแอได้ขนาดนี้ ทั้งๆที่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เขาเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลของคณะ

คุณ ก. คิดถึงลูกๆที่ยังเล็ก ว่าถ้าเขาเป็นอะไรไป ลูกๆจะเป็นอยู่อย่างไร เขาจึงเริ่มต้นออกกำลังกายในวันต่อมา

ซึ่งก็คือปัจจัยทั้งหมดในทฤษฎีแบบแผนความเชื่อเรื่องสุขภาพ ( รู้ความรุนแรงของภัย, รู้ผลของการที่ร่างกายอ่อนแอ, รู้ข้อมูลสุขภาพหรือได้รับการบอกเล่า และ ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย) สุกงอมจนส่งผล คุณ ก. จึงเริ่มต้นออกกำลังกาย และประสบการณ์เดิมตามทฤษฎีการรับรู้ความสามารถของตนเองทำให้ คุณ ก. ทราบว่าเขาทำอะไรได้บ้าง เขาเชื่อว่าเขาทำได้ เมื่อเชื่อว่าทำได้ คุณ ก.ก็จะมีความพยายามจนทำได้ในที่สุด

คุณ ข. เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน แม้จะทราบว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยให้ฟื้นตัวได้ แพทย์ได้แนะนำอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดในขณะออกกำลังกายให้ คือการที่สามารถออกกำลังกายให้หัวใจเต้นได้ไม่เกินกี่ครั้งต่อนาทีในขณะทำกิจกรรม แต่คุณ ข. ก็ยังไม่มีพฤติกรรมออกกำลังกาย

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะลูกๆคุณ ข. โตกันหมดแล้ว ต่างมีงานทำกันแล้ว คุณ ข. จึงไม่มีความกังวลในเรื่องลูกๆ และคงเป็นเพราะลูกๆต่างก็แยกย้ายกันไปสร้างครอบครัวของตนเองประกอบกับภรรยาคุณ ข. ก็ทำงานในอีกจังหวัดหนึ่ง คุณ ข. จึงค่อนข้างขาดแรงจูงใจในการที่จะดูแลตัวเองเพื่อคนในครอบครัว จึงเห็นว่าความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ก็เกิดแต่กับตนเองเพียงลำพัง (ไม่เห็นผลกระทบที่ร้ายแรงจากโรคภัยที่เป็นอยู่) อีกทั้งมักรู้สึกอ่อนเพลีย (การรับรู้ภาวะทางกาย) จึงทำให้เชื่อว่าเขาคงไม่สามารถทำอะไรได้ถ้าร่างกายเป็นอย่างนี้ (การประเมินความรู้สึกตนเอง) อีกทั้งเวลาเดินมากๆ คุณ ข. จะปวดขามาก จึงไม่ใคร่อยากเดินหรือออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ (ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย)คุณ ข. จึงยังไม่เริ่มต้นออกกำลังกาย

ทฤษฎีต่างๆเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของแต่ละคน ไม่ตัดสินเขาด้วยคำตำหนิ ไม่สงสัยว่าทำไมเขาจึงไม่เห็นภัยของโรคจนไม่เริ่มต้นดูแลตนเอง จนตัวเราเองอาจละเลยความรู้สึกของเขาหรือไม่ใส่ใจอาการโรคของเขาตามมา เพราะยิ่งตำหนิ ยิ่งไม่ใส่ใจ สถานการณ์สุขภาพของเขาก็จะยิ่งเลวร้าย

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพเป็นเรื่องซับซ้อนมากค่ะ ขอเล่าต่อในคราวหน้านะคะ

หมายเลขบันทึก: 628466เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2017 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2017 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท