มหาวิทยาลัย oversupply! ... (วินทร์ เลียววาริณ)



มหาวิทยาลัย oversupply!


ปลายปีก่อน ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เขียนบทความเรื่อง 'อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวตกงาน' (ผู้จัดการ 28 ธันวาคม 2559) น่าสนใจ

บทความพูดถึงมหาวิทยาลัยจำนวนมากในเมืองไทยต้องทยอยปิดตัว หรือลดขนาด หรือลดจำนวนอาจารย์ เพราะไม่สามารถหานักศึกษามาเรียนได้ บางที่ต้องดิ้นรนหานักศึกษาจากต่างประเทศเช่น จีนมาเรียน เพราะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนไม่ได้ ก็มาเรียนในเมืองไทย

เหตุผลเพราะเรามีมหาวิทยาลัยมากเกินไป มากถึงสามร้อยกว่าแห่ง! เพราะสถาบันอะไรก็ตาม ล้วนอยากมีคำนำหน้าว่า 'มหาวิทยาลัย'

อ่านแล้วกลุ้ม แต่ไม่แปลกใจ

เมื่อจำนวนมหาวิทยาลัย oversupply สถาบันก็ต้องทำทุกอย่างให้อยู่รอด เพราะจำนวนมากเปิดมาเพื่อธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยแต่อย่างไร

ส่วนหนึ่งของบทความเขียนว่า "ปัญหาหลักคือท้ายที่สุดจำนวนมหาวิทยาลัยก็ต้องลดลงไป และจำนวนอาจารย์ที่ต้องออกจากงานคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยไม่มีนักศึกษาให้สอนอีกต่อไป บางภาควิชา บางคณะ จำเป็นต้องถูกยุบ เนื่องจากไม่มีเงินพอ และไม่มีนักศึกษา อันที่จริงก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เป็นเช่นนั้น สาขาวิชาบางวิชาที่ไม่มีนักเรียนสนใจจะเรียนไม่สร้างรายได้ก็มีความจำเป็น และสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจริง ๆ ในขณะที่บางสาขาไม่มีความต้องการและความจำเป็นมากก็ควรต้องรับผลแห่งกรรมกันไป โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ของไทยที่มาผิดทางโดยตลอด เราเร่งกระบวนการสร้างคนแบบแดกด่วน โดยไม่ได้คำนึงถึงชาติเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาในเวลานี้

อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด บางคนทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ไม่มีนักศึกษาให้สอนก็ดิ้นรนจะต่ออายุราชการให้ตัวเองต่อ บางคนที่ไม่มีทางไปก็พยายามดิ้นรนหานักศึกษาเข้ามาเรียนให้มากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เหลืออยู่ต้องปรับตัว ทางเลือกหนึ่งคือให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานบริการวิชาการให้กับรัฐและเอกชน เพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยให้มากขึ้น แต่ก็พบปัญหาว่าหลายแห่งให้เอกชนเป็นคนทำแต่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยไปประมูลงาน ในภาครัฐและกินหัวคิวทั้งอาจารย์หัวหน้าโครงการและมหาวิทยาลัยแห่งนั้น เนื่องจากหากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าไปประมูลงานจะถือว่าเป็นสัญญาระหว่าง หน่วยราชการและใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้

ประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้วต้องการนวัตกรและนักวิจัยอีกจำนวนมาก ผม [ดร. อานนท์] เคยสนทนากับผู้บริหารบริษัทเอกชนจำนวนมากต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยผลิตงานวิจัยขึ้นหิ้ง ตีพิมพ์ในระดับนานาชาติกันมากมายแต่เอามาใช้งานจริงหรือนำมาประยุกต์ใช้ให้ ขายได้จริงในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) ได้น้อยมาก เรื่องเหล่านี้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะอยู่ต่อไปรอด คงต้องปรับตัวให้สามารถสร้างผลงานที่นำไปใช้ได้จริง ขายได้จริง เป็นประโยชน์ได้จริงมากขึ้นเช่นกัน แล้วรายได้จากงานบริการวิชาการและงานที่ปรึกษาจะเข้ามาหาตัวท่านเองและหน่วย งานของท่านอย่างไม่ขาดสายจนทำงานไม่ทัน และไม่มีแรงจะทำ

"ทางเลือกอีกทางที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจจะต้องปรับตัวคือ ต้องเน้นไปที่การศึกษาต่อเนื่องและการฝึกอบรมให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้ พัฒนาศักยภาพ ทักษะในการทำงาน ให้ได้ดีขึ้น ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ขายดีในการเป็นวิทยากรมีรายได้มาก ส่วนหนึ่งมาจากทักษะส่วนตัวในการพูดเก่ง มีความสามารถในการ entertain นักเรียน แต่ภาคเอกชนคงอยากได้วิทยากรเช่นนั้นลดลงไป ภาคเอกชนน่าจะอยากได้อาจารย์หรือวิทยากรที่วิเคราะห์ปัญหาในการทำงานของธุรกิจได้ทะลุ และนำโจทย์ปัญหานั้นมาออกแบบหลักสูตรในการพัฒนาคนให้มีทักษะความรู้ความ สามารถที่จะทำให้ปัญหาในการทำงาน การทำธุรกิจ ของหน่วยงานนั้นๆ ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ถึงจะคุ้มค่าเงินลงทุน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะไปเน้นเรื่องการเป็นวิทยากร การศึกษาต่อเนื่องก็คงต้องเก่งมากขึ้นเช่นเดียวกัน

"ในมหาวิทยาลัยนั้นมีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เลือกที่จะทำงานเพราะใจรักกับอีกพวกที่ไม่มีทางไป จริงๆ แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยคงต้องวางแผนชีวิตตนเองให้ดี ว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า ต่อให้ภาระงานสอนครบ ทำงานวิจัยตีพิมพ์ได้ครบ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่ามหาวิทยาลัยของท่านจะมีเงินมาจ้างท่านต่อไป ในเมื่อไม่มีนักศึกษาและขาดทุน มหาวิทยาลัยเองก็ใช่ว่าจะไปรอดได้ง่ายๆ"

เราคงต้องปรับตัวแก้ไขระบบอย่างมาก ก่อนที่จะเกิดภาวะล่มสลายในระดับอุดมศึกษา


.......................................................................................................................


เริ่มมีข่าวการไม่ต่อสัญญาอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลง และศักยภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้พัฒนา
ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ

ผมควรจะต้องกลับมามองตัวเองโดยด่วน

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...


.......................................................................................................................


หมายเลขบันทึก: 621327เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2017 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2017 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมรีบมองตัวโดยไว

มีความสามารถ

รีบออกมาก่อน

ทำงานของเราเอง

5555555

-สวัสดีครับครู

-ตามมาอ่าน...เรื่องของมหาวิทยาลัย

-คนนอก..อ่านแล้วได้ความรู้ดี ขอรับ อิๆ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท