อินเดีย : จุดบรรจบพบกันของสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก (2-166)



ระหว่างวันที่ 3-8 ธันวาคม 2558 ผู้เขียนได้ไปเยือนอินเดีย ร่วมกับคณะพี่ๆ ซึ่งมีทั้งท่านที่ยังทำงานอยู่ ที่เกษียณอายุแล้วบ้าง เกษียณอายุก่อน 60 ปีบ้าง โดยพี่ๆ เลือกสถานที่ที่ต้องการไปเยือน แล้วส่งให้กับบริษัททัวร์จัดโปรแกรมให้ ซึ่งสถานที่ที่เลือกคือ 1) ถ้ำ Elephanta ซึ่งอยู่ในนครมุมไบ 2) ถ้ำ Ajunta และ หมู่ถ้ำ Ellora เมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฎร์ 3) พุทธคยา เมืองปัตนะ รัฐพิหาร การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวตามใจ (ผู้อาวุโส) เช่นนี้มีข้อดีคือได้ไปเยือนเฉพาะในสถานที่ที่เราชอบและต้องการจริงๆ แต่ข้อเสียคือ ใช้เวลาในการเดินทางมากและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติ เพราะแต่ละสถานที่ที่เลือกอยู่ไกลกันคนละรัฐ ต้องบินด้วยเครื่องบินภายในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทริป 6 วันนี้ ได้เที่ยวจริงเพียง 4 วัน


วันแรกของการเดินทาง 3 ธค.58 : เครื่องดีเลย์ ไปถึงมุมไบก็ค่ำแล้ว ไปกินข้าวเย็นเมื่อ 3 ทุ่ม (เวลาอินเดียช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง) แล้วเข้าโรงแรมนอน เพราะวันรุ่งขึ้นต้องขึ้นเครื่องไปต่อที่เมืองออรังกาบัดตั้งแต่ตี 4 สำหรับถ้ำ Elephanta เป็นอันลาจากกันไปไม่ได้ไปเยือน (คราวหน้าก็แล้วกันนะ)

ที่สุวรรณภูมิ


วันที่ 4 ธค.58 : เป็นการเที่ยวที่สนุกมาก ตื่น ตี 3 ครึ่ง เพื่อไปขึ้นเครื่องไปเมืองออรังกาบัดตอน ตี 5.15 น. เข้าโรงแรมเก็บกระเป๋าแล้ว จึงนั่งรถโค้ชต่อไปอีก 2 ชั่วโมงเพื่อชม ถ้ำ Ajunta เป็นถ้ำที่สร้างในราวปี พ.ศ.350 โดยพระสงฆ์พุทธนิกายหินยาน เป็นผู้วางโครงสร้างและใช้แรงงานของชาวฮินดูที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ที่ได้รับการยกย่องและประกาศให้เป็นมรดกโลกนั้น จึงดูแปลกตาไปบ้างสำหรับคนไทยอย่างเรา ๆ เพราะมีกลิ่นอายของฮินดูมากกว่าพุทธแบบเถรวาท (หินยาน) ของไทย

ถ้ำ Ajunta


ถ้ำ Ajunta มี 30 ถ้ำ (เปิดให้เข้าชมเป็นบางถ้ำ) สร้างในปี พ.ศ.350 (กว่า 2,200 ปีมาแล้วจนปัจจุบัน พ.ศ.2558) เป็นที่สัปปายะสำหรับการปฏิบัติธรรมและไม่ไกลจากเส้นทางการค้าของชาวอาหรับมากนัก ภาพจิตรกรรมบอกเล่าถึงพุทธประวัติ ความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ ประวัติของกษัตริย์ที่มีคุณูปการต่อศาสนา การเข้ามาติดต่อค้าขายของชาติอาหรับ กรีก จีน ฯลฯ ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าของมนุษย์ที่ยังคงเหลืออยู่ ไม่แน่ชัดว่ามีการใช้ถ้ำนี้นานเท่าไร ไกด์บอกว่าแต่ละถ้ำใช้เวลาสร้างอย่างน้อย 50 ปี บางถ้ำใช้เวลามากกว่านั้น เล่ากันว่าเมื่อกองทัพมุสลิมเข้ามารุกรานอินเดีย ถ้ำนี้ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่ารกปกคลุมไปทั่ว ในปี พ.ศ.2362 ( ค.ศ.1819) นายทหารอังกฤษชื่อ จอห์น สมิธ ออกล่าสัตว์และบังเอิญได้พบถ้ำนี้ (ถ้ำที่เขาเห็นถ้ำแรกคือ ถ้ำหมายเลข 19 ในปัจจุบัน) จึงได้มีการบูรณะจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและได้รับการประกาศเป็น “มรดกโลก” แห่งแรกของอินเดีย

ถ้ำหมายเลข 19 ซึ่งเป็นถ้ำที่เป็นถ้ำแรกที่นายทหารอังกฤษชื่อ จอห์น สมิธ พบ



ที่ต้องบันทึกไว้คือ รัฐบาลอินเดียจัดเจ้าหน้าที่ประจำทุกถ้ำเพื่อดูแลทำความสะอาด แม้ถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่า (ผู้เขียนลืมใส่ถุงเท้า) เดินชมถ้ำ จนกลับโรงแรมเท้ายังไม่ดำเลย...ไม่น่าเชื่อ แต่จริง)



ช่วงบ่ายๆ กลับจากการชมถ้ำเราก็ไปเที่ยวนั่งรถชมเมือง ประชากรอินเดียมากมายจริงๆ ราว 1,200 ล้านคน (เป็นอันดับสองของโลก รองจากจีนที่มี กว่า 1,400 ล้านคน) สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ ขยะ ขอทาน ฝุ่น และบ้านที่สร้างไม่ (เคย) เสร็จ ผู้เขียนแปลกใจมากว่าทำไมเกือบทุกที่จะต้องมีบ้าน อาคารที่ดูเหมือนยังสร้างยังบูรณะซ่อมแซม ข้างฝาบ้านด้านนอกเห็นอิฐเป็นก้อนๆ ฯลฯ จนได้รับการชี้แจงจากพระอาจารย์มหาสมควร ซึ่งกรุณามาเป็นวิทยากรนำสักการะพุทธคยาให้คณะเราว่า ที่เห็นบ้านที่สร้างไม่เสร็จทั่วไปนั้น เพราะภาษีบ้านที่อยู่อาศัยแพงมาก คนอินเดียจึงเลี่ยงด้วยการสร้างไม่เสร็จ เช่น ทิ้งฝาบ้านข้างหนึ่งไว้ ไม่โบกปูนทาสีให้เรียบร้อย เป็นต้น แล้วนี่รัฐบาลอินเดียเขาไม่รู้ปัญหานี้หรือไรหนอ ปล่อยให้บ้านเรือนชาวบ้านค้างคา สร้างไม่เสร็จ ไม่สวยงามเลย


บ้านในชนบทส่วนใหญ่ สร้างไม่(เคย)เสร็จ เพราะภาษีบ้านพักแพงเกินไป



เด็กๆ มากระโดดเชือกให้ชม(เพื่อร้องขอเงิน) ที่เห็นชัดเกือบทุกที่ คือ ขยะที่มีอยู่ทุกแห่ง


วันที่ 5 ธค.58 : วันนี้ไปเที่ยวหมู่ถ้ำ Ellora และป้อมเดาลาตาบัด ที่เรียกว่า “หมู่ถ้ำ Ellora” เพราะเป็นถ้ำของ 3 ศาสนา คือ พุทธ เชน และฮินดู ถ้ำหมายเลข 1-12 เป็นถ้ำของศาสนาพุทธ 14-16 เป็นเทวาลัยของฮินดู และ 30-32 เป็นถ้ำของศาสนาเชน (ถ้ำหมายเลขอื่นๆ ไม่ได้ระบุและไม่ได้เปิดให้เข้าชม) หมู่ถ้ำ Ellora นี้สร้างราว ศตวรรษที่ 5 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1983 เป็นถ้ำที่งดงามและสมบูรณ์ ต่างจากถ้ำ Ajunta เพราะไม่เคยถูกทิ้งร้าง มีการก่อสร้างดูแลบำรุงรักษาต่อเนื่องตลอดมา ที่น่าประทับใจคือ เมื่อช่วงใดเวลาใดที่ศาสนาใดรุ่งเรืองก็จะสร้างถ้ำของตนไว้ ต่อมาศาสนาอื่นรุ่งเรืองก็ไม่ทำลายถ้ำของศาสนาอื่น แต่สร้างต่อเติม ต่อเนื่องกันไปในบริเวณเดียวกัน น่าชื่นชมความใจกว้างนี้จริง ๆ




ถ้านี้เป็นสถานที่ซึ่งไกด์บอกว่าเป็น ห้องสมุดสำหรับพระสงฆ์มานั่งศึกษาพระไตรปิฎก


ถ้ำที่สมบูรณ์งดงามอลังการมากคือ ถ้ำของฮินดู รูปปั้นแกะสลัก เทวาลัยต่างๆ จำลองแบบตามความเชื่อของฮินดู เราต้องยืนแหงนหน้าคอตั้งบ่าเพื่อชื่นชม ยิ่งเดินชมไป ฟังไกด์เล่าไปถึงความเชื่อ ความเสียสละ ความเมตตาต่อมนุษย์ของเทพเจ้าองค์ต่างๆ ที่มีต่อโลก ต่อมนุษย์ ผู้เขียนก็ยิ่งรู้สึก ตัวเล็กลง ๆ ๆ (อัตตา มานะ อหังการลดลงไป...เกือบหมด) โธ่เอ๋ย... เราก็แค่ฝุ่นผงในจักรวาล แถมยังมีแต่เอาเปรียบ เรียกร้อง เสพสุข ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ตอบแทนคนอื่นๆ และโลกน้อยมากกกกกก (ต้องขอบคุณไกด์อินเดียที่ใช้กุศโลบายให้ผู้เขียนตั้งใจฟัง ไม่ดื้อไม่เถียง)

ถ้าฮินดู สร้างตามคติความเชื่อเรื่องพระพรหม พระนารายณ์ และพระศิวะ เทพเจ้าต้องสถิตย์บนวิมานที่ตั้งอยู่ในเขาพระสุเมรุ


ช่วงบ่ายไปชมป้อมเดาลาตาบัด : ได้เห็นความหนักแน่นแข็งแรงของป้อมปราการ ที่สร้างจากหิน ประตูที่มีเครื่องป้องกัน มีกำแพงหลายชั้น แต่ละชั้นมีน้ำกั้นต้องใช้บันไดพาดจึงจะข้ามได้ ในน้ำมีจระเข้และงูคอยกัดกินคน มีค่ายกลไว้หลอกล่อให้ข้าศึกหลงทาง ป้อมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1203 ถูกสุลต่านชาวมุสลิมยึดได้ในปี ค.ศ.1294 และทวงคืนมาได้ในปี ค.ศ.1327 และถูกทิ้งร้างไปเมื่อย้ายไปสร้างเมืองออรังกาบัดเป็นเมืองหลวงแทน ได้สัจธรรมแจ้งแก่ใจว่า็ื ไม่ว่ากำแพงจะใหญ่โตแข็งแรงแค่ไหน หากความเข้มแข็งในใจและความสามัคคีของคนไม่มีพอ กำแพงก็ช่วยไม่ได้เลย
















วันที่ 6 ธค.58 : เป็นวันที่ได้แวะชมสนามบินและร้านอาหารให้สนามบิน เพราะการเดินทางจากเมืองออรังกาบัดไปเมืองปัตนะ(Patna) ที่ตั้งของพุทธคยา โดยต้องต่อเครื่อง 2 ครั้ง จากเมืองออรังกาบัดไปแวะเปลี่ยนและรอเครื่องที่สนามบินเดลี ต่อไปที่สนามบินปัตนะ และนั่งรถต่อไปอีก 98 กม.เข้าพักโรงแรม Bodhagaya Regency Hotel ที่เมืองคยา รัฐพิหาร ใช้เวลาการเดินทางทั้งหมดนี้ 1 วัน โดยไม่ได้เที่ยวที่ไหน นอกจากสนามบินและการชมทัศนียภาพ (มืด ๆ) ข้างทางและเสียงแตรดังสนั่นเป็นระยะตลอดการเดินทางด้วยรถกว่า 3 ชั่วโมง (^_^)


วันที่ 7 ธค.58 : เป็นวันสำคัญที่ผู้เขียนตื่นเต้นมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มากราบสักการะสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา แม้ได้ไปไม่ครบ 4 แห่ง แต่อย่างน้อยก็ได้มาที่พุทธคยา สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณและได้ตั้งมั่นพระพุทธศาสนาไว้ในโลก

เจดีย์พุทธคยา (ขออภัยไม่ทราบจะทำอย่างไรให้ภาพตรงได้)


ช่วงที่ไปเยือนเป็นโอกาสดีที่มีพิธีสาธยายพระไตรปิฏกบาลี (11th Internationa Tipitaka Chanting Ceremony) ซึ่งจัดทุกปี โดยชาวพุทธทั่วโลก ทั้งจากไทย เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน ศรีลังกา ทิเบต ภูฏาน มารวมตัวกันและสวดสาธยายมนต์ ภายในพุทธคยา ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 2-12 ธันวาคม 2558 การเข้าไปภายในพุทธคยามีระบบตรวจและป้องกันความปลอดภัยสูงมาก ต้องผ่านการตรวจร่างกาย (ว่าไม่พกอาวุธเข้าไป) สแกนระเบิด และหากต้องการนำกล้องถ่ายรูปหรือไอแพดเข้าไป ต้องเสียค่าธรรมเนียม 100 รูปี เราโชคดีที่ได้พระอาจารย์มหาสมควรจากวัดไทยพุทธภูมิ เมตตามาเป็นวิทยากร นำเราสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยต่อหน้าองค์เจดีย์พุทธคยาและชมสถานที่สำคัญต่างๆ ภายใน





ผู้เขียนเป็นโรคสมาธิสั้นและไวต่อเสียงดังทุกชนิด เสียงสวดมนต์ด้วยสำเนียงแต่ละชาติแต่ละภาษา ชาวพุทธที่เข้ามานั่งกันแออัดแทบไม่มีที่เดิน บางกลุ่มเดินประทักษิณรอบองค์เจดีย์พุทธคยา กลุ่มพระและชาวทิเบตกราบแบบนอนราบไปทั้งตัวที่เรียกว่าอัษฎางคประดิษฐ์ แต่...ท่ามกลางเสียงดังหลายสำเนียงและผู้คนแออัด ผู้เขียนกลับรู้สึกสงบสุข ไม่เบื่อไม่รำคาญเสียงและคนที่มากมายรอบตัว เสียงสวดมนต์ที่แม้ต่างสำเนียงกัน แต่เป็น “ภาษาเดียวกัน” คือ เสียงที่แสดงออกถึงความเคารพสักการะและศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปเก่าแก่กว่า 2,000 ปี องค์พระประธานในเจดีย์พุทธคยา


และท้ายสุดของวันเราได้ไปถวายผ้าป่า เพื่อทำบุญในวัดไทยพุทธภูมิ พร้อมทั้งซื้อของกินของใช้ ซึ่งวัดเปิดร้านออมบุญ ในราคาที่สมเหตุสมผลและไม่มีใครต่อรองราคาเพราะถือเป็นการทำบุญกับวัด ทุกคนอิ่มเอมใจ และหลับสนิทสบายฝันดี (เดินมาก เหนื่อยยยยย)






















ช่วงบ่ายพระอาจารย์มหาสมควรได้พาเราไปสักการะเยี่ยมชมวัดพุทธต่างๆ ในเมืองคยา ทั้งวัดภูฏาน วัดญี่ปุ่น วัดไทย แต่ไม่ได้แวะวัดเมียนมาร์ และไปเยี่ยมบ้านนางสุชาดา มหาอุบาสิกาผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่ เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่จะตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียสร้างเป็นสถูปครอบบริเวณบ้านเดิมของนางสุชาดาไว้


สถูปที่สร้างทับบริเวณบ้านนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้สัมโพธิญาณ


วันที่ 8 ธค.58 : วันสุดท้าย ทุกคนต่างเลือกโปรแกรมตามอัธยาศัย ส่วนใหญ่เลือกที่จะไปสักการะพุทธคยา อีกครั้ง แต่ผู้เขียนขอไปเดินช้อปปิ้งและชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาแทบไม่มีโอกาสเลย ไกด์จะสั่งไว้ว่า ถึงจะสงสารอยากให้เงินแก่ขอทานแค่ไหน ก็ต้องไม่ให้ เพราะอาจได้รับอันตรายเจ็บตัว เพราะจะมีขอทานมารุมล้อม ดังนั้นเมื่อไปสถานที่ใดท่องไว้ว่า “ไม่พูด ไม่ทักทาย ไม่โต้ตอบ ไม่สบตา” ความอยากรู้อยากเห็น และนิสัยที่ชอบคุยกับคนแปลกหน้าของผู้เขียนถูกบีบรัดจนอึดอัด จึงขอไกด์พาไปเดินในตลาดเช้า ดูโน่นดูนี่ ซื้อผลไม้และของกินเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ่ายรูปผู้คน บ้านเรือน และกลับไปกินข้าวเที่ยง จากนั้นก็เดินทางไปสนามบิน รอกลับด้วยเครื่องของการบินไทย ซึ่งดีเลย์ไป 30 นาที กลับถึงกรุงเทพฯ เกือบ 4 ทุ่มอย่างอิ่มเอมใจ












วันกลับ 8 ธันวาคม 2558 นั่งอยู่บนเครื่องการบินไทย ได้กินอาหารที่คุ้นลิ้น... อยู่ๆ ก็เกิดคิดขึ้นมาขณะมองออกไปที่หน้าต่าง เห็นปุยเมฆขาวฟูฟ่องอยู่เต็มท้องฟ้าใส ๆ พลันก็ยิ้มออกมา...


...อินเดียนี่ดีจัง อินเดียทำให้ฉันได้เห็นว่าสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก อยู่ในที่และช่วงเวลาเดียวกัน ต่างกันก็เพียงที่มุมมองจาก “หัวใจ” เท่านั้นเอง...☺ ☺ ☺


หมายเลขบันทึก: 598652เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2015 05:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ชอบมากเจ้าค่ะ..บทสรุป...

มีดอกไม้มากฝาก..จากใจ...

คุณยายธีขา

หนูขอโทษนะคะ มีเวลาจำกัด จัดภาพไม่ตรง ไว้ค่อยมาจัดการใหม่นะคะ :)

สาธุ ครับ ที่คุณหยั่งรากได้มาสถานที่แห่งนี้ ถือเป็นบุญ วาสนา บารมี จริง ๆเลยนะครับ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มากราบสักการะ สถานที่ที่พระพุทะองค์ท่านทรงตรัสรู้

..

หลาย ๆ คนที่ไปสถานที่แห่งนี้ บอกกับผมเสมอครับว่า....สงบ เย็น อย่างบอกไม่ถูก โดยเฉพาะรูปพระพุทธองค์ภายในพุทธคยา

..

หลาย ๆ คน อธิษฐานจิต แล้วกดชัตเตอร์ พบสิ่งมหัศจรรย์ในรูปที่ถ่ายด้วยนะครับ

เค้าเอามาให้ผมดู

..

ชอบใจตรงที่...คุณหยั่งราก ปลีกแวะมาดู สิ่งที่ผู้คนเขาไม่ค่อยอยากไป

ทำให้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในนั้น

..

สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก..

..

คิดครั้งว่า..สักวันหนึ่ง อยากไปเช่นเดียวกับที่คุณหยั่งรากไป

..

ขอบคุณมากนะครับ



ยอดพุทธคยา วัดโมกขธรรมาราม วัดที่ผมพาลูกน้องชาวพม่า มาสร้างเจดีย์ที่นี่ครับ

ผมเคยอยู่อินเดีย 3 ปี ทั้งปฏิบัติงานและเรียนหนังสือ

ตอนนี้ 16 ปีแล้วครับ ที่ไม่มีโอกาสได้กลับไปเยือนอีกเลย

เห็นภาพในบันทึกนี้แล้ว รู้สึกอยากจะไปเยือนอีกสักครั้งนะครับ

ชอบมากค่ะ อ่านแล้วอยากไปค่ะ ประกอบกับดูซีรีย์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกทำให้อากไปมากขึ้นอีก ไปสักสองสามแห่งที่มีอนุสรณ์ถึงท่านก็ถือว่ามีบุญแล้วค่ะ

สวัสดีคุณยายธี อีกครั้งค่ะ

พยายามจัดภาพและจะใส่คำบรรยาย แต่ไม่สำเร็จ ภาพก็เลยตะแคงๆ ถือเป็นการบริหารคอก็แล้วกันนะคะ

ด้วยความระลึกถึงค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณ แสงแห่งความดี...

ดีใจที่ กัลยาณมิตร อย่างคุณแสงแห่งความดีแวะมาอ่านค่ะ :)

ตั้งใจไว้นานแล้วว่าชาตินี้จะต้องไปสักการะสังเวชนียสถานสี่ให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่ครั้งนี้ไปได้เพียงที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คราวหน้าต้องไปอีกครั้งค่ะ เก็บเงินหยอดกระปุกไว้ก่อน :)

พระพุทธรูปในเจดีย์พุทธคยาคือ "พระพุทธเมตตา" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างจากหินแกรนิตสีดำ สร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ปาละ มีอายุกว่า 1,500 ปีแล้ว พระอาจารย์มหาสมควรได้เมตตาเล่าให้ฟังถึงประวัติว่าสมัยผู้ครองแผ่นดินแถบนี้ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน (คงไม่ต้องบอกว่าเป็นศาสนาใดนะคะ) สังให้เผาทั้งพระพุทธรูปและพุทธสถาน แต่องค์พระพุทธเมตตาองค์นี้ ผู้ได้รับคำสั่งให้มาเผา เป็นชาวพุทธ จึงได้ซ่อนองค์ท่านโดยใช้วิธีการโบกปูนทับไว้ จนเวลาผ่านไปจึงมีคนค้นพบท่านอีกครั้งค่ะ

พระอาจารย์พาเราเดินเรียงแถวเข้าไป เพื่อกราบสักการะท่านใกล้ๆ และบอกว่าให้อธิษฐานขอจะสัมฤทธิ์ผล ส่วนตัวก็อธิษฐานว่า... ขอให้มีปัญญาที่บริสุทธิ์ ถูกต้องตรงธรรม และได้พบพระพุทธศาสนาทุกชาติไปค่ะ

ส่วนตัวแล้วคิดว่า ในฐานะชาวพุทธทุกคน ควรได้มีโอกาสสักครั้งในชีวิตไปเยือน อินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนที่เกิดขึ้นของพระพุทธศาสนาค่ะ :)

อนุโมทนาบุญกับการสร้าง ยอดพุทธคยา วัดโมกขธรรมาราม และยังนำน้องๆ ชาวพม่า ซึ่งเป็นคนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่สุดค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ อักขณิช

โชคดีจังนะคะ ได้อยู่ในอินเดียถึง 3 ปี

ไปอินเดียปัจจุบันนี้ ค่อนข้างยุ่งยากเรื่องวีซ่า ที่มีขั้นตอนมาก ต้องไปสแกนนิ้วต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ด้วยตัวเอง ฯลฯ ไม่เหมือนเมื่อก่อนค่ะ :)

รัฐบาลอินเดียจัดเจ้าหน้าที่ประจำทุกถ้ำเพื่อดูแลทำความสะอาด แม้ถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่า (ผู้เขียนลืมใส่ถุงเท้า) เดินชมถ้ำ จนกลับโรงแรมเท้ายังไม่ดำเลย...ไม่น่าเชื่อ แต่จริง)

....

สุดยอดจริงๆ ครับ

....


เมื่อครั้งผมไปอินเดีย ผมเห็นคนสวน กินนอนพักเที่ยงอยู่ใต้ต้นไม้ที่พวกเขาดูแล...
ดูไปดูมา มันมีความหมายมากกว่าที่เรามองเห็นด้วยตา กระมังครับ

มาทักทาย ส่งท้ายปีครับ ...... :)

หลวงปู่ และอีกหลายท่านบอก มีปีติ ธรรมบันดาล เมื่อได้ไปนั่งที่ใต้ต้นโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ดีจังที่มีโอกาสได้ไป.....

สวัสดีค่ะคุณ GD

ดีใจที่แวะมาอ่านค่ะ ในฐานะชาวพุทธ เราควรได้มีโอกาสไปเยือนและสักการะสถานที่ตามรอยพระบรมศาสดาของเราค่ะ :)

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ยินดีที่พี่ใหญ่เข้ามาแวะทักทายให้กำลังใจ น้องตั้งใจไว้ว่าจะต้องไปอินเดียอีก... หลายๆ ครั้งเท่าที่มีโอกาสเลยค่ะ :)

สวัสดีค่ะ อ.แผ่นดิน

ความรู้สึกจากการไปเยือนอินเดีย ครั้งนี้ ครั้งที่ 3 แล้ว ก็ยังรู้สึกอยากไปอยู่เรื่อยๆ อีกหลายๆ ครั้งเลยล่ะค่ะ

อินเดียเป็นดินแดนที่...มหัศจรรย์มาก สำหรับความคิดส่วนตัวนะคะ สมกับที่เขามักจะบอกว่า "Incredible India" นั่นแหละค่ะ มีคนจนที่สุด รวยที่สุด ขยะ ขอทาน อภิมหาเศรษฐี โจรอมหิต การดูถูกกดขี่ผู้หญิง คนใจบุญ ....

รวมความแล้วก็ดังชื่อบันทึกนี้เลยค่ะ

และความรู้สึกที่ได้เพิ่มขึ้นมาคือ คนอินเดียมีความเป็นนักปรัชญาโดยสายเลือด การได้พูดคุย ถกปัญหากับไกด์อินเดีย (มีอาชีพเป็น ครู มาก่อน) ทำให้มีมุมมองต่อคนอินเดียต่างไปมากค่ะ :)

....

และคงจะจริงดังที่อาจารย์กล่าวไว้ ... สิ่งที่เราเห็นเป็นการตีความของเรา แต่ความจริงอาจจะมีความหมายอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น...

ปล.พื้นในถ้ำที่สะอาดมาก ทำให้คนดูแลถ้ำได้รับ ทิป จากนักท่องเที่ยวค่ะ (เขาจะเข้ามาต้อนรับและชี้ชวนชมโน่นนี่นั่น และบอกว่าเขาเป็นคนทำความสะอาดเอง...)

สวัสดีปีใหม่ 2559 ค่ะพี่ใหญ่

ขอบพระคุณรอยยิ้มหวานๆ ที่ส่งมาให้ค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท