สร้างคุณค่าชีวิตในวัยเกษียณด้วยการให้


ในความเป็นจริงแล้วคุณค่าในตัวของคนคนหนึ่งมีมากจนไม่อาจบรรยายได้ แต่หากบางทีเรารู้สึกว่าเราอายุมากแล้วคุณค่าในตัวของเราเริ่มลดลงก็เพราะว่าเมื่อก่อนเราอาศัยหน้าที่การงานเป็นตัวบอกคุณค่าของเรา เพราะเรามีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ซึ่งเราอาจมองเห็นคุณค่าของตัวแค่นี้เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วคุณค่าของเรานั้นอยู่ที่เราได้ให้คนอื่นมากกว่าแต่ว่าเป็นการให้ด้วยใจจริง ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ

ความจริงแล้วชีวิตก็มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว แต่บางทีเราก็มองเลยผ่านคุณค่านั้นไปเพราะการมีลมหายใจนั้นมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากเกินไป แต่เราก็มักจะนำคุณค่าของเราไปไว้กับงานที่เราทำ ดังนั้นในวันที่เราต้องหมดวาระหน้าที่การงานจิตใจก็เลยเหี่ยวแห้งไปด้วย รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลงไป บางคนกว่าจะยอมรับสภาพนี้ได้ก็ทำใจอยู่นาน บางคนยิ่งกว่านั้นหลังเกษียณไม่กี่ปีก็เหมือนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะเคยแต่มีคนให้ความเคารพนับถือเยอะ ไปไหนมาไหนมีแต่คนล้อมหน้าล้อมหลัง หลังเกษียณแล้วไม่มีใครเลย ชีวิตเงียบเหงามากจนไม่มีกำลังใจที่จะรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี ไม่มีกำลังใจทีจะมีชีวิตอยู่ต่อ

ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หลายคนจะรู้สึกว่าคุณค่าของเราลดลงไปในวันที่เราหมดหน้าที่การงาน เพราะเราทั้งหลายถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่าเราต้องทำงานเพื่อดำรงชีวิตและได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น หากใครมีความสามารถในการทำงานมากก็จะได้รับการยกย่องเคารพนับถือมากและได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำของสังคมได้ ยศตำแหน่งและชื่อเสียงก็ตามมาภายหลัง

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้ทราบข่าวจากญาติโยมที่คุ้นเคยกันซึ่งรวมไปถึงเพื่อนๆสมัยที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกันว่าช่วงนี้เจ็บป่วยกันหลายคน บางคนก็เป็นมะเร็ง บางคนก็นอน ไปไหนมาไหนไม่ได้ต้องรับอาหารทางสายยาง บางคนก็เพิ่งกลับจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้านถูกจำกัดอาหารหลายอย่าง สำหรับผู้ที่ยังแข็งแรงดีอยู่ก็รู้สึกว่าตอนนี้โชคดีที่ยังไม่เป็นไร แต่ก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น

ก็เลยมาคิดว่าเราน่าจะทำอะไรบางอย่างที่ถูกต้องตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีประโยชน์โดยส่วนรวมและทำให้ทุกคนที่ทำมีความสุขมีกำลังใจที่จะรับมือกับปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยกันได้บ้าง บังเอิญในช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา ดังนั้นในวัน15ค่ำพระหลายๆวัดจะไปรวมกันกันฟังปาฏิโมกข์ที่วัดใดวัดหนึ่งด้วยกัน จึงตกลงกันว่าเราน่าจะถือโอกาสนี้ทำบุญถวายยารักษาโรคกับพระที่มาลงอุโบสถนี้ เพราะธรรมดาพระก็มีเจ็บป่วยกันอยู่แล้วและท่านก็มารวมกันอยู่แล้วทำให้สะดวกต่อการถวายโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปถวายในแต่ละวัด หลังจากจัดเตรียมเรียบร้อยแล้วซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไป ก็นำมาถวายในช่วงที่พระลงอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงนำเข้าไปถวายและรับพรในโบสถ์พร้อมกันไปเลย

การทำบุญด้วยกันในครั้งนี้รู้สึกทำให้พวกเรามีความสุขความสบายใจเป็นอย่างมากเพราะได้ทำในสิ่งที่ผู้รับต้องการ เลือกเวลาที่เหมาะสมในการให้และได้ให้ในสิ่งที่ช่วยแก้ไขความเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ให้เองก็ปรารถนาความไม่มีโรคเช่นกันจึงทำให้อธิษฐานจิตได้ง่ายเกิดกำลังใจและมีความสุขมีปีติเบิกบานขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์

ในพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนถึงวิธีแก้กรรมเอาไว้ว่าความชั่วที่ทำไปแล้วนั้นจะสามารถลบล้างด้วยการทำความดีในภายหลังได้ แต่ท่านได้วางหลักการไว้ว่าทั้งกรรมดีและกรรมชั่วนั้นจะส่งผลแน่นอนไม่เวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนจะส่งผลเมื่อไรและจะใช้เวลานานเท่าไรในการเสวยผลกรรมนั้นก็ขึ้นอยู่กับกรรมนั้นหนักหรือเบา ดังนั้นเราหากงดทำกรรมชั่วเสีย แล้วหันมาทำกรรมดีมากๆบ่อยๆ แม้ว่าถึงเวลาที่กรรมชั่วจะให้ผลก็ตามแต่กรรมดีที่ทำไว้มากในภายหลังก็จะทำให้กรรมชั่วนั้นลดความรุนแรงลงหรือลดระยะเวลาในการให้ผลลงได้ ทำให้พอมีเวลาหายใจหายคอหรือตั้งหลักรับมือกับปัญหาต่างๆได้ ส่วนเรื่องที่จะพ้นจากอำนาจของกรรมไปได้นั้นไม่มีเลย

*มีเรื่องเล่าว่าในวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เดินผ่านไปเห็นฝูงแกะฝูงแพะที่เขาไล่ต้อนไปสู่เมืองของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อจะฆ่าบูชายัญ พระองค์เห็นตัวไหนขามันหัก เดินไปทัน ก็เข้าไปอุ้ม แล้วไปส่งเขาถึงจุดหมายปลายทาง

เมื่อพระองค์มาถึง เห็นพระเจ้าพิมพิสารกำลังจะจัดการเผาแพะแกะเพื่อบูชายัญ พระองค์ก็ร้องห้าม และถามความประสงค์ พระเจ้าพิมพิสารก็บอกว่า ทำเพื่อต่ออายุให้เราอยู่ยืน และมีความราบรื่นในปราสาทราชวัง พระองค์ทรงตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารว่า

เมื่อต้องการให้กระจกยิ้มกับเรา ทำไมเราไม่ยิ้มให้กับกระจก ต้องการอยู่ยืนยาวนาน ทำไมจึงไม่ปล่อยชีวิตสัตว์ไว้ให้มันยืนยาวนาน เพื่อชีวิตเราจะได้อยู่ยืนยาวนานได้ เมื่อเราทำชีวิตของเขาให้สั้น ประหารชีวิตของเขา แล้วเราจะได้ความมีอายุยืน ความมีสุขภาพสมบูรณ์ได้อย่างไร เมื่อเราให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นก็ย่อมถึงเราอย่างแน่นอน **

จากเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมว่าใครทำเช่นไรก็ย่อมได้รับสิ่งนั้นเป็นเครื่องตอบแทน ผู้ที่ปรารถนาความสุขก็ควรให้ความสุขแก่ผู้อื่น ผู้ที่ปรารถนาความไม่มีโรคก็ควรสร้างเหตุแห่งความไม่มีโรคให้แก่ผู้อื่นเช่นเดียวกัน

ในความเป็นจริงแล้วคุณค่าในตัวของคนคนหนึ่งมีมากจนไม่อาจบรรยายได้ แต่หากบางทีเรารู้สึกว่าเราอายุมากแล้วคุณค่าในตัวของเราเริ่มลดลงก็เพราะว่าเมื่อก่อนเราอาศัยหน้าที่การงานเป็นตัวบอกคุณค่าของเรา เพราะเรามีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ซึ่งเราอาจมองเห็นคุณค่าของตัวเองแค่นี้เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วคุณค่าของเรานั้นอยู่ที่เราได้ให้คนอื่นมากกว่าแต่ว่าเป็นการให้ด้วยใจจริง ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ให้ใครก็ได้ที่เราคิดว่าเขาต้องการและเรามีบางสิ่งที่จะให้ได้โดยเราไม่เดือดร้อน ทันทีที่เราให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเราย่อมรู้ด้วยตัวเราเองว่าเรามีความสุข เราย่อมรู้สึกถึงความสุขของผู้ที่ได้รับ เราย่อมรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเรา และแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับนั้นย่อมต้องรู้สึกว่าผู้ให้นั้นเป็นคนที่มีคุณค่าสำหรับเขาเช่นกัน


*---** จากหนังสือสมุดภาพพระพุทธประวัติสำหรับประชาชน เล่าโดยพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ภาพโดย อาจารย์คำนวณ ชานันโท

หมายเลขบันทึก: 596375เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 08:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คำนี้ต้องการใช้จริงๆน่าจะเป็น เกษียณ ใช่ไหมคะ เอาบันทึกมาฝากค่ะ

เกษียร เกษียน เกษียณ

ขอบคุณอาจารย์โอ๋ที่ช่วยแก้คำผิดให้ ต้องใช้คำว่าเกษียณจึงจะถูกต้อง

นมัสการพระคุณเจ้า เพิ่งเข้าไปอ่านประวัติค่ะ สงสัยต้องไปหาความรู้คำสรรพนามที่ควรใช้กับพระ หรือถ้าท่านจะช่วยเขียนแนะนำก็น่าจะมีประโยชน์นะคะ เป็นคนห่างวัดมากๆแต่นับถือพุทธตามหลักธรรมที่ทำแล้วเห็นผลจริงๆ ไม่ค่อยเข้าวัดเพราะเข้าทีไรก็เกิดอกุศลจิตกับสิ่งที่เห็นในวัดอยู่เนืองๆค่ะ

ไม่ต้องกังวลกับเรื่องสรรพนามเวลาสนทนากับพระให้มากนัก แค่สรรพนาม ท่าน,ผม,ดิฉัน(หากเป็นเด็กใช้ว่าหนูก็ยังได้),นมัสการ ก็ใช้ได้แล้ว เรื่องที่น่าสนใจควรเป็นเนื้อหา หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า เหตุที่คนรุ่นใหม่ๆไม่ค่อยเข้าวัดก็สาเหตุเดียวกับอาจารย์โอ๋ ฐานะของวัดในปัจจุบันอ่อนแอมาก อ่อนแอทั้งคุณภาพของคนที่เข้ามาบวชและอ่อนแอทั้งภาคการศึกษาและการปฏิบัติ บรรยากาศในวัดส่วนมากจึงไม่ค่อยน่าไป แต่เชื่อได้ว่าลึกๆในใจของชาวพุทธนั้นเคารพและเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกคน

ดังนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ตนควรได้จากการได้พบพระพุทธศาสนา เราควรแสวงหาพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเถิดซึ่งปัจจุบันนี้ยังพอมีอยู่ แล้วก็ลองปฎิบัติดู เริ่มต้นก็ยังอาจผิดๆพลาดๆบ้างเพราะยังไม่รู้จริตนิสัยของตนเอง แต่ทำไปเรื่อยๆก็จะเข้าใจธรรมะและใช้เป็นเครื่องมือนำทางชีวิตได้อย่างมั่นใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท