ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๙๑. หดหู่ที่ชายหาด



บ่ายวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ หลังการประชุมสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมนัดให้ รศ. ดร. สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ และ ผศ. กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ พากรรมการสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ที่สนใจ ไปดูสภาพการกัดเซาะชายฝั่ง ทะเลสงขลา ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ที่เป็นราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมเจ้าท่า

จุดแรกที่เราไปแวะชมคือบ้าน นพ. อนันต์ - พญ. รัชนี บุญโสภณ ที่ชายทะเลบ้านบ่อโชน ต. สะกอม อ. จะนะ จ. สงขลา เราไปเห็นสภาพที่ เมื่อมีการสร้างเขื่อนกันทรายที่ปากน้ำสะกอม ก็ทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดด้านเหนือเขื่อน เข้ามาใกล้ที่ดิน ของ นพ. อนันต์ ทางกรมเจ้าท่าจึงไปสร้างเขื่อนกันคลื่นทางทิศใต้ของที่ของ นพ. อนันต์ มีผลให้ชายหาดที่ดินของ นพ. อนันต์พัง เฉลี่ยปีละ ๑๐ เมตร เวลานี้น้ำเซาะที่หายไป ๑๓๐ เมตร บ้านหายไปทั้งหลัง และอีกหลายหลัง มีการฟ้องร้องกรมเจ้าท่าต่อ ศาลปกครอง และศาลปกครองตัดสินให้กรมเจ้าท่าแพ้คดี แต่ยังมีการอุทธรณ์

ที่นี่เราพบคุณเจ๊ะหมัด สังข์แก้ว ที่มาเล่าให้เราฟังว่า ทางกรมเจ้าท่าไปประชุมชาวบ้าน เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ว่าจะไปเยียวยาความเสียหาย และจะดำเนินการสร้างเขื่อนกันคลื่นป้องกันตลิ่งพัง เพิ่มขึ้น ว่ามีงบประมาณกว่าสองพันล้านบาท

จุดที่สอง ชายหาดบ้านสวนกง อ. จะนะ จ. สงขลา เป็นจุดที่ชายหาดสมบูรณ์ และมีสันทรายชายหาด ที่สวยงามยิ่ง มีบทความเรื่องป่าสันทรายชายหาด เขียนโดย พญ. รัชนี บุญโสภณ เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว ที่มีรูปสันทรายที่เราไปยืนชื่นชมธรรมชาติ อันสวยงาม และมีรูปพรรณไม้บนสันทรายนี้ อ่านได้ ที่นี่ ป่าสันทรายชายหาดที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่บางเบิด ชุมพร ดังเว็บไซต์นี้

จุดที่สาม ชายหาดหินนาทับ อ. จะนะ ที่เราไปเห็นกำแพงกันคลื่น และเห็นเขื่อนหินตัวละ ๓๐ ล้านบาท จำนวน ๑๘ ตัว และกำลังจะสร้างอีก ๒๕ ตัว ที่นี่ไม่มีหาดทราย มีแต่กำแพงหิน ทำให้พอจะเดาได้ว่าหากกรมเจ้าท่าได้งบประมาณมาแก้ปัญหา กัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีเดิม (คือทำเขื่อนกันคลื่น) ไล่ขึ้นทางเหนือไปเรื่อยๆ ชายหาดของจังหวัดสงขลาก็จะหมดไป หรือมิฉนั้นก็จะมีหาดโค้งแบบของจังหวัดระยองที่ผมเคยลงรูป ที่นี่

จุดที่สี่มองจากรถไกลๆ คือปากคลองนาทับ ที่มีเขื่อนกันทราย เป็นต้นเหตุให้ชายหาดด้านเหนือถูกกัดเซาะ

ทั้งหมดนั้นผมสรุปตามคำอธิบายของ ดร. สมบูรณ์ได้ว่า หาดทรายอันทรงคุณค่าถูกทำลายเพราะมีการสร้างโครงสร้างแข็ง ขึ้นที่บริเวณชายหาด รบกวนระบบนิเวศตามธรรมชาติของชายหาด ทำให้ชายหาดด้านทิศเหนือของสิ่งรบกวนนั้นพัง และแผ่นดินทางทิศใต้งอกขึ้น เพราะกระแสน้ำที่ชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ไหลขึ้นเหนือ หากยังใช้วิธีการนี้ป้องกัน การกัดเซาะชายฝั่งไปเรื่อยๆ หาดทรายก็จะหมดไปเรื่อยๆ จนหมดสิ้นในที่สุด

แปลกมาก ที่เห็นตำตา ว่ายิ่งสร้างเขื่อนกันคลื่น หาดทรายยิ่งพัง แต่กรมเจ้าท่าก็ยิ่งก่อสร้าง ใช้เงินมหาศาล น่าจะมีหน่วยงานวิจัย จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ มาบอกสาธารณชน ว่ามีการใช้เงินภาษี ของประชาชนไปทำลายทรัพยากรหาดทรายของชาติอย่างไร

ใครไม่เชื่อ ให้ไปดูชายหาด ต. นาทับ อ. จะนะ จ. สงขลา

ท่านที่สนใจ อ่านบันทึกเกี่ยวกับหาดทรายได้ ที่นี่

ขอขอบคุณ ผศ. กัลยาณี ที่ส่งรูปหาดนาทับในอดีตมาให้



1 เขื่อนกันคลื่นต้นเหตุที่ของ นพ. อนันต์พัง

2 ที่ดินชายหาดพังลึกเข้าไ ๑๓๐ เมตร บ้านพังทั้งหลัง

3 ป่าสันทราย หาดบ้านสวนกง

4 คนกลางบังนี หรือนายกิตติภพ สุทธิสว่าง คนขวาคือ ดร. สมบูรณ์

5 หาดบ้านสวนกง

6 หาดนาทับ มีแด่หิน

7 เขื่อนกันคลื่นที่อยู่ในทะเล ลูกละ ๓๐ ล้านบาท

8 ชายหาดนาทับ

9 ดอกหญ้า

10 หาดนาทับในปี ๒๕๕๐ ก่อนสร้างเขื่อนกันคลื่น

11 หาดนาทับ ปี ๒๕๕๐ ขณะเริ่มสร้างเขื่อนกันคลื่น

12 หาดนาทับในปี ๒๕๔๓


วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๕๘



หมายเลขบันทึก: 594408เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2015 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2015 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มีรายงายในต่างประเทศว่าทรายเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะขาดแคลนไปในไม่ช้านี้..นอกจากสงครามน้ำก็คงจะมีสงครามทราย..มีการดูดทรายขายกันแพร่หลายมากขึ้น..ผลพวงที่ตามมาคือความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาตร์ประเทศชายฝั่งทะเลเป็นต้น......กระแสร์กล่าวถึงสิงคโปร์เป็นประเทศที่ต้องการทรายมากอีกประเทศลองมา จากดูไบร..

เรามีภูเขา ป่าไม้ ทะเล ชายหาดฯ ล้วนล้ำคุณค่า ที่หลายประเทศต่างฝันหา แต่เรากลับรักษาไว้ไม่ได้ สะท้อนระบบต่างๆในสังคมที่บกพร่องอย่างรุนแรง เพราะทรัพยากรเหล่านั้นเป็นของลูกหลาน เราไม่มีสิทธิผลาญหรือทำลาย ผู้บริหารฯทุกระดับจึงควรต้องทบทวน

เคยไปที่นาทับ

สมัยก่อนหาดสวยมากครับ

เสียดาย

ความเสียหายลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งของไทย และกำลังลุกลามอย่างต่อเนื่อง ประเทศชาติเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทรายไปแล้วมหาศาล และดูเหมือนมรดกชิ้นนี้กำลังจะสูญสิ้น ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่อาจารย์ให้ความสนใจในปัญหานี้

ป่าสันทรายชายหาดแห่งสงขลา โดย พญ.รัชนี บุญโสภณ บทความที่เขียนจากใจ หาอ่านได้ที่นี่ http://www.bwn.psu.ac.th/coast_forest.html

วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๘ ผมได้รับอีเมล์จาก ผศ. กัลยาณื พรพิเนตพงศ์ ดังต่อไปนี้

กราบเรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพอย่างสูง

ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่อาจารย์ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา
การกัดเซาะชายหาดต่อสาธารณะผ่าน GotoKnow ซึ่งจะช่วยให้เกิด
ความเข้าใจในปัญหากัดเซาะชายหาดมากขึ้น

พร้อมนี้ฉันขออนุญาตแก้ไขชื่อของบังนีค่ะ ชื่อทางการของบังนี คือ
นายรุ่งเรือง ระหมันยะ ต้องขอโทษอย่างมากค่ะ ที่ดิฉันไม่ได้แนะนำให้
ชัดเจนตอนออกพื้นที่ การปรับเวลาในวันทัศนะเนื่องจากฝนตก ทำให้
คุณกิตติภพ ติดภารกิจจึงมาไม่ได้มา วันนั้นจึงมีแต่บังนี และบังเหตุค่ะ

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ดิฉันมีโอกาสไปดูปัญหากัดเซาะชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี
กับคณะดำเนินงานฯตาม พรบ.ทช.ม.21 ของกรมทรัพยากรทางทะเล
และชายฝั่ง(ทช) ทำให้ทราบว่าสาเหตุหลักของการกัดเซาะในละแวก
นี้มีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น (Jetty) ที่อุทยาน
สิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เพื่อให้น้ำทะเลไหลเวียนสู่ป่าโกงกาง
(เดิมเป็นป่าเสม็ด) ภายในอุทยานฯ โดยก่อสร้างเขื่อนกันทรายฯ 2
แห่งที่ด้านทิศเหนือและใต้ของอุทยานฯ

เขื่อนกันทรายฯทิศใต้ ทำให้มีทรายกักอยู่ทางตอนใต้ และเกิดกัดเซาะ
ด้านเหนือซึ่งเป็นชายหาดภายในอุทยานฯ มีการแก้ปัญหาบริเวณนี้
ด้วยรอดักทราย (groyne) ทำให้ไม่เหลือสภาพของหาดทรายธรรมชาติ
ให้เห็น กลายเป็นศาลาลงสรงฯอยู่ท่ามกลางกองหิน (ทราบว่า เดิมที
ศาลาลงสรงตั้งอยู่บนชายหาด เป็นศาลาขนาดเล็กยกสูงด้วยเสา เช่น
เดียวกับบ้านชาวเล จึงไม่รบกวนระบบสมดุลของธรรมชาติ) นอกจาก
นี้ยังทราบว่า มีการทดลองวางโดมทะเล (ไม่ทราบว่ามากน้อยเท่าใด)
ที่ชายฝั่งด้านหน้าอุทยานฯ

ส่วนเขื่อนกันทรายฯทิศเหนือ ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะไปทางเหนือ
บริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชะอำ มีความพยายามแก้ไขด้วย
วิธีชั่วคราวแบบต่างๆ ทั้งเขื่อนหินกันคลื่น และถมทราย

เนื่องจากการกัดเซาะเกิดที่ชายหาดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง
จึงมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ล้วนแก้ที่ปลายเหตุ ทั้งที่
ทำไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นโครงการขนาดใหญ่โตมาก
ดิฉันเห็นว่าหาก “ไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ” งบประมาณจำนวนมากจะละลาย
ลงทะเลทุกปี (ที่หาดชลาทัศน์เล็กกว่าหลายเท่า ก็สูญเสียเงินไปราว
200 ล้านบาทแล้ว)

ดิฉันดีใจที่ตอนนี้ ทาง ทช. เริ่มเข้าใจระบบของหาดทรายมากขึ้น และ
ทราบแล้วว่าป่าโกงกางที่พยายามสร้างขึ้นในอุทยานฯนั้นต้องแลกด้วย
ผลกระทบไกลสุดสายตา ดิฉันก็ยังมีความหวังอยู่ว่าความเข้าใจที่ถูก
ต้องจะช่วยให้สถานการณ์แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราวแบบตั้งรับ กลับ
เป็นเชิงรุก คือ แก้ที่สาเหตุให้ได้ในช่วงปฏิรูปประเทศนี้

ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงที่อาจารย์ให้เวลากับเรื่องนี้
ด้วยความเคารพอย่างสูง
กัลยาณี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท