การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 7


การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 7

ประเด็นวิเคราะห์นายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ หรือยาว ไม่มีนามสกุล [1]

21 กุมภาพันธ์ 2558

มีประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่สองประเด็น ตามหนังสือของนายอำเภอท่าสองยาง ที่ ตก 0518.2/406-407 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง แจ้งผลการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของอำเภอท่าสองยางซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ที่เป็นจุดสำคัญชี้ถึงแนวโน้มในการออกคำสั่งทางปกครองของนายอำเภอท่าสองยาง ในเนื้อหาของคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติฯ ของนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุลได้

ประเด็นแรกกล่าวแล้วในตอนที่ 6 คือ ประเด็นที่นายอำเภอท่าสองยางได้ให้โอกาสแก่ผู้ร้องทั้งสองได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดง "พยานหลักฐาน" เพื่อประกอบการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 29 [2] แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (พยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง) และขอให้ผู้ร้องนำพยานบุคคลจำนวนสามปาก (นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง, นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด และนางสาวศิวนุช สร้อยทอง ทนายความ นักกฎหมายประจำโรงพยาบาลแม่ระมาด) ไปให้นายทะเบียนอำเภอฯ ทำการสอบปากคำเพิ่มเติม ภายใน 30 วัน และหากมีเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติม ขอให้นำส่งนายทะเบียนอำเภอฯ ภายใน 30 วัน

ประเด็นที่สองที่จะกล่าวในตอนนี้ ก็คือ "เรื่องดุลพินิจ" (Pouvoir discrétionaire or Discretion) อันถือเป็นประเด็นหลักที่สำคัญที่สุด เป็นจุดสำคัญชี้ถึงทิศทางและแนวโน้มในการออกคำสั่งทางปกครองของนายอำเภอท่าสองยางได้ เพราะนายอำเภอท่าสองยางรับว่า จะดำเนินการตามหลักการพิจารณาของฝ่ายปกครอง (Administrative Procedure) และทำคำวินิจฉัยชี้ขาดทางปกครอง (Formal Adjudication) ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และระเบียบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยจะใช้ "ดุลพินิจพิจารณา"

ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวสรุปไว้ในตอนที่ 4 แล้ว ใน ประเด็นการใช้ "ดุลพินิจ" พิจารณาของนายอำเภอท่าสองยางนั้นมีข้อวิตกว่า ประเด็นพิจารณาสุดท้ายมีอยู่ประเด็นเดียวเท่านั้น คือ (1) "พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ" ของผู้ร้องที่อยู่บนพื้นฐาน (2) การใช้ "ดุลพินิจ" ของนายอำเภอฯ มีข้อพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้

(1) ดุลพินิจ ในกฎหมายปกครอง หมายถึง Freedom of choice เป็นเสรีภาพในการเลือกและตัดสินใจไปในทางใด ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น โดยการใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณของฝ่ายปกครองว่าหลักฐานใด น่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด "ดุลพินิจวินิจฉัย" (Margin of judgment) เป็นเสรีภาพในอันที่จะเลือกเอาความเห็นใดความเห็นหนึ่งในบรรดาความเห็นที่ชอบด้วยเหตุผลหลายๆ ความเห็นที่มีอยู่ (ความเห็นที่ชอบด้วยเหตุผล) ซึ่งหากพิจารณาตามแนวทางนี้แล้ว ถือว่าฝ่ายปกครองทรงไว้ซึ่งเอกสิทธิ์ในการอนุมัติ อนุญาต กล่าวคือ ดุลพินิจเป็นเสรีภาพของฝ่ายปกครองนั่นเอง [3]

(2) ด้วยข้อจำกัดของฝ่ายผู้ร้องในหลายประการ มีความเป็นไปได้ยากยิ่งที่จะทำให้ได้ "พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ" และ "ดุลพินิจที่เหมาะสม" (ดุลพินิจตามสมควร) เพราะพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ร้องอยู่บนพื้นฐานของ "พยานบุคคล" เป็นหลักเท่านั้น เนื่องจาก ต่อให้นายอำเภอฯ เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ร้องมากเพียงใดก็ตาม หากฝ่ายผู้ร้องยังไม่สามารถทำให้ "พยานบุคคลเป็นที่น่าเชื่อถือ" เพื่อให้นายอำเภอฯ ได้ใช้ "ดุลพินิจที่เหมาะสม" สมดุลกันนั้น คงเป็นเรื่องยากมาก

(3) ในทางปฏิบัตินั้น การใช้ดุลพินิจประกอบการกระทำของฝ่ายปกครอง ต้องอยู่ภายใต้หลักการในสามทฤษฎีคือ ทฤษฎีความเหมาะสม ทฤษฎีความได้สัดส่วน และทฤษฎีความชอบด้วยกฎหมาย [4] กล่าวคือเรื่อง "ดุลพินิจ" ในทางปกครองนั้น เป็นเรื่องที่เป็นเอกสิทธิ์ของฝ่ายปกครอง บนพื้นฐานของหลัก "ประโยชน์สาธารณะ" ที่ต้องมากกว่าประโยชน์ส่วนตนของเอกชนเป็นหลักและศาลปกครองใช้ "ทฤษฎีสัดส่วน"เพราะ หลักความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality) เป็นหลักการที่นำมาใช้ในการ "ชั่งน้ำหนัก" และ "ห้ามมิให้ฝ่ายปกครองกระทำเกินความจำเป็น ไม่เหมาะสม" และไม่ได้สัดส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่ปัจเจกชนหรือสังคมส่วนร่วมได้รับ และ "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย...และเท่าที่จำเป็น..." นั้น ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญได้วางหลักความได้สัดส่วน มากำหนดถึงมาตรการหรือวิธีการที่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัจเจกชนน้อยที่สุด โดยต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณะ [5]

(4) ประเด็นหลักที่นายอำเภอท่าสองยางกล่าวอ้างคือ "เอกสารหรือพยานหลักฐานเชื่อถือได้" กับ "เอกสารหรือพยานหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ" มีลักษณะเป็นอย่างไร เป็นการพิจารณาที่ยาก เพราะ "ดุลพินิจ" เป็นเรื่องเสรีภาพของฝ่ายปกครองตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้นผู้ร้องทั้งสองคนก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องโต้แย้งในเรื่อง "ความไม่น่าเชื่อถือของพยานบุคคล" เป็นสำคัญ

ฉะนั้น ปัญหาจึงมีว่าการใช้อำนาจดุลพินิจอย่างไรจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประกอบขึ้นเป็นการเฉพาะเรื่อง (ดูจากพยานหลักฐาน บุคคล เอกสาร วัตถุ) หลังจากนั้นตรวจสอบการรับฟังได้ และรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ดุลพินิจ เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้ว ต้องยุติ อำนาจดุลพินิจ เป็นอำนาจที่กฎหมายให้แก่ฝ่ายปกครอง โดยบัญญัติให้ฝ่ายปกครอง สามารถเลือกปฏิบัติและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง และภายในขอบเขตแห่งกฎหมายนี้ อาจมีการปฏิบัติหรือตัดสินใจได้หลายอย่าง แต่ละอย่างก็ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น กรณีที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองมีดุลพินิจตัดสินใจ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงแวดล้อมภายนอกด้วย [6] เพราะคำเสนอแนะของนายทะเบียนอำเภอไม่มีผลผูกพันนายอำเภอเลย นายอำเภอสามารถใช้ดุลพินิจตามที่นายทะเบียนอำเภอเสนอแนะมา หรือ ไม่เป็นไปตามที่นายทะเบียนอำเภอเสนอแนะมาก็ได้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างแท้จริง

(5) ปัญหาใหญ่ในการใช้ดุลพินิจตัดสินใจจึงอยู่ที่ปัญหาการชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานบุคคล คือ ซึ่งหากจะเปรียบเทียบการวินิจฉัยคดีในชั้นศาลจะประกอบด้วยการวินิจฉัยในสองส่วนคือ (1) การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ต้องวินิจฉัยด้วยพยานหลักฐาน และ(2) การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ต้องวินิจฉัยด้วยหลักกฎหมาย และ ตามหลักการชั่งน้ำหนักพยานบุคคลนั้น พิจารณาจาก "ความน่าเชื่อถือ" (Credibility) ของคำเบิกความ (Testimony) ของพยานบุคคลที่เบิกความต่อศาล ที่ต้องมี (1) การทดสอบความมั่นคง (Integrity) จากคำให้การในครั้งก่อนๆ (Prior Statement) ตรงกัน หรือ ขัดแย้งกัน และ (2) การชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือ (Weighting) พิจารณาจาก (2.1) การรับรู้(Perception) (2.2) ความจำ (Memory) (2.3) การถ่ายทอด (Narration) และ (2.4) อคติ (Prejudice or Bias) [7]

(6) ซึ่งผู้เขียนขอสรุปว่าในทางปกครองนั้น เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินความถูกต้องของการใช้ "ดุลพินิจ" กล่าวคือ ศาลหรือบุคคลใดก็ตามไม่สามารถที่จะตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองในกรณีนี้ได้แต่ "ศาลปกครองหรือบุคคลใดก็ตามสามารถตรวจสอบได้เพียงความชอบของการใช้ดุลพินิจเท่านั้น" กล่าวคือ หากกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายของฝ่ายปกครองได้กำหนดขั้นตอนไว้แล้ว ฝ่ายปกครองถือปฏิบัติตามขั้นตอนนั้นแล้ว ก็ชอบที่จะมีดุลพินิจในการออกคำสั่งนั้นได้ โดยที่ฝ่ายตรวจสอบต่าง ๆ แทบจะใช้แนวทางอื่นใดมาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบโดย "การชั่งน้ำหนัก" ตามหลักการ "การใช้หลักความได้สัดส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง" หรืออื่นใด

(7) การใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองต้องไม่เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือ โดยไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างชัดแจ้ง เนื่องจาก การที่กฎหมาย ให้อำนาจดุลพินิจแก่ฝ่ายปกครองนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายปกครองใช้วิจารณญาณพิจารณาเลือกสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือเพื่อสั่งการให้เหมาะสมแก่ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในแต่ละกรณี เพื่อประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น หากเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจแล้วย่อมไม่ใช่ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง แต่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย [8] ฉะนั้น หากเป็นการใช้ "ดุลพินิจตามอำเภอใจ" ที่ไม่มีเหตุผลรองรับตามสมควร จึงถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

หากพิจารณาจากระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 115 (2) [9] แล้วนายอำเภอฯ จะมีคำสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการฯได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานเป็น "…พยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลง…" เห็นว่าเป็นประเภท "ดุลพินิจ" ที่ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของพยานบุคคลเป็นหลัก เพราะพยานหลักฐานอื่นไม่มีหรือมีน้อย อาจเรียกได้ว่าเป็น "ดุลพินิจตัดสินใจว่าจะใช้อำนาจหรือไม่ " [10] ถือเป็น "ดุลพินิจโดยแท้" ได้ เพราะเป็นการ "ชั่งน้ำหนักพยานเป็นสำคัญ" ซึ่งโดยปกติแล้ว "...เป็นการกระทำที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ในการใช้อำนาจของหน่วยงานฯ ... โดยปกติย่อมเป็นเรื่องที่ศาลไม่ควรก้าวล่วงเข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้ดุลพินิจโดยแท้ดังกล่าว..." [11]

นอกจากนี้ คำสั่งทางปกครองหรือมาตรการทางปกครองนั้นจะต้องไม่มีข้อบกพร่องในการใช้ดุลพินิจ ในเรื่องต่อไปนี้ (1) การใช้ดุลพินิจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด (2) การไม่ใช้ดุลพินิจ (3) การใช้ดุลพินิจโดยขัดกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และ (4) การใช้ดุลพินิจละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือหลักกฎหมายปกครองทั่วไป [12]

(8) ในประเด็น การขอตรวจดูเอกสารของฝ่ายปกครองโดยการขอคัดสำเนาพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าจะมีประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ร้องเพียงใดนั้น เห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิโต้แย้งทางศาลปกครอง รวมตลอดถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการที่ผู้ร้องจะได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งโดยแสดงพยานหลักฐานต่อฝ่ายปกครอง ผู้ร้องมีสิทธิตรวจดูเอกสารตลอดจนพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวน เพื่อสามารถโต้แย้ง ชี้แจง ป้องกันสิทธิของตนโดยชอบได้ตามกฎหมายตามมาตรา 31 [13] แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มีประเด็นข้อกฎหมายแถมท้ายอยู่เล็กน้อย เกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 27 และ มาตรา 39/1 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่แก้ไขใหม่ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557

(1) ในมาตรา 27 [14] เห็นว่าเป็นการ "ตรวจสอบพิจารณาคำขอหรือคำร้อง" ในชั้นรับคำขอหรือคำร้องเท่านั้น ในกรณีการพิจารณาวินิจฉัยของนายอำเภอฯ เพื่อให้มีคำสั่งทางปกครองให้แก้ไขรายการในทะเบียนประวัติฯ ของผู้ร้องนั้น ได้ผ่านพ้น "ช่วงการพิจารณาเพื่อรับคำร้อง" ไปแล้ว

ตามมาตรา 27 เห็นว่าเป็นการ "ตรวจสอบพิจารณาคำขอ" ในชั้นรับคำขอหรือคำร้อง กล่าวคือเป็นขั้นตอนก่อนการ "รับคำขอ" เพื่อพิจารณาในเนื้อหาฯ ของคำขอเท่านั้น เมื่อผ่านพ้นขั้นตอนการ "รับคำขอ" ไปแล้ว การดำเนินการขั้นตอนต่อไปจะเป็นการ "พิจารณาในเนื้อหาของคำขอฯ"

ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ "คำสั่งไม่รับคำขอหรือคำร้อง" และต่อมาฝ่ายปกครองมีคำสั่งพิจารณาวินิจฉัย "อนุมัติให้รับคำขอหรือคำร้อง" ที่ได้สั่งไม่รับไว้พิจารณา มีประเด็นปัญหาว่า ได้ผ่านพ้น "ห้วงการพิจารณาเพื่อรับคำขอ" ตามมาตรา 27 ไปแล้ว หรือไม่ อย่างไร เห็นว่า ฝ่ายปกครองไม่อาจขอให้คู่กรณีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำขอเสียใหม่ให้ถูกต้อง หรือส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ได้ เพราะไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 27 เนื่องจากได้ผ่านพ้น ห้วงเวลาการยื่นคำขอไปแล้วตามมาตรา 27 แต่ในกรณีจำเป็น ฝ่ายปกครองอาจขอให้คู่กรณีดำเนินการได้ หรือเป็นความยินยอมของคู่กรณีเอง

(ในกรณีพิจารณา "คำขอ" อาจพิจารณาเทียบเคียง "คำขออนุญาต" จาก พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558)

(2) แต่ตามมาตรา 39/1 [15] นั้นมีผู้เห็นต่างในสภาพบังคับว่า ระยะเวลาการพิจารณาเพื่อให้มีคำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองภายใน 30 วันนั้น เป็นระยะเวลาประเภทใด กล่าวคือ เป็นระยะเวลา "บังคับ" หรือ "ระยะเวลาบังคับ" ตามกฎหมาย

(3) ฝ่ายที่เห็นว่า มาตรา 39/1 เป็นระยะเวลา "บังคับ" ให้เหตุผลว่า หลักการตามที่ได้แก้ไขใหม่นี้ เป็นประโยชน์และสร้างความ "เป็นธรรม" ให้ความคุ้มครองแก่ฝ่ายผู้อยู่ใต้ปกครอง เนื่องจากแต่เดิมไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองไว้ ทำให้เป็นภาระแก่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีจะต้องคอยตรวจสอบ เอาใจใส่ติดตามเร่งรัด สอบถาม ฝ่ายปกครองอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทำให้ฝ่ายผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสและเสียเปรียบฝ่ายปกครองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย และเสียเวลาในการตรวจสอบกำกับติดตามทวงถามเร่งรัด การบัญญัติระยะเวลาให้ออกคำสั่งทางปกครองนั้นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จึงเป็น "กฎหมายปิดปาก" ฝ่ายปกครอง ที่ไม่สามารถปฏิเสธระยะเวลาการพิจารณา หรือ ไม่สามารถเลื่อนเวลา หรือขยายเวลาในการพิจารณาออกไปได้เกินกว่า 30 วัน แม้ในข้อเท็จจริงอาจมีกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นก็ตาม เพราะตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในมาตรานี้ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาได้กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน มิฉะนั้นอาจมีการดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ได้ เพราะการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย หากฝ่ายปกครองอ้างเหตุในการขยายระยะเวลาหรือดำเนินการอื่นใดที่มีผลทำให้ระยะเวลาการออกคำสั่งทางปกครองขยายออกไปเกินกว่า 30 วัน ก็เท่ากับว่า การดำเนินการของฝ่ายปกครอง "เป็นการสร้างขั้นตอนเงื่อนไขสร้างภาระที่ไม่จำเป็นขึ้น" อันเป็นการสร้างหลักประกันความเป็นธรรม มีมาตรฐานใหม่ที่ต่ำกว่ากฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองขึ้น ตามมาตรา 3 [16]

(4) ฝ่ายที่เห็นว่า มาตรา 39/1 เป็น "ระยะเวลาเร่งรัด มิใช่ระยะเวลาบังคับตามกฎหมาย" ด้วยเห็นว่ามาตรา 39/1 เป็นเพียง Soft Law คือ เป็นกฎหมายที่ไม่มีลักษณะเป็นการบังคับในตัวเอง เป็นเพียง "กรอบแนวทาง" (Guild line) หรือเป็นเพียง "จรรยาบรรณ" การปฏิบัติ เป็นเสมือนมาตรฐานการปฏิบัติที่เชิญชวนให้ฝ่ายปกครองควรปฏิบัติเพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้มีใช้ทั่วไปในประเทศยุโรป และหากจะให้มีผลเป็น กฎหมายที่มีสภาพบังคับในตัวเองที่เรียกว่า Hard Law เพื่อให้มีบทลงโทษที่เข้มงวดโดยไม่เลือกปฏิบัตินั้น ในระบบกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสต้องมีการตรากฎหมายให้มีลักษณะเป็น "คำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธโดยปริยาย" เท่านั้น กล่าวคือ จะต้องมีการบัญญัติกฎหมายด้วยข้อความเพิ่มเติมต่อท้ายว่า "หากไม่มีการดำเนินการออกคำสั่งตามระยะเวลาที่กำหนด ให้คู่กรณีอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งได้ทันที"

ซึ่งฝ่ายนี้ เห็นว่าระยะเวลาเร่งรัดดังกล่าวข้างต้น หาได้ตัดสิทธิ์คู่กรณีในการร้องต่อศาลปกครองด้วยเหตุ "ละเลยล่าช้า" ตามมาตรา 9 วรรคแรก (2) [17] แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ไม่

เรื่องนี้ยังมีต่อ... ยังจบไม่ได้...



[1] "พยานสมรู้ร่วมคิดในการสอบพยานเพื่อรับรองตัวบุคคลในการแก้ไขรายการในทะเบียนราษฎร", 5 มกราคม 2558, https://www.gotoknow.org/posts/583457&ศิวนุชสร้อยทอง, การรับรองความน่าเชื่อถือของ "พยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิดเพื่อแก้ไขทะเบียนประวัติ ฯ ของนายชนินทร์" : ปลาทอง นักกม.โครงการ4หมอ, 1 มกราคม 2558, https://www.facebook.com/notes/1030676490283094& รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กาญจนจิตราสายสุนทร, "มาช่วยกันพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวกันเถอะค่ะ ...ความพยายามของมวลมิตรเพื่อชนินทร์ค่ะ", 30 สิงหาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/575406

[2] มาตรา 29 เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในการนี้ ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แสวงหาพยานหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง

(2) รับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจง หรือความเห็นของคู่กรณีหรือของพยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่คู่กรณีกล่าวอ้าง เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือยหรือเพื่อประวิงเวลา

(3) ขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากคู่กรณี พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ

(4) ขอให้ผู้ครอบครองเอกสารส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

(5) ออกไปตรวจสถานที่

คู่กรณีต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และมีหน้าที่แจ้งพยานหลักฐานที่ตนทราบแก่เจ้าหน้าที่

พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่เจ้าหน้าที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือทำความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

[3] ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์, "ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง", 16 มิถุนายน 2551, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1229 ฝ่ายปกครองมี "เสรีภาพ" อยู่ 2 อย่างคือ (1) อำนาจดุลพินิจ

(pouvoir discrétionaire) (2) ทฤษฎีว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน (la théorie des circonstances exceptionnelles) ในกรณีหากมีความจำเป็นอย่างใหญ่หลวง หากฝ่ายปกครองต้องปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศ

[4] "หลักควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง"

พันตำรวจเอก อังกูร วัฒนรุ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

[5] ทวีศักดิ์ กลับช่วย และ ดร. พัชรวรรณ นุชประยูร, "การใช้หลักความได้สัดส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง"(Exercising the Principle of Proportionality in Trial of the Cases in the Administrative Court), คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, http://law.nida.ac.th/main/images/Data/LLM/Bell%20Up/IS/IS_Tawesak.pdf

[6] ดูใน "น.565 การกระทำทางปกครองและความรับผิดของฝ่ายปกครอง", http://thaipubliclaw.tripod.com/L565.html

[7] พรเพชรวิชิตชลชัย, บทที่ 17 หลักการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน, ม.ป.ป.

http://www.thethaibar.or.th/thaibarweb/fileadmin/DAM/2555/PDF/Lecture/LectureTerm2/01_phon_phet_wichit_chon_chai/pornpech_17_54.ppt

[8] พันตำรวจเอก อังกูร วัฒนรุ่ง, "ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539", สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, 15 สิงหาคม 2554, พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539, http://www.oic.go.th/content/act/5_2539.pdf

[9] ข้อ 115(2) บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่มีเอกสารราชการมาแสดง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐานแล้วรวบรวมหลักฐานเสนอนายอำเภอพร้อมด้วยความเห็น เมื่อนายอำเภอพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรให้"

[10] เฉลิมศักดิ์ วงศ์ศิริวัฒน์, หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, "ดุลพินิจในการออกคำสั่งทางปกครอง", มปป., http://www.stabundamrong.go.th/web/book/48/b8_48.pdf&

http://www3.excise.go.th/ebook/dep2/Law_regulation%20statute/Law_regulation-24.doc

[11] สำนักงานศาลปกครอง, "ลักษณะคดีปกครอง", http://www.admincourt.go.th/00_web/02_kadee/02_accuse/02_acc08.htm

[12] หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง, 12 กันยายน 2556,

http://oompianglaws.blogspot.com/2013/09/blog-post_12.html

[13] มาตรา 31 คู่กรณีมีสิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงหรือป้องกันสิทธิของตนได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ทำคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น คู่กรณีไม่มีสิทธิขอตรวจดูเอกสารอันเป็นต้นร่างคำวินิจฉัย

การตรวจดูเอกสาร ค่าใช้จ่ายในการตรวจดูเอกสาร หรือการจัดทำสำเนาเอกสารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

[14] "มาตรา 27 ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็นแก่กรณี

เมื่อมีผู้ยื่นคำขอเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครอง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของคำขอและความครบถ้วนของเอกสาร บรรดาที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ หากคำขอไม่ถูกต้อง ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวแนะนำให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้อง และหากมีเอกสารใดไม่ครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบทันทีหรือภายในไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการแจ้งดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้รับคำขอและระบุรายการเอกสารที่ไม่ถูกต้องหรือยังไม่ครบถ้วนให้ผู้ยื่นคำขอทราบพร้อมทั้งบันทึกการแจ้งดังกล่าวไว้ในกระบวนพิจารณาจัดทำคำสั่งทางปกครองนั้นด้วย

เมื่อผู้ยื่นคำขอได้แก้ไขคำขอหรือจัดส่งเอกสารตามที่ระบุในการแจ้งตามวรรคสองครบถ้วนแล้วเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการตามคำขอเพราะเหตุยังขาดเอกสารอีกมิได้ เว้นแต่มีความจำเป็น เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฎและได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งตามมาตรา ๒๐ ในกรณีเช่นนั้นให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยพลัน หากเห็นว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป

ผู้ยื่นคำขอต้องดำเนินการแก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดหรือภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ขยายออกไป เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากผู้ยื่นคำขอไม่แก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำขอต่อไป ในกรณีเช่นนั้นให้เจ้าหน้าที่ส่งเอกสารคืนให้ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ให้ผู้ยื่นคำขอทราบ และบันทึกการดำเนินการดังกล่าวไว้"

(มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557)

[15] "มาตรา 39/1 การออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือในเรื่องใด หากมิได้มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน

ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของเจ้าหน้าที่ ที่จะกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง" (มาตรา 39/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557)

[16] มาตรา 3 วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กำหนดในกฎหมาย

[17] ความเห็น ณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์, ADMIN facebook page :"หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง", "มาตรา 9 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ในเรื่องดังต่อไปนี้

... (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ...

หมายเลขบันทึก: 586629เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท