การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking) โดย...กลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช


นักศึกษาพยาบาลจำเป็นต้องมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เนื่องจากปัญหาผู้ป่วยมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยฝ่ายกายและรวมถึงผู้ป่วยฝ่ายจิต ดังนั้นการสอนทางการพยาบาลจำเป็นต้องใช้กลวิธีการสอนเชิงรุก (Active learning) แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความหมาย

การจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking)

โดย...กลุ่มวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช

กระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่งความเป็นโลกาภิวัตน์ การสร้างความพร้อมของอาจารย์พยาบาลที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายศักยภาพและความสามารถของอาจารย์พยาบาล ที่จะสร้างนวัตกรรมทางการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ให้เกิดขึ้นซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ. ศ. 2545 ได้ปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ เน้นการปรับปรุงหลักสูตรและปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย โดยกำหนดแนวการจัดการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาไว้ในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ดังนี้ 1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 2) ฝึกทักษะกระบวนการคิดการจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา และการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง การคิดและการสอนคิด เป็นเรื่องที่สำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนได้มีคุณภาพการคิดขั้นสูง (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2556) กอปรกับการปฏิบัติงานในวิชาชีพพยาบาล พยาบาลจำเป็นต้องมีทักษะในการคิดแก้ปัญหาและตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยใช้การปฏิบัติการพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (Chan, 2013) การจัดการศึกษาพยาบาลมีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นหนึ่งในการคิดขั้นสูงเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา (Problem solving) และการตัดสินใจทางคลินิก (Clinical decision making) (ลัดดาวัลย์ ไวยสุระสิงห์และสุภาวดี นพรุจจินดา, 2554) อาจารย์พยาบาลจึงควรตระหนักถึงการนำการคิดอย่างมีวิจารณญาณมาใช้เป็นฐานคิด ในการออกแบบจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมกระบวนคิดอย่างมีวิจารณญาณ เนื่องจากกระบวนการคิดนั้นไม่ได้เป็นเนื้อหาที่ครูผู้สอนจะสามารถเห็น และนำไปเป็นแนวทางในการสอนให้ประสบผลสำเร็จได้ง่าย จากสภาพความเป็นจริงของการจัดการศึกษานักศึกษาพยาบาลมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณตํ่ากว่าเป้าหมายที่กำหนด กล่าวคือนักศึกษาพยาบาลมีความสามารถการคิดอย่างมีวิจารณญาณในระดับปานกลาง (ธัญพร ชื่นกลิ่น และวัชรา เล่าเรียนดี, 2555;ทองสุข คำชนะและคณะ, 2548) ดังนั้น หากอาจารย์พยาบาลยังคงใช้วิธีสอนแบบบรรยายหรือแบบดั้งเดิม สอนให้นักศึกษาพยาบาลเรียนรู้โดยการท่องจำให้ขึ้นใจ อาจส่งผลให้ นักศึกษาพยาบาลส่วนใหญ่ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดไม่เป็น และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขาดการใฝ่รู้ และการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า อาจารย์พยาบาลจำเป็นต้องพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักศึกษาพยาบาลให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น นักศึกษาพยาบาล จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจทางคลินิก (Gerdeman, Lux, &Jacko, 2012) ซึ่งประกอบด้วยการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการเข้าใจภาพรวมโดยผสมผสานประสบการณ์และความรู้ที่ได้เรียนมาสู่การปฏิบัติ ตลอดจนความสามารถในการใช้เหตุผลทางคลินิกและการพยาบาลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สำหรับสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา จากเหตุการณ์หลายอย่างรอบๆ ด้านที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีกระบวนการพิจารณ์เหตุการณ์เหล่านั้น โดยใช้ทักษะทางปัญญาในการไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ด้วยการพินิจพิเคราะห์สรุปและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นการคิดที่ดีและมีคุณภาพ เพราะเป็นการคิดอย่างมีทิศทางและมีเป้าหมาย โดยคำนึงเหตุและผลมาประกอบการตัดสินใจและลงข้อสรุปได้อย่างน่าเชื่อถือ การฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ควรจะเริ่มแต่เนิ่นๆ เพราะเป็นการคิดที่พัฒนาได้ โดยผ่านประสบการณ์และการปฏิบัติ (Castledine, 2010 cited in Chan, 2013)

สำหรับการปฏิบัติการพยาบาลในคลินิกนั้น นักศึกษาพยาบาลจำเป็นต้องมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เนื่องจากปัญหาผู้ป่วยมีความซับซ้อนขึ้น ทั้งผู้ป่วยฝ่ายกายและรวมถึงผู้ป่วยฝ่ายจิต ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว และการดูแลที่บ้าน ดังนั้นการสอนทางการพยาบาลจำเป็นต้องใช้กลวิธีการสอนเชิงรุกแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ซึ่งผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ไม่ต้องการเรียนแบบท่องจำที่เป็นการจำจากความรู้เชิงทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ วิธีการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนากระบวนการคิดของ ผู้เรียนและช่วยลดช่องว่างระหว่างความรู้ทางทฤษฎี และการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ทางทฤษฎีที่เรียนมา ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การเรียนโดยใช้แผนที่แนวคิด (concept mapping) การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสะท้อนคิดด้วยตนเอง (self reflection) เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและการปฏิบัติงานของตน การใช้กรณีศึกษา (case study) และอื่นๆ ทั้งนี้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เขียน จะนำเสนอเพื่อที่จะช่วยห้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณได้ดีก็คือการสะท้อนคิด (Reflective thinking)

การสะท้อนคิด (Reflective thinking)

การสะท้อนคิด เป็นกระบวนการตรวจสอบภายในและค้นหาสิ่งที่ตนเองสนใจซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการสร้างและแยกแยะความหมายของสิ่งต่างๆ ออกมาให้ชัดเจน เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองใหม่ และแนวคิดใหม่ (Boyd,&Fales, 1983) ซึ่งการสะท้อนคิดมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับจุดเน้น เช่น การสะท้อนคิดที่เน้นเวลาเป็นหลัก และการสะท้อนคิดที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก มีการนำเทคนิคการสะท้อนคิดมาใช้เป็นกลวิธีในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางคลินิกในหลายสาขาวิชาชีพ รวมทั้งวิชาชีพพยาบาล และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยส่วนใหญ่อ้างอิงแนวคิดและผลงานของ Schon (1983; 1987) ซึ่งได้แบ่งกระบวนการสะท้อนคิดออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การสะท้อนคิดเกิดขึ้นเมื่อนักศึกษากำลังทำกิจกรรมนั้น ๆ (reflection inaction) 2) เกิดขึ้นหลังจากที่นักศึกษาทำกิจกรรมนั้นๆ เรียบร้อยแล้ว หรือกิจกรรมนั้นได้ผ่านไปแล้ว (reflection on action) 3) เกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาเริ่มต้นคาดการณ์หรือวางแผนงานเพื่อเผชิญเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อปรับปรุงหรือทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น (reflection for action)

ทำไมนักศึกษาพยาบาลต้องฝึกการสะท้อนคิด

กระบวนการฝึกฝนการสะท้อนคิด ทำให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นผลลัพธ์โดยตรงของกระบวนการสะท้อนคิด จะดึงประสบการณ์ในเชิงลึก นักศึกษาจะใช้เวลาในการคิดพิจารณา ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ การฝึกสะท้อนคิดสามารถฝึกได้โดยวิธีการเขียน (writing) และใช้วิธีการพูด (verbally) หรือการสนทนา (Interaction) และทำเป็นรายบุคคลหรือทำเป็นรายกลุ่มการสะท้อนคิดด้วยการเขียน ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเข้าใจตนเอง และการสะท้อนคิด (Billings, 2006; Craft, 2005; Daroszewski, Kinser,&Lloyd, 2004) Pedro (2006) กล่าวว่าการเขียนเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียนการสะท้อนคิดที่ช่วยให้นักศึกษาแก้ปัญหาและเรียนรู้เกี่ยวกับว่าเขาจะทำอะไร การเขียนหมายรวมถึงการเขียนสิ่งที่เรียนรู้ เป็นการบันทึกเกี่ยวกับความคิดของเขา เมื่อทำบ่อยๆ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างถาวร เมื่อผู้เรียนเขียนความคิดลงไป ความคิดเหล่านั้นจะถูกจัดรูปแบบ ให้เป็นระบบดีขึ้น การเขียนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้ง

***โปรดติดตามการจัดการเรียนการสอนโดยวิธีการสะท้อนคิด (Reflective thinking) ในตอนที่ 2


หมายเลขบันทึก: 586628เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2015 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

การจัดการเรียนการสอน reflective thinking .มีหลายรูปแบบได้แก่...การสนทนา (Dialogue) ซึ่งเป็นการพูดคุยเพื่อแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างมีโครงสร้าง (Structured Dialogue) โดยมีการเตรียมประเด็นหรือคำถามสำหรับกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างมีเหตุผลและเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อประเด็นนั้นๆ (Wong. et.al.1997: 477-478) การสนทนาอาจทำเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยให้สมาชิกในกลุ่มระบุเหตุการณ์ความคิด และความรู้สึกเพื่อเป็นสื่อเพื่อค้นหากรอบแนวคิดของเรื่อง วิเคราะห์ปัจจัยต่างของการกระทำที่สะท้อน ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของแต่ละบุคคล รวมทั้งอาจระดมสมองเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผลของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ก่อให้เกิดกำลังใจ มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น (อภิภา ปรัชญพฤทธ์. 2547: 64; Davies. 1995: 171-172) การสนทนาในการเรียนการสอนทางการพยาบาล สามารถกระทำได้ตลอดเวลาที่มีการเรียนการสอนในคลินิก เช่น สนทนาระหว่างครูกับนักศึกษาระหว่างให้การพยาบาลผู้ป่วย หรือสนทนาเป็นกลุ่มในการประชุมก่อนและหลังการฝึกปฏิบัติงาน ประเด็นในการสนทนาเกี่ยวข้องกับการสะท้อนการปฏิบัติการพยาบาลที่นักศึกษาได้ให้กับผู้ป่วย เน้นการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและอธิบายเหตุผลของการกระทำ ซึ่งผลพบว่า นักศึกษาสามารถเข้าใจปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถใช้เหตุผลในการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชได้อย่างลึกซึ้งและสามารถพัฒนามุมมองในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมได้ดีขึ้น

การถามคือ การบูรณาการเพื่อพัฒนาไปสู่การคิดไตร่ตรอง (Reflective Thinking) และโครงสร้างกระบวนการคิด ช่วยให้ผู้เรียนได้ไตร่ตรองความเข้าใจของตน และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงการเรียนรู้ การคิด และการสอน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนากระบวนการทางความคิดของผู้เรียน โดยผู้สอนจะป้อนคำถามในลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นคำถามที่ดี สามารถพัฒนาความคิดผู้เรียน ถามเพื่อให้ผู้เรียนใช้ความคิดเชิงเหตุผล วิเคราะห์ วิจารณ์ สังเคราะห์ หรือ การประเมินค่าเพื่อจะตอบคำถามเหล่านั้น

บทบาทของผูสอนในการประเมินและกระตุนผูเรียนในการเขียนสะทอนคิด

ผู้สอนสามารถใชหลักการประเมินเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดแกปญหาและความสามารถในการคิดอยางมีวิจารณญาณของนักศึกษา โดยการสะทอนคิดจะตองมีคุณภาพและครอบคลุมทุกมิติ ตัวอยางเชน สะทอนคิดตามหลักการสรางความรูของคารเปอร (Carper, 1978) ดังนี้

1. Empirical knowing เปนการสะทอนคิดเกี่ยวกับขอเท็จจริง

2. Personal knowing เปนการสะทอนคิดเกี่ยวกับตนเอง

3. Aesthetic knowing เปนการสะทอนคิดเกี่ยวกับความรูดานศิลปะและความงดงาม

4. Ethic knowing เปนการสะทอนคิดเกี่ยวกับความรูดานจริยธรรม

5. Socio-political knowing สะทอนคิดเกี่ยวกับความรูดานสังคม-การเมือง

รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบการพัฒนากระบวนการคิด ด้วยการใช้คำถาม

1. รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบการพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถามที่

สังเคราะห์ จากรูปแบบของครูต้นแบบจำแนกเป็น 3 แบบ คือ

1.1 การจัดกระบวนการคิดโดยใช้คำถามของเบนจามิน บลูม และเดอโบโน

1.2 การพัฒนาความคิด ด้วยวิธีตั้งคำถาม โดยใช้หมวกความคิด

1.3 การพัฒนาความคิดโดยใช้คำถามสร้างสรรค์

2. รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบโฟร์แมทซิสเต็ม (4 MAT'S Learning)

3. รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบการพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์

รูปแบบ การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบการพัฒนากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สังเคราะห์จาก

รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูต้นแบบ จำแนกเป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยวิธีการสืบเสาะและสืบสวนหาความรู้

แบบที่ 2 รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา

แบบที่ 3 รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based

Instruction)

4. รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบการจัด

กระบวนการ เรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่สังเคราะห์ได้จากรูปแบบการสอนของครูต้นแบบ

ประกอบด้วย 4 รูปแบบ ดังนี้

แบบที่ 1 รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ (Constructivism)

แบบที่ 2 รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบซิปปา (CIPPA)

แบบที่ 3 รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

แบบที่ 4 รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยวิธีสตอรี่ไลน์ (Story line method)

5. รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน

6. รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยวงจรพัฒนาคุณภาพ

1. ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบการสะท้อนคิดในการพยาบาล

วิชาชีพการพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่หลากหลาย และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งต้องปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ (Reflective practice or reflection onpractice) จึงมีความสำคัญต่อการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆซึ่งจะช่วยให้เกิดทักษะในการแก้ปัญหาที่ยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งช่วยให้เข้าใจเหตุผลของการปฏิบัติได้ดีขึ้น (Davies, 1995) การฝึกสะท้อนคิดเป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาที่ส่งผลให้มีการปฏิบัติและการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนาที่กล่าวถึงการคิดไตร่ตรองหรือการคิดทบทวนอย่างมีเหตุผล สามารถนำมาใช้เป็นวิธีการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี โดยนักปรัชญาเรียกว่า วิธีแห่งปัญญา การสะท้อนคิดเป็นรูปแบบการคิดที่ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการรับรู้ ความคาดหวัง ความรู้สึกตนเองเกี่ยวกับประสบการณ์ แล้วมีการวางแผนหาแนวทางแก้ไขในอนาคต โดยผ่านกระบวนการพูดหรือเขียน การสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพพยาบาล เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีการเชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติได้ รวมทั้งมีการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ต่างๆได้ (อรพรรณ, 2553) นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้พยาบาลได้เรียนรู้และเข้าใจตนเองมากขึ้น ส่งผลต่อการดูแลผู้รับบริการอย่างเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์และมีความเอื้ออาทรเกิดขึ้น (Lauterbach & Becker, 1998) การนำวิธีการสะท้อนคิดมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน จึงเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมบุคลากรทางการพยาบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนที่มีการปฏิบัติเป็นฐาน (Practice - based Instruction) ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการบริการกับการเรียนรู้ได้ (Service learning) เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและเปิดโอกาสให้วิเคราะห์วิพากษ์ และประเมินสิ่งที่ปฏิบัติ รวมทั้งได้รับข้อเสนอแนะในการปฏิบัติครั้งต่อไป (Eyler, 2002)

ดังนั้นการสะท้อนคิดจึงเป็นทักษะทางปัญญาที่มีความจำเป็นสำหรับบัณฑิตพยาบาลทุกคนเพราะเป็นทักษะที่ช่วยให้พยาบาลรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณรู้จักแก้ปัญหาและพัฒนางานด้วยกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือทั้งนี้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ได้มีการกำหนดให้สถาบันการศึกษาพยาบาลจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาให้เกิดผลการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมถึงทักษะทางปัญญาด้วยเช่นกัน

2. แนวคิดของการสะท้อนคิด(Reflection) การสะท้อน (Reflection) เป็นการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง การสะท้อนคิดแสดงออกถึงความคาดหวัง ความรู้สึก การสื่อสารโดยผ่านกระบวนการพูด หรือ เขียน โดยมีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ วางแผนแก้ไขปัญหา โดยมีผู้ให้ความหมายการสะท้อนคิดดังนี้

2.1 ความหมาย

ดิวอี้ (Dewey, 1933:12) ในงานเขียนเรื่อง "How we Think" ให้ความหมายของการสะท้อนคิดว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดพินิจ พิเคราะห์ ตรึกตรองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดความเชื่อหรือองค์ความรู้ที่ยึดถือกันอยู่ และใช้ความพยายามในการค้นหาคาตอบ โดยอาศัยเหตุผลและข้อมูลอ้างอิง

โนเวลส์, โคล และ เพรสวูด (Knowles; Cole and Presswood.1994 : 8-10) กล่าวว่าการสะท้อนคิดเป็นการใช้กระบวนการพินิจพิเคราะห์ ตั้งคำถามย้อนหลังกลับมายังสถานที่เป็นอยู่อย่างครอบคลุมทุกด้าน 6 แยกให้เห็นปัญหาที่เป็นเหตุผลในการปฏิบัติขณะนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้และส่งผลต่อการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

แยซี (Yancey. 1998) กล่าวว่าการสะท้อนคิดอาจหมายถึงการทบทวนในงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือการประเมินตนเอง หรือ เป็นการวิเคราะห์ การเรียนรู้ ที่เกิดขึ้น

โคลเลน (Colloen. 1996:54) ได้เสนอความคิดเห็นว่า การสะท้อนคิดเป็นปฏิกิริยาของสมองที่สะท้อนสิ่งที่บุคคลนั้นคำนึงถึงอย่างใคร่ครวญ ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อถ่ายโอนความรู้สึกต่างๆ ของตนเองก่อนที่จะสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการพูดหรือการเขียน

จอห์น (Johns. 2000: 34) กล่าวว่าการสะท้อนคิดเป็นกระบวนการคิดไตร่ตรองทบทวน (Reflective Thinking) พินิจพิเคราะห์และพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบโดยใช้สติและมีสมาธิ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้บุคคลได้ทบทวนและสะท้อนการกระทำของตน (Reflective Practice) ช่วยให้เกิดความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงตนเอง ปรับปรุงงาน และการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า การสะท้อนคิดเป็นกระบวนการภายในตัวบุคคลที่มีความซับซ้อน ถือ เป็นการคิดระดับสูง ที่เรียกว่า อภิปรัชญา ซึ่งเป็นการคิดเกี่ยวกับการคิดของตนเอง รวมทั้งสิ่งสำคัญที่มีผลต่อความคิดนั้น

ดังนั้นการสะท้อนคิดจึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ตัวผู้เรียน ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ และวิธีการในการเรียนรู้

2.2 ขั้นตอนของการสะท้อนคิด

กระบวนการเรียนรู้โดยการสะท้อนคิด ของ กิบส์ (Gibbs, 2000) ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนดังนี้

1. การบรรยาย (Description) เป็นการบรรยายว่า อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิด เป็นการบรรยายที่เกิดจากความรู้สึกที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นั้น ๆ

2. ความรู้สึก (feelings) เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยการสะท้อนการคิดจากการสังเกตความรู้สึก และการรับรู้ เรามีปฏิกิริยาอย่างไร หรือรู้สึกอย่างไรกับอุบัติการณ์ สถานการณ์หรือประเด็นแนวคิดนั้น เช่น การขาดความมั่นใจ ความกลัว ความสับสนในการปฏิบัติงาน เป็นต้น

3. การประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินวิเคราะห์ประสบการณ์ร่วมกันว่าเป็นไปในทางดีหรือไม่ดีเกี่ยวกับอุบัติการณ์ สถานการณ์ หรือประเด็นแนวคิดนั้น แล้วนำสิ่งที่คุณให้คุณค่ามาใช้ในการตัดสินใจ

4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์โดยภาพรวม โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการมองว่า สถานการณ์นี้เป็นอย่างไร

5. การสรุป (General conclusions) เป็นการสรุปความคิดรวบยอดจากการวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผล หรือสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้ประสบการณ์เดิมมาช่วยในการสรุป

6. การวางแผนปฏิบัติในอนาคต (Personal action plans) การวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติในสถานการณ์ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตนเอง ถ้าหากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นอีก เราจะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร

2.3 รูปแบบการเรียนการสอนที่การส่งเสริมการสะท้อนคิด
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาล ได้มีการพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมทันสมัย จากการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนโดยตรงมาเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การสอนแบบเน้นปัญหา การสอนเพื่อพัฒนาการคิด รวมทั้งการใช้สื่อต่างๆ ในการเรียนรู้ ศึกษาวิจัยการจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาลในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น ได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการคิดวิเคราะห์ การสะท้อนคิด เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ผู้เรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาและสอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนด

การเรียนการสอนที่จะส่งเสริมให้มีการสะท้อนคิดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียนบันทึก (Journal Writing) การสนทนา (Dialogue) การวิเคราะห์อุบัติการณ์ (Incident Analysis) การอ่านงานเขียนอย่างพินิจพิเคราะห์ (Reading With Reflection) การเขียนบัตรคำ (Talking Cards/ Index Cards) การเขียนแผนผังความคิด (Reflection Mapping) การวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจ (Decision-Making Analysis) การสนทนาโต๊ะกลม (Reflection Roundtables) กระบวนการกลุ่มแบบหมวกหกใบ (Six Hats) นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งบางวิธีใช้สำหรับการสะท้อนคิดในตัวบุคคล หรือการส่องสะท้อนตนเอง (Self Reflection/ Individual Reflection) บางวิธีใช้สำหรับทำเป็นคู่ (Reflection with Partners) หรือทำเป็นกลุ่มเล็ก (Reflection in Small Groups and Teams)

คุณลักษณะของการสะท้อนคิด

1. เป็นวิธีการอย่างเป็นระบบของการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต

2. ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยพิจารณาสิ่งที่เรารู้ เชื่อ และให้คุณค่า อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

3. ช่วยทำให้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของบุคคลมีความหมาย ทำให้ตระหนักถึงความสำเร็จและเกิดความพึงพอใจ

4. เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้รับอย่างมีความหมาย

การสะท้อนคิดเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความรู้ (Knowledge worker) ซึ่งต้องตั้งคำถามที่กระตุ้นการคิดและพัฒนาผลลัพธ์ของงานให้ดีขึ้น

การสะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติ/ทำงาน นาไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติให้ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมความรับผิดชอบส่วนบุคคล (individual accountability) เพิ่มความตระหนักรู้ในตนในสิ่งที่กระทำ และเปลี่ยนจากผู้ปฏิบัติที่มีประสบการณ์น้อยไปเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ (from novice to expert) นอกจากนี้ กระบวนการของการสะท้อนคิดช่วยทำให้เราสามารถเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน (tacit knowledge) ซึ่งบุคคลได้สั่งสมมาจากการปฏิบัติงาน

2.4 ประโยชน์ของการสะท้อนคิด

ประโยชน์ที่ได้จากการนำการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอน

1. เกิดทางเลือกแนวใหม่ในทางปฏิบัติ มีความชัดเจนในประเด็นปัญหาต่างๆ และสามารถพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้

2. มีการปฏิบัติงานอย่างรอบคอบโดยใช้ประสบการณ์มาปรับปรุงตนเอง ได้ เรียนรู้ข้อบกพร่องของตนเองเพื่อนำมาปรับปรุงการปฏิบัติของตนเองให้ดีขึ้น

3. ผู้เรียนสามารถระบุปัญหา และอธิบายการแก้ปัญหาในการปฏิบัติ และให้เหตุผลในการกระทำได้

4. ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความรู้สึก และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม ทำให้ลดความวิตกกังวลในการปฏิบัติการพยาบาลลง

5. ผู้เรียนมีความมั่นใจในตนเองและเกิดความภาคภูมิใจที่เกิดจากการเรียนรู้ของตนเอง

6. สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สอน มีความเข้าใจกันมากขึ้น

7. ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้

8. ส่งเสริมให้เกิดการคิดอย่ามีวิจารณญาณ

9. ทำให้ผู้ปฏิบัติในคลินิกสามารถปฏิบัติได้ใกล้เคียงกับการปฏิบัติในอุดมคติ

10. ช่วยพัฒนาทักษะปฏิบัติของนักศึกษา

11. สอนให้ผู้ปฏิบัติรู้จักรับฟังเสียงสะท้อนภายในตนเอง

2.5 การพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด

การสะท้อนคิดเป็นทักษะทางปัญญาที่อาศัยกระบวนการคิดขั้นสูงที่สามารถพัฒนาได้การพัฒนาทักษะดังกล่าวทำได้โดยการกระตุ้นผู้เรียนในการนำประสบการณ์มาคิดวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ตามลำดับตามขั้นตอนของการสะท้อนคิด และตามวัตถุประสงค์ของการสะท้อนคิดดังนั้นการกำหนดประเด็นหรือการตั้งคำถามที่ช่วยกระตุ้นการคิดถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด เพราะการกำหนดประเด็นคำถามที่ชัดเจนและเรียงลำดับไปตามขั้นตอนของการสะท้อนคิดจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนและส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ

2.6 การเขียนบันทึกสะท้อนคิด

กระบวนการฝึกฝนการสะท้อนคิด ทำให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นผลลัพธ์โดยตรงของกระบวนการสะท้อนคิด จะดึงประสบการณ์ในเชิงลึก นักศึกษาจะใช้เวลาในการคิดพิจารณา ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ การฝึกสะท้อนคิดสามารถฝึกได้โดยวิธีการเขียน (writing) และใช้วิธีการพูด (verbally) และทำเป็นรายบุคคลหรือทำเป็นรายกลุ่ม

การเขียนบันทึกสะท้อนคิด (Reflective Journal) เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้สอนใช้ในการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนรวมถึงกระตุ้นทักษะการสะท้อนคิด บันทึกสะท้อนคิดเป็นเอกสารที่ผู้เรียนเขียนขึ้น เพื่อบรรยายประสบการณ์การเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในระหว่างการเรียนทฤษฏีฝึกปฏิบัติหรือแม้แต่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันบันทึกการสะท้อนคิดถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถของกระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ

การสะท้อนคิดด้วยการเขียน ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเข้าใจตนเอง และการสะท้อนคิด กล่าวว่าการเขียนเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการเรียนการสะท้อนคิดที่ช่วยให้นักศึกษาแก้ปัญหาและเรียนรู้เกี่ยวกับว่าเขาจะทำอะไร การเขียนหมายรวมถึงการเขียนสิ่งที่เรียนรู้ เป็นการบันทึกเกี่ยวกับความคิดของเขา เมื่อทำบ่อยๆ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้อย่างถาวร เมื่อผู้เรียนเขียนความคิดลงไป ความคิดเหล่านั้นจะถูกจัดรูปแบบ ให้เป็นระบบดีขึ้น การเขียนช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างลึกซึ้ง

การเขียนสะท้อนคิด เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคิดจากความพยายามที่จะอธิบายและสื่อสารให้บุคคลอื่นทราบเกี่ยวกับความรู้ และความรู้สึกของตนเองที่มีอยู่ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ในรูปแบบของการบันทึกสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความชัดเจนในความรู้

และการกระทำของตนเอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะเปิดใจในการประเมินตนเอง ส่งเสริมทักษะการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนอาจทำโดยใช้ Portfolio ในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดของผู้เรียนในการมองย้อนถึงการกระทำของตนเองในแต่ละครั้งได้การกำหนดให้ผู้เรียนเขียนสะท้อนคิดในหัวข้อและในระยะเวลาที่กำหนดจะช่วยให้เกิดความคิดที่ต่อเนื่องและคงทน เนื่องจากการการเขียนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพของประสบการณ์ที่ผ่านมาของตนเองได้ชัดเจน มีการผสมผสานความคิดและสะท้อนความคิดของตนเอง สิ่งสำคัญที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ การเขียนสะท้อนคิดทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากการคิดถึงสิ่งที่ผ่านมามาอย่างรอบคอบ การสะท้อนความคิดโดยการเขียนเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการอธิบายแนวความคิดและความเข้าใจในสถานการณ์ มีการแลก

เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้จักตนเองมากขึ้น การเขียนสะท้อนคิดนี้ยังเหมาะกับผู้เรียนที่ไม่ค่อยชอบพูดทำให้นักศึกษาสามารถมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกความคับข้องใจต่างๆที่ได้จากการฝึกปฏิบัติและนำไปสู่การพัฒนาทักษะในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้

2.7 การวัดและประเมินผล

  1. ควรใช้ Authentic assessment ในการประเมิน แต่ควรมีการทำข้อตกลงระหว่างครูและนักศึกษาซึ่งจะต้องมีการกำหนดสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน

2. ประเมินจากการเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยให้เขียนภายหลังการเรียนรู้ในแต่ละวัน หรือ สัปดาห์ ว่าต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม มีปัญหาด้านใดบ้าง ต้องการอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

  1. บทสรุป

การนำแนวทางการสะท้อนคิดมาใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการสอนทางการพยาบาลที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของนักศึกษา ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองและของเพื่อนในกลุ่ม เพื่อก่อ่ให้เกิดความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาและสามารถประยุกต์ทฤษฎีที่ได้เรียนมาสู่การปฏิบัติการพยาบาลได้ การสะท้อนคิดเกิดจากตัวผู้เรียนเองที่รับรู้ข้อมูล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ แล้วจึงนำสถานการณ์นั้นมาคิด วิเคราะห์ใคร่ครวญตามความคิดความเข้าใจของตนเอง ก่อนที่จะบอกต่อผู้อื่นโดยผ่านทั้งทางการพูดและการเขียนวิธีการสะท้อนคิดนี้ จึงเป็นการพัฒนาผู้เรียนทั้งวิธีการคิด และทักษะทางปัญญา เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ ที่จะสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาสาระเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้วิธีการสะท้อนคิดจะได้ผลดีต้องเกิดจากการรับรู้ ความเข้าใจตนเองเป็นสำคัญ มีการสะท้อนที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ในการใช้วิธีการสอนโดยกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิดในผู้เรียนนั้น ผู้สอนบนคลินิกมีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน ด้วยการเป็นแรงเสริม ช่วยเหลือ ประสานงานด้านต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด ใช้ปัญญาเพื่อการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและมีความสุขในการเรียน นำไปสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

กนกนุช ชื่นเลิศสกุล (2544).การเรียนรู้โดยผ่านการสะท้อนคิด:การศึกษาและการปฏิบัติการพยาบาลในคลินิก.วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 9(2), 35-48.

เชษฐา แก้วพรหม (2556). การพัฒนาทักษะสะท้อนคิดของนักศึกษาพยาบาลด้วยการเขียนบันทึกการเรียนรู้ในรายวิชาการสอนและการให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี, 24(2), 12-20.

อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย (2553). การให้คำปรึกษาทางสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Freshwater, D, Taylor, B, & Sherwood, G. (Eds) (2008). International Textbook of reflective

Practice in Nursing. Oxford: Blackwell Publishing & Sigma Theta Tau Press.

Johns, Christopher (2000). Becoming a Reflective Practitioner. London:

Blackwell Science.

Sherwood, G. & Horton-Deutsch, S.(Eds.) (2012). Reflective Practice: Transformimg Eduation

and Improving Outcomes. Indianapolis: Sigma Theta Tau Press.

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/590695

….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/590757

การสะท้อนคิด การให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดออกมาภายหลังที่ผู้สอนจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฎิบัติ ซึ่งอาจจะทำในขั้นก่อนที่จะสรุปบทเรียน หรืออาจจะใช้ในขั้นสรุปบทเรียนโดยตรงก็ได้ เช่น ภายหลังให้ผู้เรียนนำเสนองานหรือกรณีศึกษา ก็อาจใช้คำถามกับผู้เรียนเพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง ถามภายใต้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย อบอุ่นและเป็นกันเอง โดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทีละคน โดยที่ผู้สอนอย่ารีบด่วนสรุป ควรรอ และเป็นผู้ฟังหรืออย่าชี้นำความคิด หรือแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังผู้เรียนจนครบทุกคน อาจพูดคุยในรูปแบบการล้อมวง หรือเป็นกลุ่ม แล้วครูจึงช่วยให้ผู้เรียนช่วยกันสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้ สรุปออกมาเป็นประเด็น จากนั้นผู้สอนค่อยเสริมให้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ หากผู้เรียนหลุดประเด็นสำคัญ ตัวอย่างที่ผู้เขียนใช้การเรียนรู้แบบสะท้อนคิดคือ การ conference case study การสะท้อนภายหลังการทำกิจกรรมกลุ่มบำบัดในผุ้ป่วยจิตเวช

ในช่วงท้ายชั่วโมง ผู้สอนควรจัดเวลาให้มีการสะท้อนคิดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สอนหรือผู้นิเทสอาจต้องยอมเสียเวลาบ้าง เพื่อตรวจสอบว่าภายหลังการจัดการเรียนการสอนผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อะไร ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ด้านความรู้ ด้านอารมณ์ และเจตคติ เชื่อได้ว่าหากผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเขาได้พูดสะท้อนความคิดของเขาออกมาบ้าง เชื่อได้ว่าบรยากาศการเรียนทุกครั้งจะมีความหมายและเกิดประโยชน์สำหรับผู้เรียนอย่างแท้จริง

การเรียนการสอนกับการสะท้อนคิด

เทคนิคและแนวทางการตั้งคำถามการสะท้อนคิด

1.การตั้งคำถามต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์รายวิชา

2.การชี้ประเด็นคำถามให้ชัดเจน

3. การตั้งคำถามนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

การเขียนการสะท้อนคิดควรเขียนตามโครงสร้างลำดับขั้นตอนการสะท้อนคิด เนื่องจากการเขียนตามโครงสร้างนั้นช่วยในเรื่องการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นขั้นตอนของผู้เรียน ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1 เล่าประสบการณ์ที่พบในชีวิต/การฝึกงาน/ชุมชน

ขั้นที่ 2 เหตุการณ์นั้นเราคิด หรือรู้สึกอย่างไร

ขั้นที่ 3 วิเคราะห์ผลกระทบ เชื่อมโยงและตั้งคำถาม

ขั้นที่ 4 วิเคราะห์เหตุการณ์เทียบเคียงกับองค์ความรู้

ขั้นที่ 5 สรุปความรู้ ความเข้าใจใหม่

ขั้นที่ 6 อธิบายแผนการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในอนาคต

ข้อเสนอแนะ/ข้อสังเกตในกระบวนการสะท้อนคิด

  1. หากนักศึกษาตั้งคำถามและตอบคำถามไม่ตรงประเด็น มีแนวทางการช่วยเหลือนักศึกษาโดยการ feedback / confront ให้นักศึกษาได้คิด กรณีที่นักศึกษาไม่สามารถสะท้อนคิดได้ตรงประเด็น แม้ว่าผู้สอนจะ feedback แล้ว ให้ทำกิจกรรมกลุ่มนักศึกษาเพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยกันมอง ร่วมแนะนำและชี้แนะเพื่อน (กระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อนในการตั้งคำถาม)
  2. ผู้สอนไม่ควรนำผู้เรียนแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน แต่ให้เปรียบเทียบกับเกณฑ์
  3. ผู้สอนควรเน้นกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา โดยการ feedback step by step และไม่ควรข้าม step เพื่อตอบ TQF ทักษะทางปัญญา

ประสบการณ์การใช้การสะท้อนคิดกับนักศึกษาพยาบาล

ดร.พอเพ็ญ ไกรนรา


การจัดการเรียนรู้ในวิชาชีพการพยาบาล มีการเรียนรู้ตามสภาพจริงเป็นส่วนใหญ่ สถานการณ์ในวิชาชีพเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้กระบวนการคิด การตัดสินใจ การเลือกและการปฏิบัติที่ต้องการความบกพร่อง ผิดพลาดน้อยที่สุดหรือไม่เกิดขึ้นเลย เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ นักศึกษาพยาบาลจึงต้องมีความแม่นยำในองค์ความรู้ต่างๆ สามารถคิดแก้ไขปัญหาได้ตลอด

การสะท้อนคิด ส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างชัดเจน สะท้อนทั้งความรู้สึก การเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดข้อสงสัย นำไปสู่การค้นคว้าเพิ่มเติม และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์สะท้อนคิดกับนักศึกษาในการฝึกภาคปฏิบัติ รายวิชาปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันการเจ็บป่วย พบว่าในครั้งแรกนักศึกษายังไม่สามารถสะท้อนความรู้สึกได้ในบางคน เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการพูดถึงความรู้สึกกับอาจารย์ และส่วนใหญ่ยังไม่เกิดคำถามและการแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง หลังจากได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ และเพื่อนเกี่ยวกับแนวทางการสะท้อนคิด และประโยชน์ รวมทั้งเห็นตัวอย่างของเพื่อนในกลุ่มที่สะท้อนได้ชัดเจน ทำให้การสะท้อนคิดในครั้งต่อมา นักศึกษาทำได้ดีขึ้น

นอกจากนั้นยังได้นำการสะท้อนคิดมาใช้ในการประเมินผลการฝึกอบรมของนักศึกษาในโปรแกรมพัฒนาสมรรถนะการสร้างเสริมสุขภาพโดยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้เห็นประโยชน์ของการสะท้อนคิดในอีกแง่มุม คือสามารถช่วยสะท้อนความคิด ความรู้สึกของนักศึกษาบางคน ซึ่งไม่ชอบการสื่อสารด้วยการพูด แต่สามารถสื่อสารได้ดีด้วยการเขียน ส่งผลให้อาจารย์สามารถเข้าใจความคิด และการเรียนรู้ของนักศึกษาได้มากขึ้น สามารถดึงประเด็นการเรียนรู้ที่นักศึกษาเขียนสะท้อนมาเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มได้ดีขึ้น

ข้อคิดจากการนำการสะท้อนคิดไปใช้ คือ การพัฒนานักศึกษาซึ่งมีความแตกต่างกันในรูปแบบการเรียนรู้ Learning style ควรใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน การเข้าถึงความรู้สึกของผู้เรียนช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีระหว่าง ผู้สอนและผู้เรียน และการหยิบประเด็นการสะท้อนคิดของผู้เรียนมาขยายผลการเรียนรู้ให้กับกลุ่มมีความสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประสบการณ์การเรียนการสอนที่ตนเองด้รับทั้งในส่วนของภาควิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุแล้วและในส่วนที่ได้ร่วมทีมกับกลุ่มวิชาจิตเวชพบว่า มันคือสิ่งที่ดีสำหรับนักศึกาาแบะผู้สอน การไตร่ตรองการสะท้อนความคิดของตนเอง ประเด็นการทบทวนด้วยการตั้งคำถามเป็นการให้ไตร่ตรองในวันนี้ เวลานี้ ที่เรียนรู้มาคุฯได้อะไร คุฯบกพร่องหรือต้องแก้ไขอย่างไรทั้งคุณต้องทำอย่างไรในอนคตหรือเวลาต่อไปหรือครั้งต่อไปเพื่อให่ได้ผลดีเป็นการวางแผนให้เดินทางตามก้าวบันไดเพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ

จากการนำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบสะท้อนคิดมาใช้กับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ที่ฝึกภาคปฏิบัติรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 1 ณ สถานสงเคราะห์คนชราบ้านศรีตรัง พบว่า ทำให้นักศึกษาได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจครูผู้สอน เข้าใจธรรมชาติของสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป นักศึกษาสามารุถปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองได้จากการสะท้อนคิด ชี้ให้เห็นข้อดีข้อควรปรับปรุงในการปฏิบัติงานต่างๆ นักศึกษาได้มีทักษะทั้งการพูด การเขียน การคิดวิเคราะห์และการนำเสนอเพื่อให้คนอื่นเข้าใจตรงตามที่ตนต้องการ การสะท้อนคิดทำให้นักศึกษาเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงทฤษฏีวิชาการกับการปฏิบัติจริงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

วงจรการสร้างความรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (ไพจิตร สดวกการ, 2538)


เปรียบเทียบการสอนอย่างไตร่ตรองกับการวิจัยในชั้นเรียน

The process of reflective teaching

The action research cycles

จากการศึกษา ๒ ลักษณะเปรียบเทียบกันทำให้มีความเข้าใจว่าการศึกษาแบบ reflective กับการศึกษาวิจัยในชั้นเรียน ดังนั้นถ้าเรานำสองรูปแบบนี้มาใช้ด้วยกันจะทำให้อาจารย์มีการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือได้เป็นวิจัยในชั้นเรียนอีกฉบับที่ได้จากการศึกษานักศึกษาของเราเอง

การจัดการสอนโดยการสะท้อนคิด มักมีหลายครั้งที่เป็นการสะท้อนคิดโดยไม่มีรูปแบบชัดเจน ซึ่งบางครั้งเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น สิ่งที่ควรได้รับจากการสะท้อนคิดคือผู้เรียนได้มีการพัฒนาและงอกงามตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้มากกว่า

ผู้สอนเป็นผู้กระตุนใหนักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรูรวมกัน ผู้สอนต้องสร้างสรางบรรยากาศใหนักศึกษารู้สึกว่าปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็น ในประเด็นต่างๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท