งานถ่ายภาพแต่งภาพที่ เมืองโบราณ


          งานถ่ายภาพแต่งภาพที่ เมืองโบราณ



  ก่อนสิ้นปี ต้องเคลียร์ฮาร์ดดิสค์ เพื่อเอาไฟล์ที่ไม่จำเป็นต้องเก็บในฮาร์ดดิสค์ออกซะบ้าง จึงได้พบว่า มีภาพในช่วงที่ลุงชาติพานศ.ออกไปเรียนนอกสถานที่กันด้วย เป็นภาพชุดที่ ไปเรียนรู้กันที่ เมืองโบราณ สอนแต่งภาพให้นักเรียนหลังจากที่ออกถ่ายภาพมา และสอนเรื่อยมา ไหนๆก็ต้องเอาออกจากฮาร์ดดิสค์แล้ว เขียนมาลงบันทึกไว้ซะเลยแล้วกัน


เป็นการสอนเทคนิคโฟโตชอพและถ่ายภาพเบื้องต้นทั่วไป เช่น การวัดแสง การจัดองค์ประกอบ ถ่ายภาพมาแล้วเปิดใช้โปรแกรมตบแต่งภาพ เป็นต้น ผมจะแทรกข้อมูลความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ที่ได้มาจากข้อมูลโบรชัวร์ตามที่มีให้มาด้วยนะครับ



   มีนัดสอนโฟโตชอพให้กับนักศึกษา “ลุง...วันนี้เรียนนอกสถานที่เหอะ” “เมืองโบราณ.ลุง..เห็นเขาว่าสวย มีที่ให้ถ่ายเยอะ” ผมรีบบอกไปเลย ...เขาเก็บตังนะ ต้องจ่ายค่าเอารถเข้าไปด้วย เจ้าหัวโจกบอกกลับมาเลย ไปเหอะลุง พวกผมจ่ายให้ลุงเอง แถมค่าทางด่วนด้วย ... ชุดแรกนี้เริ่มที่ภาพพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อยุธยา




  พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น เป็นพระที่นั่งที่รวมความเป็นเอกลักษณ์ของอยุธยาเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่ฐาน เสา ลวดลายประดับ ซุ้มพระทวาร พระบัญชร หลังคา และเครื่องยอด พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีและรับแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒พ.ศ.๒๓๑๐ พระที่นั่งองค์นี้ถูกพม่าเผาเหลือแต่ซากฐาน


ภาพชุดนี้นำมาใช้สอนเทคนิค การแก้ไขภาพที่สว่างและมืดเกินไปและนำมาสอนเทคนิคโฟโตชอพเรื่อง เปิดค่ารับแสงผิดพลาด รายละเอียดของภาพขาดหายไป



  เมืองโบราณได้สร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทขึ้น โดยค้นคว้าจากหลักฐานดั้งเดิมที่เหลือทั้งของไทยและต่างชาติ มากำหนดเป็นผังขึ้นและหาหลักฐานจากภาพเขียน ไม้สลัก และโบราณวัตถุสมัยอยุธยาเป็นจุดเริ่มต้น ประกอบกับหลักฐานจากเอกสาร สอบค้นลักษณะภายในของพระมหาปราสาท พร้อมทั้งตรวจสอบหลักฐาน โดยเชื่อมั่นว่าใกล้เคียงกับความจริงแล้ว จึงหาลายประดับต่างๆ สมัยอยุธยาที่เหมาะสมกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของปราสาท ทั้งการประดับตกแต่งภายนอก



  การประดับตกแต่งภายใน เช่น ผนังเป็นลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก ได้แบบมาจากวัดนางพญาที่ศรีสัชนาลัย เพดาน ได้แบบอย่างจากไม้สลักที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย ดาวเพดาน ได้แบบอย่างมาจากวัดมหาธาตุเชลียงสุโขทัยและวัดหน้าพระเมรุ อยุธยา ภายในพระที่นั่งองค์กลางมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง นารายณ์สิบปางตามที่ระบุไว้ในหนังสือหอวังซึ่งเป็นเอกสารสมัยอยุธยา และที่นี้เคยประดิษฐานพระแท่นบรรยงก์สามชั้น หุ้มทองคำประดับพลอยนวรัตน์ แต่พม่านำไปอังวะเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐



  พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท

ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี

บรมราชาภิเษกและรับราชทูต

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช




  ภาพนี้เป็นภาพที่นศ.ถ่ายมา เป็นภาพที่เขาวัดแสงได้ดีมาก แต่การจัดองค์ประกอบขาดๆเกินๆ จึงแนะนำไปใหม่ ลองสังเกตให้ดีๆ นักถ่ายภาพทั่วไป ส่วนใหญ่เห็นอะไรที่สวยงามแล้วอยากถ่ายภาพเก็บไว้ ด้วยความรีบร้อน ท่านยืนถ่ายภาพกันซะจนเคย ภาพนี้เป็นอีกภาพหนึ่งที่นศ.ยืนถ่ายภาพมา ผมจึงแนะนำให้ตั้งกล้องให้ต่ำลง เก็บแนวขอบหน้าต่างให้หมด เก็บเอาภาพที่ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติจากหน้าต่าง ส่วนภาพนี้ผมขอเก็บเอาไว้สอนนศ.ในรุ่นต่อๆไป




  พระที่นั่งจอมทอง อยุธยา


พระที่นั่งจอมทองเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งอยู่ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นสมัยใด ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๖๓-๒๑๗๑) โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่สำหรับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ใช้บอกหนังสือสงฆ์ รูปแบบเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะก่อเป็นตึกเจาะหน้าต่างถี่และย่อมุขเป็นกระเปาะข้างหน้า แบบเดียวกับพระที่นั่งคำหยาดที่อ่างทอง


ดังนั้นพระที่นั่งจอมทององค์เดิมในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงมิใช่องค์นี้สันนิษฐานว่าได้รื้อองค์เดิม แล้วสร้างขึ้นใหม่ในช่วงหลังสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อความใหญ่โตโอ่อ่ายิ่งกว่าเดิม



  หอพระแก้ว


เมื่อครั้งที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีอำนาจแผ่ไพศาลปกครองบ้านเมืองน้อยใหญ่ต่างๆมากมาย และได้นำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเครื่องบรรณาการจากต่างแดนต่างถิ่นมารวมไว้ให้คนได้เคารพบูชา


ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์รวมความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา เมืองโบราณได้สร้างหอพระแก้ว มีลักษณะเป็นหอแปดเหลี่ยม ได้แบบมาจากภาพสลักบนบานประตูตู้พระธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในประดับตกแต่งสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เช่น ภาพพุทธประวัติ ชาดก ไตรภูมิพระร่วง พระพุทธรูปแบบต่างๆ และงานศิลปกรรมอีกหลายแขนง เช่น งานจำหลักไม้ งานประดับมุก ถือได้ว่าหอพระแก้วแห่งนี้ คือสัญลักษณ์ของความเป็นศูนย์กลางทางศาสนา แห่งราชธานีศรีอยุธยาในอดีตนั่นเอง



  เรือสำเภาไทย


ความสำคัญของอยุธยาและกรุงเทพฯ ก็คือการเป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำ ที่เรือสินค้าระยะไกลทางทะเลเข้ามาจอดเทียบท่า ทำให้มีความเจริญเป็นเมืองท่าในการค้าขายและคมนาคมนานาชาติ นอกจากการเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักร ทั้งอยุธยาและกรุงเทพฯ ยังมีการสร้างเรือเดินทะเล ที่นำสินค้าของไทยไปขายยังดินแดนโพ้นทะเลด้วย


เรือที่เห็นนี้คือ เรือสำเภาไทยโบราณ ที่เคยจอดเทียบท่าอยู่ตามริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากน้ำมาจนถึงกรุงเทพมหานคร



  ศาลารามเกียรติ์


ศาลาห้าหลังนี้ เป็นศาลาโถงที่สร้างขึ้นกลางหนองน้ำ เพื่อเป็นที่พักร้อนและประกอบพิธีกรรมในงานนักขัตฤกษ์ เรียกว่า ศาลารามเกียรติ์ เพราะมีภาพรามเกียรติ์เขียนประดับไว้


รามเกียรติ์ เป็นวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ ที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมาจากอินเดีย แก่นแท้ของวรรณกรรมเรื่องนี้ ก็เพื่อเชิดชูพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ ที่ต้องทรงประพฤติเสมือนเทพเจ้าบนพื้นพิภพ ในการขจัดยุคเข็ญให้แก่โลก และจรรโลงคุณธรรมของสังคม


ถ่ายภาพนี้มาเพื่อใช้สอนในเทคนิค โฟโต้ชอพ...Wonderful Color



เรือนต้น


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเรือนต้นภายในพระราชวังดุสิตกรุงเทพฯ ลักษณะเป็นเรือนไทยฝาปะกนแบบเรือนหมู่มีนอกชานปูแล่นถึงกันโดยตลอด จากการที่รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดการเสด็จประพาสส่วนพระองค์ไปตามต่างจังหวัด โดยแต่งองค์เป็นราษฎรสามัญ เพื่อจะได้ทรงตรวจตราความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างใกล้ชิด เรียกว่าประพาสต้น ระหว่างที่เสด็จประพาสต้น เครื่องใช้ส่วนพระองค์และผู้ที่พระองค์ท่านรู้จักโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อแล้วตามด้วยคำว่าต้น และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนแบบสามัญที่ราษฎรอยู่กันเรียกว่าเรือนต้น


ภาพชุดนี้นำมาใช้สอนเทคนิค การแก้ไขภาพถ่ายเมื่อตั้งค่าไว้ท์บาล๊านซ์ผิด



  พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กรุงเทพฯ


พระที่นั่งองค์นี้เป็นท้องพระโรงว่าราชการที่ประทับ และที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๓๓๒ เป็นปราสาททรงจตุรมุข สูงใหญ่เท่ากับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ในครั้งพระนครศรีอยุธยา นับเป็นปราสาททรงไทยแท้ที่เหลือสมบูรณ์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ ๓(พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔)โปรดเกล้าฯบูรณะทั้งหลัง ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่๑จึงลบไปสิ้น



  เมืองโบราณสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยสรุปผลมาจากการค้นคว้าหลักฐานจากรูปภาพ จดหมายเหตุ พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ทั้งได้สร้างเสาหานรับยอดกลางปราสาท ซึ่งถูกตัดออกไปในสมัยรัชกาลที่๖ ให้เหมือนดังแต่ก่อน ภายในพระที่นั่งมีภาพเขียนลายรดน้ำ ระหว่างช่องหน้าต่างเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่ได้แบบอย่างมาจากวัดนางนอง ธนบุรีสำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนัง เมืองโบราณได้เขียนภาพเรื่องพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่๑ ทั้งด้านการปกครองการศาสนาการสงคราม และการติดต่อกับต่างประเทศ เพื่อรักษาศิลปะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างวิธีโบราณ เพราะวิธีเขียนภาพแบบนี้ไม่ค่อยมีใครเขียนมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ แล้ว


ภาพชุดนี้นำมาสอนเทคนิคโฟโตชอพเรื่อง “เปิดค่ารับแสงผิดพลาด รายละเอียดของภาพขาดหายไป”



  ศาลาร้องทุกข์ สุโขทัย


สมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงใกล้ชิดกับประชาชน ประชาชนเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพ่อขุน ทรงมีเวลาว่างพอที่จะสั่งสอน ดูแลทุกข์สุข และตัดสินคดีความให้ความยุติธรรมด้วยพระองค์เอง


เมืองโบราณ สร้างศาลาร้องทุกข์ขึ้น เป็นศาลาโถงทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเกร็ดปั้นลม ได้เค้าจากสังคโลกสมัยสุโขทัย ประตูทำแบบโดรณตามลักษณะเสาประตูค่ายที่เก่าสุด พร้อมกับแขวนกระดิ่งไว้หน้าประตู



  ออกมาจาก ศาลาร้องทุกข์ พบงานแกะสลักไม้ ดูเหมือนชำรุด ช่างเอาตะปูตอกยึดไว้คร่าวๆ ไม่รู้ตอนนี้ สภาพจะเป็นอย่างไรแล้ว



เทวโลก The Garden of the Gods


ภายในอุทยานเทวโลก ประดิษฐานประติมากรรมสำริดรูปเทพเจ้าต่างๆในลัทธิฮินดู ซึ่งอยู่ในระบบความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนไทยมานาน ทั้งนี้เพราะเทพเจ้าเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับศาสนา และวรรณคดีของคนไทยมาแต่โบราณ


พระอังคาร ทรงกระบือ เทพแห่งสงคราม



  เทพเจ้าประจำวันอาทิตย์

สุริยเทพ หรือ พระอาทิตย์

ประทับรถเทียมม้า 7 ตัว



  พระอิศวร และ พระอุมา

ศาลาพระอินทร์ กลางสระน้ำของอุทยานเทวโลก



  เมืองโบราณ หรือ Ancient City เป็นสถานที่ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นที่รวบรวมสถาปัตยกรรมที่สำคัญๆ ของไทย มากมายหลายแห่ง มาสร้างจำลองไว้ในพื้นที่เดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า เที่ยวเมืองโบราณที่เดียวเหมือนได้เดินทางท่องเที่ยวทั่วไทย การสร้างจำลองสถาปัตยกรรมต่างๆ ของไทย ซึ่งอาจจะจำลองให้ขนาดเล็กลงบ้าง หรือเท่าจริงบ้าง ทำให้ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มาก

 


  การเที่ยวเมืองโบราณ ด้วยวิธีที่นิยมมากอย่างหนึ่งก็คือการปั่นจักรยาน ซึ่งมีบริการอยู่ที่ทางเข้าเมืองโบราณ อีกวิธีหนึ่งคือรถบริการนำเที่ยวของเมืองโบราณซึ่งสามารถจุผู้โดยสารได้หลายคน การชมสถานที่ต่างๆ อย่างละเอียดทุกๆ สถานที่อาจจะชมได้ไม่หมดภายในเวลา 1 วัน


สำหรับการมาถ่ายภาพกันวันนี้ เลือกวิธีขับรถเข้าไปเอง เพราะมีอุปกรณ์ถ่ายภาพกันมาทุกคน วันนี้ผมต้องอยู่กับแก้งค์นี้ตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนถึงเย็น ปกติสอนเก้าโมง เสร็จไม่เกินเที่ยง...ใครอยากเป็นครูสอนพิเศษแบบนี้บ้าง...ยกมือขึ้น



  วันนี้ขอจบเรื่องราวการมาฝึก

ถ่ายภาพและตบแต่งภาพ

ชุด เมืองโบราณ ไว้เพียงเท่านี้



ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจที่ดีเสมอมา

ขอขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ



หมายเลขบันทึก: 579269เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

...สวยงามประทับใจมากๆทุกภาพ...แถมภาพสุดท้ายน่ารักมากค่ะ

ชอบใจหลายภาพ

แต่ชอบภาพพระอังคาร ภาพผีเสื้อมากครับ

สนใจเทคนิคการถ่ายภาพสถานที่แบบนี้

ได้เรียนรู้เรื่องแสง สี เงาด้วย

ขอบพระคุณมากๆครับ

ชอบภาพเรือโบราณ สวยมากค่ะ

ไม่ได้เป็นครู แต่อยากเป็นนักเรียน

ต้องทำอย่างไรครับ   ^_^

Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

...สวยงามประทับใจมากๆทุกภาพ...แถมภาพสุดท้ายน่ารักมากค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์สำหรับคำชมครับ

ขจิต ฝอยทอง

ชอบใจหลายภาพ

แต่ชอบภาพพระอังคาร ภาพผีเสื้อมากครับ

สนใจเทคนิคการถ่ายภาพสถานที่แบบนี้

ได้เรียนรู้เรื่องแสง สี เงาด้วย

ขอบพระคุณมากๆครับ

สวัสดีครับอ.ขจิต

ดีใจที่อาจารย์ชอบครับ

หวังว่าสักวันคงได้มีโอกาสถ่ายภาพด้วยกันกับอาจารย์นะครับ

ขอบคุณครับ

เพ็ญศรี(นก)

ชอบภาพเรือโบราณ สวยมากค่ะ

สวัสดีครับคุณเพ็ญศรี

ดีใจจัง

ขอบคุณมากครับ

K_Somboon

ไม่ได้เป็นครู แต่อยากเป็นนักเรียน

ต้องทำอย่างไรครับ ^_^

สวัสดีครับ

แจ้งมาทางเมล์มาคุยกันได้ครับ

ส่งเมล์มาที่ลุงชาติ

คลิกไอคอนรูปซองจดหมายที่ด้านบนของบันทึกที่มีคำว่า ติดต่อ ครับ

ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่แบ่งปันนะครับ

ผมค่อยๆซึมซับเอาทีละนิดก็พอใจแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท