ปฏิรูปประเทศไทย ไปพบหน่ออ่อนที่จังหวัดตรัง


 

          ที่จริงผมไปพบมาก่อนแล้วที่ จ. สตูล ตามที่เล่าแล้วที่ ,    คราวนี้วันที่ ๘ - ๙ ก.พ. ๕๗ ไปพบที่จังหวัดตรัง ในโครงการเดียวกัน คือ  โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเอง ส่วนของจังหวัดตรัง  

          วันที่ ๘ ก.พ. เราลงพื้นที่ ต. เกาะสุกร  อ. ปะเหลียน ไปเยี่ยมชมโครงการเกษตรชาวเกาะ ที่มีจ๊ะหนา เป็นหัวหน้าโครงการ

          สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดคือคำพูดของจ๊ะหนาตอนท้ายของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. ซึ่งเลยกำหนดเวลาจบรายการไปแล้วครึ่งชั่วโมง    “ที่พูดกันว่าที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้ประชุมปรึกษา หารือกันเองนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีการประชุม    แต่ในการประชุมก่อนๆ นั้น เขาเรียกชาวบ้านมาประชุมเพื่อฟัง สิ่งที่เขาพูด    ต่างจากการประชุมคราวนี้ที่ผู้ใหญ่มาฟังสิ่งที่ชาวบ้านพูด    ให้พวกเราได้พูดกัน ได้คิด และตัดสินใจทำเอง” 

          ผมตีความว่า โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล สนับสนุนให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นดำเนินการในพื้นที่ชายทะเลจังหวัดสตูล ตรัง และระนอง นั้น มีเป้าหมายใหญ่ คือการปฏิรูปประเทศไทย   ในสภาพที่ชาวบ้านหรือผู้คนในท้องถิ่นมีความสามารถ ในการรวมตัวกันเพื่อการเรียนรู้จากการประกอบสัมมาชีพ หรือจากการดำรงชีวิต    เกิดสภาพ ชุมชนเรียนรู้ในทุกหย่อมหญ้า หรือทุกพื้นที่ในประเทศไทย

          เพื่อกระจายอำนาจทางการเมือง   

          คณะกรรมการกำกับทิศทางของโครงการนี้ลงพื้นที่เพื่อไปเป็นกำลังใจให้แก่ชาวบ้านและพี่เลี้ยง    ที่ร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ของชาวบ้าน    ซึ่งในกรณีของ ต. เกาะสุกร ทำเรื่องเกษตรชาวเกาะ    ซึ่งหมายถึงการฟื้นฟูการทำนา และพัฒนาการปลูกผักปลอดสารพิษ

          ทีมงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แนะนำชาวบ้านในโครงการให้เรียนรู้จากข้อมูล    ให้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล    เราจึงไปเห็นข้อมูลการทำนาของชาวบ้านประมาณ ๑๒๐ ครัวเรือน ในฤดูกาลทำนาปี ของปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ อย่างละเอียดน่าชื่นชมแกมตกใจ ว่าทำได้ละเอียดถึงขนาดนั้น    และผมดีใจที่ได้ยินว่า มีการไปชวนครูและนักเรียนมาร่วมดำเนินการด้วย    ในการประชุมวันนี้มีเยาวชน ระดับชั้นประถมมาร่วมด้วยประมาณ ๑๐ คน   โดยที่จริงๆ แล้วมีนักเรียนระดับมัธยมเข้าร่วมทำนาทุกขั้นตอน ๑๖ คน  

          แกนนำชาวนาที่เกาะสุกร ไปเรียนรู้วิธีทำนาปลอดสารพิษจากมูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี และจากจังหวัดนครนายก    เอาความรู้มาดำเนินการพัฒนาวิธีทำนาของตน ในหลากหลายด้าน ได้แก่ การตั้งกองทุนชาวนา  กลุ่มนาอินทรีย์  กลุ่มปุ๋ยหมัก  กลุ่มซอ  เยาวชน   ผู้ทดลองคันนา  และกลุ่มพันธุ์ข้าวใหม่

          กลุ่มซอ (แปลว่าลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว) ได้รับความสนใจมาก    เพราะสามารถฟื้นประเพณีดั้งเดิม ที่เกือบจะสูญหายไปแล้วขึ้นมาใหม่    โดยที่ผู้คนเห็นประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนแรงงานชัดเจน    เพราะไม่ใช่ได้ แค่แรงงาน แต่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และกระชับสัมพันธ์กันด้วย    เรื่องนี้ อ. พฤฒ ยวนแหล (แห่ง มอ. ตรัง)  กับผมเห็นพ้องกันว่า เป็นประเด็นวิจัยเชิงสังคมได้

          ที่จริงผมเห็นประเด็นวิจัย ที่มหาวิทยาลัยสามารถเข้ามาวิจัยต่อยอดความรู้ปฏิบัติของชาวบ้านได้มากมาย 

          และทีมพี่เลี้ยง (learning facilitator) ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ก็สามารถเข้าไปช่วยหนุน ให้ชาวบ้านเรียนรู้จากการปฏิบัติได้มากมาย     เพราะที่เราไปเห็น ชาวบ้านยังนำเสนอข้อมูลโดยตีความผิดๆ    เช่นตีความตัวเลขการทำนาที่ได้ผลผลิต ๒๙ ถัง/ไร่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖    ว่ามากกว่าของปี ๒๕๕๕ ที่ได้ ๒๘ ถัง/ไร่    เราไปเห็นความจำเป็นหรือโอกาสของการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเรียนรู้ของชาวบ้าน ในหลากหลายจุด หลากหลายประเด็น

          นี่คือการเดินทางลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ของผม    ภายใต้อคติความเชื่อ ว่าการปฏิรูปประเทศไทยที่แท้จริง อยู่ที่ชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ     ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเอง ในทุกๆ ด้าน    โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติ ในการประกอบสัมมาชีพ    รวมตัวกันเรียนรู้ โดยมี KM เป็นเครื่องมือ    ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการฝึกพี่เลี้ยงการเรียนรู้ของชาวบ้าน ที่เรียกว่า “คุณอำนวย” (KM facilitator)    ให้มีทักษะในการสนับสนุนการเรียนรู้ของชาวบ้าน

           ที่เกาะสุกร เราไปเห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ    ที่ผมเชื่อมานานแล้วว่า มันมีส่วน ทำลายความริเริ่มสร้างสรรค์ ความขยันขันแข็ง และศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของคน ในพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์นั้น    เพราะไม่ต้องดิ้นรน ก็มีชีวิตอยู่ได้สบาย

          จึงเกิดประเด็นว่า เราจะใช้อะไร เป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่า เราจะสบายใจอยู่ใน comfort zone ไม่ปฏิรูปประเทศไม่ได้แล้ว    แล้วก็คิดออก เพราะในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีครูผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าตนไป ชุมนุมกับลุงกำนันถึงเดือนเศษ   

          ผมจึงรู้สึกขอบคุณ ดร. ทักษิณ ที่เดินหมากการเมืองเรื่องการกลับประเทศของตนเองด้วย พรบ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย    ตามมาด้วยความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของรัฐบาลทักษิณ ที่น้องสาวเป็นหุ่นเชิด    ผมคิดว่า วิกฤติการเมืองครั้งนี้ น่าจะเป็นตัวปลุกชาวบ้าน ให้ลุกขึ้นมาสร้างความเป็นตัวของตัวเอง    ลุกขึ้นมาเรียนรู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการปกครองตนเองของประชาชน    ไม่ใช่ยกให้นักการเมืองชั่ว ที่โกงกิน เป็นผู้แทนเข้าไปโกงกินบ้านเมืองอย่างไรก็ได้    คนไทยน่าจะได้สำนึกนี้ จากวิกฤติการเมืองครั้งนี้

          วันอาทิตย์ที่ ๙ ก.พ. ทีมของเรามีท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รศ. ดร. ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล)    รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย รศ. ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล    และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ไปร่วมเยี่ยมชื่นชมด้วย    โดยไปเยี่ยมอีก ๓ โครงการ    สถานที่แรกที่เราไปเยี่ยมคือบ้านหาดยาวเจ้าไหม  อ. ปะเหลียน    เพื่อเยี่ยมชม โครงการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกของกลุ่มสตรีบ้านหาดยาวเจ้าไหม     

          หลังจากฟังเรื่องราวจากทีมงานชาวบ้านหลากหลายปาก ที่เตรียมตัวมาอย่างดี     มีการเตรียมข้อมูล และทำแผนผังเพื่ออธิบายอาชีพตามฤดูกาลของชาวบ้าน    ซึ่งมี ๒๐๒ ครัวเรือน  ๖๑๓ คน    มีอาชีพประมง (เรือประมง ๖๐ ลำ)  กับทำธุรกิจเรือโดยสารไปเกาะลิบง (๒๐ ลำ)    ในส่วนธุรกิจเรือโดยสารนี้ชาวบ้านเขาบอกว่า อาชีพรับจ้าง    แต่ผมคิดว่าเป็นอาชีพธุรกิจเรือโดยสารมากกว่า     และชาวบ้านควรได้เรียนรู้วิธีทำธุรกิจนี้ ให้มีคุณภาพ ตามความพึงพอใจของลูกค้ามากขึ้น    ซึ่งแปลว่า ชาวบ้านน่าจะเรียนรู้โอกาสทางอาชีพ ที่เกิดจากพื้นที่นี้เป็นเส้นทางผ่านไปสู่เกาะลิบงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมสูง 

          เราไปเรียนรู้ “เรื่องราวระหว่างบรรทัด” ที่เป็นเรื่องการเมืองลึกๆ ในพื้นที่    และไปเห็นโอกาสที่พี่เลี้ยง ของโครงการ จะได้ฝึกโค้ชการเรียนรู้ของชาวบ้าน ให้คิดเป็น ทำการค้าเป็น    เพราะเขายังขายปลาหลังเขียวแห้ง (เค็มหรือหวาน) ในราคาถุงละ ๒๐ บาท (๑๔ - ๑๕ ตัว)    แต่ถ้าซื้อเป็นกิโล ขายกิโลละ ๒๐๐ บาท (๑๐๐ ตัว)    คือยังขายปลีกถูกกว่าขายส่งอยู่

          ตอนบ่าย เราไปที่ อบต. คลองชีล้อม  อ. ปะเหลียน    แดนสวนยาง ที่ตอนนี้ใบร่วงหมด     เราคุยกันว่า หากเราไปเร็วสัก ๑ - ๒ สัปดาห์ จะได้ชมใบไม้สีทองสวยงามมาก    ที่นี่ เรารับฟังการนำเสนอเรื่องราวโครงการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน ของ ๒ ชุมชนที่แตกต่างกัน คือ ชุมชนคลองชีล้อม กับ ชุมชนบ้านในทอน

          ชุมชนคลองชีล้อมเป็นตำบล มี ๑,๑๕๐ ครัวเรือน    อาชีพหลักคือทำสวนยาง  ประมงชายฝั่งเป็นอาชีพรอง คือมีคนทำอาชีพนี้ ๖% มีเรือ ๖๔ ลำ    รายได้จากการประมงทั้งหมด ๑๔ ล้านบาทต่อปี     เขามีป่าชายเลนที่สมบูรณ์มาก พื้นที่ ๗,๕๐๐ ไร่   ที่มีคนนอกชุมชนเข้ามาลักลอบใช้ จึงต้องการ หาวิธีอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน    โดยทำเป็นป่าชุมชนที่มีการออกกฎระเบียบ และควบคุมการใช้

          ชุมชนบ้านในทอนเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน คือ หมู่ ๑๑   แต่มีพื้นที่กว้างขวางถึง ๑๓,๐๐๐ ไร่   โดยเป็นป่าชายเลนถึง ๑๒,๐๐๐ ไร่   มีคน ๑๒๐ ครัวเรือน  ๕๑๕ คน   คนในหมู่บ้านออกไปทำงานข้างนอก เกือบทั้งหมด    ทำมาหากินในพื้นที่เพียง ๑๐ ครัวเรือนเท่านั้น    กลุ่มนี้ต้องการพัฒนาวิธีเลี้ยงปู (ทะเล) และเลี้ยงสาหร่าย สำหรับเป็นอาชีพ

          ผม AAR กับตัวเองว่า ความคิดสร้างสรรค์ของคนเรานั้น ต้องการโอกาสได้เห็นโลกกว้างด้วย    การเลือกโจทย์มีความสำคัญมาก  ต่อโครงการเพื่อยกระดับความสามารถในการจัดการตนเองของชุมชน     แต่ผมสังเกตเห็นว่า    ในหลายกรณี ทีมชาวบ้านยังขาดประสบการณ์ในการคิดนอกกรอบ และตั้งโจทย์ ออกไปนอกความเคยชินเดิมๆ    ซึ่งผมเดาว่า ส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการขาดโอกาสไปเห็นตัวอย่างที่อื่นๆ     ผมจึงคิดว่า ในโครงการแบบนี้ การจัดให้แกนนำชาวบ้าน เดินทางไปดูงานกิจการของชุมชนอื่น ที่ดำเนินการจัดการตนเองได้ผลดีในระดับที่น่าชื่นชม    น่าจะมีส่วนช่วย กระตุ้นความคิดนอกกรอบ และความคิดสร้างสรรค์  

          ตอนนั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพ ผมจึงเสนอความเห็นต่อ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ว่า การจัดให้ แกนนำชุมชนไปดูงานการพัฒนาเรื่องที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่อื่น   น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการคิดนอกกรอบ ให้แก่ชาวบ้าน

          วันที่ ๑๔ - ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗ เราจะไปเยี่ยมชื่นชมความก้าวหน้าของโครงการ ส่วนของจังหวัดระนองครับ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 563651เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2014 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2014 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท