ไปเห็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตตัวจริง ที่สตูล


 

          วันที่ ๑๗ - ๑๘ ม.ค. ๕๗ ผมร่วมเดินทางไป จ. สตูล กับทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น    ตามที่เล่าแล้วในบันทึกของวันที่ ๕ ก.พ. ๕๗   

          นอกจากไปพบแหล่งทำงานเชื่อมโยงสังคม ของมหาวิทยาลัยตามที่ได้บันทึกไว้แล้ว    ผมยังไปพบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวจริง    ที่กระทรวงศึกษาธิการไม่เข้าใจ    เพราะมัวหลงผิดว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องจัดโดยหน่วยงานของการทรวงศึกษาธิการเท่านั้น

          การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องแนบแน่นอยู่กับการดำรงชีวิตตามปกติ ของผู้คน    ไม่ใช่แปลกแยกออกไป อย่างกิจกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ    ที่เน้นการสอนวิชา

          การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องอยู่ในการปฏิบัติของชาวบ้าน    ไม่ใช่อยู่ที่การสอนของครู หรือวิทยากร    ปฏิบัติแล้วสังเกตหรือวัดผล    และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    โดยมี “พี่เลี้ยง” หรือ “คุณอำนวย” ช่วยจัดกระบวนการ    จัดให้มีการจดบันทึก    เพื่อต่อยอดความรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ 

          ชาวบ้านพูดเอง ว่าเมื่อก่อนมีโครงการเข้ามา เขาไม่ได้เรียนรู้ มุ่งทำตามข้อกำหนดของโครงการเท่านั้น    โครงการเสร็จก็จบ ชาวบ้านได้เรียนรู้น้อยมาก    แต่โครงการ“สร้างชุมชนบริหารจัดการตนเอง” นี้ ต้องการให้ชาวบ้านร่วมกันคิดเอง    วางเป้าหมายเอง เก็บข้อมูลเอง และร่วมกันวิเคราะห์ ใช้ข้อมูล    ทำให้ได้ความรู้มาก

          ผมฟังแล้ว นึกถึงเมื่อเกือบสิบปีก่อน ไปฟังนักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี นำเสนอผลการเรียนรู้จากแปลงนาของตน   ตอนนั้นฟังสำเนียงสุพรรณ คราวนี้ฟังสำเนียงปักษ์ใต้    แถมยังมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้วิธีทำนาปลอดสารพิษมาจาก มขข. ด้วย     จะเห็นว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวบ้าน ต้องรู้จักแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มของตนเอง และเรียนรู้ “ความรู้ปฏิบัติ” (tacit knowledge) จากคนที่ทำมาหากิน หรือดำรงชีวิตแบบเดียวกัน 

          และยังต้องรู้จักเรียนรู้จากหน่วยงานราชการในพื้นที่ด้วย     ในที่ประชุม ชาวบ้านจะเอ่ยถึงสำนักงาน ป่าชายเลนที่ ...  หลายตัวเลข ตามพื้นที่ของตน ที่ตนไปขอเรียนรู้ หรือขอความช่วยเหลือ

          การเรียนรู้ตลอดชีวิต ตนเองเป็นผู้กำหนด และดำเนินการ    ตัวช่วยสำคัญคือการรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการจดบันทึก มีการเก็บ วิเคราะห์ และใช้ข้อมูล    ตัวช่วยที่ ๒ คือ “คุณอำนวย”    ตัวช่วยที่ ๓ คือ แหล่งเรียนรู้ ทั้งจากพื้นที่ และแดนไกล    

          ตัวช่วยไหนๆ ก็ไม่เท่าความมั่นใจในตนเอง มุมานะที่จะเรียนรู้ต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

           คณะของเราไปนั่งฟัง เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจแก่ชาวบ้าน ว่าดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ตลอดชีวิตของตน มาถูกทางแล้วการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนไม่ว่าในบริบทชาวบ้านหรือชาวเมือง    เป็นการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (adult learning)    ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ ดังนี้

๑. มีประสบการณ์ หรือลงมือทำ ด้วยตนเอง (concrete experience)

๒. มีการสังเกตหรือตรวจสอบผล แล้วทบทวนไตร่ตรอง (reflection)

๓. เกิดเป็นหลักการ ที่เป็นนามธรรม (forming abstract concepts)

๔. นำไปทดสอบหรือใช้ในสถานการณ์ใหม่ (testing in new situations)

 

          คนที่เป็นชาวบ้าน ต้องการพี่เลี้ยง ช่วยให้คำยืนยันแนวทางใหม่ๆ ของตน ว่าดำเนินไปถูกทางแล้ว    ด้วยการร่วมกันตีความผลที่เกิดขึ้น    ตามขั้นตอนที่ ๒   เพื่อเคลื่อนไปสู่หลักการที่เป็นามธรรม ในขั้นตอนที่ ๓   สำหรับให้ชาวบ้านนำไปทดลองใช้ในสถานการณ์ใหม่    เกิดวงจร 1-2-3-4 วงจรใหม่    เรื่อยไปไม่รู้จบ

          ที่ผมไปเห็นที่สตูล  ชาวบ้าน   (๑) บ้านหลอมปืน  ม. ๑๔  ต. ละงู  อ. ละงู  ทำโครงการจัดการพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย ในหลากหลายมิติ   รวมทั้งการพัฒนาคน   (๒) สภาองค์กรชุมชน ต. ขอนคลาน  อ. ทุ่งหว้า ทำโครงการจัดการพื้นที่ทางทะเล    ร่วมกับภาคีในพื้นที่อย่างกว้างขวาง    มีการเก็บข้อมูลด้วย GPS   และข้อมูลด้านรายได้ รวมแล้วชาวบ้านตกใจมาก    เพราะรวมแล้วได้ถึงปีละ ๒๕ ล้านบาท   (๓) บ้านบุโบย  ม. ๓  ต. แหลมสน  ทำโครงการธนาคารปูม้า  ศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยของปู   และกำหนดเขตอนุรักษ์   (๔) บ้านบ่อเจ็ดลูก  ทำโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ  พัฒนาวิธีปลูกแบบลดต้นทุน  และวิธีการจัดการด้านการตลาด ส่งผลผลิตไปมาเลเซีย, ตลาดหัวอิฐ นครศรีธรรมราช, หาดใหญ่, พัทลุง, ตรัง 

          ได้ไปเห็นร่องรอยของการเรียนรู้ เป็นวงจรต่อเนื่อง    น่าชื่นชมยิ่ง    เห็นภาพการมี adult learning skills ชัดเจนมาก     

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ม.ค. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 561177เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2014 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2014 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาศึกษาค่ะ "

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวบ้าน ต้องรู้จักแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มของตนเอง และเรียนรู้ “ความรู้ปฏิบัติ” (tacit knowledge) จากคนที่ทำมาหากิน หรือดำรงชีวิตแบบเดียวกัน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท