พบแหล่งเรียนรู้สำหรับ นศ./อจ. มหาวิทยาลัยที่สตูล


 

          วันที่ ๑๗ - ๑๘ ม.ค. ๕๗ คณะของมูลนิธิสยามกัมมาจล และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เดินทางลงพื้นที่การทำงานโครงการ “สร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ระยะที่ ๑”  ส่วนของจังหวัดสตูล    ซึ่งดำเนินการอยู่ในพื้นที่อำเภอละงู   และอำเภอทุ่งหว้า

          เราไปพบการรียนรู้ที่มีพลังยิ่งของชาวบ้าน    ที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ๔ โครงการใน ๔ พื้นที่    คือ (๑) การจัดการอ่าว (ทุ่งนุ้ย)  (๒) การจัดการทะเลที่เป็นแหล่งสัตว์น้ำ ๑๖ แหล่ง ของต. ขอนคลาน  อ. ทุ่งหว้า   (๓) การปลูกผักอินทรีย์ ของบ้านบ่อเจ็ดลูก   และ (๔)​ การทำธนาคารปูม้า ของบ้านบุโบย

          ทุกโครงการ ใช้หลักการทำงานอย่างมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ    คือมีการเก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ หาความหมาย เพื่อใช้ในการทำโครงการ    เมื่อทำแล้ว ก็มีการเก็บข้อมูลสำหรับปรับปรุงต่อเนื่อง     ที่อาจเรียกว่า มีการจัดการความรู้ ก็ได้     

          เท่ากับเราไปพบการเรียนรู้ในการประกอบสัมมาชีพของชาวบ้าน    ที่มีการรวมกลุ่มกัน    มีการคิดอย่างเป็นระบบ ที่นำไปสู่ การบริหารจัดการตนเองในพื้นที่     ไม่ใช่รอให้คนอื่นหรือให้มีหน่วยงานราชการ มาบริหารจัดการ     

          ในกระบวนการเช่นนี้ การดำเนินการต่อเนื่อง เชื่อมโยงสู่ประเด็นอื่นในพื้นที่    และเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง ให้เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนบริหารจัดการตนเอง จะสร้างความเข้มแข็ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย    สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ ๑๑

          นอกจากเชื่อมโยงกันเองระหว่างพื้นที่แล้ว    ก็เป็นโอกาสทองของสถาบันอุดมศึกษาที่จะนำอาจารย์ และนักศึกษาเข้าไปเชื่อมโยงเพื่อต่อยอดความรู้    เพราะชาวบ้านในพื้นที่ได้สร้างความรู้จากการปฏิบัติของตน ขึ้นมากมาย และจะยิ่งสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ    แต่เป็นความรู้ความเข้าใจพื้นๆ ไม่เชื่อมโยงกับความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ และความรู้เชิงวิชาการสาขาอื่นๆ 

          สถาบันอุดมศึกษาในยุคปัจจุบัน ต้องมียุทธวิธีในการทำ university social engagement     คือน้อมตัว เข้าหาผู้คนในสังคม หรือเข้าหาชีวิตจริงของผู้คน    เข้าไปสร้างสรรค์วิชาการ และเรียนรู้ จากชีวิตจริง ซึ่งเต็ม ไปด้วยความรู้จากการปฏิบัติ (tacit knowledge)    เข้าไปใช้ความรู้เชิงทฤษฎี (explicit knowledge) ของตน    เป็นเครื่องมือดึงเอาความรู้จากการปฏิบัติออกมายกระดับความรู้ทฤษฎี    อาจารย์ได้ผลงานวิชาการ    นักศึกษาได้เรียนรู้    ชาวบ้านได้ยกระดับความรู้ปฏิบัติของตน 

          เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๕๗ มะฉิ้ง ชาวบ้านแกนนำปลูกผักปลอดสารพิษบอกว่า ตนสังเกตว่าหนอนกินผัก ช่วยให้ผักแตกยอดมากขึ้น    ได้ประโยชน์    เป็นมุมมองเชิงบวกที่ผมไม่เคยได้ยิน    จึงคิดว่า นศ. น่าจะไปร่วมกับชาวบ้านทำวิจัย    ว่าหนอนกินผักตามที่มะฉิ้งบอก มีประโยชน์มากกว่าโทษจริงหรือ    ถ้าจริง จริงในกรณีทั่วไป หรือเฉพาะบางชนิดของผัก และบางชนิดของหนอน    จะมีวิธีทำให้หนอนกลายเป็นคุณ ต่อการปลูกผักปลอดสารพิษ ในทุกกรณี ได้อย่างไร

          ชาวบ้านกลุ่มเดียวกันนี้ บอกว่าเขาฝันอยากดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร    ซึ่งคณะที่ไปจากกรุงเทพ กลับมาอภิปรายกันในรถ ตอนเดินทางกลับไปที่สนามบินหาดใหญ่ ว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย    เพราะมีรายละเอียดมากมาย ในการดำเนินการธุรกิจท่องเที่ยว     และที่ชาวบ้านทำๆ กันนั้น เจ๊งกันเป็นส่วนใหญ่

          แต่ผมก็คิดว่า มีลู่ทางที่ชาวบ้านในจังหวัดสตูล จะรวมตัวกัน จัดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม    สำหรับพื้นที่ชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์    กิจกรรมที่น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม เช่น กิจกรรมปลูกป่าชายเลน  กิจกรรมจับหอยด้วยมือเปล่า  กิจกรรมกินปูม้า อาหารทะเล    และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตชาวประมงชายฝั่ง    ที่อาจแยกกันออกไปเป็นกลุ่มเล็กๆ    เช่นออกไปกับชาวประมงที่ออกไปวางซั้งดักปู    ไปร่วมปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น

          ทั้งหมดนั้นต้องมีการวิจัยเพื่อพัฒนา เพื่อจัดระบบธุรกิจท่องเที่ยว    และเพื่อพัฒนาวิธีการจัดการธุรกิจ    ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาสามารถเข้าร่วมดำเนินการกับชาวบ้าน    แล้วในที่สุดมีการจัดตั้งบริษัทนำเที่ยว    มีการเรียกหุ้นร่วมกันเป็นเจ้าของ    และร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัท    โดยมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย เพื่อมีส่วนนำเอาความรู้เชิงวิชาการเข้าไปหนุนบริษัทอย่างต่อเนื่อง    และใช้กิจการของบริษัท เป็นสถานการจริงเพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษา    และเพื่อการวิจัยของอาจารย์ด้วย 

          กิจการของบริษัททำนองนี้ ควรถือเป็นกิจการเพื่อสังคม (social enterprise)  เป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือประโยชน์สาธารณะของชาวบ้าน    กำไรของบริษัทเป็นเป้าหมายรอง     แต่ก็ต้องไม่ขาดทุน หรืออยู่ได้    หากมีกำไรมาก ก็แบ่งนำไปบริจาคแก่สาธารณประโยชน์ของชุมชน เช่น โรงเรียน มัสยิด    ตัวอย่างของกิจการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปถือหุ้นคือ บริษัท จันทบูรรักษ์ดี    สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมถือหุ้นด้วย

          นี่คือโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะยกระดับ social engagement ของตน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ม.ค. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 560954เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะร่วมไปกับคณะมูลนิธิสยามกัมมาจลที่ระนอง ในช่วง วันที่ 14-15 มีค.ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท