ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

จากลุ่มน้ำปิงถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา:สถาบันภาษา มหาจุฬาฯ กับ ม.เชียงใหม่ถักทอสายใยแห่งการเรียนรู้


         ภายหลังที่สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการลงนามความร่วมมือ (MoU) กับสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เพื่อส่งเสริม และสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การวิจัย การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล การแลกเปลี่ยนสื่อการสอน คณาจารย์และนิสิต การบริหารห้องสมุด เทคโนโลยี และข่าวสารต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสถาบันภาษาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ดังปรากฏตามลิงค์ http://www.gotoknow.org/posts/450908

        วันนี้ (๒๐ กรกฏาคม ๒๕๕๖) สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำโดย รศ. เหรียญ หล่อวิมงคล ผู้อำนวยการสถาบันภาษา ได้พาคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของสถาบัน จำนวนกว่า ๓๐ ท่าน มาศึกษาดูงาน และเยี่ยมชมสถาบันภาษาเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กร การบริหาร การเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาด้านภาษา ในการนี้ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. รักษาการผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาจุฬาฯ ได้บรรยายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เรื่อง "การบริหารสถาบันภาษา: การสร้างความแตกต่างแบบจิ๋วแต่แจ๋ว" ภายใต้การบริหารสถาบันภาษาในเชิงการทำการตลาดแบบเจาะจงสินค้าและกลุ่มเป้าหมาย (Niche Market)

        จุดขายของสถาบันภาษาที่มหาจุฬาฯ มีความโดดเด่น คือ "ภาษาเปลี่ยนชีวิตให้ดีงามได้" เพราะสถาบันภาษาแห่งนี้เน้นทั้งพุทธศาสตร์ และภาษาศาสตร์ ฉะนั้น ทุกกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น โครงการยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพ โครงการภาษาญี่ปุ่นเชิงบูรณาการ โครงการภาษาจีน และโครงการภาษาอังกฤษในทุกระดับ  สถาบันภาษา มจร ได้เน้นพัฒนาทั้งมิติความงาม และความสุขภายใน (Soft Side) และมิติการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารกับคนภายนอกได้อย่างมีประสิทธิผล (Hard Side) ฉะนั้น สินค้า (Product) หรือหลักสูตรทุกตัวของสถาบันภาษา มหาจุฬาฯ จึงไม่จำเป็นต้องไปแข็งขันด้านราคา (Pricing) กับสถาบันภาษาแห่งอื่นๆ เพราะเน้นความแตกต่าง (Differentiation) ที่สถาบันอื่นๆ ไม่มี และตัวสถาบันเองสามารถกำหนดราคาที่สามารถเลี้ยงตัวเองอยู่รอดได้ (Commercial) และสามารถตอบสนองการบริการวิชาการแก่สังคมได้ (Social) และแม้สถานที่ของมหาจุฬาฯ จะอยู่ไกลจากชุมชน แต่เพราะความต่างของสินค้าดังกล่าว จึงทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า (Product) และบริการ (Service) ภายใต้ยี่ห้อ (Brand) ของสถาบันภาษา มจร ผ่านการออกแบบรูปลักษณ์และตรายี่ห้อ (Packaging) ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ห้องสมุด โลโก้ และสำนักงานที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางการศึกษา อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดในการเรียนการสอนด้านภาษาคือ "ครูหรืออาจารย์ผู้สอนภาษา"

        สถาบันภาษา มจร ได้จัดตั้งขึ้นเป็นโครงการภาษาในระยะเริ่มแรกตามมติของสภาวิชาการเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ภายหลังที่อธิการบดี พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. ได้ส่งให้พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ไปพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ และศึกษาเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาสถาบันภาษาที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษเป็นเวลา ๑ ปี เพื่อนำองค์ความรู้ และทักษะดังกล่าวมาจัดตั้งสถาบันภาษา มจร หลังจากที่ทีมงานได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อสนองตอบต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยอย่างหนัก จึงทำให้มหาวิทยาลัยได้ยกสถานะจากโครงการภาษาขึ้นเป็นสถาบันภาษา โดยให้มีสถานะเทียบเท่ากับคณะ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ เพื่อทำหน้าที่ในการให้การบริการด้านภาษาแก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และบุคคลทั่วไป ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ

 

        สถาบันภาษา มหาจุฬาฯ ขออนุโมทนาขอบคุณ รศ.เหรียญ หล่อวิมงคล พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่เห็นความสำคัญของสถาบันภาษา มหาจุฬาฯ และให้เกียรติเลือกสถาบันภาษา มหาจุฬาฯ เป็นแหล่งในการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า สถาบันภาษาทั้งสองแห่งจะร่วมมือกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดี และมีคุณค่าให้แก่สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมที่จะรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งกำลังจะเดินทางมาถึงในปลายปี ๒๕๕๘ ต่อไป


เยี่ยมชมภารกิจของสถาบันภาษา
https://www.facebook.com/limcu.th
www.li.mcu.ac.th


หมายเลขบันทึก: 543474เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบคารวะ ด้วยความยินดี ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท