ความเพียรที่พอดี


เมื่อครั้งพราหมณ์คณกะโมคคัลลานะทูลถามว่า พระองค์สอนถึงวิธีปฏิบัติเป็นขั้นๆถึงขนาดนี้แล้ว สาวกทุกคนสามารถบรรลุในนิพพานเหมือนกันหมดหรือหนอ  พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ไม่ และยังได้ตรัสต่ออีกว่า

 

“นิพพานก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่ เรา(ตถาคต) ผู้ชักชวนก็มีอยู่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวกทั้งหลายของเราที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็เป็นแต่เพียงผู้บอกทาง”

ม.อุ.(แปล) ๑๔ / ๗๗ / ๘๓

 

การที่ผู้ปฏิบัติจะบรรลุผลได้หรือไม่ ปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ วิริยะ หรือ ความเพียร ทั้งนี้เพราะ

 

“ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาทและกิริยวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม(วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล

การสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในการปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้ ความรู้ในหลักที่เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี การปฏิบัติตามมรรคที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพและระดับชีวิตอย่างใด สามารถเข้าใจและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควรแก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ”

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย พิมพ์ครั้งที่ ๓๒ พ.ศ. ๒๕๕๕ (หน้า ๖)

 

เพื่อไม่ให้ความเพียรกลายเป็นสมุทัย ความเพียรนี้จึงต้องเป็นความเพียรที่พอดี ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป เพียรโดยไม่ท้อถอย และ เพียรอย่างเต็มศักยภาพ โดย

พอดีแก่เหตุปัจจัย  คือทำความเพียรอันพอดีแก่สถานภาพ แก่เหตุปัจจัยของตน ไม่ยึดมั่นในความเพียร (ยึดในส่วนเหตุ)  อันจะทำให้กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค เกิดทุกข์เพราะตัณหาต่างๆ

ในชีวิตประจำวัน หากเรามีฉันทะคืออยากสร้างฐานะโดยสุจริตแล้วก็ควรมีความเพียรตามมา ความเพียรที่พอดี คือเพียรเท่าที่กำลังกาย กำลังทรัพยากรของเรา (ในที่นี้รวมถึงกระทั่งเวลาที่เรามี) ที่เราจะนำมาใช้ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตน เช่น ไม่เพียรทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาสำหรับการดูแลในเรื่องอื่นๆ เช่น เพียรมากจนเป็นเหตุให้ละเลยการออกกำลังกาย การพักผ่อน จนสุขภาพทรุดโทรม

สำหรับการปฏิบัติธรรม หากเรามีฉันทะคือปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดสูงสุดในพุทธศาสนา ความเพียรที่พอดีก็คือความเพียรที่พอเหมาะแก่เพศ (เช่นเพศฆราวาส หรือ เพศนักบวช)แก่เหตุปัจจัยของตน ไม่เพียรมากไปจนเกิดตัณหาในด้านต่างๆตามมากระทั่งเป็นเหตุให้เกิดภวตัณหา ( เช่น อยากจะมีเวลามากๆเพื่อปฏิบัติธรรม อยากบวชเพื่อจะได้มีเวลาศึกษาอย่างเต็มที่ทั้งๆที่ยังมีภาระเลี้ยงดูครอบครัวที่ทำให้ไม่สามารถปลีกตัวไปตามลำพังได้) วิภวตัณหา (เช่น ไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ไม่อยากมีเรื่องราวให้ต้องรับผิดชอบมากจนเหลือเวลาปฏิบัติไม่มากเท่าที่อยากให้เป็น) จนนำไปสู่ทุกข์

พอดีระหว่างปริยัติและปฏิบัติ ปริยัตินั้น แบ่งเป็น ปริยัติชั้นนอก และ ปริยัติชั้นใน* ปริยัติชั้นนอกหมายถึงธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสสอน เสียงที่ครูอาจารย์สั่งสอน หรือที่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานเช่นพระไตรปิฎก ตำราต่างๆ ส่วนปริยัติชั้นใน คือธรรมที่ผู้ศึกษาทรงจำไว้ นำมาไตร่ตรอง ขบเจาะด้วยทิฏฐิ ดังที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ จนเข้าใจหลักธรรมนั้น

เมื่อเข้าใจหลักกระบวนธรรมนั้นแล้ว ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตด้วย คือนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (ปฏิบัติธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับชรา มรณะ ให้เหมาะแก่การเป็นอยู่) ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยตามธรรมใหญ่ (เช่น เมื่อนำธรรมใดมาปฏิบัติก็เป็นอยู่ด้วยธรรมนั้น จนเมื่อก้าวหน้าขึ้น จึงนำธรรมที่สูงขึ้น มาปฏิบัติต่อเนื่องไป) เพราะเราไม่สามารถนำธรรมทั้งหมดมาปฏิบัติในเวลาเดียวกันได้ เนื่องจากความไม่พรั่งพร้อมของเหตุปัจจัยรวมไปถึงปัญญาของเราด้วยนั่นเอง เราจึงต้องปฏิบัติเป็นขั้นๆจนค่อยๆคลายอกุศลมูล ค่อยๆเห็นสภาวธรรมด้วยความเป็น “ธรรมดา” เมื่อเห็นด้วยความเป็นธรรมดา จึงสงบอยู่ได้ในปัจจุบัน

ซึ่งการนำธรรมที่เหมาะมาปฏิบัติเป็นขั้นๆไปนี้ เราจะสังเกตได้จากการที่พระพุทธองค์เมื่อจะทรงสั่งสอนใคร ทรงสอนธรรมที่เหมาะแก่ปัญญา เพศ ภาวะของเขา ไม่ได้ทรงสอนทุกอย่างในเวลาเดียวกัน หรือ สอนเหมือนกันหมดทุกคน

แต่หากไม่มีการปฏิบัติตามปริยัติก็ย่อมไม่เกิดผลการปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัติแต่ให้ความสำคัญในส่วนนี้น้อยกว่าการเล่าเรียนปริยัติ แม้จะสุขจากการพิจารณาจนแจ้งด้วยโยนิโสมนสิการก็อาจทุกข์เพราะไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันได้เพราะความไม่สัมพันธ์กันระหว่างความรู้กับภาวะของจิตและปัญญาที่รู้ธรรม

ผู้ปฏิบัติท่านหนึ่ง ถึงกับเคยกล่าวว่า มีความสุขกับการได้ศึกษาพุทธศาสนามาก สุขจนอยากไปให้พ้นๆจากที่ที่อยู่ในปัจจุบันในทันที จากคำพูดของท่านชวนให้พิจารณาว่า ท่านน่าจะสุขจากอย่างหนึ่งแต่กลับทุกข์เพราะอีกอย่างหนึ่ง การศึกษาที่หนักไปทางปริยัติได้สร้างสมุทัยตัวใหม่ขึ้นมาแล้วใช่หรือไม่

บางท่านเล่าเรียนปริยัติแต่ไม่เน้นการขัดเกลากิเลส เมื่อประสบอารมณ์เฉพาะหน้าก็หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มากระทบ ที่สุดก็เกิดทุกข์ขึ้นมาว่าตนเสียแรงเล่าเรียน แต่ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ ไม่สามารถอยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้

พอดีในการพอใจผลของความเพียร เพราะว่าแม้จะเพียรพอเหมาะแล้ว แต่หากยึดมั่นในผลของความเพียร (ยึดในส่วนผล) ก็อาจนำไปสู่ทุกข์ได้เช่นกัน

บางครั้ง เราคงเคยพบบางคนที่มีการศึกษาสูงดูหมิ่นผู้อื่นที่ศึกษามาน้อยกว่า นั่นก็เพราะผลของการพอใจผลของความเพียรที่มากไปนั่นเอง จนทำให้เกิดมานะ ( การสำคัญตน ว่าตน เสมอเขา ,ต่ำกว่าเขา หรือ สูงกว่าเขา) ไปว่าตนรู้มากกว่า หรือเราอาจพบบางคนที่พากเพียรสร้างฐานะจนมั่งมีแต่แล้วกลับดูถูกผู้ที่ยากจนกว่า มานะนี้ ไม่ว่าจะเกิดเพราะอะไร ก็ทำให้ทุกข์ได้ทั้งนั้น เช่น ทำให้ร้อนใจเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังเจริญก้าวหน้า ไม่ใคร่ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงาน เป็นต้น

ในการปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน เมื่อพอใจในผลการปฏิบัติมาก ก็อาจนำเราออกนอกเส้นทางการปฏิบัติได้ เช่น เมื่อฝึกอานาปานสติจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมเกิดปีติ แต่เพราะไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าปีติก็เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับตามเหตุปัจจัย และเพราะปีตินั้นน่าหลงใหล จึงเสพปีตินั้น เมื่อเสพปีติ จิตก็ยิ่งถูกหล่อเลี้ยงด้วยปีติ จึงยิ่งปีติและยินดีในปีติมากยิ่งขึ้น จึงเกิดการยึดมั่นในปีติ อยากเสพปีติอยู่เรื่อยๆ จิตจึงถูกราคะเข้าครอบงำจนทำให้ไม่ก้าวหน้าในการฝึก อานาปานสติที่เริ่มต้นด้วยฐานกายอันเป็นสมถกรรมฐานจึงตีบตันอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ก้าวหน้าไปสู่ฐานอื่นๆคือเวทนา จิต ธรรม จนไปถึงฐานที่เป็นวิปัสสนาได้ ในที่สุด สมาธิก็จะถูกกิเลสเข้าครอบงำจนไม่สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิ และเป็นเหตุให้ทั้งเพียรมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อเสพปีติ อันทำให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค หรือ สู่การละทิ้งการฝึก เพราะเกิดโทสะที่ฝึกไม่ได้อย่างใจ

การพอใจในผลของความเพียรอย่างมาก ยังสามารถมีผลอื่นๆตามมาอีก เช่น โดยปกติ เมื่อเข้าใจธรรมส่วนใดแล้วซาบซึ้งในธรรมนั้น มักอยากเผยแพร่ธรรมด้วยเมตตา อยาก “เชิญท่านมาดู” หรือ “เอหิปัสสิโก” แต่หากไม่รู้เท่าทันโลกธรรม ฉันทะอันเป็นกุศล มักถูกตัณหามารับช่วงต่อ ทำให้การเผยแพร่ธรรมที่เดิมตั้งใจให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นกลับกลายเป็นเผยแพร่ธรรมเพื่อตน เช่น อยากให้ผู้อื่นสรรเสริญ  จึงนำมาซึ่งการหาช่องทางให้ผู้อื่นสรรเสริญ  หากได้สรรเสริญ ก็ยิ่งย้อมติดในโลกธรรม หรือหากไม่ได้ ก็ขัดใจ

และบางครั้งก็เกิดมานะว่าผู้อื่นรู้ไม่เท่าตนขึ้นมาได้

จึงกลายเป็นว่าการกระทำนั้นเริ่มต้นด้วยความดี ด้วยจิตที่เป็นกุศล แต่จบลงด้วยการกระทำที่มาจากจิตอันถูกโลภะ โทสะ ย้อมติด

ความเพียรจึงต้องเพียรอย่างพอดี มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่าสามารถกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้ แต่กลับสร้างกิเลสอย่างละเอียดขึ้นมาแทน และเพราะกิเลสอย่างละเอียดนี้กำจัดยากกว่ากิเลสหยาบมากมายนัก เวลาในวัฏฏะยืดยาวออกไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ความพอดีในส่วนผลนี้ พอจะเทียบได้กับสันโดษ คือ พอใจในสิ่งที่ตนพึงมีพึงได้ ความบริบูรณ์ แต่เนื่องจากสันโดษนั้นมี ๒ ระดับ ในเบื้องต้นคือ พอใจในสิ่งที่ตนพึงได้ พึงมี จากการกระทำ เช่น หาทรัพย์ได้เท่าใดก็พอใจตามที่กำลังตนจะหาได้เท่านั้น (สันโดษตามปัจจัยที่พอหาได้) มีของใช้อย่างไร หากยังใช้ได้ ก็ใช้ตามนั้น ไม่หาของใหม่ที่เป็นชนิดเดียวกันมาแทน (สันโดษตามปัจจัยที่มี)** ส่วนในระดับสูงคือการเพียรอย่างไม่ท้อ แต่ไม่ตั้งความหวังว่าจะได้รับผลจากความเพียรเท่าใด เมื่อไม่ตั้งความหวัง ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะน้อยเท่าใด ก็เป็นอันว่าเต็มความหวังในทันที***

ดังนั้น ในทางวัตถุเสพบริโภค เราควรพอใจในวัตถุที่มี ตามที่กำลังพอหาได้อันเป็นสันโดษในระดับต้น แต่ในทางผลการปฏิบัติอันเป็นเรื่องของจิต เรื่องของปัญญา เราควรมีสันโดษในระดับสูง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ทรงตรัสรู้ได้ เพราะทรงไม่สันโดษในกุศลธรรม

นอกจากนี้ วิริยะ ยังเป็นที่รวมของธรรมต่างๆที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ เช่น ศรัทธา ปัญญา ความไม่ประมาท อีกด้วย****

 

คงเป็นเพราะเป็นที่รวมขององค์ธรรมสำคัญอย่างนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ

บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ ด้วยความเพียร

.................................................................

*สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ความเข้าใจเรื่องศาสนา พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ หน้า ๑๘

**พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) ตอบปัญหาทางพระพุทธศาสนา เล่ม ๑ หน้า ๕๗ – ๕๘

***สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๑

****พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสูงสุดแห่งการรู้แจ้ง ๓๗ ประการ หน้า ๔๐

 

คำสำคัญ (Tags): #วิริยะ
หมายเลขบันทึก: 542323เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2013 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สาธุ

ขอขอบพระคุณมาก ๆ เลยนะครับ

จะน้อมนำไปพิจารณาปฏิบัติครับ

ชยพร แอคะรัจน์

ขอบพระคุณทุกท่านค่ะ มาเยี่ยมกัน

ขอบพระคุณ อ. ชยพร แอคะรัจน์ ค่ะ มาฝากความเห็นไว้ให้

และขอบพระคุณดอกไม้จาก อ.ชยพร, พระคุณเจ้าพระมหาแล อาสโย ขำสุข และ ดร. พจนา แย้มนัยนา ด้วยค่ะ

มีประโยชน์มากเลยครับพี่

ขอบคุณบันทึกดีๆครับ เวลาถูกภวตัณหา วิภวตัณหาครอบงำ จะเข้ามาอ่านอยู่บ่อยๆครับ

ขอบคุณ อ.ขจิต , คุณ พ.แจ่มจำรัสค่ะ ทั้งที่มาเยี่ยมกันและสำหรับดอกไม้

รวมทั้งดอกไม้จาพคุณ ณโอ๋ และคุณ อักขณิช ด้วยค่ะ

"ไอดิน-กลิ่นไม้" พบแล้ว "แหล่งเรียนรู้หลักพุทธธรรม" ที่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ประสงค์จะเรียนรู้แบบ "ปัญญานำ ศรัทธาตาม" ขอบคุณมากนะคะ ที่นำเสนอแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง เช่นนี้...ยากให้อาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ที่รับผิดชอบสอนรายวิชาเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา นำบทความนี้ ไปให้นักศึกษาได้เรียนรู้จังเลยค่ะ

ขอโทษค่ะ คลิกจัดเก็บข้อมูลเร็วไปหน่อย แก้ไขแล้วแต่ไม่ทัน "...อยากให้อาจารย์สถาบันอุดมศึกษา"

สวัสดีค่ะ คุณ ไอดิน - กลิ่นไม้

ขอบพระคุณสำหรับการแวะมาและความเห็นมากค่ะ

อ่านแล้วพึงรู้ว่าตัวเองเป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน ยังรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก ต้องศึกษาอีกมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท