สอบโอนเป็นครูผู้ช่วย, ร้องเรียนที่ไหน, ปรับค่าจ้างลูกจ้างประจำ, เครื่องแบบพนักงานราชการ, ออกใบ รบ.หลักสูตร 44, ค่าออกใบ รบ.ใบที่ 2, ใช้ใบ รบ.ของอำเภออื่น-แก้ใบ รบ., ออกใบ รบ.อายุไม่ถึง 15 ปี, วิธีกู้ข้อมูลโปรแกรม ITw, โปรแกรมคอมฯ ม.6-8 เดือน



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  11  เรื่อง ดังนี้


         1. กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างประจำ ตั้งแต่ 1 ม.ค.56 และ 1 ม.ค.57  ตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ดังนี้

             1)  วุฒิไม่เกิน ม.ปลาย  ม.ค.55 = 6,910 บ., ม.ค.56 = 7,590 บ., ม.ค.57 = 8,690 บ.
             2)  วุฒิ ปวช.  ม.ค.55 = 7,620 บ., ม.ค.56 = 8,300 บ., ม.ค.57 = 9,400 บ.
             3)  วุฒิ ปวท./ป.กศ.สูง  ม.ค.55 = 8,640 บ., ม.ค.56 = 9,540 บ., ม.ค.57 = 10,840 บ.
             4)  วุฒิ ปวส.  ม.ค.55 = 9,300 บ., ม.ค.56 = 10,200 บ., ม.ค.57 = 11,500 บ.
             5)  วุฒิอนุปริญญาหลักสูตรไม่น้อยกว่า 3 ปี 6 เดือน  ม.ค.55 = 9,640 บ., ม.ค.56 = 10,540 บ., ม.ค.57 = 11,840 บ.
             6)  วุฒิปริญญาตรี  ม.ค.55 = 11,680 บ., ม.ค.56 = 13,300 บ., ม.ค.57 = 15,000 บ.
             7)  วุฒิปริญญาโท  ม.ค.55 = 15,300 บ., ม.ค.56 = 16,400 บ., ม.ค.57 = 17,500 บ.
             8)  วุฒิปริญญาเอก  ม.ค.55 = 19,000 บ., ม.ค.56 = 20,000 บ., ม.ค.57 = 21,000 บ.

             และ ปรับเพิ่มค่าจ้างลูกจ้างประจำ ที่บรรจุอยู่ก่อนวันที่ 1 ม.ค.56 และ 1 ม.ค.57  ตามรายละเอียดที่
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/wageEmployees56.pdf  ( 1 ม.ค.56 )
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/wageEmployees57.pdf  ( 1 ม.ค.57 )


         2. เช้าวันที่ 23 เม.ย.56 คุณนภัสสร เอกตาแสง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า
             1)  มีนักศึกษาหลักสูตร 44 มาขอจบ เราจะออกวุฒิให้เขาแบบไหน
             2)  วันอนุมัติจบ ต้องเป็นวันเดียวกันกับออกเมื่อวันที่หรือเปล่า  แล้ววันที่ใต้ตำแหน่งท่าน ผอ. ต้องออกตรงกับวันที่ออกวุฒิใช่ไหม  3 จุดนี้ถ้าเป็นวันเดียวกันมันจะแย้งกับที่ท่าน ผอ.เพิ่งมาดำรงตำแหน่งใหม่

             ผมตอบว่า
             1)  อ.กิตติพงศ์ กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า  ใบ รบ.หลักสูตร 44 ยังไม่ได้ยกเลิก ( ยกเลิกแต่ใบ รบ.หลักสูตร 30-31 )  ฉะนั้น ยังต้องออกใบ รบ.หลักสูตร 44 ตามปกติ  ถ้าแบบฟอร์มใบ รบ.หลักสูตร 44 หมด ก็ต้องไปซื้อมาใหม่
             2)  กรณีออกใบ รบ.เพราะจบการศึกษา  "วันอนุมัติการจบ" กับ "ออกเมื่อวันที่" จะเป็นวันเดียวกัน คือวันที่ ผอ.คนเดิมอนุมัติการจบเมื่อผ่านเงื่อนไขการจบหลักสูตรครบทุกข้อ ส่วน วันที่ ใต้ตำแหน่ง ผอ. คือวันที่ ที่ ผอ.คนปัจจุบันลงนามในใบ รบ.  ( ไม่ว่าจะ ผอ.เก่า หรือ ผอ.ใหม่  เซ็นชื่อวันไหน วันที่ใต้ลายเซ็นก็เป็นวันที่เซ็นต์  ไม่ต้องเป็นวันเดียวกันกับ “วันอนุมัติการจบ” หรือ “ออกเมื่อวันที่” )


         3. วันเดียวกัน ( 23 เม.ย.) ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน. ว่า  การสอบครูผู้ช่วย กศน.  ข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ จะสอบโอนได้หรือไม่ ( ถ้าสอบได้ แล้วได้บรรจุเป็นครูผู้ช่วย จะขอโอนอายุราชการและเงินเดือนมาด้วย ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ )  ( เคยมีผู้ถามผม ๆ จึงนำมาถามท่านต่อ )
             ท่านตอบว่า  การสอบกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ( รับเฉพาะคนภายในสังกัด ) นี้  สอบโอนไม่ได้  ( ผู้มีสิทธิ์สมัครสอบคือ ครูอัตราจ้าง หรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา พนักงานราชการ ครูสอนศาสนาอิสลาม  ซึ่งได้ปฏิบัติงานตามคำสั่งจ้างหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย )


         4. วันที่ 24 เม.ย.56 คุณกุลธร ครูอาสาฯ กศน.อ.เวียงเก่า ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  กรณีวุฒิ นศ.หาย มาขอใหม่ ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรึเปล่า ผอ.บอกว่าเก็บไม่เกิน 100 บาท แต่คลับคล้ายคลับคลาผ่านตาว่า ฉบับแรกไม่เก็บ ฉบับต่อไป เก็บแต่ไม่เยอะ

             ผมตอบว่า  ที่ว่าเก็บไม่เกิน 100 บาท นั้น เป็น "ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเรื่องใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษา พ.ศ.2547"  ใช้กับการออก “ใบสุทธิ” และ “หนังสือรับรองความรู้”  ส่วนการออกหลักฐานแสดงผลการเรียน ( Transcript ) ชุดแรกไม่เรียกเก็บ ชุดต่อไปเก็บฉบับละ 20 บาท

             ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเรื่องใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษา พ.ศ.2547 เป็นเรื่องของการออก “ใบสุทธิ” และ “หนังสือรับรองความรู้" ซึ่งเป็นคนละอย่างกับ "หลักฐานแสดงผลการเรียน” หรือ "หนังสือรับรองตามระเบียบสารบรรณ"   การออกหนังสือรับรองความรู้ตามระเบียบปี 47 นี้ ใช้ในกรณีไม่มีข้อมูลที่สามารถออกหลักฐานแสดงผลการเรียนได้
             เนื้อหาสาระของการออกหนังสือรับรองความรู้ตามระเบียบปี 47  คือ
             "การออกหนังสือรับรองความรู้ สถานศึกษาจะออกได้เฉพาะในกรณีที่สถานศึกษาไม่สามารถออกใบสุทธิให้ หรือสำเนาต้นขั้วใบสุทธิให้ได้ เท่านั้น  ซึ่งอาจมีเหตุจากต้นขั้วใบสุทธิสูญหายหรือไม่ปรากฏหลักฐานการออกใบสุทธิหรือไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใด   เมื่อสถานศึกษาใดพบกรณีดังกล่าวนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยใบสุทธิของสถานศึกษาและหนังสือรับรองความรู้ของสถานศึกษาพ.ศ.2547 ข้อ 6   มีขั้นตอนการปฏิบัติให้สถานศึกษาไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานก่อน กล่าวคือสอบสวนให้ได้ความจริงว่าบุคคลผู้มาขอหนังสือรับรองความรู้จบการศึกษาในสถานศึกษานั้นจริงหรือไม่ อาจสอบสวนหาพยานหลักฐานเอกสารก่อน หากไม่ปรากฏร่องรอยจากพยานเอกสารเลย ก็จำเป็นต้องหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคล  สถานศึกษาต้องไต่สวนจนกระทั่งได้หลักฐานเพียงพอว่าบุคคลนั้นจบการศึกษาจริง แล้วรายงานผลการไต่สวนให้หน่วยงานต้นสังกัดเหนืออีกชั้นหนึ่งพิจารณาว่าเห็นควรให้ออกหนังสือรับรองความรู้ให้หรือไม่ หากเห็นว่าหลักฐานเชื่อถือได้ก็อนุญาตให้สถานศึกษาออกหนังสือรับรองความรู้ให้  
สถานศึกษาไม่มีอำนาจพิจารณาเอง"

             สรุป
             1) การออกหนังสือรับรองความรู้ กรณีหลักฐานต่าง ๆ ทั้งของผู้เรียนและสถานศึกษาสูญหาย หรือไม่ปรากฏหลักฐาน  เรียกเก็บไม่เกิน 100 บาท  ( รับรองโดยไม่ต้องระบุคะแนนหรือระดับผลการเรียนแต่ละวิชา )
             2) การออกหลักฐานแสดงผลการเรียน-หนังสือรับรองตามระเบียบสารบรรณกรณีสถานศึกษามีหลักฐานแสดงผลการเรียน  ชุดแรกไม่เรียกเก็บชุดต่อไปเก็บฉบับละ 20 บาท

             ผมตอบต่อว่า ถ้าไม่มั่นใจว่ายังใช้อัตรา 20 บาทอยู่หรือไม่ ให้โทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน.  คุณกุลธร โทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน. ได้รับคำตอบจาก อ.เบญจวรรณ ว่า ยังใช้อัตรา 20 บาทอยู่


         5. วันเดียวกัน ( 24 เม.ย.) คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw  บอกผมถึงวิธีกู้ข้อมูลโปรแกรม ITw ที่ถูกลบ  ผมจึงนำมาเผยแพร่แก่ผู้สนใจต่อ

             วิธีการกู้ข้อมูล ทำดังนี้
             1)  ไปที่เมนู 4-5-4 ( ตรวจสอบข้อมูลสูญหาย )
             2)  คลิกที่ปุ่มกู้ข้อมูล
             3)  เมื่อขึ้นหน้าจอกู้ข้อมูล ให้เลือกประเภทข้อมูล แล้วคลิกที่ปุ่มอ่านข้อมูลที่ถูกลบ
             4)  เมื่ออ่านข้อมูลเสร็จแล้ว ถ้าต้องการกู้ทั้งหมดให้คลิกที่ปุ่มเลือกทั้งหมด หรือคลิกที่ช่องสี่เหลี่ยมหน้ารายการที่ต้องการ
             5)  คลิกที่ปุ่มกู้ข้อมูลที่เลือก
             6)  เมื่อกู้ข้อมูลเสร็จแล้ว ให้ไปที่เมนู 4-5-1 ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อลบข้อมูลซ้ำซ้อน และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออก

             ( บางครั้งข้อมูลถูกลบเพราะ
                - กด ignore ซ้ำๆ
                - ปิดเครื่องคอมฯ โดยยังไม่ออกจากโปรแกรม ITw และชัตดาวน์   ไม่มีเครื่องสำรองไฟล์ ไฟดับระหว่างอยู่ในโปรแกรม ITw
                ฉะนั้น ควรระมัดระวังด้วย )


         6. วันเดียวกัน ( 24 เม.ย.) คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า
             
1) กรณีที่ ใบ รบ. ( กศน.1 ) หมด และอยู่ระหว่างดำเนินการสั่งซื้อ ระหว่างนี้สามารถยืมสถานศึกษาใกล้เคียงได้ไหม
             2) กรณี มีข้อผิดพลาดในใบ กศน. 1 (แต่ยังใช้การได้ ) สามารถแก้ไขโดยการขีดฆ่า แล้วเซ็นกำกับได้ไหม

             ผมตอบว่า
             1)  กรณีใบ รบ. ( กศน.1 ) หมด สามารถขอใช้ของสถานศึกษาอื่นได้ โดยให้มีหนังสือราชการติดต่อกันไว้เป็นหลักฐาน และบันทึกในบัญชีรับ-จ่ายไว้ให้ถูกต้อง ทั้งบัญชีของจังหวัด/กทม. และบัญชีของสถานศึกษาทั้งสอง
             2)  กรณีเขียนใบ รบ. ผิด หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล ให้ขีดฆ่าข้อความที่เขียนผิดหรือต้องการเปลี่ยนแปลง แล้วเขียนข้อความที่ถูกต้องหรือต้องการ ไว้ข้างบน และให้นายทะเบียนลงนามกำกับไว้   (อ้างอิงจากคำอธิบายการกรอกระเบียนแสดงผลการเรียน ข้อ 2.1 ในหนังสือคู่มือการดำเนินงานฯ ปกสีเลือดหมู หน้า 166 )


         7. วันที่ 25-26 เม.ย.56 ผมไปเข้ารับการพัฒนา ระยะที่ 2/4 ตามโครงการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยโครงการเพื่อพัฒนากิจกรรม กศน.สู่อาเซียน  ณ สถาบัน กศน.ภาคกลาง


         8. วันเสาร์ที่ 27 เม.ย.56 คุณ “Mecomeback Meme” กศน.อ.หาดใหญ่ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  นศ. อายุไม่ถึง 15 ปี จบระดับประถมศึกษาสามารถออกใบระเบียนแสดงผลการเรียนให้ นศ.ได้ หรือไม่  และ นศ. คนดังกล่าว สามารถสมัครเรียนระดับ ม.ต้น ต่อในสถานศึกษาเดิมได้หรือไม่
             ผมตอบว่า  เด็กในวัยเรียน ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นก็ขออนุญาตเขตพื้นที่การศึกษา มาเรียน กศน.ได้  แต่..ต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ (ถ้าไม่มีการเทียบโอน )  คือ ถ้าเป็นระดับ ม.ต้น ก็ใช้เวลา 3 ปี ระดับประถมก็ใช้เวลา 6 ปี  หรือจนกว่าอายุจะครบตามเด็กในระบบ ( ม.ต้นอายุ 15 ปี ประถมอายุ 12 ปี ) จึงจะออกใบ รบ.ให้  และเมื่อออกใบ รบ.แล้ว ก็สามารถเรียนต่อ ม.ต้นได้  ถ้ายังออกใบ รบ.ไม่ได้ ก็ยังเรียนต่อ ม.ต้นไม่ได้ ถึงแม้จะเรียนในสถานศึกษาเดิมก็ตาม
             สรุป ออกใบ รบ.ให้ เมื่อ
             1)  ใช้เวลาเรียนครบ 3 ปี ( ม.ต้น ), 6 ปี ( ประถม )  หรือ
             2)  อายุเท่าเด็กในระบบ ( ประถมอายุ 12 ปี, ม.ต้นอายุ 15 ปี )  หรือ
             3)  มีการเทียบโอนผลการเรียน ( กรณีนี้ไม่ต้องจำกัดเรื่องอายุและเวลาเรียน )
             เข้าเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ออกใบ รบ.ให้ได้

             ในข้อ 1) เรื่องให้ใช้เวลาเรียนเท่าเด็กในวัยเรียนนั้น มีหนังสือสั่งการ ดูได้ใน
             - ข้อ 4 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/441006  และ
             - ข้อ 1 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/437497
             ส่วนข้อ 2) และ 3) เรื่องอายุและการเทียบโอนนั้น เป็นไปตาม ความยุติธรรม/ความน่าจะเป็น/ความถูกต้อง


         9. วันเดียวกัน ( 27 เม.ย.) มีครู กศน. ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  เป็นครู กศน. ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากต้นสังกัด สามารถร้องได้ที่ไหนที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้โดยไม่มีอคติ

             ท่านจรัส ผู้เชี่ยวชาญงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ กศน. ตอบว่า  เมื่อเราเป็นครู กศน หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากใครก็ให้ร้องขอความเป็นธรรมที่ผู้บังคับบัญชาเหนือจากคนที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นไป 1 ชั้น  เช่นหากไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ผอ.กศน.อำเภอ ก็ร้องขอความเป็นธรรมไปยัง ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด  หากผลการร้องไม่เป็นที่พอใจ ก็ร้องต่อไปยัง เลขาธิการ กศน. ท่านประเสริฐ บุญเรือง
             ท่านพิษณุ ผอ.กศน.อำเภอเมืองอุบลราชธานี ตอบว่า  ต้องร้องตามลำดับชั้น  ถ้าภายใน 30 วัน ไม่ได้รับคำตอบ  ร้องต่อระดับสูงขึ้นไป


      10. วันที่ 29 เม.ย.56 คุณมนตรี ครู กศน.ตำบล กศน.อ.น้ำพอง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เรื่อง ม.6 8 เดือน ใช้โปรแกรม IT ตัวไหนในการดำเนินการ
            เรื่องนี้  กลุ่มพัฒนา กศน.บอกว่า  โปรแกรมคอมฯทะเบียน ม.6-8 เดือน ยังไม่เสร็จ  ให้ดำเนินการโดยยังไม่ต้องใช้โปรแกรมคอมฯไปก่อน  ( ยังบอกไม่ได้เลยว่า โปรแกรมฯจะเสร็จประมาณเมื่อไร )


       11. วันที่ 30 เม.ย.56 ผมคุยกับสำนักนิติการ สป. และ กจ.กศน. เรื่องเครื่องแบบพนักงานราชการ  ทราบข้อมูลว่า  สำนักนายกรัฐมนตรีตอบข้อหารือมาแล้ว  ว่า

             1)  การนำตราเสมาปิดทับบนอินทรธนู ก็ยังคล้ายอินทรธนูของข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ  ( เครื่องหมายของเครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละประเภท ต้องไม่เหมือนหรือคล้ายกัน )
             2)  การแบ่งอินทรธนูเป็น 4 ระดับ 4 แบบ  ไม่ถูกต้องเหมาะสม  ควรมีเพียง 2 ระดับ สำหรับพนักงานราชการทั่วไป กับ พนักงานราชการพิเศษ

            ( กศน. คงจะปรับระเบียบ เสนอท่านปลัด ศธ. ใหม่ )




หมายเลขบันทึก: 534315เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 04:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2013 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ค่ะ

        ขอบคุณค่ะ  ที่นำเรื่องดีๆ  มาให้อ่าน

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท