"ตายเร็ว ๆ จะได้ไม่เปลือง"


"ตายเร็ว ๆ จะได้ไม่เปลือง"

ประโยคข้างบนนี้ ถ้าใครหลุดปากออกมา มีหวังถูกก่นด่าหัวซอยยันท้ายซอยแน่ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับชาติ ยิ่งถ้าเป็นคนระดับรัฐมนตรีคลังอย่าง นายทาโระ อาโสะ ของญี่ปุ่นพูดแล้ว เรียกได้ว่า เข้าทางสื่อ เอาไปตีไข่กันเพลินแน่ โดยเฉพาะสื่อโลกตะวันตก

โลกตะวันออกอย่างบ้านเรา มีคำว่า "กตัญญู" ที่ตะวันตกหาคำที่เทียบเคียงไม่ได้

เมื่อเกิดเหตุการณ์คนระดับผู้นำโลกตะวันออกอย่างญี่ปุ่น ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงมาก ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับ ภาระค่าดูแลรักษาพยาบาลประชากรกลุ่มนี้ ว่ามันเป็นภาระหนักทางเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้ผมคิดเอาเองว่า โลกตะวันตกคง'ได้ที' ออกมาขย่มทันที

"จะแก้ปัญหาการคลังของประเทศไม่ได้ ถ้าไม่ปล่อยให้'คุณตาคุณยาย' ไป ๆ ซะ"

เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุก่อนเสียชีวิตสูงมาก ยิ่งถ้าเป็นไปด้วยความไม่สมัครใจแล้ว อาจจะถึงขนาด ผู้ตายนอนตายตาไม่หลับได้ ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลานหรือสังคมขนาดนั้น

ได้ฟังแล้วก็สะท้อนใจนะครับ

แสดงว่า มันต้องเป็นปัญหาวิกฤติแน่ ๆ ไม่งั้น คงไม่มีใครอยากพูดให้ตนเองต้องตกเป็น "ไอ้ตัวร้าย ไม่รู้จักกตัญญูปู่ย่าตายาย" หรอก

คงมีคนก่นด่ากันเยอะ แต่ก็ต้องย้อนถามคนที่ออกมาด่าว่า แล้วตัวคุณเองคิดว่า จะช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ต้องถือวิกฤตินี้เป็นโอกาส ชี้ประเด็นให้สังคมหันมามองปัญหานี้อย่างจริงจัง

ต้องยอมรับว่า
- การดูแลรักษาหรือหัตถการแต่ละชนิดมีข้อบ่งชี้ของมัน แต่มันไม่ได้ตรงไปตรงมาว่า ทำแล้วได้ผลเต็มร้อย หรือไร้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ผลที่ได้ส่วนใหญ่เป็นเฉดจากน้อยไปหามาก จึงนำไปสู่เหตุการณ์ที่หมอทำไว้ก่่อน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย หรือเพื่อป้องกันการฟ้องร้องไว้ก่อน
- การดูแลรักษาแบบ 'aggressive' ที่พูดกันติดปาก แต่แปลตรงตัวแล้วดูเหมือนหมอกลายเป็นพวกนิยมความรุนแรงไป ซึ่งหมายถึง การให้การช่วยเหลือรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ ทั้งปั๊มหัวใจ ใส่ท่อสารพัด มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า การดูแลตามอาการ เน้นความสุขสบายของผู้ป่วยเป็นหลัก หรือ palliative care
- palliative care การดูแลตามอาการ การดูแลแบบประคับประคอง หรือบริบาลบรรเทา ก็มีค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็น ค่ายา เช่น ยาระงับปวด ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ  เช่น เครื่องให้ออกซิเจน อุปกรณ์ทำแผล

เราจะช่วยกันอย่างไร ที่จะวางแผนการดูแลรักษาร่วมกัน ทั้งฝ่ายหมอและผู้ป่วย เพื่อลดความเหตุการณ์ประเภท "คนไข้ยอม แต่หมอไม่ยอม" ในขณะเดียวกัน   หมอก็ไม่รู้สึกเกร็ง กังวลว่า ถ้าไม่ทำ มีหวังโดนฟ้อง    ญาติก็ไม่โดนก่นด่าว่า 'อกตัญญู'      ผู้ป่วยก็นอนตายตาหลับ

สิ่งที่จะมาช่วยได้ คือ กระบวนการ advance care plan ที่เน้นการสื่อสารระหว่างการกันของทุกฝ่าย

อีกเรื่องที่ผมเป็นห่วง คือ ปัจจุบันมีผู้บริหารหรือผู้ดูแลงบประมาณทั้งในระดับโรงพยาบาลและระดับประเทศ หันมาสนับสนุน palliative care ด้วยเหตุผลเรื่อง การประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นหลัก ต้องการตัวเลขยืนยันว่ามันประหยัดได้จริง ประหยัดได้เท่าไร  เอาเรื่องเงินเป็นแรงขับดัน  นั่นคือ สนใจ end of life cost มากกว่า end of life care

มันอันตรายมากครับ โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบ palliative care ยังเพิ่งเริ่มต้นอย่างบ้านเรา ซึ่งผมเคยเขียนบันทึกไว้เมื่อหลายปีก่อน ที่นี่

ลองวาดภาพคุณตาคุณยายที่ถึงวาระสุดท้ายด้วยโรคร้ายแรง ทั้งปวดทั้งทรมาน แต่ไม่ยอมไปโรงพยาบาลเพราะไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน ถ้าลูกหลานเกิดบ้าจี้ ไม่พาไปโรงพยาบาลจริง ๆ หรือหมอที่โรงพยาบาลเห็นดีเห็นงามที่จะไม่ต้องรักษาอะไรเลย ปล่อยให้กลับไปตายบ้านเฉย ๆ โดยไม่ต้องให้ยาระงับปวดตาอาการต่าง ๆ เพราะไม่มีความรู้ ไม่มียา หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มันจะเป็นอย่างไร ถ้าคุณตาคุณยายนั้นคือ ตัวคุณเอง

หมายเลขบันทึก: 517553เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

  • ชื่นชมคะ ถือเอาปะทุความไม่พอใจ มาคลี่คลายเลยว่า "กตัญญู"  เป็นอย่างไร
  • เหตุใดจึงมีคำกล่าวว่า กตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี..  คนดีคือคนที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ดูดี?
  • ขณะผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวใดๆ แล้ว การเจาะเลือด เจาะคอ เป็นการทำเพื่อใครได้รู้สึกดี? 
  • มุมมองผู้ออกนโยบาย เป็นปกติที่จะมองเรื่อง Cost effective  คะ ขณะเดียวกัน มุมมองผู้ป่วยและญาติ ก็เป็นปกติที่จะมองว่า Palliative care ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร?  มุมมองผู้ให้บริการ ก็เป็นปกติที่จะมองว่า Palliative care ช่วยให้เขาทำงานขึ้นอย่างไร?

เห็นมุมมองจากข่าวได้อีกประเด็นที่น่าสนใจเลยครับคุณหมอ

Ico48

  • ไม่รู้เป็นไง คราวนี้ผมรู้สึกสงสารเขามากกว่าไม่ชอบ

Ico48

  • บ้านเราก็ตีข่าวเรื่องนี้เหมือนกันนะครับ
  • ใครจะไปรู้ รมต.คลังของเราอาจจะต้องคิดเรื่องคล้าย ๆ กันนี้กับเขาก็ได้ เพราะสังคมไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้วครับ แล้วผู้สูงอายุกลุ่มแรก ๆ ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ก็คือ พวกเรา ครับ คนวัยทำงานในปัจจุบัน
  • ตอนนี้ ก็เห่อรถคันใหม่ บ้านหลังใหม่ กันไปก่อนครับ

ที่ญี่ปุ่นเค้าพูดกันตรงๆ แบบยอมรับความจริง หาทางแก้ไข

ส่วนบ้านเรา รัฐไม่จริงใจ กับระบบสาธาฯ อย่างจริงจัง ค่ะ 

เหมือนยังไม่ค่อยยอมรับความจริง ที่เศร้าใจสุดๆ คือ 

การตกแต่งตัวเลขให้ได้ตรงตาม ตัวชี้วัด มากเกินไป ? คะ 

"ตายเร็วๆ จะได้ไม่เปลือง" สะท้อนใจนะคะ กับประโยคนี้  มันดูแห้งแล้ง...เหมือนไม่มีหัวใจยังงัยยังงั้นเลยค่ะอาจารย์...

มีผู้ป่วยหลายรายที่เข้ากระบวนการ Advance care plan แต่ Plan และการตัดสินใจนั้นก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายที่พอสมควรอยู่...เห็นด้วยที่ว่า Palliative care นั้นไม่ใช่จะ Low cost เสมอไปในผู้ป่วยบางราย...เหมือนคุณตา รายนี้ ค่ะ 

Ico48

  • ผมไม่รู้เหมือนกันว่า เรามีปัญญาเห็นปัญหาแล้วหรือยัง หรือยังไม่ฉลาดพอ ยังไงเราก้ต้องสร้างภูมอคุ้มกันเรื่องนี้กันเองด้วยนะครับ ถ้าปล่อยตัวปล่อยจลอยตามกระแสไป ก็ไม่ผิดอะไรกับฝูงแมงเม่า ส่วนพวกเขาเหล่านั้น ก็อาศัยข้อมูลวงใน 'เอาเปรียบแล้วตีจาก' ไปอย่างไม่หันมามองด้วยซ็ำ
  • กรรมนี้ใครก่อไว้ ก็ขอให้ส่งผลถึงลูกถึงหลานและโคตรตระกูลของเขาในอนาคต ด้วยเถิด

น่าคิดนะครับ คำพูดแบบนี้ ถ้าไม่ใช่ละครน้ำเน่า แล้วทำไมในชีวิตจริงถึงมีคนกล้าพูดกัน คนๆนั้นมันเลวเหมือนละครหรือ

ลองตรวจสอบประวัติผู้นี้ เขาเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา อาจจะไม่ค่อยมีวาทศิลป์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท