กรณีศึกษาคุณเอกณรงค์ขอลงรายการสัญชาติไทยประเภทของบุคคลประเภท 0


กรณีศึกษาคุณเอกณรงค์ขอลงรายการสัญชาติไทยประเภทของบุคคลประเภท 0

การขอเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) [1]

18 ธันวาคม 2555

คำถาม

ผมอายุเกิดเมื่อ 19 06 36 (19 มิถุนายน 2536) ปัญหาของผมคือผมถือบัตรเลข 0 เพราะพ่อและแม่ผมไม่ได้ไปแจ้งเกิดครับ ทั้ง 2 ท่านทิ้งผมไปแต่เด็กผมเกิดที่นนทบุรีคับ คนละแวกนั้นเห็นผมแต่เด็กเลยคับสิ่งที่ผมมีคือใบรับรองการเกิดคับ ทางโรงพยาบาลออกมาให้ซึ่งในสมัยนั้นเข้าใจว่าต้องให้แม่ไปขึ้นที่เขตหรืออำเภอแต่อย่างที่บอกคับเขาทิ้งไปเลยผมเคยไปเดินเรื่องแล้วคับ แต่เขาตอบกลับมาว่าต้องให้แม่มาเซ็นชื่อให้เป็นใบเกิดให้ได้ แล้วตั้ง 19 ปีแล้วคับ ผมไม่เคยเจอเลยจะไปหามาได้ยังไง ผมทุกใจมากคับทั้งๆที่ผมเกิดในไทยแท้ๆคนไทยแท้ๆ มีพยานกระทั่งประธานชุมชนก็เห็นผมแต่เด็กแต่ทำอะไรไม่ได้เลยผมเรียนอยู่ปี 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งคับจะขึ้นปี 2 แล้ว อยากทราบว่าผมจะทำอะไรได้บ้างมั๊ยคับ เพราะผมทุกข์ใจมากกับการต้องเป็นแบบนี้วอนผู้รู้ตอบผมทีนะคับ

แนวคำตอบสืบเนื่องมาจากคำถามของคุณเอกณรงค์

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติบุคคล

คุณเอกณรงค์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2536 ที่ รพ.ในจังหวัดนนทบุรี (มีหนังสือรับรองการเกิด รพ. หรือ ท.ร.1/1 เป็นหลักฐาน) บิดามารดาไม่ได้แจ้งการเกิดให้ และบิดามารดาทิ้งไปตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันถือบัตรเลข 0 (บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) เรียนอยู่ปี 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏ

ปัญหามีว่าคุณเอกณรงค์จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ว่าเป็นบุคคลที่มี "สัญชาติไทย" เพราะยังเป็นผู้เยาว์ (อายุ 19 ปี) หากพ้นวันที่ 18 มิถุนายน 2536 คุณเอกณรงค์ก็จะบรรลุนิติภาวะ กระทำการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านได้เอง

มีประเด็นพิจารณาดังนี้

ประเด็นที่ 1 แนวทางในการดำเนินการเพื่อเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับคือ

(1) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 [2]

(1.1) หมายถึงในกรณีที่คุณเอกณรงค์มี "มารดา" เป็นผู้มีสัญชาติไทย เป็นการแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาของบุคคลสัญชาติไทย

ตามข้อมูลหากข้อเท็จจริงมีว่า คุณเอกณรงค์ "มีมารดาที่มีสัญชาติไทย" คุณเอกณรงค์ ย่อมได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 [3] (กรณีบิดาหรือมารดามีสัญชาติไทย ตามหลักสายโลหิต) ต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 57 [4] กรณีแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาของบุคคลสัญชาติไทย แต่วิธีนี้ตามข้อเท็จจริงของคุณเอกณรงค์ค่อนข้างลำบากเพราะ มารดาทิ้งไปตั้งแต่เด็กได้ 19 ปีแล้ว และไม่รู้ว่าอยู่ไหน ชื่อจริงว่าอย่างไร มีชื่อในทะเบียนบ้านว่าเป็นคนไทย หรือมีหลักฐานอื่นใดว่ามีชื่อในทะเบียน (ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ประเภทของบุคคลประเภทที่ 6 หรือประเภทของบุคคลประเภท 0 หรือประเภทของบุคคลประเภท 00) ตายหรือยัง แม้จะรู้ว่ามารดามีสัญชาติไทยก็ตาม แต่สุดหนทางที่จะไปตามตัวมาสอบสวนแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาได้ กล่าวคือ จะมีการสอบสวนเจ้าบ้าน บิดา มารดา ผู้รู้เห็นการเกิด และพยานบุคคลผู้มีฐานะมั่นคง แล้วเสนอนายอำเภอท้องที่อนุมัติ (แต่กรณีเด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์นับแต่วันยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนฯเป็นผู้อนุญาตแทนนายอำเภอ)

ตามรายการใน หนังสือรับรองการเกิดของ รพ.(ท.ร.1/1) จะระบุ รายการชื่อบิดามารดาไว้ หากข้อเท็จจริงมีว่า บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย ก็จะได้สัญชาติไทย ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติฯ มาตรา 7 (1) กรณีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (บุคคลเลข 0) ฉะนั้น เจ้าหน้าที่แนะนำให้คุณไปนำตัวมารดามาดำเนินการแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลากรณีบุคคลสัญชาติไทยจะได้รหัสประเภทของบุคคลประเภทที่ 2

การพิสูจน์สัญชาติของมารดาว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร นั้น ในทางปฏิบัติหากไม่มีญาติพี่น้องเครือญาติที่ใกล้ชิดจะพิสูจน์สอบสวนลำบากมาก เพราะต้องสอบสวนจากญาติพี่น้อง ญาติใกล้ชิด แต่ปัญหาเกิดขึ้นคือ คุณเอกณรงค์ไม่สามารถติดตามตัวมารดามาได้ เพราะ มารดาได้ทิ้งไปตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันได้ 19 ปีแล้ว จนหมดปัญญาว่าไม่รู้ว่าจะไปตามหามารดาได้ที่ใด

ปัญหานี้เป็น ปัญหาโลกแตก ที่นายทะเบียนฯ ประสบบ่อยมากกล่าวคือรู้ทั้งรู้ว่า มารดา หรือบิดา มีสัญชาติไทยแน่นอน แต่ไม่สามารถติดตามตัวมาสอบสวนได้

วิธีการแก้ไขก็คือ ให้เจ้าบ้าน หรือ ผู้รับมอบอำนาจจากสถานพยาบาล ไปดำเนินการแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาแทน

(1.2) หมายถึงในกรณีที่คุณเอกณรงค์มี "มารดา" เป็นผู้มีสัญชาติไทย เป็นการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านโดยไม่มีเอกสารของบุคคลสัญชาติไทย

ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 97 [5] กรณีบุคคลสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านโดยไม่มีเอกสาร โดยคุณเอกณรงค์ยื่นคำร้องด้วยตัวเอง เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ สอบสวนคล้าย ๆ กับข้อ 1.1 เสนอนายอำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่เป็นผู้อนุมัติเพิ่มชื่อ

ในความหมาย "ตามเอกสาร" ในที่นี้หมายถึงเฉพาะ "เอกสารการทะเบียนราษฎร" เท่านั้น ได้แก่ ท.ร.14 ทุกประเภท คือ ท.ร.14 ปี 2499, 2515 , 2526 ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.17) ใบสูติบัตร (ท.ร.19) แต่กรณีของคุณเอกณรงค์มีเอกสาร "หนังสือรับรองการเกิด รพ.หรือ ท.ร.1/1" ยังไม่ถือว่าเป็น "เอกสารการทะเบียนราษฎร"

ในกรณีนี้เป็นกรณีการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านของบุคคลที่มีสัญชาติไทย จะใช้ในกรณีที่ (1) ไม่สามารถแจ้งการเกิดเพื่อออกสูติบัตร (ท.ร.1 หรือ ท.ร. 2) ได้ และ (2) เป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่มีความประสงค์หลักฐานการเกิดเป็นสูติบัตร และผู้ร้องมีอายุเกินกว่า 7 ปี

หากคุณเอกณรงค์สามารถติดตามตัวมารดามาได้ ก็สามารถดำเนินการขอเพิ่มชื่อคุณเอกณรงค์ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) หรือ รอจนกระทั่งคุณเอกณรงค์อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป) ก็ขอยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ด้วยตนเองได้

(2) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 [6]

กรณีนี้ค่อนข้างยากลำบากในการพิจารณามาก แต่ง่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ขี้เกียจวินิจฉัย และขี้เกียจแสวงหาพยานหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้คุณเอกณรงค์ไปดำเนินการขอลงสัญชาติไทยสำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งดูจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ที่คนไทยแท้ ๆ ถูกผลักไสให้ไปลงสัญชาติไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นช่องทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งวิธีนี้เป็นการปัดความรับผิดชอบเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของมารดาโดยผลักไสให้ "คนไทย" ต้องตกอยู่ในสถานะของ "คนต่างด้าวไร้รัฐไร้สัญชาติ" เนื่องจากในกรณีที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ได้รับ "สัญชาติไทย" ตามบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แต่อย่างใด ด้วยเป็นกรณีตาม ประเด็นที่ 1 ข้อ (1) กรณีเช่นนี้มักพบทั่วไปตามเขตแนวชายแดน หรือ ชาวไทยภูเขา (บุคคลบนพื้นที่สูง) หรือในชุมชนคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ไม่สามารถตามหาตัวมารดาได้ และเป็นการปัดความรับผิดชอบเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของมารดาโดยผลักไสให้ "คนไทย" ต้องตกอยู่ในสถานะของ "คนต่างด้าวไร้รัฐไร้สัญชาติ"

กรณีนี้ มีข้อสังเกตว่า กรณีของคุณเอกณรงค์นั้น มีรหัสบุคคลเป็นเลข 0 เป็นบุคคลที่ "ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ไม่แน่ชัดว่าจัดอยู่ในกลุ่มใดจาก 6 กลุ่ม ระหว่าง กลุ่มที่ 2 เด็กนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาของทางราชการ (รร.สำรวจ) หรือ กลุ่มที่ 3บุคคลไร้รากเหง้า (ไม่ปรากฏบิดามารดาไม่ว่าสัญชาติใด ๆ หรือบิดามารดาได้ละทิ้งเด็กไป กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำรวจ) ซึ่งหากปรากฏภายหลังว่าคุณเอกณรงค์มีพยานหลักฐานที่สามารถแสดงได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับสัญชาติไทย ก็จะสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจาก "ไม่มีสถานะทางทะเบียน"เป็น "สัญชาติไทย" ได้

คุณเอกณรงค์ไม่ปรากฏมารดาหรือบิดา หรือตามรายการในช่องมารดาหรือและบิดาของบุตร (ในหนังสือรับรองการเกิด รพ.) ไม่ได้ระบุรายการสัญชาติไว้หรือไม่สามารถยืนยันได้ว่า "มีสัญชาติไทย" ซึ่งถือว่าคุณเอกณรงค์อยู่ในสถานะเป็น "บุคคลไร้รากเหง้า" แต่คุณเอกณรงค์เกิดในประเทศไทย แนวทางในการวินิจฉัยสัญชาติจึงค่อนข้างลำบาก ไม่ชัดเจน

จากข้อสันนิษฐานในหลาย ๆ แนวทาง พอสรุปได้ว่าคุณเอกณรงค์มีสิทธิได้สัญชาติไทยแน่นอน แต่กรรมวิธีที่จะขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านจะเป็นกรณีใด เพราะคุณเอกณรงค์อยู่ในสถานะที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เป็นบุคคลประเภท 0) ปัญหาข้อเท็จจริงสำคัญอยู่ที่ "มารดา" ของคุณว่า "มีสัญชาติไทยจริงหรือไม่ และจะมีการพิสูจน์ได้อย่างไรว่ามารดาของคุณมีสัญชาติไทยจริง เพราะไม่สามารถมาแสดงตัวได้" ฉะนั้น ในประเด็นนี้ ตามข้อสันนิษฐานของฝ่ายปกครองจึงมีข้อสันนิษฐานโดยปริยายที่เป็นผลร้ายต่อคุณเอกณรงค์ว่า "มารดาเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย"

(2.1) กรณีไม่ปรากฏว่า "มารดา" ของคุณเอกณรงค์เป็นผู้มีสัญชาติไทย (หมายความว่ามารดาเป็นต่างด้าว)

คุณเอกณรงค์เกิดในประเทศไทย หลังวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 (หลังพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 [7]) คุณเอกณรงค์ย่อมได้สัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ [8] (ตามหลักดินแดน)

ในกรณีนี้มีข้อสังเกตว่า คุณเอกณรงค์ควรจะได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 [9] หรือไม่ อย่างไร เพราะเกิดในช่วงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 - 28 กุมภาพันธ์ 2551

แยกพิจารณาดังนี้

(1.1) กรณี "มารดาของคุณเอกณรงค์เกิดต่างประเทศ" กรณีนี้คุณเอกณรงค์จะเป็นผู้ได้รับสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง (ตามหลักดินแดน) แก้ไขเพิ่มโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เพราะคุณเอกณรงค์เกิดวันที่ 19 มิถุนายน 2536 ซึ่งเกิดหลังวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และเกิดก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 หลังพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 ใช้บังคับ

(1.2) หากกรณี "มารดาของคุณเอกณรงค์เกิดในประเทศไทย" ซึ่งได้รับผลกระทบจาก ป.ว. 337 สำหรับผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทย คือผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2515 - 25 กุมภาพันธ์ 2535 ตามมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

ด้วยมีข้อสันนิษฐานอันเป็นผลร้ายต่อคุณเอกณรงค์ว่า "มารดามิได้เป็นผู้ที่เกิดในประเทศไทย" เพราะคุณเอกณรงค์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า "มารดาของตนเกิดในประเทศไทย" ฉะนั้น ในกรณีนี้ คุณเอกณรงค์จึงไม่สามารถมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 23 เพราะมารดามิได้รับผลกระทบจาก ป.ว. 337

ลองอ่านศึกษาดูบทความต่าง ๆ ให้มาก ๆ เพื่อดูช่องทาง สำหรับผู้เขียนในข้อกฎหมายพอมีบ้าง แต่จะถนัดประสบการณ์มากกว่า เพราะสัญชาติ เป็นเรื่องซับซ้อน มีข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์ สอบสวนมาก และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักอยู่ 2 - 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534, พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508, พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (นอกจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481)

ประเด็นที่ 2 ปัญหาทางปฏิบัติกรณีเด็กเกิดใน รพ. แต่ยังไม่ได้แจ้งการเกิด

กรณีของคุณเอกณรงค์เกิด รพ. มีหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) เป็นหลักฐานแต่ยังไม่ได้แจ้งการเกิด มีข้อพิจารณาว่า คุณเอกณรงค์จะสามารถแจ้งการเกิดเพื่อออกหลักฐานสูติบัตร ได้ประเภทใด คือ สูติบัตร ท.ร. 2 สำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่แจ้งเกิดเกินกำหนด หรือ สูติบัตร ท.ร. 3 สำหรับบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทย เป็นบุคคลประเภท "7" ดังนี้

(1) เป็นกรณีการเกิดในบ้าน ตามมาตรา 18 [10] แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งผู้มีหน้าที่ในการแจ้งการเกิดคือ "เจ้าบ้าน"

กรณี สถานพยาบาลเจ้าบ้านก็คือ ผอ.รพ. จะไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ใดไปแจ้งการเกิดไว้ในหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) กล่าวคือ รายการมักว่างไว้ หรือ อาจมอบให้บิดาหรือมารดาหรือบุคคลอื่นใดโดยลงรายการไว้แต่บุคคลดังกล่าว ไม่ได้ไปดำเนินการแจ้งการเกิดตามกำหนดเวลา จนล่วงเลยเวลาเกินกำหนด 15 วัน

(2) กระบวนการสอบสวนแจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลา ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ 57 ประกอบ ข้อ 56คนเกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล [11] ค่อนข้างจะยุ่งยากมาก เพราะ ต้องสอบสวนบิดา มารดา เจ้าบ้าน ผู้รู้เห็นการเกิด และพยานบุคคลผู้มีฐานะมั่นคง อีก 2 คน (ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู)

บางกรณีต้องมีพยานบุคคลมาพิสูจน์ยืน ยันตัวบุคคลว่า ไม่มีการทุจริตแอบอ้างสวมตัวบุคคลอื่นใด (หมายความบุคคลที่นำมาแสดงตนเพื่อขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดนั้นต้องเป็นบุคคลคนเดียวกับที่ระบุไว้ในเอกสารหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.1/1 ฉบับนั้น)เพราะมีการลงรายการไว้ในหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.1/1 และข้อเท็จจริงที่ขัดแย้ง สับสน คลาดเคลื่อนกันมาก ไม่น่าเชื่อถือ

(3) บางกรณี นายทะเบียนฯ สงสัยมากถึงขนาดแนะนำให้ไปตรวจ ดี.เอ็น.เอ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลงรายการ "บิดา" หรือ "มารดา" ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงให้เพราะนายทะเบียนฯ ไม่แน่ใจจากพยานบุคคล เช่น กรณีมารดามีสามีในขณะเดียวกันหลายคน ซึ่งรายการบิดาที่ปรากฏในเอกสารหนังสือรับรองการเกิดสับสน คลาดเคลื่อนมาก ไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็ติดปัญหาที่ว่า การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. นั้น จะต้องตรวจทั้งสามคนอาจขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ [12]

(4) การดำเนินคดีอาญาเปรียบเทียบปรับ กรณีคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ ก็จะมีการลงคดีเปรียบเทียบปรับ (ปกติปรับ 20 บาทจากอัตราปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 18 และมาตรา 47 [13]) หากเป็นกรณีขาดอายุความ(เกินกว่า 1 ปี) นายทะเบียนฯ ก็จะระงับการเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากขาดอายุความ

(5) ผู้มีอำนาจอนุมัติแจ้งการเกิด นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจในการ "อนุมัติ" แจ้งเกิดเกินกำหนดกรณีบุคคลสัญชาติไทย กรณีอายุไม่เกินเจ็ดปีบริบูรณ์ในวันยื่นคำร้องให้นายทะเบียนฯ เป็นผู้ "อนุญาต"

(6) กรณีคุณเอกณรงค์จะขอเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านกรณีไม่มีเอกสาร เนื่องจากอายุเกินกว่า 7 ปี ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ 97 ก็จะประสบกับปัญหาทางปฏิบัติที่คล้าย ๆ กับการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา ตามข้อ (1) – (5) เพราะอำนาจอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเป็นอำนาจของ "นายอำเภอท้องที่" เพียงแต่ไม่มีการลงคดีเปรียบเทียบฯ ตามข้อ (4)

ประเด็นที่ 3 ข้อสรุปความเห็นของผู้เขียนตามแนวทางที่เป็นไปได้ (ความเห็นส่วนตัว)

จากกฎหมายหลัก 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ดังกล่าวข้างต้น

จากการเทียบเคียงกรณีของคุณเอกณรงค์ กับกรณีของนายมด ตามหนังสือสั่งการกรมการปกครอง และแผนผังตัวอย่าง ตามรูปภาพข้างบน [14] ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ไม่เข้าข่าย ตาม มาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 เพราะไม่สามารถระบุได้ว่า บิดาและมารดาทั้งสองคนเป็นบุคคลที่เข้าเมืองโดยมิชอบหรือได้รับการผ่อนผันฯ ฉะนั้น จึงเป็นกรณีตาม มาตรา 7 (2) (ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย) แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ( บิดาและมารดาไม่มีสัญชาติไทย หรือมีสัญชาติอื่นใดที่มิใช่สัญชาติไทย บุตรเกิดในประเทศไทย บุตรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด)

ตามความเห็นของผู้เขียน มีความเห็นเป็นสามแนวทาง

แนวทางที่ 1 เห็นว่า คุณเอกณรงค์ ควรดำเนินการขอเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ ข้อ 97 หรือ การขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาของบุคคลสัญชาติไทย ตาม ข้อ 57 ประกอบข้อ 56 แห่งระเบียบฯเดียวกัน เพราะวิธีดังกล่าวมีผลดี (ในทางที่เป็นคุณ) ต่อคุณเอกณรงค์ แต่มีภาระในการพิสูจน์สัญชาติของมารดา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมักปัดภาระในการพิสูจน์นี้ เพราะเห็นว่ายุ่งยากมาก หรือ

แนวทางที่ 2 เป็นกรณีการ "ขอลงรายการสัญชาติ" ไทย ของคุณเอกณรงค์ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มีข้อพิจารณาความเห็นแยกย่อยเป็น 3 กรณีย่อย ดังนี้

(1) คุณเอกณรงค์ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7 (2)

เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า "บิดามารดาของคุณเอกณรงค์มีสัญชาติใด" จึงเป็นกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย" จึงต้องอาศัยข้อมูลจาก "ฝ่ายมารดา" เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ "บุตรเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ" และการเพียรพิสูจน์สัญชาติของมารดาอาจจะเป็นผลร้าย (ในทางที่ไม่เป็นคุณได้) เพราะหากปรากฏว่า มารดาของคุณเอกณรงค์เป็นต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบหรือได้รับการผ่อนผันฯ และมารดามิได้เกิดในประเทศไทย คุณเอกณรงค์จะไม่ได้สัญชาติไทย แม้จะเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่เกิดหลังวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 (ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535)

ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ทราบสัญชาติที่แท้จริงของมารดาได้ หรือที่เรียกว่า "มารดาไม่ปรากฏ" กรณีเช่นนี้ คุณเอกณรงค์ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7 (2) คือ เป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยไม่จำต้องมีภาระในการพิสูจน์สัญชาติของมารดา หรือบิดาแต่อย่างใด เพราะเป็นกรณีที่ "บิดามารดาไม่ปรากฏ"

ผู้เขียนเห็นว่าตาม มาตรา 7(2) แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติฯ ที่แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า "ตามหลักกฎหมายแล้ว ไม่มีผลบังคับ เพราะ การปรับใช้กฎหมายนั้น หากบทบัญญัติที่ไม่เป็นคุณจะไม่นำมาใช้"

(2) คุณเอกณรงค์ขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23

อีกประการหนึ่งผู้เขียนเห็นว่ากรณีคุณเอกณรงค์ แม้จะเป็นบุตรที่เกิดหลัง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 (ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535) และเกิดก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 แต่ไม่ได้รับผลกระทบจาก ป.ว. 337 จึงไม่ใช่บุคคลที่จะได้สัญชาติไทยตามมาตรา 23 ตาม หนังสือสั่งการกรมการปกครอง [15]

แต่หากมีข้อมูลปรากฏว่า บิดาหรือมารดาเกิดในประเทศไทย เน้นไปเฉพาะมารดา เพราะมารดา เป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ (มีข้อสมมติฐานว่าบิดาและมารดาของคุณเอกณรงค์คงไม่มีโอกาสได้จดทะเบียนสมรสกันหรือ บิดาของคุณเอกณรงค์คงไม่มีโอกาสไปร้องศาลขอให้รับรองคุณเอกณรงค์เป็นบุตร) หากบิดามารดาของคุณเอกณรงค์ได้รับผลกระทบจาก ป.ว. 337 คุณเอกณรงค์จึง "ขอลงรายการสัญชาติ" ไทยได้ ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

(3) คุณเอกณรงค์ขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง

ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้ สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด"

ด้วยหากปรากฏหลักฐานว่า "บิดามารดาของคุณเอกณรงค์เกิดต่างประเทศ" ก็จะเป็นกรณีที่คุณเอกณรงค์ขอลงรายการสัญชาติไทยได้เฉพาะราย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง

แนวทางที่ 3 คุณเอกณรงค์ยื่นขอสัญชาติไทยเฉพาะราย ในกลุ่มของบุคคลไร้รากเหง้า (บุคคลเลข 0) ตามมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553 ตาม หนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย [16]

หมายเหตุ มติ ครม.เมื่อ 28 สิงหาคม 2544 เห็นชอบให้บุตรที่เกิดในประเทศไทย ได้สัญชาติไทยโดยไม่จำกัดห้วงเวลาในการเกิด เฉพาะบุคคลบนพื้นที่สูง [17]

หมายเหตุ

ในกรณีของคุณเอกณรงค์ สามารถวินิจฉัยเทียบเคียง ในกรณีของ ด.ญ.สมฤทัย ที่ไม่ทราบว่าบิดามารดาของเด็กเป็นใคร ได้นำเด็กไปจ้างให้บุคคลอื่นเลี้ยงได้ประมาณ 3 เดือนแล้วทอดทิ้งไป วีนัส สีสุข วินิจฉัยว่า ด.ญ.สมฤทัย เป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 (2) ดังนี้

กรณีที่ 3. นางบุญมา สว่างแจ้ง ยื่นคำขอแจ้งการเกิดให้แก่เด็กหญิงสมฤทัยฯ โดยแจ้งว่าเด็กเกิดวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ไม่ทราบว่าบิดามารดาของเด็กเป็นใคร ได้นำเด็กมาจ้างตนเองเลี้ยงได้ประมาณ 3 เดือนแล้วทอดทิ้งไป นางบุญมาฯ ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงสมฤทัยฯ เสมือนบุตรและอยากให้เด็กได้เข้าโรงเรียนแต่เด็กไม่มีสูติบัตรและไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน นายทะเบียนจะรับแจ้งการเกิดได้หรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เด็กหญิงสมฤทัยฯ มีชื่อในทะเบียนบ้าน


แนวการวินิจฉัย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 18 กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการแจ้งการเกิดโดยให้เจ้าบ้าน บิดาหรือมารดาเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่เด็กเกิด (คำว่าเจ้าบ้านในที่นี้หมายถึงเจ้าบ้านของบ้านหลังที่เด็กเกิด) กรณีนี้นางบุญมาฯ มิใช่เป็นเจ้าบ้านตามมาตรา 18 และมิใช่เป็นมารดาของเด็กหญิงสมฤทัยฯ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเด็กเกิดที่ใด นางบุญมาฯ จึงไม่สามารถแจ้งการเกิดให้กับเด็กหญิงสมฤทัยฯ ได้ สำหรับวิธีการที่จะทำให้เด็กหญิงสมฤทัยฯ มีรายการในทะเบียนราษฎรจะต้องใช้วิธีการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกรณีเด็กอนาถาที่อยู่ในการอุปการะของบุคคลตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ข้อ 98 โดยมีแนวทางการพิจารณาดังนี้


1. สัญชาติของเด็กหญิงสมฤทัยฯ เนื่องจากเด็กเกิดปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นช่วงของการบังคับใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 การวินิจฉัยสัญชาติของเด็กหญิงสมฤทัยฯ จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 7 และมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าบิดามารดาของเด็กหญิงสมฤทัยฯ เป็นใคร สัญชาติใด จึงไม่อาจสรุปได้ว่าเด็กเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 (1) หรือไม่ได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง ประเด็นจึงต้องพิสูจน์ว่าเด็กเกิดในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งหากเชื่อได้ว่าเกิดในประเทศไทย เด็กหญิงสมฤทัยฯ ย่อมเป็นผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 (2) นายทะเบียนสามารถเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ในสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทย และหากภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดามารดาของเด็กซึ่งส่งผลทำให้เด็กไม่ได้รับสัญชาติไทย นายทะเบียนย่อมสามารถแก้ไขรายการสัญชาติให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นได้


2. เด็กจะใช้นามสกุลอะไร ถ้าไม่สามารถนำสืบได้ว่าบิดามารดาของเด็กหญิงสมฤทัยฯ เป็นใคร เด็กจะใช้นามสกุลของนางบุญมาฯ ซึ่งเป็นผู้อุปการะไม่ได้ เนื่องจากการใช้ชื่อสกุลของบุคคลต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดให้บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดาหรือมารดา และ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่เป็นเจ้าของชื่อสกุลสามารถยินยอมให้บุคคลอื่นร่วมใช้ชื่อสกุลของตนได้ ดังนั้น ถ้านางบุญมา ไม่ใช่เจ้าของชื่อสกุล "สว่างแจ้ง" ย่อมไม่สามารถอนุญาตหรือยินยอมให้เด็กหญิงสมฤทัยใช้นามสกุลดังกล่าวได้ นายทะเบียนจะต้องเว้น (ไม่บันทึก) รายการชื่อสกุลของเด็กหญิงสมฤทัย ในทะเบียนบ้าน แต่หากนางบุญมาฯ ได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงสมฤทัย เป็นบุตรบุญธรรมของตน เด็กหญิงสมฤทัยย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลตามมารดาบุญธรรมได้


C R : วีนัส สีสุข(Venus Seesuk), การเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ภาคสาม, 25 ตุลาคม 2552, http://www.gotoknow.org/posts/308460


อ้างอิงเพิ่มเติม

กฎหมาย ประกาศ หนังสือสั่งการ

"พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555"

ลิงค์ดาวน์โหลด พรบ.แก้ไขถึงฉบับที่ 5 (Multiversional, both Word & PDF files)

https://www.mediafire.com/?cpk4kf3k4hgo717

http://www.mediafire.com/download/cpk4kf3k4hgo717/NationalityAct2508toNo5PSK2555.doc

http://www.mediafire.com/download/07jy0l1k3nmp1dg/พระราชบัญญัติสัญชาติ2508ถึงฉ5-2555update9short.doc

http://www.mediafire.com/download/7683g4tq8ztd68f/พระราชบัญญัติสัญชาติ2508ถึงฉ5-2555update9short.pdf

http://www.mediafire.com/download/grcxnb62gi6r0vb/NationalityAct2508toNo5PSK2555-09.pdf


หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0309.1/ว 1587 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 เรื่อง "การขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551",

http://www.dopa.go.th/dopanew/doc/moi03091587.pdf

หนังสือกรมการปกครองที่ มท 0309.1/ว 84 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551,

http://www.mediafire.com/view/?y238143e1rwjxsy

หนังสือกรมการปกครองที่ มท 0309.1/ว 5 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่อง หนังสือรับรองการเกิดที่ออกตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551, http://www.mediafire.com/view/?8h8n1o6g4lfh7e2

หนังสือกรมการปกครอง ด่วนที่สุด ที่ มท 0308.4/ว 1801 ลงวันที่ 24 มกราคม 2554 เรื่อง การอนุมัติหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล, http://isab.dopa.go.th/dopa_isab/book/22/22_52.pdf

หนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด่วนที่ สม 0001/57 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 เรื่อง ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และวันที่ 7 ธันวาคม 2553,

http://www.nhrc.or.th/2012/wb/img_contentpage_attachment/443_file_name_8788.pdf

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปและการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/177/50.PDF

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและอาศัยอยู่มานานตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/177/54.PDF

"มหาดไทยออกหลักเกณฑ์ใหม่ให้สัญชาติบุตรของบุคคลไม่มีสัญชาติไทย", 4 ธันวาคม 2555, http://www.prachatai.com/journal/2012/12/44032

รมว.มหาดไทยออกประกาศให้บุตรของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในราชอาณาจักรไทยได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป ครอบคลุมคนไทยพลัดถิ่น จนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ 14 กลุ่ม คนไร้รากเหง้าซึ่งเกิดเมืองไทย อยู่มานาน เรียนหนังสือไทย ประกอบอาชีพสุจริต และให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะแก่บุตรของบุคคลต่างด้าวที่มีผลงาน และสาขาที่ขาดแคลน

=================================

โครงการ

"โครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร",http://www.gotoknow.org/posts/510664

โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ, "ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ",

http://www.stateless4child.net/strategic2555.pdf

โครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ, "คนไม่ใช่หมา", http://stateless4child.net/home.php

"วาทะเด็ดในการให้นโยบายการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลของ มท.1 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่น่าสนใจ คือ ท่านรู้ลึก รู้จริงเกี่ยวกับงานนี้ อย่างแรกท่านบอกว่า ต้องใช้หลักมีฅนอยู่ที่ไหน บ้านจำนวนเท่าใด รัฐต้องทราบ ส่วนฅนคนนั้น จะเป็นใคร มีสัญชาติอะไร หรือจะได้สัญชาติไทย ค่อยมาว่ากัน รัฐจะได้พัฒนาประเทศได้ ดังที่เป็นคำที่คิดไว้และใช้แล้ว "X-rays ทุกชุมชน ให้ทุกฅนมีเลข 13 หลัก" ถือเป็นความหวัง คิดว่า การดำเนินงานกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคล จะเดินไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างเสมอภาค เท่าเทียม"

=================================

กรณีศึกษา

รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, "การประกันคุณภาพชีวิตของคนข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยโดย "ใบเกิด" : ตอนที่ 3 – อย่าลังเลที่จะแก้ปัญหาคนเกิดแล้วในไทยแต่ไร้ใบเกิด",

http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/261199 &

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=450&d_id=449&page=2&start=1

มานะ งามเนตร์. "เรื่องเล่าว่าด้วยหนังสือรับรองการเกิด", http://www.stateless4child.net/Mana.pdf

มานะ งามเนตร์. "วิพากษ์กระบวนการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคล",

http://www.stateless4child.net/autopage/file/TueSeptember2012-13-18-47-11-9-55-13-51.pdf

ริน(นามแฝง), สำนักกฎหมายเพื่อการพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิกระจกเงา "เฝยเม่ง แซ่เติ๋น เด็กสาวชาวเมี่ยน เธอเกิดที่หมู่บ้านน้ำกิ ต.ผาทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน", http://www.tobethai.org/autopage2/show_page.php?h=22&s_id=52&d_id=52

สุกัญญา(นามแฝง), "การขอสัญชาติไทยให้บุตรบุญธรรมที่เป็นคนไร้รากเหง้า", http://www.gotoknow.org/questions/16144

===========================================

[1] บทความนี้ผู้เขียนลองวิเคราะห์จากประสบการณ์เมื่อ 18 ธันวาคม 2555, ผู้เขียนได้นำมาเรียบเรียงลำดับความใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เมื่อ 2 มีนาคม 2558.(สองปีกว่าผ่านไป) เพื่อเป็นกรณีศึกษา แม้ว่าข้อมูลที่คุณเอกณรงคืแจ้งมาจะไม่สมบูรณ์แต่ผู้เขียนก็ได้ใช้แนวทางสันนิษฐานเพิ่มเติม ซึ่งเข้าใจว่า กรณีเช่นคุณเอกณรงค์นี้ยังมีอยู่อีกมากในสังคมไทย

[2] พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน 2534, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A119/%A119-20-9999-update.pdf

[3] มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง

(มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535)

[4] "ข้อ 57 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเกินกำหนด ของผู้มีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวของบิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน ของบ้านที่มีการเกิด (ถ้ามี) หรือบัตรประจำตัวของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) หนังสือมอบหมาย (ถ้ามี) หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี)

(2) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของคนที่เกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่

(3) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. 100) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

(4) พิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของคนที่เกิดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็ก ที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

(5) เมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากนายอำเภอว่าคนที่เกิดนั้นเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการเปรียบเทียบคดีความผิด และออกสูติบัตร (ท.ร. 2) ให้แก่ผู้แจ้ง

(6) เพิ่มชื่อคนที่เกิดเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร. 14) แล้วแต่กรณี

(7) กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าคนที่เกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้ รับสัญชาติไทย หรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของบุคคลดังกล่าวได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่บุคคลนั้นตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางที่เกี่ยวด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

ถ้าการแจ้งการเกิดเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่นที่ไม่ใช่ท้องที่ที่เกิด ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้งการเกิด ได้แก่หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) หรือผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลการตรวจ สารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความสัมพันธ์การเป็นบิดาหรือมารดาของคนที่เกิด สำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของคนที่เกิดซึ่งต้องเป็นทะเบียนบ้านในเขตท้องที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่แจ้งการเกิด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิดหรือ การตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น แล้วดำเนินการตาม (2) ถึง (7) รวมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กรณีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นการแจ้งการเกิดสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกินเจ็ดปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นรับผิดชอบการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่เกิดแทนนายอำเภอ โดยดำเนินการตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง โดยอนุโลม"

(ยกเลิกความเดิมตามข้อ 57 และให้ใช้ความใหม่แทนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 ข้อ 4)

[5] ข้อ 97บุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง ให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) สอบสวนเจ้าบ้าน ผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง (ถ้ามี) หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือประกอบการพิจารณา

(2) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักทะเบียนกลางว่าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นใดหรือไม่

(3) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่

(4) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า "คำร้องที่… ลงวันที่… หรือ หนังสือ… ลงวันที่…" แล้วแต่กรณี แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

(5) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134 (22)

(6) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132 (5)

"การเพิ่มชื่อตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านมีอายุตํ่ากว่า 7 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุอันควรสงสัยเรื่องสัญชาติของบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อ ให้นายทะเบียนรวบรวมหลักฐานเสนอขอความเห็นชอบจากนายอำเภอท้องที่ก่อนพิจารณาอนุญาต"

(เพิ่มความตามข้อ 97 วรรคสอง โดยข้อ 10 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545)

[6] พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 รวมแก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555, http://www.mediafire.com/download/76nqa5wkdm1rs8y/NationalityAct2508toNo5PSK2555.pdf

[7] พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 13 หน้า 3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535, http://www.thaigeneralkonsulat.de/th/consular/nationality2.pdf

[8] "มาตรา 7 ทวิผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"

[9] พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 39 ก หน้า 24 – 32 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 (ใช้บังคับวันที่ 28 พฤษภาคม 2551), http://www.thaigeneralkonsulat.de/th/consular/nationality4.pdf & "การได้สัญชาติไทยของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย", http://www.bora.dopa.go.th/nationclinic/images/document/sss23.pdf

[10] "มาตรา 18 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด ดังต่อไปนี้

(1) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (1) และ (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

(มาตรา 18 วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551)

[11] "ข้อ 56 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งว่ามีคนเกิดในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ให้ดำเนินการตามข้อ 52 วรรคหนึ่ง (1) - (6) เว้นแต่การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านให้ดำเนินการดังนี้

คนในท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) หรือทะเบียนบ้าน (ท.ร. 13) ของบิดา มารดา หากบิดามารดาไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียน

คนต่างท้องที่ ให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร. 14) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร. 13) ของสำนักทะเบียน แล้วแต่กรณี แล้วให้แนะนำผู้แจ้งดำเนินการแจ้งการย้ายที่อยู่คนเกิดใหม่ไปยังภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยต่อไป"

[12] ปกติการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์สัญชาติ ตรวจเพียงสองคนคือมารดากับบุตร หรือบิดากับบุตร ก็เพียงพอแล้ว ดูใน "สืบหาความเป็นสายเลือดเดียวกัน(DNA) ไม่ใช่เรื่องยาก", สรรหามาเล่า, 23 สิงหาคม 2556, http://club.sanook.com/7614/สืบหาความเป็นสายเลือดเ

[13] "มาตรา 47 ผู้ใด

(1) ไม่มาตามที่นายทะเบียนเรียก ไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริง หรือแสดงหลักฐานหรือไม่ยอมให้นายทะเบียนเข้าไปสอบถามในบ้านตามมาตรา 10

(2) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 19/1 มาตรา 21 มาตรา 23 มาตรา 30 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 39 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 41 หรือ มาตรา 42

(3) ฝ่าฝืนมาตรา 24 หรือ

(4) ไม่ยอมให้นายทะเบียนเข้าไปในบ้านเพื่อสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎร ไม่ยอมชี้แจงหรือตอบคำถาม หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อตามมาตรา 44 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท"

(มาตรา 47 (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[14] หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309.1/ว 5527 ลง 30 มีนาคม 2552เรื่อง การขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551, http://118.174.31.136/STR/data_pdf/mt03091_v5527.pdf

[15] ดูผังวิเคราะห์สัญชาติ2554, http://www.mediafire.com/view/?awawvncjp8e4vmx

[16] ด่วนที่สุด ที่ มท 0308.4/ว 5288 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553, http://www.isab.go.th/dopa_isab/ebookFile/222/222.pdf& ยื่นขอสัญชาติไทยเฉพาะราย ในกลุ่มของบุคคล 4 กลุ่ม ตามมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553 ตาม หนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย คือ 1.กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นเวลานานแต่ตกสำรวจ(เข้ามาในประเทศไทยก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2542) 2.กลุ่มเด็กนักเรียนและบุคคลในสถานศึกษา 3.กลุ่มคนไร้รากเหง้า 4.กลุ่มคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/512480 & https://www.gotoknow.org/posts/510669

[17] มติ ครม.เมื่อ 28 สิงหาคม 2544, http://www.tobethai.org/autopage2/file/ThuFebruary2011-15-12-16-006.pdf

หมายเลขบันทึก: 512480เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2015 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้มีความสุข สดชื่น สมหวังนะครับ

  • สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖ ครับ
  • ขออวยพรให้ท่านมีความสุข สมหวังทุกประการ
  • ขอขอบคุณครับสำหรับบันทึกดีๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท