แง่คิดในทางแยกของชีวิต พรหมลิขิตหรือกรรม


วันนี้ผมอยากเขียนบันทึกบ้าง รู้สึกว่าไม่ได้เขียนบันทึกมานานแล้ว ที่จริงแล้วเมื่อไหร่เปิดเครื่องคอมฯ ขึ้นมาก็ "เขียน" ตลอด แต่เป็นการ "เขียนโปรแกรม" ซึ่งสำหรับผมที่ชอบเขียนโปรแกรมนั้นผมไม่ได้มองว่าการเขียนโปรแกรมเป็นงานที่ต้องทำแต่เป็นกิจกรรมที่ผมสนุกกับการเขียนครับ

ผมโชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองมีความสุขในการทำ ยังนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อพบว่าสิ่งที่เรียนไม่สนุกชีวิตจะเป็นอย่างไร เดาเล่นๆ ว่าตอนนี้ผมก็คงเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีคนหนึ่งและในที่สุดแล้วก็น่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะคนอย่างผมคงไม่สามารถมีชีวิตกับสีสรรวูบวาบของวงการธุรกิจได้มากนัก ชีวิตที่สุขสงบจะเหมาะกับผมมากกว่า

คิดแล้วก็ตลกที่ไม่ว่าจะคิดย้อนอดีตถึงเงื่อนไขใน "ทางแยกชีวิต" ไม่ว่าตอนไหนก็ตาม ดูเหมือนว่าชีวิตก็จะวนมาเป็นเหมือนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนที่มีทางแยกชีวิตที่หักมุมอย่างหนักๆ มากทีเดียว

ผมไม่รู้ว่าคนทั่วไปจะเป็นเหมือนผมหรือเปล่า แต่ผมสังเกตว่าคนธรรมดาทั่วๆ ไปก็จะไม่ได้มีทางแยกชีวิตที่จะทำให้ชีวิตผกผันได้มากนัก คนที่มีทางแยกชีวิตที่สร้างความผกผันได้มากๆ ดูเหมือนจะเป็นคนส่วนน้อย หลายคนที่ผมอ่านประวัติชีวิตแล้วดูเหมือนจะถูกนำเสนอว่ามีความผกผันสูงแต่วิเคราะห์เข้าจริงๆ โดยองค์ประกอบล้อมรอบก็ไม่ได้ผกผันมากมาย อย่างไรเขาก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

ทำให้นึกถึงปรัชญาทางศาสนาในประเด็นหนึ่งที่แบ่งศาสนาเป็นสองพวกคือพวก "พรหมลิขิต" (destiny, fate) กับพวก "กรรม" (freewill, krama) ผมจำไม่ได้แล้วว่าหัวข้อของประเด็นนี้คืออะไร แต่เป็นหัวข้อถกเถียงกันมาตลอดพัฒนาการของศาสนาของมนุษยชาติ

ผมเองก็ไม่มีคำตอบว่าอะไรถูกต้อง ในบางเวลาก็เหมือนแบบหนึ่งถูก แต่ในบางช่วงก็เหมือนแบบหนึ่งจะถูกกว่า แล้วถ้าเรื่องนี้ถกเถียงกันมาเป็นพันๆ ปีพวกเราในยุคสมัยนี้ก็คงไม่เก่งพอที่จะหาคำตอบที่ถูกที่สุดได้ ทางที่ดีก็คือศึกษาความคิดทั้งสองแบบในฐานะผู้เรียนรู้ที่ดีกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 495659เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผู้อ่าน ก็ไม่มีคำตอบที่ "ตายตัว" แต่ไม่ว่า Fate หรือ Krama ก็ิอยู่ที่ใจเรา จะทำใจ และ "ยอมรับ" อย่าง เข้มแข็ง + อดทน + สู้ สู้ นะคะ

เพื่อนๆ ทุกคน เป็นกำลังใจให้นะคะ

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

อ่านแล้วชอบบันทึีกนี้ เพราะเคยขบคิดประเด็นนี้เช่นกัน

ส่วนตัวแล้ว ไม่เชื่อในเรื่อง พรหมลิขิต เพราะอยากทำอะไร อย่างไร ก็เลือกทำไปตามที่ชอบและผลมักจะเป็นไปตามที่คาดคิดไว้ (จะชอบ-ไม่ชอบก็อีกเรื่องหนึ่ง)

แต่หลังๆ กลับมาคิดเล่นๆ แบบไม่ค่อยมีความรู้ทางทฤษฎีว่า บางที...

"อนาคตน่าจะเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน" เสียแล้ว

อนาคต ในที่นี้ก็คือจินตนาการที่เราสร้างขึ้น ไม่ว่าจะด้วยรู้ตัวหรือไม่ และเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก (ซึ่งยอมรับกันแล้วในปัจจุบันว่าทรงอิทธิพลมากกว่าจิตสำนึก) และเป็นตัวผลักดันให้เราดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่สร้างไว้ในจินตนาการนั้น

คิดไปคิดมาก็ยังงงๆ และสับสนนิดหน่อย แต่คาดว่าคงชัดเจนขึ้นค่ะ เพราะหากครุ่นคิดในสิ่งใด ไม่ช้าก็เร็ว เรามักจะได้คำตอบนั้นเสมอ  :)

แนวคิดที่คุณหยั่งราก ฝากใบเขียนทำให้ผมนึกถึงหนังสือ Zen and the Art of Happiness ครับ เป็นหนังสือดีเล่มหนึ่งครับ

สวัสดีครับ

แนวคิดแบบศูนยวาทน่าจะใช้ได้ คือ กรรมเป็นผู้กำหนดก็ไม่ใช่ มิใช่กรรมเป็นผู้กำหนดก็ไม่ใช่ ผมก็ยังงงๆ แต่พอจะได้ข้อสรุึปว่า ไม่มีเหตุที่จะกำหนดผลชนิดตรงๆ เจ๋งๆ เขาว่ามาอย่างนั้น...

ณ วันนี้ ผมเชื่อ "กรรม" อย่างเดียวครับ

Fate ทั้งหลายมาจาก กรรม แบบที่ผมมองหาข้อยกเว้นยังไม่ได้นะครับ

จึงพยายามทำกรรมดี เพื่อหนีกรรมไม่ดีที่เคยมี หรือแฝงมาให้มากที่สุดครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

ผมติดตามดูท่านและแอบฟังข่าวคราวมาตลอดครับ

จะเป็นอย่างไร ความไม่ทุกข์ที่แท้จริงยังอยู่เหนือกรรม ถ้าเราลด ตัวตนลงมา จนถึงระดับไร้ตัวตนแบบที่ท่านพุทธทาสสอนนะครับ

ชีวิตเราจะไร้น้ำหนัก และไร้ทุกข์ แม้กรรมจะยังคงมีเช่นเดิมครับ

ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าหลายๆ เหตุการณ์ในโลกนี้ก็อธิบายด้วยกรรมยากเหมือนกันครับ อย่างเหตุการณ์อุบัติภัยทางธรรมชาติใหญ่ๆ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ถ้านึกในอีกมุมนั่นก็กรรมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่กรรมในระดับบุคคล เป็นกรรมของเผ่าพันธุ์หรือกรรมของสาธารณะครับ

  • ตอนนี้กำลังเป็นคนมีกรรมค่ะอาจารย์ ^______^
  • ไม่ได้เห็นบันทึกของอาจารย์นานทีเดียว ชอบเรื่องนี้ค่ะ ขอบคุณบันทึกนี้ที่ทำให้รู้สึกอยากขบคิดต่อไป
  • เคยคิดเล่น ๆ ในกลุ่มเพื่อนว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องนับถือศาสนาก็ได้หรือเปล่า เพียงแต่เรามีคุณธรรมพื้นฐานด้วยการมีความเมตตากรุณา และทำความดี ไม่ประสงค์ร้ายต่อใคร แค่คิดเล่น ๆ เพื่อนบอกว่าไม่จริงก็นั่นเป็นหลักธรรมของศาสนา ???? คนไม่นับถือศาสนาอะไร มันดูเพี้ยน ๆ ไปหรือเปล่า? แต่ก็กลับมาตั้งคำถามเพื่อนใหม่ว่า แล้วการนับถือศาสนามันจะทำให้คนนั้นเป็นอย่างไรขึ้นมาบ้าง ที่นับถืออยู่รู้จริงไหมในศาสนาของตนเอง สร้างคนดีได้มากน้อยเท่าไหนใช้อะไรเป็นมาตรฐานชี้วัดว่าคนที่มีศาสนาให้นับถือ จะดีกว่าพวกที่ไม่นับถือศาาสนาใด ๆ ในโลกเลย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท