ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สื่อสารทางการเมืองอย่างไร??? จึงจะเรียกว่า "สื่อแห่งรัก"




      การสื่อสารทางการเมืองในหลายสถานการณ์มักจะได้รับการตั้งข้อสังเกตว่า "ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง" จนนำไปสู่การ "แบ่งฝักแบ่งฝ่าย" และ "แบ่งสีและแบ่งข้าง" อย่างไรก็ดี ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิด "ความปรองดองและอยู่ร่วมกันความเข้าใจ และเป็นหนึ่งเดียว" คือ "การสื่อสารด้วยความรัก"

      ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบสำคัญในการปฏิบัติเป็นค่านิยมร่วมในการสื่อสารทางการเมืองเพื่อความปรองดอง ดังต่อไปนี้

      ๑. การให้ สังคมไทยตั้งแต่อดีตเป็น "สังคมโอยศีล โอยทาน" ซึ่งมักจะสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับ "การให้" จนเกิดการรับรู้ว่าเป็น "สังคมแห่งการให้" ดังจะเห็นได้จากประโยคพื้นบ้านว่า "ไปไหนมาทานข้าวหรือยัง" หรือ "มากินข้าวด้วยกันไหม" ท่าทีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูน และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ในความเป็นจริงแล้ว วัฒนธรรมการให้นั้นเป็นวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเชื่อมสมานกลุ่มคนต่างๆ ให้ตระหนักรู้และใส่ใจในคุณค่าและความสำคัญของเพื่อนมนุษย์ เพราะการให้เป็นการผ่อนคลายความเห็นแก่ตัวเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองปรารถนาโดยมิได้ใส่ใจต่อความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ

      ๒. ยิ้มสยาม เมื่อประชาชนในชาติเรียนรู้และใส่ใจต่อการให้อย่างไร้เงื่อนไข ย่อมนำไปสู่วัฒนธรรมที่ดีงามในลำดับต่อมา นั่นคือ "วัฒนธรรมแห่งการยิ้ม" จนทำให้ประเทศไทยได้รับการเรียกชื่อว่า "ดินแดนแห่งรอยยิ้ม" (Land of Smile) จุดเด่นของการยิ้มแย้มแจ่มใส่นั้น ทำให้บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันและการทำงานมีความเป็นมิตรกันมาก สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคจะนำไปสู่การแก้ไขเพราะกลุ่มยิ้มแย้มและเปิดใจที่จะพูดคุยและแสวงหาทางเลือกร่วมกัน

      ๓. เอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กับ "ยิ้มสยาม" คือ บรรยากาศของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เน้น "สมบัติผู้ดี" ที่สะสมความเกรงอกเกรงใจ และการใส่ใจต่อคนอื่นๆ ในสังคม แง่มุมเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

      ๔. การไม่เบียดเบียน ต่อเนื่องจากการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้น ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญต่อ "การไม่เบียดเบียนคนอื่นหรือสิ่งอื่น" ที่จะนำเสนอในบริบทนี้ แนวคิดพื้นฐานจากประเด็นนี้เกิดจากการตระหนักรู้ว่า เรารักความสุขเกลียดกลัวความทุกข์ฉันใด คนอื่นล้วนรักสุขเกลียดกลัวความทุกข์ฉันนั้นเหมือนกัน การตระหนักรู้ถึงความจริงเช่นนี้จะนำไปสู่การเอาใจเขามาใส่ใจเรามากยิ่งขึ้น ทั้งในมิติของการคิด การสื่อสาร และการแสดงออกต่อคนอื่น การตระหนักรู้ความสุขหรือความทุกข์ที่จะเป็นผลสืบเนื่องต่อคนอื่นนั้น จะทำให้มนุษย์มีความเคารพ และให้เกียรติแก่บุคคลอื่น หรือสิ่งอื่นมากยิ่งขึ้น

      ๕. การให้อภัย วัฒนธรรมการให้อภัยนั้น ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในฐานะที่ "มนุษย์คนหนึ่ง" เพราะโดยธรรมชาติแล้ว แม้มนุษย์จะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐิ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่อาจจะมีโอกาศกระทำในสิ่งที่ผิดพลาดบกพร่องได้เช่นเดียวกัน การให้อภัยซึ่งหมายถึง "การให้ความไม่กลัว" โดยมีนัยครอบคลุมถึงการป้อง การแก้ไข และการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่เกิดขึ้น

      วัฒนธรรมทั้ง ๕ ประเด็นข้างต้นนั้น แม้อาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่เชื่อมั่นว่า "น่าจะ" สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ในการอ้างอิง และเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อสร้างค่านิยมแห่งชาติต่อการสื่อสารทางการเมืองเพื่อความปรองดองในสังคมไทยปัจจุบัน


คำสำคัญ (Tags): #loving-kindness#NVCR
หมายเลขบันทึก: 486007เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2012 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถวายความเคารพ เข้าใจว่า การสื่อสารนั้นจะได้ผลดีหรือไม่ดีนั้น ผู้ส่งสาร สารที่ส่งและผู้รับสารนั้นจะต้องเข้าใจสิ่งที่จะเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์มาด้วย เท่าที่สังเกตุส่วนใหญ่จะเล็งไปว่า "ท่าที" เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตามก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นเช่นนั้น..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท