ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ค่านิยมความรับผิดชอบกับการสร้างความปรองดอง




      ในขณะที่นักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนที่กำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง จนนำไปสู่ความรุนแรงตามที่ปรากฎในสังคมไทยนั้น ตัวแปรสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิด ความขัดแย้ง คือ "การสื่อสาร" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การสื่อสารที่ขาดความสำนึก และรับผิดชอบ" ของกลุ่มคนต่างๆ ที่ "มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าความผาสุขของพลเมืองในสังคม"

      คำถามมีว่า เราควรจะมีข้อกำหนด หรือกรอบในการสื่อสารอย่างไร จึงจะทำให้นักการเมือง สื่อมวลชน และ ประชาชน มีความสำนึกรับผิดชอบต่อความเป็นไปของสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงประเทศชาติ และจากการสัมมนา การประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึกทำให้พบคำตอบที่น่าสนใจ และนำไปกำหนดเป็นค่านิยมแห่งชาติ ดังนี้

      ๑. การทดแทนคุณแผ่นดิน การตระหนักรู้ในคุณค่าของแผ่นดินไทยซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยให้ชีวิตเลือดเนื้อ และสิ่งที่บุรพมหากษัตริย์ ปู่ย่าตายายจากรุ่นสู่รุ่นที่ได้เพียรพยายามในการพัฒนาชาติไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ การเข้าใจคุณค่าดังกล่าวจะนำไปสู่การแสดงออกเพื่อทดแทนคุณโดยการสร้างสรรค์จรรโลงสิ่งดีงามให้เกิดขึ้นและสานต่อปณิธานความเสียสละทุ่มเทในลักษณะดังกล่าวสืบต่อไป ฉะนั้น การจะคิด หรือกระทำการสิ่งใดจำเป็นจะต้องตระหนักรู้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อชาติบ้านเมือง

      ๒. รักเมืองไทยโดยการทำตอบแทนไทยด้วยใจจริง ความรักเมืองไทยตามแนวทางนี้มิได้หมายถึงความเป็นชาตินิยมแบบสุดโต่งโดยขาดสติและปัญญา หากแต่เป็นความรักคุณค่าของความเป็นไทยทั้งวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม รวมไปถึงความรักแบบพี่น้องและญาติสนิท การตระหนักรู้คุณค่าดังกล่าวจะนำไปสู่การวางท่าทีที่เป็นบวกต่อกันทั้งการคิด การสื่อสาร และการแสดงออกต่อกันทางกาย

      ๓. เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มนุษย์มีคุณค่าและศักดิ์ความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกคนล้วนรักความสุขเกลียดความทุกข์เช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกัทุกคนล้วนปรารถนาการแสดงออกในเชิงการเคารพ และให้เกียรติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคารพในความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ และภาษาที่แตกต่างกัน

      ๔. ไม่ทรยศคดโกง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ได้ตระหนักรู้ และใส่ใจต่อความอยู่รอดของสังคม การดำเนินธุรกิจ หรือกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มิควรมุ่งเน้นเฉพาะผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายจนไม่ใส่ใจต่อวิธีการและความสัมพันธ์ต่อกลุ่มคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มคนต่างๆ จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเป็นไปของสังคมโดยภาพรวม

      ๕. ความมีจิตอาสา หรือความมีจิตสาธารณะถือได้ว่าเป็นวิถีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานดังที่ปรากฎในประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว การดำนา และประเพณีต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ฝังแน่นมาพร้อมกับวัฒนธรรมการให้ ถึงกระนั้น แนวทางเหล่านั้นอาจจะสะท้อนในสังคมแบบเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี นับได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการแสดงออกซึ่งไมตรีที่ดีต่อการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่ประสบกับความทุกข์ โดยการหยิบยืนความสุขให้แก่กันและกัน



คำสำคัญ (Tags): #NVCR#responsibility
หมายเลขบันทึก: 486005เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2012 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท