ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความจริงกับการให้อภัย: ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด!??!!??



      เมื่อกล่าวถึง "ความจริง" (Truth) มักจะมีคำคามต่อการให้คุณค่าว่า เป็นความจริงของใคร ของเขาหรือของเรา ในเนื้อแท้แล้ว ความจริงอาจจะเป็นทั้งความจริงของความจริง กับความจริงของความรู้สึก และอาจจะเป็นการป้องกันความสับสนดังกล่าว ราชบัณฑิตยสถานจึงให้ความหมายว่า "เป็นอย่างนั้นแน่แท้ ไม่กลับเป็นอย่างอื่น เช่น ข้อนี้เป็นจริง ไม่เท็จ ไม่โกหก ไม่หลอกลวง" ซึ่งเข้าลักษณะ "ความจริงตามเนื้อผ้า"

 

    
     ในศาสนาพุทธแบ่งความจริงออกเป็น ๒ มิติ คือ สมมติกับปรมัตถ์ ความจริงแบบแรกนั้น ขึ้นอยู่กับการให้ค่าของมนุษย์ ภายใต้บริบทของสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และอื่นๆ เป็นความจริงชนิด Compromise Fact ว่าสังคมจะกำหนดขึ้นเป็นแนวทาง กติกา และกฏเกณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการรับรู้ ปฏิบัติร่วมกัน และเข้าใจความหมายในทิศทางเดียวกัน ถึงกระนั้น ความจริงชนิดนี้ก็จำเป็นต้องให้สอดรับกับความจริงตามที่เห็นและปรากฎกับบริบทต่างๆ เช่น การตั้งชื่อ หมู่บ้าน และคน ก็มักให้สอดรับความรูปลักษณ์ หรือภูมิศาสตร์

      ส่วนความจริงประเด็นหลังเป็นความจริงในตัวของมันเองที่ไม่จำเป็นต้องมีใครหรือสิ่งใดมาให้ค่า เป็นความจริงที่ไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไข หรือการครอบงำของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราเรียกความจริงชนิดว่า "นิพพาน"

      ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ ในหลายๆ สถานการณ์เราไม่ทราบว่าสิ่งใดจริงสิ่งใดเท็จ แม้จะพยายามตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงแล้วก็ตาม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มขัดแย้งต่างๆ มีชุดความจริงที่แตกต่างกัน และต่างฝ่ายก็มองว่า ความจริงที่ตนเองมีและเป็นนั้นเป็นความจริงที่น่าเชื่อถือมากกว่า และเพื่อที่จะยืนยันว่าข้อสมมติฐานทางความจริงของเราถูก เราจึงพยายามที่จะสร้างวาทกรรม หรือหลักฐานต่างขึ้นมาเพื่อรองรับความจริงที่เราอ้างถึงเพื่อให้สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีน้ำหนักเพียงพอต่อการทำลายล้างชุดความจริงที่อีกฝ่ายอ้างขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องสนใจความสัมพันธ์ของคู่กรณีว่าจะดีหรือร้ายแต่ประการใด

      ประจักษ์ชัดว่า ความจริงในสถานการณ์ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงเป็นความจริงที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ เพราะไปสัมพันธ์กับความอยู่รอดของสังคม โดยเฉพาะความปรองดอง ดังนั้น การจะสร้างความปรองดองได้อย่างยั้งยืน สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การแสวงหาความจริง ที่มีและเป็นอยู่ในแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความรุนแรง

      เป้าหมายสำคัญในการค้นหามิได้หมายความว่า เพื่อจะนำมาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายกัน หากแต่เมื่อเราค้นพบแล้ว เราจะนำความจริงดังกล่าวไปทำอะไร นำไปเป็นเครื่องมือสำหรับนิรโทษกรรม และการอภัยโทษ หรือนำมาเป็นบทเรียนในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศโดยการออกกฎหมาย การลดความเหลื่อมล้ำ หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

      การแสวงหาความจริงมิได้มีเป้าหมายเพื่อให้เรา "ลืมความจริง" หากแต่นำความจริงมาเป็นเครื่องมืิอในการพัฒนาประเทศชาติและสังคมต่อไป ด้วยเหตุนี้ การให้อภัยจึงไม่ได้หมายถึงการที่เราบอกว่า "ไม่เป็นไร ลืมๆ กันไปเสีย" แต่การให้อภัยคือ เราจะต้องจำให้ได้ว่ามีความจริงอะไรบ้างเกิดขึ้นในอดีต มิได้หมายถึงการให้เราลืมอดีต อดีตจึงควรเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าที่เราจะต้องกำหนดท่าทีในปัจจบันเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีสุขในอนาคต




หมายเลขบันทึก: 485997เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2012 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท