ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สุขแท้.. ชั่วคราว.. หรือค้างคืน.. ขึ้นอยู่กับทุกข์ที่เราเผชิญ!!!


 

 

     พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพรหมชาลสูตรว่า "ปุพฺเพจาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ" แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย ทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราบัญญัติแต่ทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น" สรุป พระองค์สอนแค่สองเรื่องเท่านั้น คือ "ความทุกข์กับความสุข" เพียงแต่ว่าความสุขที่พระองค์ทรงเน้นมากคือ "นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ" แปลว่า "นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง" เพราะเป็น "สุขแท้" ไม่แปรเปลี่ยนตามกาละ และเทศะ อีกทั้ง ไม่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และตัวแปรต่างๆ

     คำถามมีว่า เพราะเหตุใด??? จึงต้องตรัสถึง "ความทุกข์ก่อนความสุข" เพราะทุกครั้งที่มนุษย์เผชิญหน้ากับความทุกข์เขาเหล่านั้นจะรีบเบือนหน้าหนี และตะเกียกตะกายแสวงหาความสุขทั้งๆ ที่เราก็ไม่ทราบว่าเจ้าความสุขนั้น หน้าตาจะเป็นฉันใด จะยั่งยืน หรือชั่วคราว ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ "พระพุทธเจ้า" นั่นเอง ช่างน่าอัศจรรย์ว่า ความสุขที่พระองค์ทรงค้นพบคือ "นิพพาน" จนทำให้พระองค์ถึงกับอุทานออกมาด้วยความปีติว่า "นตฺถิ สนฺติปรมํ สุขํ" แปลว่า "สุขอย่างอื่นที่ยอดเยี่ยมกว่าความสงบ (นิพพาน) นั้น ไม่มีอีกแล้ว"

     การที่มนุษย์คนหนึ่งจะผ่านด่าน "ทดสอบ" คือ ความทุกข์" เพื่อให้บรรลุถึง "ความสุข" แบบใดแบบหนึ่งนั้น ย่อมต้องต้องใช้ความอดทน ความมุ่งมั่นและตั้งใจ หาไม่แล้ว ความสุขดังกล่าวจะกลายเป็น "ความสุขแบบบังเอิญ" "สุขแบบชั่วคราว" และ "สุขแบบค้างคืน" แล้วความสุขแบบนั้นก็กลายกลับมาเป็นความทุกข์ที่คอยทิ่มแทงหัวใจดังที่เคยได้ประสบ

     จะเห็นว่า เมื่อยิ่งทุกข์มากก็โหยหาความสุขมาก และวันหนึ่งเมื่อเราค้นพบความสุขเราก็อยากจะให้มันอยู่กับเรานานๆ ทั้งนี้ การที่ความสุขจะอยู่กับเรานานมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ว่า เราจะเอาทุกข์ที่เคยประสบอย่างแสนสาหัสมากระตุ้นเตือนใจของเรามากน้อยเพียงใด และเมื่อใดเราหลงลืมละเมอเพ้อพกลุ่มหลงมัวเมากับความสุขแบบไม่ลืมหูลืมตา สักวันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็จะพลันพบว่า "ความสุขที่เราเฝ้าถวิลหาได้โบยบินหนีไปยามที่เราหลับไหล" 

     ขอบคุณ ขอบคุณ และขอบคุณ "เจ้าความทุกข์" ที่กระตุ้นเตือนให้เราเฝ้าค้นหา "เจ้าความสุข" เพื่อจะอยู่กับ "ความสุข" ทั้งยามตื่น และหลับไหลในทุกอณูแห่งลมหายใจ ท่ามกลางหมอกบาง ลมหนาว พายุ แสงแดด และลมฝน...

คำสำคัญ (Tags): #สุขแท้เทียม
หมายเลขบันทึก: 485265เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2012 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท