กิจกรรมวาดดอกกุหลาบ (1 ธ.ค.2554)


ผู้สนใจนำอุปกรณ์การวาดภาพด้วยสีน้ำและดอกกุหลาบที่จะใช้เป็นแบบวาดไปเอง (จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรม)

กิจกรรมวาดดอกกุหลาบ

(งานนิทรรศการ จิตรกรไทยรวมใจสู้ภัยน้ำท่วม 25 พ.ย.- 6 ธ.ค.2554)

1 ธ.ค.2554 ชั้น 1 แกรนด์ฮอลล์ สยามดิสคัฟเวอรี่

 

ขอบข่ายกิจกรรม

-         การบรรยายเกี่ยวกับภาพวาดพฤกษศาสตร์

-         การแสดงการวาดภาพดอกกุหลาบในแนวพฤกษศาสตร์โดยไม่ใช้การร่างเส้น

-         ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมกันวาดภาพดอกกุหลาบ

 

หัวข้อการพูดคุย

1.ประเภทของภาพวาดดอกไม้

  1. Flower Paint

  2. Botanical Paint

  3. Botanical Illustration 

2. ลักษณะของภาพวาดพฤกษศาสตร์

ประกอบด้วยส่วนต่างๆของลำต้นทั้งหมด คือ มีครบทั้งราก ลำต้น ดอก ใบ หากจะวาดเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของลำต้น ต้องแสดงส่วนที่ตัดออกจากลำต้นอย่างชัดเจนด้วยจะวาดให้จางหายไปกับกระดาษไม่ได้, วาดตามลักษณะที่ปรากฏของพืช ทั้งสีสัน สัดส่วน สัณฐาน จะแต่งเติมให้ผิดไปจากความเป็นจริงไม่ได้,วาดบนพื้นขาว (ห้ามลงสีพื้นหลัง) และไม่วาดส่วนประกอบอื่น เช่น กระถาง แจกัน ลงไปในภาพ, มีชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อผู้วาด 

3.ประโยชน์ของการวาดภาพแนวพฤกษศาสตร์

          1. ต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ปัจจุบัน แม้ปัญหาภาวะโลกร้อนจะได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น แต่หากประชากรโลกส่วนใหญ่ยังไม่ใคร่ตระหนักถึงภัยจากภาวะโลกร้อนนัก ยังขาดความร่วมมือและการกระทำที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เห็นได้จากการล้มเหลวในการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลกที่ประเทศเดนมาร์ค เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาต่างพยายามรักษาสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนไว้ และผลักภาระให้อีกฝ่าย 

โรคความจำเสื่อมอันเนื่องมาจากอากาศที่ร้อนมากขึ้น การแพร่กระจายของโรคระบาดที่รวดเร็วขึ้น ความอบอ้าว น้ำท่วม พายุที่ทวีความรุนแรง ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป แผ่นดินที่ถูกกลืนด้วยผืนน้ำจนเจ้าของที่ต้องเดือดร้อนเพราะไร้ที่อยู่อาศัย การขาดแคลนน้ำจืด การแก่งแย่งอาหารระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เหล่านี้เป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องเผชิญค่ะเมื่อโลกร้อนมากขึ้น 

การวาดภาพต้นไม้ใบหญ้าในแนวพฤกษศาสตร์นี้ ช่วยบ่มเพาะความรักต่อธรรมชาติ อันนำไปสู่การเอื้ออาทรต่อโลก เพราะการวาดภาพในแนวนี้ต้องอาศัยการสังเกตอย่างใกล้ชิด ภาพที่วาด จึงจะวาดออกมาแล้ว “ตกหล่น” ส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชน้อยที่สุด เมื่อสังเกต ถ่ายทอด มากๆเข้า ก็จะเกิดความรักต่อพืชชนิดที่วาด และสามารถขยายผลต่อไปถึงพืชพรรณชนิดอื่นๆตามธรรมชาติต่อไป 

เมื่อรัก ก็ไม่ทำลาย มือเราจึงลดการเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายธรรมชาติ หรือก็คือโลก         

และบางท่านเมื่อวาดภาพดอกไม้ที่กำลังเบ่งบานแล้ว ก็อาจต้องการวาดภาพระยะการเจริญเติบโตของพืชชนิดนั้นๆ ตั้งแต่เป็นต้นเล็กๆ จนเติบโต จนออกดอกและเบ่งบานให้ชื่นชม ก็อาจปลูกต้นไม้ในบ้านเมื่อการวาดโดยเฉพาะ ซึ่งมีผลดีคือ เป็นการช่วยเพิ่มจำนวนประชากรสีเขียวโดยตรง อันมีผลต่อการช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในอากาศ ช่วยลดภาวะโลกร้อน 

ส่วนผลงานภาพวาด เมื่อฝึกฝนจนความสามารถเพียงพอ ก็คืองานศิลป์ที่สามารถสร้างความประทับใจต่อผู้พบเห็น อันช่วยบ่มเพาะความรัก ความผูกพันต่อธรรมชาติ ได้เช่นเดียวกับตัวผู้วาด และเป็นรายได้ที่มาจากงานอดิเรกได้อีกด้วย 

ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาของเราทุกคนค่ะ เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข เพราะมหันตภัย อาจไม่ได้มาถึงในรุ่นลูกหลานอย่างที่เราเคยได้ยิน หากเรายังบริโภคกันอย่างฟุ่มเฟือย และขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ขาดการกระทำในทางแก้ไข มหันตภัยอาจมาถึงเราไวกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ 

ผืนดินกรุงเทพจมอยู่ใต้น้ำ แผ่นดินในจังหวัดชายทะเลสูญหายเพราะถูกน้ำทะเลท่วมถึงถาวร สินค้าเกษตรราคาสูงขึ้นเนื่องจากขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูก สิ่งเหล่านี้ เราอาจได้เห็นในอีกไม่กี่สิบปีนี้ค่ะ หากเรายังไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

มาเริ่มต้นวาดภาพดอกไม้ ใบไม้ ให้ใกล้เคียงธรรมชาติกันเถิดนะคะ เริ่มจากวาดดอกไม้ที่คุณชอบ แล้วค่อยขยายผลไปถึงพืชพรรณประจำถิ่น อันอาจเป็นเพียงดอกหญ้าในสายตาผู้อื่น วาดไว้เพื่อให้รัก ให้เป็นหลักฐานทางการศึกษา ก่อนที่ดอกหญ้าเหล่านั้นจะสูญหาย ไม่เหลือให้เราได้ชมอีกต่อไปค่ะ

          2. ต่อตัวผู้วาดการวาดภาพ

ในแนวพฤกษศาสตร์มีประโยชน์ต่อตัวผู้วาดเองหลายแง่มุม เช่น

- ประโยชน์ต่อการพัฒนาพหุปัญญาด้านมิติสัมพันธ์

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า อัจฉริยภาพ หรือ ปัญญา ของมนุษย์ ไม่ได้มีเพียงด้านเดียว หากประกอบด้วยหลายๆด้าน คือ ด้านภาษา, ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์, ด้านมิติสัมพันธ์, ด้านดนตรี, ด้านร่างายและการเคลื่อนไหว, ด้านมนุษยสัมพันธ์ และ ด้านการเข้าใจตนเอง โดยที่คนคนหนึ่งสามารถมีอัจฉริยภาพในด้านต่างๆได้มากกว่าหนึ่ง

อีกทั้งพบว่าความสามารถเหล่านี้ สามารถพัฒนาให้เติบโตขึ้นได้ ไม่ว่าเราจะมีอายุมากสักเพียงใด (เพียงแต่บางท่านอาจไม่โดดเด่นเท่าผู้ที่พัฒนาเมื่ออายุน้อยกว่า)

พบว่าอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์และเหตุผลมักถดถอยเมื่ออายุมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าผลงานการค้นคว้า หรือการค้นพบที่สำคัญๆของโลก มักจะมีในบุคคลที่มีอายุช่วงก่อน 40 ปี โดยหลังจากช่วงหลังอายุ 40 ปีไปแล้ว การค้นพบต่างๆมักลดน้อยลง ส่วนอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี มิติสัมพันธ์ เมื่อพัฒนาแล้ว สามารถดำรงอยู่กับเราตลอดไป ดังเช่น นักเปียโน หรือศิลปินเอกของโลกที่สามารถสร้างผลงานศิลปะได้จนวันสุดท้ายของชีวิต  

ผู้ที่มีทักษะด้านมิติสัมพันธ์มักเห็นภาพโดยรวมได้อย่างชัดเจน เช่น มัณฑนากรผู้สามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในห้องหรือสถาปนิกผู้สามารถออกแบบโครงสร้างของตึกได้ในจินตนาการ, ศิลปินผู้เห็นภาพรวมของผลงานศิลปะ, มัคคุเทศก์ หรือผู้ดูแลป่าที่มีความสามารถในการสังเกต, วิทยากรผู้บรรยายงานได้อย่างเป็นขั้นตอน ไม่ลืมหลง เพราะเห็นภาพการบรรยายอยู่ในความคิด มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างเข้าใจง่าย เพราะมีการนำรูปภาพ แผนภูมิ หรือ กราฟ มาประกอบ สามารถอธิบายเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย จนผู้ฟังเข้าใจ เห็นภาพตาม, นักเรียนผู้สามารถจำการเขียนบรรยายของอาจารย์บนกระดานเป็นภาพรวมได้และนำมาจดบันทึกอย่างครบถ้วน เป็นต้น

การวาดภาพพืชพรรณในแนวพฤกษศาสตร์เพื่อพัฒนาความสามารถด้านมิติสัมพันธ์นี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาสมองแล้ว ยังได้นำทักษะนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ผลงานไว้ชื่นชมหรือเป็นของขวัญตามเทศกาล จนถึงเป็นการสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย

-ประโยชน์ของทักษะด้านมิติสัมพันธ์

1 การจำเป็นภาพ ทำให้จำได้มาก และยาวนานขึ้น จึงลดเวลาในการอ่านซ้ำ หรือท่องจำลง เช่น การจำในลักษณะของ Mind Maps  

2 ได้ใช้สมองซีกขวาพัฒนาซีกซ้าย “การจำ” เป็นการทำงานของสมองซีกขวา เมื่อเราจำได้มากและนานขึ้น แต่อาจยังไม่ใคร่เข้าใจนัก การคิดหาเหตุผล การค้นคว้าเพิ่มเติม เป็นงานของสมองซีกซ้าย จึงเท่ากับเป็นการใช้สมองซีกขวาพัฒนาซีกซ้าย ช่วยให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้อย่างสมดุล ไม่หนักไปทางซีกใดซีกหนึ่ง

การใช้สมองซีกหนึ่งซีกใดทำงานมากเกินไป โดยเฉพาะสมองซีกซ้าย จะทำให้เราเครียดได้ ดังที่เราทราบดีอยู่แล้วว่าความเครียดอันเป็นเรื่องของจิตใจ สามารถส่งผลออกมาทางกาย ก่อให้เกิดโรคภัยตามมาได้ เช่น ไมเกรน กระเพาะอาหาร แผลในปาก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องเสีย เป็นต้น

ในยุคที่ชีวิตมนุษย์ผูกติดกับความเร่งรีบ การแข่งขัน ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์จึงนับว่าจำเป็นสำหรับเราทุกคน เพราะช่วยผ่อนคลาย ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขขึ้น

3 ช่วยให้อายุยืน ลดความเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากทั้งสองข้อต้น

4 ช่วยในการทำงานต่างๆเช่น การเสนอผลงาน ความสามารถในด้านมิติ จะช่วยให้สร้างกราฟ แผนภูมิต่างๆประกอบการเขียนได้ดีขึ้น

- ประโยชน์ต่อการฝึกสมาธิ

เนื่องจากการวาดภาพแนวนี้ใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงเป็นการฝึกสมาธิไปในตัว เพราะหากเราใจร้อน ต้องการเห็นผลสำเร็จโดยเร็ว ก็อาจทำงานอย่างไม่มีความสุขนัก การวาดภาพจึงต้องใช้ความอดทน ตั้งสติอยู่กับผลจากปลายพู่กันปัจจุบัน ไม่คาดการณ์ถึงอนาคต จิตจึงสงบ ทำงานได้อย่างมีความสุข ด้วยความอดทนต่อการพัฒนา ผลคือ ศักยภาพของตนเองที่เพิ่มขึ้น และความนับถือตนเองที่ตามมา และเป็นอีกเหตุปัจจัยให้เกิดองค์ธรรม “ธรรมสมาธิ 5”  อันสามารถเป็นบาทฐานของการวิปัสสนาได้

ซึ่งองค์ธรรมใน ธรรมสมาธิ 5 ประกอบด้วย

ปราโมทย์  –  ปีติ  –  ปัสสัทธิ  –  สุข  –  สมาธิ 

เมื่อองค์ธรรมเกิดจะเกิดตามกันเป็นชุด โดยเริ่มจากปราโมทย์ (ความพอใจ) แล้วปราโมทย์ก็พัฒนาเป็น ปิติ (ความอิ่มใจ) เมื่อปิติสงบ (ปัสสัทธิ)  ความสุข (สุข) ก็ตามมา เมื่อสุขดับ จิตก็สงบ ตั้งมั่น (สมาธิ )

เราสามารถใช้จิตที่เป็นสมาธินี้ ไปพิจารณาธรรมใดๆ(วิปัสสนา) ก็ได้ต่อไป

โดยปกติ การวิปัสสนา ใช้จิตที่เป็นสมาธิอันได้มาจาก 2 วิธีคือ จิตที่เป็นสมาธิอันได้มาจากการฝึกสมาธิด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในการฝึกสมถะกรรมฐานทั้ง 40 วิธี และจิตที่เป็นสมาธิที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในชีวิตประจำวันโดยวิธีใช้สมาธิที่ได้ตามธรรมชาติจึงเริ่มต้นจาก การนึกถึงความดีที่ทำ หรือนึกถึงศีลที่รักษาอย่างไม่ด่างพร้อย หรือพอใจกับผลงานที่สร้าง (เช่นผลงานจากการวาดภาพ) เป็นต้น จิตก็จะเกิดปราโมทย์ขึ้นจนถึงจบกระบวนธรรมที่สมาธิ ยามที่จิตเป็นสมาธิ จึงแจ่มใส นุ่มนวล ควรการใช้งานทางปัญญา และรู้เห็นได้ตามที่เป็นจริง

เหล่านี้เป็นประโยชน์ที่ได้จากการวาดภาพในแนวพฤกษศาสตร์

..................................................... 

บรรณานุกรม

รองศาสตราจารย์ ดร.ลักขณา สริวัฒน์ การคิด. กรุงเทพ : โอเดียนสโตร์, 2549.

ศาสตราจารย์ ดร.อารีย์ สัณหฉวี พหุปัญญาประยุกต์. กรุงเทพ : สมาคมเพื่อการศึกษาเด็ก, 2552.

ผ.ศ.ธีระศักดิ์ กำบรรณารักษ์ ชนะชีวิต คิดอย่างอัจฉริยะ. กรุงเทพ : ปริ๊นท์โอโซน, 2552”

ดร.ศศิวิมล แสวงผล เรียนวาดเพื่อเรียนรู้ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2551

วนิษา เรซ อัจฉริยะสร้างได้. กรุงเทพ : อัจฉริยะสร้างได้, 2550

หมายเลขบันทึก: 469549เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2011 06:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

กุหลาบ หลากสี เรื่องดีดี ต้องเกิด ครับ

ชื่นชมกิจกรรมศิลป์ดีๆเพื่อผู้ประสบภัยค่ะ..งดงามอ่อนหวานน่าประทับใจจริง..ขอตั้งฉายาให้เป็น "เจ้าแม่ภาพศิลป์กุหลาบงาม" ค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ณัฐ

กิจกรรมวาด เชื่อมโยงกับธรรมะได้อย่างลึกซึ้งมากๆ

พี่สบายดีนะคะ

เจริญพรโยมณัฐ...

ยอมรับว่า ฝีืมือไม่เคย "ตก" เลย นับวันได้เห็นพัฒนาการดีๆ จากโยม นี่อาจจะเป็นอานิสงส์อีกประการหนึ่งที่ได้จาก "การฝึกสมาธิ"

อนุโมทนา...

เตือนกันหน่อยค่ะ

ท่านที่จะไปวาดดอกกุหลาบโดยไม่ต้องใช้การร่างด้วยดินสอด้วยกันในวันนี้ นอกจากจะต้องไม่ลืมนำอุปกรณ์การวาดภาพด้วยสีน้ำของท่านไปเองแล้ว อย่าลืมนำนางแบบคือดอกกุหลาบไปด้วยนะคะ

  • ชื่นชมในความมีฝือด้านการวาดภาพและคุณงามความดีที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมค่ะพี่ณัฐรดา

 

  • ชื่นชมในฝีมือและความมีสมาธิในการบรรจงผลิตกลีบกุหลาบจริงๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท