ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

EM ใจ: อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นทุกข์


น้ำท่วมแล้ว...อยู่ทำไม?? อพยพเถอะ!!!

     ในพื้นที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เป็นจุดแรกๆ ที่น้องน้ำแวะเวียนมาทักทาย พื้นที่สำคัญอีกจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่น้ำเอ่อล้นสูงกว่า ๑ เมตร จนหลายคนพร้อมใจกันบอกว่า "อพยพเถอะ!!!" แต่พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ปฏิเสธความหวังดีนั้นพร้อมยืนยันว่า แม้ทางการจะตัดน้ำตัดไฟ ก็จะพยายามประคับประคองให้สามารถอยู่ต่อไปได้

     "เราไม่ไปไหนหรอก เพราะเราเป็นจุดศูนย์กลางความช่วยเหลือของชุมชนวังน้อย ถ้าเราทิ้งไปใครจะดูแลพวกเขา พวกเราก็ท่วมเท่าเทียมกันหมด ตอนนี้เราภูมิใจว่าการที่เราเลือกที่จะอยู่ต่อสามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าครอบครัวที่เป็นทั้งพุทธและมุสลิมได้"

วิกฤติน้ำ คือโอกาสให้เราได้ทำบุญ

     ในความเป็นจริงการอยู่กับน้ำไม่ได้มีความทุกข์เสียทั้งหมด ผู้ช่วยอธิการฯ ย้ำว่า หากไม่หนีน้ำก็ต้องปรับตัวอยู่กับน้ำให้ได้ เนื่องจากชีวิตคนเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อต้องอยู่ให้ได้ มหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจสร้างสะพาน เพื่อเชื่อมโยงระหว่างคนอยู่กลางน้ำกับคนอยู่บนดินให้ไปมาหาสู่ได้ เชื่อมทุกตึกด้วยสะพาน

     นอกจากนี้ก็ต้องสลับบทบาทที่เคยเป็นมา แม้แต่พระเองก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะที่เป็นอยู่ เช่น พระเป็นคนขับเรือยนต์รับ-ส่งญาติโยม พระใส่บาตร(มอบอาหาร)ให้ญาติโยม พระพาโยมไปส่งโรงพยาบาล ฯลฯ


     "อาตมายังนึกขอบคุณสายน้ำที่ทำให้พระได้มีโอกาสทำบุญ ขอบคุณสายน้ำที่ทำให้มหาจุฬาฯ ได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น เราเป็นผู้ประสบภัยแต่ในขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยกันเอง เด็กๆ ในชุมชนก็ไม่ขาดเรียน มีครูจากโรงเรียนจิตรลดามาสอนหนังสือให้ ถือเป็นความโชคดีของเด็กบ้านนอกท่ามกลางสายน้ำ ที่ได้เรียนกับครูจากจิตรลดา นี่คือบรรยากาศที่เราช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเกิดความสุขได้"

อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นทุกข์

     สายน้ำมักพาความเครียดมาด้วย สโลแกนของพระอาจารย์ท่านนี้คือ "อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นความทุกข์" เมื่อน้ำหลากมาก็ท่วมเพียงชั่วคราว แต่สิ่งที่ทุกข์กว่าคือน้ำท่วมใจคน มีทั้งน้ำความโลภ ต่างคนก็ต่างตุนน้ำดื่ม-อาหารจนขาดตลาด ต่อมาคือน้ำความโกรธ เห็นความเสียหายมากมายก็พาลโมโห นั่งเครียดนั่งด่ากันในเฟซบุ๊ค สุดท้ายคือน้ำความหลง หลงทางไม่รู้จะจัดการกับชีวิตอย่างไร

     เหล่านี้ นำความทุกข์ทรมานมาให้ แต่ไม่ว่าน้ำจะพัดสมบัติอะไรก็ให้พัดไป แต่อย่าให้พัดพาชีวิต ความหวัง กำลังใจไปด้วย เราควบคุมน้ำไม่ได้แต่เราควบคุมจิตใจของเราได้ เราจึงต้องอยู่กับน้ำได้อย่างกลมกลืนสอดคล้อง เพราะน้ำไม่ใช่ศัตรู น้ำคือเพื่อน  วันนี้เขามาเยี่ยมเรา มาค้างคืนกับเรา อาจจะหลายคืนหน่อย หรืออาจจะเป็นเดือน  แล้ววันหนึ่งเขาก็จะจากเราไป เราจึงไม่ควรโกรธ และเกลียดน้ำ"

EM ใจ: บริหารอารมณ์และความรู้สึกบนสายน้ำ

     เพราะหลักคิดดังกล่าว "ไม่ต้องไปโทษใคร อย่าไปหาจำเลยว่าคือใครที่น่าจะถูกลงโทษ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนอะไรได้ เราหันมาเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของเราเองดีกว่า หากมวลน้ำโลภ โกรธ หลง มาเมื่อไหร่เราต้องเอา EM ใจ หรือ Emotion Management มากำจัดออกไป โดยการบริหารอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองว่า

     (๑) ให้มองว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน (อนิจจัง) น้ำอาจจะท่วมหรือไม่ท่วมก็ได้เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แต่ประเด็นสำคัญคือ อย่าดำเนินชีวิตด้วยความประมาท ให้เตรียมตัวเตรียมใจยิ้มรับกับสายน้ำอย่างมีความสุข และรู้เท่าทันโดยการจัดลำดับความสำคัญว่าจะเก็บสิ่งของชนิดใดก่อนหลัง สิ่งของชนิดใดจำเป็นต่อดำรงชีวิตมากน้อยกว่ากัน หรือจะทำสิ่งใดก่อนหลัง  

     (๒) ให้มองว่า น้ำคงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) หากน้ำท่วมบ้านเรือนดังที่เราคิด และหวาดกลัว  ไม่ว่าเราจะย้ายหรือเก็บตัวอยู่ในบ้านก็ตาม  สถานการณ์น้ำมีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น หากวันนี้น้ำท่วม มิได้หมายความว่าจะท่วมอยู่ตลอดไป วันหนึ่งสถานการณ์จะค่อยๆ ลดดังจะเห็นได้จากหลายๆ พื้นที่ ประเด็นสำคัญการลดนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการให้ลด และลดลงโดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่รอวันและเวลา "น้ำลด" อย่าให้ความ "อดทนลดหายไปไปกับสายน้ำ"

     (๓) ให้มองว่า บางครั้งสถานการณ์น้ำอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ (อนัตตา)  แต่เราสามารถควบคุมจิตใจของเรามิให้ทุกข์ไปกับสายน้ำที่กำลังโอบล้อมและซัดกระหน่ำได้ ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า ธรรมชาติของน้ำมักจะไหลจากที่สูงสู่ที่ต่ำกว่า แต่เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาจิตใจของให้เราให้ไหลจากที่ต่ำกว่าไปสู่ที่สูงให้ได้  โดยการไม่กลัวสายน้ำ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำประดุจมิตรได้อย่างมีความสุข

 

ดูรายละเอียดการให้สัมภาษณ์ทางสื่อสิ่งพิมพ์และไทยพีบีเอสเพิ่มเติมได้จาก

http://daily.bangkokbiznews.com/detail/32229
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000145793
http://www.youtube.com/watch?v=lnHvSGLNWsE&NR=1
http://www.thaipost.net/x-cite/251111/48652
http://talk.mthai.com/topic/324234

หมายเลขบันทึก: 468749เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

พุทธศาสตร์ให้ปัญญา มหาจุฬาฯให้ทางชีวิต ยามวิกฤตไม่ทิ้งกัน ยึดมั่นในหลักสติมา ปัญญาเกิด

กราบนมัสการครับ

ในที่สุด ก็ทราบกันแจ่มแจ้งครับว่า การอยู่กับน้องน้ำนั้นมีสิ่งที่ดีเหมือนกัน

ขออนุโมทนากับท่านครับ เป็นการเตรียมตัว ฝึกซ้อมกันสำหรับอนาคตด้วยครับ

การจะไปเยี่ยมท่านในวันนี้ ต้องนั่งเรือไปหรือไม่ครับ

 

เจริญพร ดร.ขจิต ท่านผช. สุพิมล และท่านพลเดช

  • อนุโมทนาขอบคุณท่านทั้งสามที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน
  • ท่าน ดร.ขจิต... เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์  มหาจุฬาฯมองว่า ในกรณีของเราไม่จำเป็นต้องหนี... ด้วยเหตุนี้ แนวคิดสำคัุญคือ "ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ของน้ำ"
  • ท่าน ผช. สุพิมล... พวกเราพยายามอย่างยิ่งยวด พยายามที่จะดำเนินการให้สอดรับกับพุทธปณิธานที่ว่า เธอทั้งจงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูน เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อความสุขแก่ชาวโลก
  • ท่านทูตพลเดช... ณ วันนี้ หากจะไปวังน้อย  พวกเราจะขึ้นรถเดินทางไปด้านดอนเมืองโทลเวย์บ้าง มอเตอร์เวย์บ้าง  พอถึงหน้ามหาวิทยาลัย พวกเราก็ขึ้นเรือเข้ามหาวิทยาลัยบ้าง ส่วนใหญ่เดินทางโดยสะพานเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ ๙๐๐ เมตร
  • ขอเชิญท่านร่วมทัศนามหาวิทยาลัยในทุกคราวที่มีโอกาส

กราบมนัสการพระคุณเจ้า

ดิฉันได้หลักคิดดีๆ จากบันทึกนี้มาก  หลักธรรมะใช้ได้กับทุกสถานการณ์จริงๆ

จะหมั่นเตือนตนไว้ด้วย EM ใจค่ะ

 

เจริญพร โยมนุ่ย

  • อนุโมทนาสำหรับหลักคิด และธรรมะที่ประสบในสถานการณ์น้ำท่วม
  • ดีใจที่ได้แบ่งปันประสบการณ์กับท่าน
  • ขอให้มีความสุขกับสายน้ำที่กำลังเดินทางไปเยี่ยมท่าน
  • ด้วยสาราณียธรรม

มาเยี่ยมนมัสการพระคุณเจ้าขอรับ

ต้องกราบขออภัย พระคุณเจ้า ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่เพียงได้เข้าไปช่วยเหลือร่วมสุขร่วมทุกข์ในตอนต้น (๑๑-๒๒ ตค) ช่วงที่น้ำมากการเดินทางลำบาก ก็ไม่ได้ไป หลังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ตอนนี้หลบมาทำวิจัยเล่มใหญ่และปฏิบัติธรรม ที่ จว. เชียงใหม่เจ้าค่ะ เสร็จภารกิจแล้วก็จะกลับไปลุยช่วยแลให้กำลังใจกันใหม่ น้ำมา น้ำไป แต่น้ำใจชาว มจร.ไม่ได้มาไปเหมือนกับน้ำ คงอยู่คู่กับ มจร, เสมอไป เจ้าค่ะ ด้วยความห่วงใยเสมอ

ผศ. เสริมศิริ อัครพุฒิพันธ์ นิสิต ป.เอก ๒.๒ รุ่นที่ ๑

เจริญพร  โสภณ และผศ.เสริมศิริ

  • เจริญพรขอบใจท่านทั้งสองที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ
  • อนุโมทนาท่าน ผศ.เสริมศิริที่มากด้วยน้ำใจต่อครูอาจารย์และมหาจุฬาฯ ในฐานะศิษย์มหาจุฬาฯ
  • ขอให้เป็น ดร. ไวๆ สมใจที่ปรารถนา
  • เจริญพร

ญาติธรรมทุกท่าน

  • อนุโมทนาขอบคุณ ขอบใจดอกไม้ทุกๆ ช่อที่ถวายใส่บาตรอาตมา
  • อาตมากำลังเขียนแง่มุมสั้นๆ เรื่อง "น้ำลด สุขผุด" หรือ "น้ำลด ทุกข์ลด"
  • หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนในโอกาสอันควรต่อไป

 

โยมทะเลภูเขา

  • ขออนุโมทนาท่านเช่นกันที่แวะมาเยี่ยม
  • ทราบจากข่าวต่างๆ ว่า เมืองเลยนั้นบรรยากาศในยามหน้าหนาวดีมากๆ เหมาะสมกับทุกท่านที่ต้องการจะหลบน้ำ และความร้อน
  • เจริญพร

นมัสการเจ้าค่ะ

พิจารณาไตรลักษณ์ตามไปด้วยตามที่พระคุณเจ้าว่า

สาธุ

นมัสการลา

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ

กระผมขออนุโมทนาด้วยนะครับ บันทึกนี้มีคุณค่าต่อจิตใจกระผมมากทีเดียว ให้ข้อคิดที่ดีมากๆ สาธุ ด้วยขอรับ

โยมณัฐรดา และโยมธนากรณ์

  • ขออนุโทนาท่านที่มีส่วนในการเข้ามาร่วมแสดงความรู้สึก และนำบทเรียนดีๆ ไปพิจารณา
  • ในยามพานพบวิกฤติการณ์  ธรรมะสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาชีวิตของเราใ้ห้อยู่รอดปลอดภัยเสมอ
  • ด้วยสาราณียธรรม

โยมณัฐรดา และโยมธนากรณ์

  • ขออนุโทนาท่านที่มีส่วนในการเข้ามาร่วมแสดงความรู้สึก และนำบทเรียนดีๆ ไปพิจารณา
  • ในยามพานพบวิกฤติการณ์ ธรรมะสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาชีวิตของเราใ้ห้อยู่รอดปลอดภัยเสมอ
  • ด้วยสาราณียธรรม

สรรพสิ่งบนโลกนี้

ล้วนมีวาระของตัวมันเอง

ชีวิตก็เหมือนดอกไม้หากจะเบ่งบานแย้มกลีบ

ก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่พร้อมแล้วเท่านั้น

เป็นกำลังใจให้ทุกชีวิตค่ะ

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

เจริญพร โยมมุทิตา

อนุโมทนาขอบใจมากที่แวะเข้ามาแบ่งปันองค์ความรู้ดีๆ ในเวทีแห่งนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท