ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

สถาบันภาษาธรรมศาสตร์ และมหาจุฬาฯ ร่วมมือพัฒนาภาษาต่างประเทศ


      เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันภาษามหาจุฬา (LIMCU) พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันภาษามหาจุฬา  ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (LITU) และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการสถาบันภาษาเพื่อให้เป็นแหล่งสนับสนุนและส่งเสริมภาษาต่างประเทศของผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป

      ในโอกาสนี้  รศ. ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน  ผู้อำนวยการสถาบันภาษา  และ รศ. ศรีปทุม นุ่มอุรา  รองผู้อำนวยการสถาบันภาษาฝ่ายบริหาร ศูนย์รังสิต ได้ให้การต้อนรับ และได้นำเสนอภาพรวมด้านการบริหารและการจัดการสถาบันภาษาเพื่อรองรับการศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ตั้งแต่ระดับหลักสูตรปกาศนียบัตร หลักสูตรระดับปริญญาตรี และหลักสูตรระดับปริญญาโท โดยสถาบันภาษาเป็น “ศูนย์กลาง” ของการให้บริการด้านภาษาแก่คณะต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีอาจารย์ประจำสถาบันภาษาทั้งไทยและต่างประเทศจำนวน ๗๕ ท่าน และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจำนวน ๕๔ ท่าน

      “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายให้สถาบันภาษาเป็น “ศูนย์กลาง” ของการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาให้แก่นิสิตในคณะต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี  โท และเอก เพราะต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพในการพัฒนาด้านภาษาแก่นิสิตในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันภาษาจึงมีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์ให้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษา และส่งอาจารย์เหล่านี้ไปสอนภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ในคณะต่างๆ ปัจจุบันนี้ สถาบันภาษาได้เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาภาษาต่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ในประเทศยุโรปและประเทศอเมริกา โดยจัดส่งนิสิตไปเรียนในประเทศเหล่านั้นช่วงภาคฤดูร้อน” รศ. ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน  ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

      การเข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ สถาบันภาษามหาจุฬา มุ่งเน้นที่จะนำหลักการแลกแนวทางการจัดสอบ และวัดผลด้วยข้อสอบ “TUGET” มาเป็นกรอบในการพัฒนา “MCUGET” เพื่อรองรับการวัดผลภาษาต่างประเทศแก่นิสิตต่างประเทศที่เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับว่าด้วย “การสอบภาษาต่างประเทศของนิสิตในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาเอก” โดยนิสิตจะต้องสอบให้ผ่านการทดสอบภาษาต่างประเทศจึงจะมีสิทธิ์รับปริญญาตรี หรือจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

      พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและผู้อำนวยการสถาบันภาษา กล่าวว่า “การที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และการพัฒนาสถาบันภาษาให้เป็นแหล่งรองรับการจัดตั้งวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติตามนโยบายของ ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีนั้น  เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าว คือ "ภาษา”  ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัย ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”

หมายเลขบันทึก: 429232เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • กราบนมัสการครับ
  • ต่อไปชาวต่างชาติจะให้ความสนใจในเนื้อหาสาระของศาสนาเพิ่มขึ้นจากการทำวิปัสสนา เพราะพระคุณท่านได้ตั้งสถาบันภาษาเพื่อเผยแผ่ศาสนาได้ทั่วโลก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท