ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ประชุมสถาบันสมทบประเทศสิงคโปร์ (๑)


     วันนี้ (๑๘ กรกฏาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๒๐ น) ผู้เขียนได้เดินทางจากสุวรรณภูมิมาถึงสนามบินชางฮี (Chan Gi) ประเทศสิงค์โปร์พร้อมกับคณะผู้บริหารของมหาจุฬาฯ ซึ่งนำโดยพระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, พระครูปลัดเถรานุวัตร, พระศรีธวัชเมธี, ดร.พระครูพิพิธสุตาทร (บุญช่วย) และศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์

       สำหรับวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อร่วมประชุมกับคณะกรรมการสถาบันสมทบวิทยาลัยสงฆ์พระพุทธศาสนา (Buddhist College of Singapore) ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดก๊ก เมง ซาน (Kong Meng San) http://www.kmspks.org/kmspks/index.htm  วิทยาลัยแห่งนี้ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาจุฬาฯ ตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑

         ในขณะเดียวกัน มหาจุฬาฯ ได้อนุมัติหลักสูตรพระพุทธศาสนาจีน (สามารถดูรายละเอียดหลักสูตรได้ใน http://www.mcu.ac.th/site/curriculum/Bachelor_of_Arts/01_Buddhism_Fac/12_Chinese_Buddhism.pdf) ปัจจุบันนี้ได้มีนิสิตที่กำลังศึกษาในหลักสูตรนี้จำนวน ๕๗ รูป ซึ่งทั้งหมดเป็นพระภิกษุฝ่ายมหายาน ซึ่งปีหน้าจะสำเร็จการศึกษาและเข้ารับปริญญา ณ มหาจุฬาฯ วังน้อย  สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมนั้นประกอบด้วยแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนอาจารย์ และการเรียนผ่านทางไกล เป็นต้น

        ในช่วงบ่ายหลังจากที่เดินทางมาถึง ผู้เขียนได้ถือโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอารยธรรมของเอเซีย  ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ "พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในเอเซียมานำเสนอ เช่น พุทธศิลป์ทั้งเถรวาทในพม่า ไทย และมหายานในจีน และธิเบต  รวมไปถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และโบราณวัตถุในประเทศต่างๆ

       ย่อมประจักษ์ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ของสิงค์โปร์ที่จะสามารถมองเห็นรอยต่อของประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของประเทศต่างๆ ในเอเซีย  เยาวชนรุ่นใหม่จะมีวิสัยทัศน์ที่มองข้ามความเป็นสิงค์โปร์ มองข้ามความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง มองเห็นว่าตัวเองมีความเป็นมาอย่างไร เชื่อมและสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อย่างไร อีกทั้งจะสามารถเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาติอื่นๆ ในเอเซีย และจะส่งผลต่อท่าที มุมมอง และแนวปฏิบัติต่อชาติอื่นๆ ในอนาคต แนวคิดเช่นนี้สอดรับกับหลักปฏิจจสมุปบาท อันเป็นการมองเห็นความเชื่อมโยมและความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ

 ภาพนกสำหรับประกอบในพิธีสำคัญที่จังหวัดปัตตานี และหัวนกที่ทำด้วยไม้ประดิษฐ์ซึ่งมีความเก่าแก่ แต่สมบัติชิ้นนี้ได้สะท้อนความโดดเด่นที่สิงค์โปร์ให้เยาวชนและคนสิงค์โปร์ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์วัตนธรรมของภาคใต้ของไทย

 ภาพประเพณีและวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของประเทศพม่า ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างชาวพม่ากับพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกต และคำถาม

       ๑. ทำอย่างไร เราจึงจะมี และนำเสนอรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ให้เด็กรุ่นใหม่ของเราได้มองเห็นและสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมไทย ชาติพันธุ์ไทย กับชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์อย่างตลอดสาย

       ๒. การเข้าใจความเป็นมาดังกล่าว จะมีผลต่อท่าที และทัศนคติของเด็กไทยต่อเพื่อนบ้านในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลต่อวิธีปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านในทางที่เหมาะสม และเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น

       ๓. คำถามคือ หลักสูตรและระบบการศึกษาของไทย หรือวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทยได้ส่งผลต่อมุมมองในเชิงลบสังคมรอบบ้านเราหรือไม่?  เพราะเหตุใด? เด็กหรือคนไทยบางกลุ่มจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนลาว คนพูดภาษาลาว คนกัมพูชา หรือคนพูดภาษาเขมร คนแขก คนพูดภาษาพม่า  สรุปคือ เด็กไทยมองว่า ตัวเองประเสริฐหรือเป็นชาติมีอารยธรรม แต่มองว่าชาติ หรือกลุ่มคนอื่นๆ ไร้อารยธรรม หรือมีชาติพันธุ์ที่ต่ำต้อยกว่า

       ๔. ทำไม พลเมืองลาวเชียร์เวียดนาม เมื่อเวียดนามแข่งกีฬากับไทย ทั้งๆ พลเมืองชาวลาวกับคนภาคอีสานมีวัฒนธรรมที่สอดรับและแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน  หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว พลเมืองลาวเชียวชาวอีสาน แต่ไม่เชียร์คนไทยแบบที่เป็นไทย แล้วอะไรคือคำตอบในประเด็นนี้  เด็กไทยหรือเด็กลาวจะตอบปัญหาเหล่านี้ หรือจะเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมเหล่านี้อย่างไร  หรือว่า ต้องให้เด็กสิงค์โปร์เป็นคนช่วยตอบปัญหาเหล่านี้ในอนาคต

      ๕. ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เด็กไทยจะหันมาเรียนประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านอย่างเปิดกว้าง และไร้อคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาลาว (การพูด และการเขียน) ภาษากัมพูชา ภาษาพม่า ภาษามาลายู และภาษาเวียดนาม  ซึ่งประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยไปเรียนภาษาอังกฤษที่อังกฤษพบว่า เด็นในยุโรปพูดได้มากว่าสองหรือสามภาษา ซึ่งเป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เพื่อนร่วมห้องชาวเยอรมัน มาเรียนภาษาอังกฤษ พูดอังกฤษได้ อิตาลีได้ ฝรั่งเศสได้ และพูดภาษาสเปนได้เช่นกัน  คำถามคือ เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษเพื่อจะอยู่กับชาวอังกฤษตลอดไปหรือ? หรือว่า เด็กไทยสนใจแต่อังกฤษ ฝรั่งเศษ แต่ไม่คิดที่จะสนใจว่า เด็กที่อยู่ข้างบ้านเราพูดอะไรกัน  ทำไมเขาจึงพูดแบบนั้น ทำไมเขาจึงคิดและทำแบบนั้น เราไม่คิดจะสนใจ หรือว่าเราแกล้งที่จะไม่สนใจเพื่อนบ้านของเรา หรือว่า เรามอง และดูถูกเพื่อนบ้าน ภาษาของเพื่อนบ้านว่าต่ำกว่าเรา เราจึงไม่สนใจ และใยดีที่จะเรียนรู้  สุดท้ายแล้ว เราไม่เรียนรู้ อาจจะนำไปสู่ "ความแปลกแยกกับเพื่อนบ้านของเรา"  เพื่อนบ้านเขารู้จักกันหมดทั่วหมู่บ้าน แต่มีพวกเรา "ครอบครัวของเรา" ที่เรา และเขาไม่รู้จักกันอย่างเพียงพอจนนำไปสู่การไม่เข้าใจกัน กระทบกระทั่งกัน และทำร้ายกันในที่สุด

         นี่คือ "บาปกรรมของเด็กไทย หรือผู้ใหญ่กันแน่?????????" ใครก็ได้ช่วยตอบและแบ่งปันความคิดด้วยเถิด

 

หมายเลขบันทึก: 376610เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2010 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นมัสการพระอาจารย์ หลักสูตรพระพุทธศาสนาจีน ที่มีการสอนนั้น เป็นภาษาไทยหรือจีนครับ หรือต้องมีพื้นฐานด้านใดมาก่อนถึงเรียนได้ครับ สำหรับคำถามทั้ง 5 ข้อของพระอาจารย์นั้น น่าคิดมากครับ

สวัสดีครับพระอาจารย์ (ฝากสวัสดีท่านพระครูพิพิธฯด้วยครับ)

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันแม้ไม่มีโอกาสเดินทางก็เหมือนได้เดินทางไปด้วย

ประการที่ 1 ผมดีใจที่มหาจุฬาฯกำลังขยายเครือข่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างความเข้าใจ เห็นใจกัน

ประการที่ 2 ผมว่าพิพิธภัณฑ์บ้านเรามีมากพอสมควร แต่เป็นได้เพียงที่เก็บของเก่า เราไม่ได้นำสมบัติของแผ่นดินเหล่านี้เข้าไปเชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษา ต่างจากสิงค์โปร์ ที่เขาพยายามให้ลูกหลานเขาได้รู้ว่าความหลากหลายเชื้อชาติของคนในประเทศนั้น แท้จริงมีรากฐานมาจากที่ไหน มาอย่างไร ก่อนมาเป็นสิงค์โปร์

ประการที่ 3 รัฐบาล , ส่วนท้องถิ่น , ประชาชน ต้องรับเรื่องนี้เป็นนโยบาย เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยความรู้ ความเข้าใจในมิติของกาลเวลา มิใช่ให้เยาวชนศึกษาแต่สงครามพม่ายึดอยุธยา , พระยาละแวกเมืองกัมพูชา , ขนาดประวัติศาตร์ประเทศไทยเองยังดูถูกเรื่องเชื้อชาติของคนต่างจังหวัด จนเป็นที่มาของปัญหาดังเช่นทุกวันนี้

ตราบใดที่รัฐผู้หลักผู้ใหญ่ยังมุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตน หาเงินเข้าพรรค รักแต่ญาติมิตรพี่น้อง เพื่อนพ้องของตน ไม่มองทุกคนในฐานะคนไทย ในฐานะของคนเหมือนกัน ที่ต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์ด้วยความรักความสามัคคี ปัญหาที่พระอาจารย์อยากแก้ไขจะไม่มีทางสำเร็จได้เลย

เราปล่อยให้การศึกษาเป็นธุรกิจ การเมืองเป็นธุรกิจ มานานเกินไป ครับ

นมัสการทาน ผมรอดแล้วที่พูด ปกากะญอได้ อยากเรียนภาษาเวียดนามและภาษาลาวเพิ่มที่มหาจุฬาฯ มีคนสอนให้ไหมครับ อยากเรียนๆๆ

กระผมขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าขอรับ พระอาจารย์ไม่ทราบว่ายังจำกระผมได้ไหมขอรับ ที่ขับรถไปรับ - ส่ง พระอาจารย์ ที่ สนามบินอุบลฯ ตอนที่พระอาจารย์มาร่วมพิธีเปิด ค่ายจิตอาสา ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖๓ (ชุมชนบ้านคำแดง) จังหวัดยโสธร ขอรับ

เจริญพร ครูหยุย

อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาแลกเปลี่ยนต่อข้อสังเกต  สำหรับหลักสูตรพระพุทธศาสนาจีนนั้น การเรียนการสอนเป็นภาษาจีน และผู้เรียนส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์จีน หรือไม่ก็มีพื้นฐานหรือเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านและเขียนภาษาจีน  ขณะนี้ มหาจุฬาฯ พยายามที่จะเปิดพื้นที่ภาษาจีนให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนจีนมีทั่วโลก หากคนเหล่านั้นมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังจะเกิดประโยชน์ด้านวิชาการทางภาษาจีนมากยิ่งขึ้น

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ครับ สำหรับสาราณียธรรมที่พระอาจารย์มีให้กับพวกผมนิสิตป.โท(ภาคพิเศษ)รุ่น๒๒ อย่างเสมอมา...เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บรรยากาศที่ มจร.ก็เงียบๆ เหงาๆ เพราะรู้สึกนึกถึงพระอาจารย์ครับ โดยเฉพาะกับหัวข้อบรรยาย "การประยุกต์ใช้หลักสาราณียธรรมในการเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์" ที่พวกเราเตรียมตัวมาฟังกันอย่างใจจดใจจ่อเพราะ "สาราณียธรรม" เป็นคำที่พระอาจารย์ลงท้ายทุกครั้งในการสื่อสารกันผ่าน สื่ออิเล็กทรอนิคส์ น่ะครับ...

อย่างไรก็ตาม ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับพระอาจารย์ในชั่วโมงเรียน "พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่" เมื่อโอกาศอำนวยครับผม

เห็นรูปถ่ายที่พระอาจารย์ส่งมาให้ดูแล้วก็นึกถึงตอนที่บินไปพักที่นู่นครับ...ทางบ.การบินไทยจัดให้พักที่โรงแรม Grand Copthorne (จำชื่อถนนไม่ได้ครับ แต่อยู่ไม่ห่างจากท่าอากาศยานเท่าไร)...และเอกลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นของชาวสิงคโปร์ก็คือ สำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาครับ "Singlish" คือจะลงท้ายทุกประโยคว่า หล้า....โดยใช้โทนเสียงที่สูงและต่ำสลับกันไปทีละคำพูด ฟังแล้วรู้เลยครับ...คนสิงคโปร์

สานุ มหัทธนาดุลย์ (นิสิตป.โท ภาคพิเศษ รุ่น๒๒ มจร.)

นาย ชัยเนตร ระวีวรรณ

การส่งเสริมเศรษฐกิจแนวพุทธตามนัยแห่งกูฏทันตสูตร

๑.ส่งเสริมอาชีพ

จัดการเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีด้วยการ ส่งเสริมเกษตรกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าให้พืชพันธ์แก่เกษตรกร ส่งเสริมทุนของเกษตรกรโดยการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ให้กู้ยืมเงินไปลงทุนและประกันราคาพืชผลทางเกษตรไม่ให้ตกต่ำเมื่อมีผลิตผลออกมาล้นตลาดส่งเสริมสวัสดิภาพและรายได้ของข้าราชการชั้นผู้น้อยเพิ่มรายได้เงินเดือนให้พอฐานะแก่การยังชีพเมื่อข้าราชการมีรายได้เพียงพอการทุจริตคอรัปชั่นก็จะมีน้อยลงซึ่งเป็นการช่วยเหลือกลุ่มฐานใหญ่ที่สุดของประเทศที่คอยรับนโยบายและความช่วยเหลือจากเบื้องบน คือ กลุ่มประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกรกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย กลุ่มพ่อค้าย่อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพนี้ทำให้ให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนทางเศรษฐศาสตร์มหาภาคให้เกิดสภาพคล่องตัวในทางเศรษฐกิจ ตามทัศนะของพุทธศาสนิกชน การงานมีหน้าที่อย่างน้อยสามประการ คือ เพื่อเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ใช้และพัฒนาความสามารถส่วนตนเพื่อช่วยให้มนุษย์ขจัดอัตตาด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตผลและบริการอันจำเป็นแก่การดำรงอยู่ทัศนะคติเช่นนี้ก่อให้เกิดผลพลอยได้อย่างปราศจากจุดจบ

๒.ให้องค์กรชุมชนช่วยเหลือ

กระจายอำนาจการบริหารแผ่นดินโดยแบ่งแยกอำนาจออกเป็น ๓ ทางได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สอดคล้องกับทฤษฏี The Spirits of the Law ของ มองเตสกิเออร์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดอำนาจได้ โดยจัดองค์กรขึ้นเป็นอิสระมีการตรวจสอบเพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกัน(Check and Balance)เมื่ออำนาจไปรวมอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งก็จะทำให้ง่ายต่อการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน เป็นการวางรากฐานทางสิทธิมนุษย์ชนโดยการแบ่งอำนาจนำเอาหลักนิติรัฐอันเป็นการประกันสิทธิมนุษย์ชนของประชาชนไม่ให้ถูกล่วงละเมิดโดยผู้มีอำนาจรัฐ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงปกครองแบบธรรมาธิปไตยหมายถึงการปกครองที่ถือความถูกต้องเป็นธรรม ยึดหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยมีคุณธรรมอยู่ในใจ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางอำมาตย์ข้าราชการ พราหมณ์ที่แต่งตั้งได้รับมอบหมาย อำนาจบริหาร มอบให้ทางผู้ปกครองหัวเมืองต่างๆให้เป็น หู ตา ดูแลให้ อำนาจตุลาการ มอบให้ทางอำมาตย์ข้าราชการ พราหมณ์ ราชบัณฑิตที่เป็นนักวิชาการมีบารมีมากที่ได้รับมอบหมาย และยังมีกลุ่มพ่อค้ามีฐานะมั่นคงคอยสนับสนุน ส่วนพระองค์เองเป็นประมุขควบคุมอำนาจสูงสุดไว้ทั้งหมด เพื่อปกครองดูแลให้มีการใช้อำนาจให้ถูกต้องที่สุด

๓.หาผู้เชี่ยวชาญ

มีฝ่ายดำเนินการรู้เท่าทันเหตุการณ์ปัจจุบันและมองการณ์ไกลไปในอนาคตมุ่งเน้นให้ประชาชนประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน ภาคเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนการเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น สร้างความร่วมมือระหว่างภาคแรงงาน เอกชนและภาครัฐโดยดูแลโอกาสในการเรียนรู้การศึกษา ตลอดจนการฝึกอาชีพคนเหล่านี้และลูกหลาน หัวใจของระบบเศรษฐกิจของสังคมต้องเป็นระบบการสร้างอรรถประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกในสังคม นี้คือจุดหมายที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจของสังคม ไม่ว่าเศรษฐกิจของสังคมหนึ่งจะมีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่สามารถทำให้สมาชิกของสังคมมีความผาสุกได้โดยทั่วถึงแล้ว สังคมนั้นยังมีความล้มเหลวทางด้านเศรษฐกิจอยู่นั่นเอง พระพุทธศาสนาได้เสนอหลักทางศีลธรรมที่เนื่องด้วยหลักเศรษฐกิจนี้เป็น ๒ทาง คือ ขั้นต่ำ หลักสนอง(To satisfy)กับชั้นสูง หลักบำบัด(To subdue)หลักสนอง หมายถึงการสอนให้ตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ในทางเศรษฐกิจ พยายามยกฐานะของตนให้สูงขึ้นด้วยความขยันหมั่นเพียรและวิธีอื่นๆส่วนหลักบำบัดนั้นหมายถึงการสอนให้รู้จักบรรเทาความต้องการชนิดรุนแรงที่กลายเป็นความทะยานอยากอันก่อความทุกข์ให้ คือ ถ้าจะมัวแต่หาทางสนองความอยากอยู่อย่างเดียว อย่างไรๆก็ไม่รู้จักพอ ท่านจึงเปรียบความอยากเสมอด้วยไฟไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อ หรือแม่น้ำไม่รู้จักเต็มแม้เราจะเทน้ำลงไปสักเท่าไรก็ตามเพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักบำบัด หรือบรรเทาความทะยานอยากให้น้อยลงโดยลำดับ อันเป็นการแก้ทุกข์ได้ พระเจ้ามหาวิชิตราชได้มอบหมายให้อำมาตย์ข้าราชการ พราหมณ์ ราชบัณฑิตที่เป็นนักวิชาการมีบารมีมากที่ได้รับมอบหมายเป็นฝ่ายปฏิบัติการโดยใช้ปัญญาในการทำงาน

๔ อุดหนุนงบประมาณ

วิธีปกครองประเทศให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขนั้น จำเป็นจะต้องปราบโจรผู้ร้ายให้สงบราบคาบ การทำให้โจรผู้ร้ายให้สงบราบคาบก็ไม่ใช่โดยการลงโทษประหารชีวิต จองจำ หรือเนรเทศ แต่จะต้องจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีด้วยการ แจกพืชแก่กสิกร(ส่งเสริมเกษตรกรรม) ให้ทุนแก่พ่อค้า(ส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้า) ให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ(ส่งเสริมสวัสดิภาพและรายได้ของข้าราชการ) พระพุทธศาสนาเสนอเรื่องทรัพย์อริยทรัพย์ ๗ประการต้องมี ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา ถ้ามีทรัพย์ภายในอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายนอกจะหลั่งไหลมาเอง คนมีทรัพย์ภายนอกที่ไม่มีศีลธรรมไม่มีทรัพย์ภายใน ๗ ข้อนี้ทรัพย์ภายนอกจะยั่งยืนอยู่ไม่ได้ เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยปัญญาผลสัมฤทธ์ย่อมกลับเข้ามาอย่างมหาศาลทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศเจริญรุ่งเรืองมีผู้ปกครองหัวเมืองต่างๆนำเครื่องบรรณาการมามอบให้อย่างมากมาย

๕.ส่งเสริมคนดี

ส่งเสริมสนับสนุนคนดีตามหลักกุศลกรรมบท๑๐ประการ ทางทำความดี อันเป็นทางนำไปสู่ความสุข ความเจริญ ขัดเกลา กาย วาจา ใจ ให้สะอาด ประกอบด้วย ทางกายได้แก่ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทางวาจาได้แก่ ละเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ทางใจได้แก่ ไม่คิดอยากได้ ไม่คิดปองร้าย มีความเห็นชอบ พระเจ้ามหาวิชิตราชส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกรแจกพืชแก่เกษตรกรปรับปรุงฐานะข้าราชการชั้นผู้น้อย ให้ทุนแก่นักการค้าพ่อค้าย่อยและผู้ประกอบอาชีพอิสระให้มีอาหารและรายได้เพียงพอแก่อัตภาพที่มีความประพฤติดีและให้ประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรม

๖.หลีกหนีความชั่ว

ไม่ทำในสิ่งที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในสังคมไม่ตัดต้นไม้ทำลายระบบนิเวศน์ โลกของเราจัดเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า โลกของสิ่งมีชีวิตหรือชีวภาค (biosphere) ซึ่งรวมระบบนิเวศหลากหลายระบบ และระบบนิเวศเล็กๆ เช่น ทุ่งหญ้า สระน้ำ ขอนไม้ผุ ระบบนิเวศ จำแนกได้เป็น ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ได้แก่ ระบบนิเวศบนบก เช่น ป่าไม้ บึง ทุ่งหญ้า ทะเลทราย ระบบนิเวศน้ำ เช่น แม่น้ำลำคลอง ทะเล หนอง บึง มหาสมุทร ระบบนิเวศอีกประเภทหนึ่งคือ ระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ระบบนิเวศ ชุมชนเมือง แหล่งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น ปัญหาในทางนิเวศวิทยาคือการที่มนุษย์พยายามปรับโครงสร้างระบบไปสู่สภาวะใหม่สร้างความเจริญทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตการเปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือการเปลี่ยนสภาวะมีผลกระทบต่อความสมดุลและแหล่งที่อยู่ในระบบนิเวศของโลก พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้พระเจ้ามหาวิชิตราช ไม่ต้องฆ่าโค แพะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่นยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเท่านั้น เป็นการแนะนำอย่างชาญฉลาดของพราหมณ์ปุโรหิตไม่ต้องเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นตลอดจนสัตว์มีชีวิตและต้นไม้เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติมิให้เสื่อมสลายไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท