ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พระพุทธศาสนามอง “ราหูอมจันทร์ อมอาทิตย์” อย่างไร


 

           จากการศึกษาท่าทีและมุมมองเกี่ยวกับปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ในมิติต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นมิติของไสยศาสตร์ของพราหมณ์  มิติของดาราศาสตร์ มิติทางโหราศาสตร์  มิติทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีของสังคมไทยและประเทศอื่น ๆ นั้น   สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามในลำดับต่อไปก็คือว่า  พระพุทธศาสนามีท่าที และมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร  เหมือนกัน หรือมีความแตกต่างในบางแง่มุม หรือมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  อย่างไรก็ดี มุมมองเกี่ยวกับ “ราหูอมจันทร์ และอมอาทิตย์” ในเชิงพุทธศาสนานั้น  สามารถสรุปได้จาก  2 ประเด็นหลัก ๆ ด้วยกัน กล่าวคือ

         1. ท่าที และมุมมองในแง่ของบุคคลาธิฏฐาน

          ในคัมภีร์พระไตรปิฏกซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับแง่มุมเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า[3]  ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี จันทิมเทพบุตร และสุริยเทพบุตรถูกอสุรินทราหูจับ ทั้งคู่ต่างก็พากันระลึกนึกพระพุทธเจ้าโดยได้กันกันกล่าวคาถาว่า  ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแต่พระองค์… ข้าพระองค์ถึงฐานะอันคับขัน ของพระองค์จงเป็นที่พึ่งของพระองค์นั้น”  จากการร้องขอความช่วยจากพระพุทธเจ้าในลักษณะดังกล่าวนั้น จึงทำให้พระองค์ต้องตรัสเตือนราหูว่าจันทิมเทวบุตร และสุริยเทพบุตรนั้น มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ฉะนั้น สมควรที่ราหูจะต้องปล่อยเทพทั้งสองไป    เพราะพุทธานุภาพจึงทำให้ราหูเกิดความเกรงกลัวต่อพระองค์จึงได้ปล่อยเทพทั้งสองไป  เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรทราบเรื่องจึงเกิดความสงสัยเกี่ยวกับการปล่อยจันทิมเทพและสุริยเทพให้หลุดลอยไป  อสุรินทราหูจึงบอกถึงสาเหตุว่า ด้วยพุทธานุภาพนั้น หากไม่รีบปล่อยเทพทั้งสองก็จะเกิดอันตรายกับตัวเองถึงชีวิต

          เนื่องจากเนื้อตามที่ปรากฏในจันทิมสูตรและ สุริยสูตร ไม่ได้กล่าวถึงที่มาของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่ราหูจับจันทิมเทพ และสุริยเทพเอาอย่างชัดเจน  ฉะนั้น  พระอรรถกถาจารย์จึงได้พรรณาถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้อย่างพิสดารไม่แพ้อรรถาธิบายตามที่ปรากฏในศาสนาพราหมณ์ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น โดยได้ชี้ให้เห็นว่า[4] ราหูนั้นเป็นพญาแห่งอสูรที่มีอำนาจและมีกำลังกล้าหาญและใหญ่กว่าเทพยดาทั้งหลายในสวรรค์ อีกทั้งยังสีร่างกายใหญ่โตสูงถึง 4,800 โยชน์ ช่วงแขนยาว 1,200  โยชน์ ว่าโดยส่วนหนา 600 โยชน์  ศรีษะ 900 โยชน์  หน้าผาก 300 โยชน์ ระหว่างคิ้ว 50 โยชน์  คิ้ว 200 โยชน์ ปาก 200 โยชน์ จมูก  300 โยชน์  ขอบปากลึก 300 โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้า 200 โยชน์  ข้อนิ้ว 15 โยชน์ และขณะเดียวกันก็มีใจเกลียดชัง และริษยาพระอาทิตย์เป็นอย่างมาก โดยราหูมักจะลงสู่วิถีแห่งโคจรของจันทร์และอาทิตย์ อ้าปากออกแล้วเอาพระอาทิตย์และพระจันทร์จับเข้าไปในปาก บ้างก็ใช้นิ้วมือบังไว้ บ้างคาบไว้ที่คาบหรือใต้รักแร้จนพระอาทิตย์และพระจันทร์หมดรัศมี  แต่เมื่อพระพุทธเจ้าล่วงรู้ความดังกล่าวจึงตรัสเทศนาแก่ราหูจนที่สุดจึงยอมปล่อยพระจันทร์และพระทิตย์ให้เปล่งรัศมีตามเดิม

          จากการวิเคราะห์ในเชิงบุคลาธิษฐานนี้  จุดที่น่าสังเกตก็คือว่าเรื่องเล่าตามที่ปรากฏในพุทธศาสนาค่อนข้างจะมีความผิดแผกแตกต่างกันในแง่ของการตีความเกี่ยวกับราหู  กล่าวคือ ในอรรถาธิบายของศาสนาพราหมณ์บอกว่าพระราหูนั้นมีครึ่งตัว เนื่องจากถูกจักรของพระอินทร์ตัด แต่อรรถาธิบายในทางพุทธศาสนากลับชี้ไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามว่า พระราหูมีอวัยวะครบทุกส่วน ไม่ได้มีส่วนใดขาดหายไปตามที่พราหมณ์กล่าวอ้างแต่ประการใด

          ในขณะเดียวกันมุมมองของฝ่ายพราหมณ์ค่อนข้างจะมองพระราหูในเชิงลบเป็นอย่างมาก ด้วยข้อหาที่พระราหูนั้นเป็นอสูร และไปขโมยน้ำอมฤตกินจึงถูกจักรของพระนารายณ์ขาดครึ่งท่อนแต่ไม่ตายเพราะเป็นอมตะ  แต่ท่าทีเกี่ยวกับพระราหูในเชิงพุทธนั้นค่อนข้างจะเป็นไปในลักษณะของการให้โอกาส  เป็นมุมมองในเชิงของการให้คุณแก่พระราหูมากกว่า ดังจะเห็นได้จากที่พระราหูได้รับโอกาสจากพระพุทธเจ้าในการรับฟังพระธรรมเทศนาแล้วทำให้พระราหูต้องกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต[5]

          ท่าที และมุมมองของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนั้นมีรูปแบบและแนวทางของการอธิบายที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างมาก   และด้วยสาเหตุนี้กระมั้งจึงเป็นที่มาของการวิเคราะห์ในเชิงบุคลาธิฐานและธรรมาธิษฐานต่อไปว่า ทำไมศาสนาพุทธจะต้องมองในลักษณะแบบนี้  แน่นอนจึงต้องมีแรงจูง หรือจุดประสงค์อื่นอย่างแน่นอน  ฉะนั้น  ในประเด็นนี้น่าจะวิเคราะห์ท่าทีในเชิงบุคลาธิษฐานได้อย่างชัดในหลายประเด็นดังต่อไปนี้

          ก. เป็นการมองในเชิงจิตวิทยา 

          การมองในแนวนี้นั้น ถือได้ว่าเป็นการมองในเชิงของการให้คุณแก่พุทธศาสนา และข่มศาสนาพราหมณ์ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่าศาสนาพราหมณ์ก็มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมพระอาทิตย์ และความพยายามดังกล่าวจึงได้ก่อให้เกิดงานทางวรรณคดีที่แสดงให้คนทั่วไปได้เข้าใจว่า พระราหูนั้นค่อนข้างจะเป็นผู้ร้ายในสายตาของพราหมณ์บางตำนาน เนื่องจากต้องการจะแก้แค้นพระจันทร์และพระอาทิตย์ที่นำเรื่องที่ตนดื่มน้ำอมฤตซึ่งเป็นของสงวนไว้เฉพาะหมู่เทวดา  จึงทำให้ตัวเองถูกจักรของพระนารายณ์ขาดสองท่อน  การอธิบายในกรอบนี้ค่อนข้างที่จะให้คุณแก่พระนารายณ์ที่เป็นพระเจ้าที่องค์สำคัญองค์หนึ่งในสามองค์ที่พวกพราหมณ์พากันเคารพนับถือ เพื่อถือได้ว่าพระองค์เป็นผู้พิทักษ์โลก นำความสุข สงบเย็น มาสู่เทวดาและมนุษย์

          แต่คัมภีร์ของพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นชั้นพระไตรปิฏก อรรถกถาหรือฏีกาล้วนเป็นการอธิบายที่ค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับบทสรุปของพราหมณ์ เนื่องจากคัมภีร์ทางพุทธมองเห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ราหูอาจจะเกเรบ้าง แต่นั่นก็ถือว่าเป็นวิสัยของอสูรตนหนึ่งที่มีพื้นทางใจที่ค่อนข้างจะดุร้าย แต่เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งมีความกรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างสูง ดังจะเห็นได้จากกรณีของพระเทวทัตต์ และพระองคุลีมาล[6] จนมาถึงกรณีของพระราหูที่พระองค์ได้มองเห็นศักยภาพในการที่พัฒนาภูมิธรรม  จึงทรงแสดงธรรมโปรดแก่พระราหูจนกลายผู้ยอมรับนับถือพระรัตนตรัยในลำดับต่อมา

          ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การมองในเชิงพุทธนั้น เป็นการมองที่นำเรื่องราวทางวรรณคดีทางศาสนาพราหมณ์มาอธิบายใหม่  แต่เป็นการอธิบายภายใต้กรอบของพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นการอธิบายที่ทำให้ภาพของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ที่มีพระกรุณามากกว่าพระนารายณ์ของศาสนาพราหมณ์ 

            ข. เป็นการมองในเชิงสังคมวิทยา

          การมองตามนัยนี้เป็นการมองเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่คนในสมัยนั้นต้องการที่จะทราบ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ในเชิงของพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าในเมื่อศาสนาพราหมณ์ได้พยายามที่จะตอบสนองความต้องการที่จะทราบถึงปรากฏการณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์ได้ แต่ในฝ่ายของพุทธนั้นยังไม่ได้นำเสนอแง่มุมในมิติของพุทธ ฉะนั้น การนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์นั้น นอกจากจะเป็นการตอบคำถามที่ค้างคาใจของคนโดยทั่วไปแล้ว  ยังได้นำเสนอประเด็นที่ทำให้ผู้คนทั่วไปพากันศรัทธาในพุทธานุภาพขึ้นด้วย ดังที่ เสฐียรพงษ์  วรรณปกได้ตั้งข้อสังเกตว่า[7] ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์เกิดขึ้นเพราะคนสมัยก่อนไม่มีความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ พระสูตรทั้งสองนี้จึงมีเนื้อหาที่สอดรับกับความรู้ความเข้าใจของคนสมัยก่อน ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์”

          ในขณะเดียว  ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าสองสูตรที่นำเสนอเรื่องราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์นั้นน่าจะเป็นสูตรแปลกปลอมเข้ามา เพราะพระสูตรดังกล่าวเป็นพระสูตรใน “บอกเล่า” มิใช่เป็นพุทธดำรัสโดยตรง  ประเด็นที่จะน่าสนใจก็คือว่า หากนำพระสูตรเข้ามาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติแล้ว ผู้ที่ใส่เข้ามามีจุดประสงค์ หรือแรงจูงใจอะไร ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้วน่าจะมีเหตุผลที่ลึกไปกว่าการที่จะเพิ่มเข้ามาเพื่อที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติเท่านั้น เพราะอย่างน้อยที่สุดพระจันทร์ หรือพระอาทิตย์ก็ถือได้ว่าเป็นเทพองค์หนึ่งในพุทธศาสนา ดังนั้น หากเราชื่อว่ามีเทวดาในพุทธศาสนา  ก็จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดที่เราจะมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เพราะหลักฐานที่ค่อนข้างจะชัดเจนเกี่ยวกับเทพทั้งสองนั้น ก็คือท่านเป็นพระอริยบุคคลในพุทธศาสนาชั้นโสดาบันตามที่ปรากฏในมหาสมยสูตร และแม้กระทั่งในสุริยสูตรก็ชี้ให้เห็นว่าเทพทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากพุทธดำรัสตอนหนึ่งว่า “ท่านจงปล่อยสุริยะผู้เป็นบุตรของเรา” ซึ่งโดยปกติแล้วพระพุทธเจ้าจะเรียกใครสักคนว่า “เป็นบุตร” นั้น ย่อมหมายถึงคนนั้นเป็นพระอริยบุคคล

            ฉะนั้น  บทสรุปในประเด็นนี้ก็คือว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การถือกำเนิดของพระสูตรนี้น่าจะหวังผลเลิศในทางสังคมวิทยา  2  ประการด้วยกัน กล่าวคือ 

            1) เป็นการอธิบายเพื่อตอบคำถามในเรื่องราหูอมจันทร์ และอมพระอาทิตย์ให้แก่ประชาชนบางกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้  แต่เป็นการอธิบายในกรอบของพุทธศาสนา  เพื่อเป็นการนำเสนอทางเลือกหนึ่ง นอกการที่ศาสนาพราหมณ์ได้พยายามที่จะอธิบายในกรอบแนวคิดของตัวเองมาแล้ว   และการอธิบายของพุทธก็เป็นการอธิบายที่นอกจากจะสนองตอบต่อผู้ที่มีความประสงค์ที่จะทราบถึงปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์และอมอาทิตย์แล้ว  จึงได้ชี้ให้เห็นถึงพุทธานุภาพที่พระพุทธเจ้ามีต่อจันทิมเทพ   สุริยเทพ และพระราหูด้วย

           2) ในขณะที่อธิบายหรือเสนอมุมมองนั้น  ผู้ที่อธิบายพยายามที่จะนำเอาสุริยเทพ และจันทิมเทพ พร้อมทั้งราหูที่มีปรากฏในพุทธศาสนา  มาเป็นตัวละครเพื่อที่จะสื่อในกรอบของพุทธศาสนา  โดยสื่อให้เห็นคนที่มีความเชื่อและนับถือพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว พระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นก็เป็นเทพองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา และเป็นพระอริยบุคคลที่ยึดมั่นและศรัทธาในพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากการขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า   ฉะนั้น ผู้นำเสนอน่าจะมองเห็นว่า  แม้พระจันทิมเทพ และสุริยเทพยังต้องเครารพกราบไหว้พระพุทธเจ้า  จึงไม่ต้องเอ่ยถึงผู้นับถือเทพทั้งสองดังกล่าว  และในขณะเดียวกันพระอรรถาจารย์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า พระราหูซึ่งหลายคนพากันเกรง และพวกฮินดูบางกลุ่มยังต้องเคารพบูชาพระราหูเพื่อหวังพึ่งพาให้พระราหูบันดาลความสุขให้นั้น  ท้ายที่สุดแล้วก็ยังต้องเกรงกลัวต่อพระพุทธเจ้า และในขณะเดียวกันเมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ราหูก็ได้กลายเป็นอุบาสกที่ประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

            2. ในแง่ของธรรมาธิษฐาน

          ในประเด็นนี้ของสุริยเทพและจันทิมเทพที่ถูกพระราหูตามราวีก็เช่นกัน   เราสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่า  การที่จันทิมเทพ และสุริยเทพได้ยืนยันตรงกันว่า  ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ  ซึ่งการถึงที่ถูกต้องก็คือ การน้อมนำเอาคุณของพระพุทธเจ้าไปเป็นหลักปฏิบัติ  จนตนเองเข้าถึงส่วนหนึ่งแห่งพระพุทธเจ้า  ด้วยอำนาจพุทธคุณที่ถึงนั้น ย่อมสามารถขจัดภยันตรายให้แก่บุคคลนั้น ๆ  ได้ เพราะนั่นคือ การปฏิบัติธรรม   ธรรมจึงรักษาที่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม และลงโทษคนที่ผิดธรรม  ผู้ใดเมื่อรำลึกนึกถึงคุณของพระพุทธองค์ในขณะที่ประสบอันตราย หรือเผชิญกับความกลัว   ผู้นั้นย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระองค์  ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ เหตุการณ์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฏกและอรรถกถา    เช่น

          1)  ธชัคคสูตร   ในพระสูตรนี้พระองค์ทรงแนะนำให้พระภิกษุทั้งหลายได้เข้าใจโดยทั่วกันว่า หากเกิดความกลัว หรือหวาดหวั่นต่อภยันตรายในเวลาใด ให้รำลึกนึกถึงพระองค์  แล้วความกลัวจะพลันมลายหายไป[8]

          2)  อรรถกถาที่ว่าด้วยเรื่องบุตรของคนตัดฟืน  ที่พ่อปล่อยให้นอนอยู่ใต้เกวียนท่ามกลางป่าช้า  เพราะเข้าเมืองไม่ได้ ก่อนนอนเด็กได้แสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าด้วยการสวดมนต์ว่า “นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”  ยักษ์ตนหนึ่งต้องการที่จะจับเด็กคนนั้นกิน แต่ไม่สามารถเข้าไปไกลตัวเด็กได้ เพื่ออานุภาพแห่งพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เด็กสวดก่อนนอน[9]

 

          จากนัยดังกล่าวข้างต้นนั้น   เราสามารถที่จะสรุปถึงเหตุผลที่พระพุทธเจ้าได้สอนเน้นย้ำให้รำลึกนึกถึงพระพุทธ และนอกจากพระพุทธแล้ว พระองค์ยังย้ำเตือนให้แต่ละคนได้ระลึกถึงพระธรรมและพระสงฆ์ด้วย   เพื่อที่จะยันยืนว่าอานุภาพของพระรัตนตรัยนั้น สามารถที่จะก่อให้เกิดการสัมฤทธิ์ผลในด้านต่าง ๆ ได้ตามระดับแห่งการสัมผัสคุณของพระรัตนตรัย   เช่น

          1) เป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจ  ไม่ให้เกิดความหวาดกลัว ขนพองสยองเกล้าในยามที่อยู่คนเดียว หรือถูกภัยคุกคาม หรือเกิดความหวาดกลัวขึ้น ดังที่สุริยเทพ และจันทิมเทพประสบ  และเมื่อได้ น้อมใจไปรำลึกพระพุทธคุณจึงทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาได้

          2)  ในยามประสบกับอันตราย สำหรับคนที่ยึดมั่นในพระพุทธคุณ หรือพระรัตนตรัย เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่คับขัน หากนำพุทธคุณมาใช้ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมย่อมจะสามารถช่วยให้หลุดพ้นจากอันตรายได้ เหมือนดังที่นางสามาวดี และบริวารรอดพ้นจากกากรถูกประหารด้วยธนูของพระเจ้าอุเทน และน้ำร้อนที่เป็นประดุจน้ำเย็นเมื่อนางสิริมารอดลงบนร่างของนางอุตตรา  และที่สำคัญก็คือสุริยเทพและจันทิมเทพก็ได้อานิสงส์จากการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

          3)  การแสดงความนอบน้อมต่อพุทธคุณ หรือพระรัตนตรัยนั้นแม่ด้วยกาย วาจา และใจที่เลื่อมใสอย่างแท้จริง ย่อมทำให้เกิดในสุคติได้ เช่นมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร  ใจที่มากด้วยปีติอันอาศัยพุทธคุณ อาจทำให้เกิดผลเป็นการบรรลุนิพพานได้ ดังเช่น ความปีติที่เกิดแก่พระวักกลิเถระผู้ขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏเพื่อกระโดดลงมาตายด้วยความเสียใจ แต่พอได้เห็นพระองค์ท่านกลับใช้ความปีติข่มปีติแล้วเจริญวิปัสสนา จนบรรลุพระอรหันตผล

          สรุปในประเด็นนี้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมาธิษฐานก็คือว่า ผลการจากการที่สุริยเทพ และจันทิมเทพได้พากันระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกนั้น   ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความนอบน้อม และการมองเห็นว่า พระพุทธคุณนั้นสามารถที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่พวกเขาได้  ฉะนั้น จะเห็นว่า การปฏิบัติตามคุณของพระพุทธเจ้า หรือพระรัตนตรัยนั้น  ย่อมสามารถที่จะทำให้เราบรรลุผลแห่งสันติสุขในระดับต่าง ๆ จากต่ำสุดไปจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ 

 


[1] พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2528), น. 138.

[2] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 (กรุงเทพฯ:  อักษรเจริญทัศน์, 2525), น. 474.

[3] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฏก ฉบับภาษาไทย, เล่มที่  15 (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), น. 96-98.

[4] มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระสูตรและอรรถกถาแปล, เล่มที่24 (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2525), น. 340-345.

[5] สมบัติ  พลายน้อย, “พระราหู,” สารานุกรมไทยภาคกลางฉบับธนาคารไทยพาณิชย์ 9 (2542): 6.

[6] มหามกุฎวิทยาลัย, ธมฺมปทฏฺฐกถาย  ปฐโม  ภาโค, พิมพ์ครั้งที่ 21 (กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2537), น. 136.

[7] เสฐียรพงษ์  วรรณปก, คำบรรยายพระไตรปิฏก  (กรุงเทพฯ: หจก.หอรัตนชัยการพิมพ์, 2540), น.101.

[8] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฏก ฉบับภาษาไทย, เล่มที่  15 (กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535), น. 359-363.

[9] มหามกุฏราชวิทยาลัย, ธมมปทฏฐกถาย สตตโม  ภาโค (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2532), น. 104.

ตัดจากบทความเรื่อง "ราหูอมจันทร์ และอมพระอาทิตย์: พระพุทธศาสนามีท่าทีและมุมมองอย่างไร" ของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

หมายเลขบันทึก: 328400เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการพระคุณเจ้า พระพุทธศาสนามีแนวคิดที่เป็นสากลสามารถนำหลักไปปฏิบัติได้ในทุกเวลาโอกาสคะ

คุณครู

  • อนุโมทนาขอบใจที่แวะมาเยี่ยมชม
  • อาตมามองว่าเรื่องนี้น่าจะไปกันได้ดีกับประเด็นที่ครูเขียนเรื่องสุริยุปราคา
  • เจริญพร

ขอบพระคุณมากค่ะหนูได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้มากเลยค่ะ

เป็นนักเรียนที่ดีมาก และหวังว่าจะนำแนวคิดเหล่านี้ไปขยายพื้นที่ต่อไป

นมัสการค่ะ

ครูนกมองแบบวิทยาศาสตร์ไปแล้วตอนนี้ได้บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมได้จากบล็อกของท่านอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท