ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

จริยธรรมปีนี้ ตอนสอง “ปฏิบัติการป(ล)ฏิหาริย์”


                       บันทึกนี้ เป็นภาคต่อเนื่องมาจากบันทึกที่แล้วค่ะ  (บันทึก: จริยธรรมปีนี้ ให้ อะไร)  ที่ได้ลองวางหัวข้อการสอนจริยธรรมให้กับนักศึกษาในปีการศึกษาปีนี้ว่า อยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เรื่อง การให้                

                       จากตัวกวนแรก “Good Friday” ปฏิกิริยาการตอบรับจัดว่า ค่อนข้างดีทีเดียว เพราะไอเดียที่เอาเกมส์จับบั๊ดดี้ มาทำให้ลึก ละเอียดอ่อนมากขึ้น ผสมกับความใส่ใจ ตั้งใจที่จะทำวันศุกร์เป็นวันพิเศษให้เพื่อน  ทำให้กิจกรรมนี้ นอกจากจะทำให้นักศึกษารู้สึกว่า ได้หวนกลับไประลักถึงวันเก่าๆ เมื่อครั้งเป็น freshy  ยังเป็นการกระตุกให้เขาได้เริ่มใส่ใจเพื่อนร่วมชั้นปีมากขึ้น   

                                       สิ่งใดทำด้วยความใส่ใจ สิ่งนั้นดีเสมอ

                 แต่กิจกรรมนี้ ก็หวือหวา สนุกสนานเพียงระยะนึงเท่านั้น ทำไปได้สักระยะ  Good Friday เริ่มฝืดและฝืน  เพราะการให้เป็นไปแต่ในเชิงรูปธรรม ซื้อของให้กัน  ซื้อขนมมาฝาก แม้ว่าการให้จะทำได้ตั้งหลายรูปแบบก็ตาม เมื่อเป็นแบบนี้ ทำไปสักพักก็หมดมุข เพราะไม่รู้จะเอาอะไรให้แล้ว และสิ่งที่ตัวเองไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ นักศึกษาบางคนรู้สึกว่า  การเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อนด้วยความจริงใจ ถูกตีค่าว่า ทำเพื่อที่จะได้มีงานส่งอาจารย์ เหมือนกับการต้องทำให้ได้ minimum requirement (เข้าวงจรการรับรู้แบบ ทำให้ครบ requirement อย่างที่นักเรียนทันตแพทย์คุ้นเคยกันนั่นแหละค่ะ) สิ่งเหล่านี้รบกวนจิตใจนักศึกษาพอสมควรเลยค่ะ เพราะ คนให้ ก็ไม่สบายใจ เพราะกลัวเพื่อนจะตีค่าความหวังดีเป็นทำเพื่อหวังผลตอบแทน คนรับ ก็ระแวงว่า เพื่อนมาช่วยเพราะเป็นการบ้านที่จะต้องทำ                  

                    เอาล่ะสิค่ะ Good Friday ดูเหมือนจะยังมีอะไรที่ไม่ลงตัว  ดูเหมือนจะขาดอะไรไปสักอย่างสองอย่าง                  

                   และแล้ว.. จะด้วยความบังเอิญ หรือชะตาฟ้าลิขิตก็ไม่รู้ ช่วงระหว่างที่กำลังหาทางออกให้กับกลุ่มนักศึกษาที่ตัวเองดูแลอยู่ ระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Fish! Tale ปฏิบัติการป(ล)ฏิหาริย์ ที่เขียนโดย สตีเฟน ลันเนม,  ฟิลิป สแตรนด์, จอห์น คริสเตนเซ่น และ แฮรี่ พอล แปลเป็นภาษาไทย โดย คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา  ปรัชญาปลายิ้ม ถูกเสนอให้เป็นแนวคิดในการบริหารองค์กร แต่หนังสือเล่มที่ได้อ่านเป็นเวอร์ชั่นที่นำปรัชญาปลายิ้มมาประยุกต์ใช้กับ educator นั่นคือ คนที่ทำงานเป็นครู อาจารย์ทั้งหลายนั่นแหละค่ะ ว่าจะรับมือกับเด็กนักเรียนอย่างไร  อ่านแบบม้วนเดียวจบ ขอบอกว่าสนุกจริงๆ ค่ะ  อ่านแล้วเกิดกำลังใจฮึกเหิมขึ้นมาอีกโข..รู้ละว่าจะทำไงต่อ กับสิ่งที่ติดๆขัดๆอยู่นี้.... 

                          ปรัชญาปลายิ้ม เขามีหลักการง่ายๆอยู่สี่ข้อด้วยกันค่ะ  คือ 

Play การเล่น

ทำให้การเรียนให้เป็นเสมือนการเล่น ทั้งครูและนักเรียนจะได้รู้สึกสนุก เมื่อสนุกก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ดี 

Be there อยู่ตรงนั้น อย่าหันหน้าหนี

การ ใส่ใจอยู่ตรงนั้น  หมายถึง การที่เราจะนึกถึงใครในลักษณะใด มองเขาอย่างไม่ตัดสินเราจะอยู่กับเขาโดยปราศจากคำวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอีกในปรัชญาปลายิ้มนี้ เขาได้บอกไว้ว่า

การใส่ใจอยู่ตรงนั้น เริ่มต้นด้วยการที่เราได้ตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะอยู่กับปัจจุบันทั้งตัวและหัวใจ เมื่อเราเริ่มใจลอย เราก็แค่ดึงตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันตรงหน้า มันไม่มีอะไรที่ลึกลับซับซ้อน ขอแค่เรารู้ตัว ตั้งใจและทำให้ได้เท่านั้น 

Make their day สร้างสรรค์วันดี 

การให้ด้วยใจโดยไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใดนอกจากทำให้ใครสักคนเกิดความรู้สึกดีๆกับชีวิตขึ้นมา 

Choose your attitude เลือกทัศนคติ

เราทุกคนสามารถเลือกที่จะมีทัศนคติอย่างไรด้วยตัวเราเอง เราเป็นผู้เลือกที่จะมองในด้านบวกหรือด้านลบก็ได้ หากเรามองในด้านบวกเราก็จะมีชีวิตที่น่าอภิรมย์ หากเราเลือกทัศนคติในแง่ลบ เราก็จะจมอยู่กับทัศนคติแบบนั้น                

              แล้วสี่ข้อนี้เองค่ะ ที่เป็นส่วนเติมเต็มให้กับ คอร์สจริยธรรม ครั้งนี้ให้มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น  ตัวเองออกแบบการเรียนรู้ใหม่กับนักศึกษาในกลุ่ม ว่าเราจะร่วมกันกำหนดวันๆหนึ่งขึ้นมาเป็น วันดีที่เราจะสร้างสรรค์ให้เป็นวันดีให้กับเขา โดยการให้นั้น ได้กำหนดให้เป็นการให้ในเชิงรูปธรรม คือการส่งการ์ดให้เพื่อน แต่ความใส่ใจ จะแทนด้วยข้อความที่จะเขียนให้เพื่อนคนนั้นจะต้องเป็น คำ ประโยค หรือเรื่องราวที่มีความหมายต่อเพื่อนคนนั้น                  

             แล้วทำยังไงเราถึงจะรู้ว่า  ถ้อยคำอะไรที่จะมีความหมายต่อเพื่อนล่ะ               

              ดังนั้นโจทย์ต่อไปที่นักศึกษาต้องกลับไปทำเป็นการบ้าน  คือ  Be there  อยู่ตรงนั้น อย่าหันหน้าหนี กับเพื่อนคนที่เขาเลือกที่จะ Make their day หรือสร้างสรรค์วันดีให้ นั่นคือ ในช่วงระยะเวลาก่อนจะถึงกำหนดวันส่งการ์ด นักศึกษาจะต้องฝึกที่จะ Be there  กับเพื่อน คนที่เราเลือกแล้วว่าจะส่งการ์ดให้                

               นอกจากนี้ ยังเพิ่มความท้าทายให้นักศึกษาลอง  Be there กับเพื่อนที่เขาไม่สนิท หรือเป็นคนที่อยู่วงรอบนอกในวงโคจรความสัมพันธ์ของเขา                

          กระบวนการทั้งหมดนี้ ออกแบบให้เหมือนกับ การเล่น (แต่เอาจริง) และหวังว่าเป็นการ ชี้ชวนให้นักศึกษาได้ละเอียดอ่อนมากขึ้นก่อนที่จะ ให้ อะไรกับเพื่อน น่าจะนำไปสู่ การเลือกทัศนคติบวกให้กับตัวเอง และเลือกที่จะมีทัศนคติบวกกับเพื่อนในชั้นปีต่อไป

หมายเลขบันทึก: 149711เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2007 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 06:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
น่าติดตามนะคะเนี่ย

สวัสดีค่ะอาจารย์ต้นอ้อ

ดิฉันชอบใจ ปรัชญาปลายิ้มที่อาจารย์เล่าให้ฟังจังค่ะ  อาจารย์มีวิธีหากุศโลบายที่จะทำให้ลูกศิษย์เป็นผู้มีจิตใจละเอียดอ่อน  จิตใจดี  และจิตใจงาม  ได้อย่างน่าติดตามมาก 

การศึกษาในระบบเชื่อวิธีคิดแบบ"นับได้" และเชื่อหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่มากค่ะอาจารย์   ดิฉันชอบใจวิธีคิดแบบ "นับได้" อยู่อย่างหนึ่ง  คือเมื่อเราทำอะไรลงไป  เราก็คาดหวังผลที่ตามมาเป็นรูปธรรม  และหาวิธีให้ผลนั้นแสดงตัวออกมาอย่างแจ่มชัด  แบบที่นับเป็นปริมาณ มาก-น้อย  ได้   

ผลข้างเคียงของวิธีคิดแบบนับได้  คือการทำอะไรหวังผล....  เป็นปริมาณ 

ดิฉันจึงนึกขำทุกครั้งเมื่อถามอะไรแล้วเด็กๆไม่ค่อยตอบ   แต่พอให้ตอบแล้วเขียนคะแนนขึ้นกระดานรายคนทีไร  เธอยกมือตอบกันขวักไขว่ทุกที  แปลว่าเด็กๆ เห็นคุณค่าของ (ผลอันเป็นปริมาณที่นับได้  คือ)คะแนน  มากกว่า  (ผลอันเป็นคุณภาพ   คือ) การฝึกสมอง  ให้เป็นผู้รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา 

แปลให้ลึกไปอีกว่า  ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ช่าง ขอให้มีผลตอบแทน  เธอถึงจะทำ

นี่เป็นโจทย์ที่ดิฉันไม่เคยแก้ได้เลยค่ะ 

ดิฉันจึงชอบใจจริงๆที่อาจารย์เลือกกุศโลบายนี้ "การชี้ชวนให้นักศึกษาได้ "คิด" อย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น ก่อนที่จะ "ให้" อะไรกับเพื่อน"นี้ น่ารักจริงๆ

ดิฉันจะรอฟังเรื่องดีๆในห้องเรียนของอาจารย์อย่างตั้งใจนะคะ

ขอบคุณอ.หนิง และ คุณดอกไม้ทะเลมากค่ะ ที่ติดตามอ่านและร่วมแลกเปลี่ยน เป็นกำลังใจให้แก่กัน

เห็นด้วยค่ะ ที่คนเราสมัยนี้ จะลงมือทำอะไรแต่ละอย่างจะต้องหวังผล ....ผลในเชิงรูปธรรมซะด้วย ไม่ว่าจะเป็นคะแนน เงินทอง ค่าตอบแทน หรือคำชม 

บทเรียนว่าด้วยการ "ให้" ในครั้งนี้ จึงอยากจะให้นักศึกษาได้ทำความรู้จัก  "ผลลัพธ์" ที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนดูบ้างค่ะ

มัทมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่บอกเต็มปากเต็มคำว่าเป็นแฟนกับคนปัจจุบันนี้เพราะพี่เค้าเลือกการ์ดเขียนการ์ดได้ดีกินใจมาก

ผู้ชายที่เลือกการ์ดเขียนการ์ดได้ดีเป็นคนที่"มีอะไร"น่าสนใจ : )

มัทชอบมากๆค่ะให้เขียนข้อความหากันแบบนี้ "ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน" ดีกว่าให้ของเป็นชิ้นๆไปไหนๆ

ปล 1: มัทอ่านหนังสือ Fish ก่อนได้ไปยืนดู เค้าโยนปลา ขายปลาที่ตลาด Pike Place ที่ Seattle ทำให้การดูคนขายปลามี"ค่า"ขึ้นมาอย่างแปลกประหลาดดีแท้ ยืนยิ้มดูอยู่เหมือนเป็นคนบ้า แฮะๆ

ปล 2: พี่แอมป (์ดอกไม้ทะเล) เป็น"ครู"ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสาร น่าทำงานด้วยและน่าเล่นด้วย มากๆเลยค่ะ : ) แฮะๆ (รอบ 2)

อยากมีโอกาสไปดูตลาดปลาบ้างจัง แต่ว่าความเป็นไปได้ท่าจะน้อย

หากมีโอกาสได้เจอกัน จะต้องขอ อ.มัทเล่าให้ฟังแล้วล่ะค่ะ เพราะมั่นใจว่า เราต้องได้มีโอกาสเจอกันแน่ๆ

มีอะไรในบ้านเราที่พอจะเทียบเคียงได้ไม๊น๊อ....

ตลาดวโรรส (กาดหลวง) ที่เชียงใหม่ พอไหวไม๊น้า...

เรามีโอกาสเจอกันแน่นอนค่ะ หรือเราเคยเจอกันมาแล้ว?

มัทไปประชุมของภาคชุมชนที่รวมทุกมหาวิทยาลัยมาครั้งเดียว

ตอนนั้นก็ 7 ปีมาแล้ว เห็นจะได้ค่ะ เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ

ไว้มัทกลับไปถาวรคราวนี้ เราคงได้เจอกันแน่ๆค่ะ

ในบ้่านเรา มัทนึกถึงคุณตำรวจจราจรที่เต้นไปโบกไปท่ามกลางควันพิษแถวบางมดค่ะ

ส่วนถ้าเป็นตลาดนี่ hmmm เอาเป็นร้านก๊วยเตี๋ยวที่เชียงใหม่ที่ดังเพราะน้องคนคิดตังค์ พอไหวมั้ยค่ะ : )

ตัวอย่างที่ อ.มัท ยกมานี่ ใช้ได้เลยทีเดียวค่ะ

ร้านก๋วยเตี๋ยวที่โน๊ต อุดม เคยพูดถึงใช่ไม๊คะ "ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหัวนม"

จริงๆแล้วร้านนี้ชื่อ ร้านอ๋องทิพย์ (มักจะเรียกแบบนี้)หรือ อ๋องทิพรส ค่ะ

ใช่เลยค่ะ!! คนเก็บเงิน เจ๋งมากๆ

Play “การเล่น”

Be there “อยู่ตรงนั้น อย่าหันหน้าหนี”

Make their day “สร้างสรรค์วันดี”

Choose your attitude “เลือกทัศนคติ”

เราทุกคนสามารถเลือกที่จะมีทัศนคติอย่างไรด้วยตัวเราเอง เราเป็นผู้เลือกที่จะมองในด้านบวกหรือด้านลบก็ได้ หากเรามองในด้านบวกเราก็จะมีชีวิตที่น่าอภิรมย์ หากเราเลือกทัศนคติในแง่ลบ เราก็จะจมอยู่กับทัศนคติแบบนั้น

ชอบอันสุดท้ายมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ทำกันยากจริง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท