อนุทินล่าสุด


kamo0073
เขียนเมื่อ

KM กับการจัดการความรู้ด้านสาธารณะสุข 

       ในฐานนะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่ในหนว่ยงานสาธารณสุข นั้น เรื่องการจัดการความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญมากอาทิเช่น การดูแลสุขภาพ การประเมินตนเองว่าเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร วิธีการป้องกันโรคระบาด  เป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ควรให้ความสำคัญทางด้านนี้ จะเป็นประโยชน์เชิงรุกมากขึ้น

และกระผมมีแนวทางในการจัดการองค์ความรู้ดังนี้

        1. จัดทำ web site ในการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิการรักษาได้เพิ่งควรได้รับ  พรบ.ผู้ประสบอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และของความเคลื่อนไหว โรคระบาด ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงโดยอาจจะใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS) เข้ามาช่วยในการจัดการ

        2. ขอความร่วมมือ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความรู้ เกี๋ยวกับการดูแลสุขภาพ ในรูปแบบ ต่าง ๆ 

        3. จัดทำระบบให้คำปรึกษาผ่านระบบ Internet 

 ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ในการจัดการองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ยังมีอีกมากมายที่ผู้เขียนอาจจะไม่ได้กล่าวถึง เนื่องจากว่า สุขภาพ กับการเป็นอยู่เป็นเรื่องใกล้ตัวเราและกระผมเองมีความคิดริเริ่มในการพัฒนาระบบการจัดการองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข ติดตามรับฟังและรับชม ในตอนต่อไปครับ ขอบคุณครับ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

kamo0073
เขียนเมื่อ

การจัดการความรู้ในงานสาธารณสุข

ปัจจุบัน คำว่า การจัดการ ความรู้ (Knowledge Management: KM) เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยขึ้นในวงการต่าง ๆ โดยเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ความรู้มิได้มีเฉพาะในตำราและในตัวผู้เชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีความรู้จำนวนมากมหาศาลที่เกิดอยู่ในตัวคนผู้ปฏิบัติงาน อันเกิดจากประสบการณ์การทำงานจริงที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ซึ่งหากมีการจัดการความรู้ในตัวผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ และนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนางาน จะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานได้อย่างต่อเนื่อง การจัดการความรู้นับเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ พัฒนาคน และพัฒนางาน ดังนั้น นักสาธารณสุขจึงควรจะเรียนรู้แนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ และนำมาใช้ในงานสาธารณสุข ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน

แนวคิดการจัดการความรู้มีการเผยแพร่ใน website ต่างๆ รวมทั้งในการประชุมวิชาการของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมาก ในที่นี้ขอนำบทความบางส่วน เรื่อง “ การจัดการความรู้เพื่อคุณภาพที่สมดุล ” ที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เขียนให้ สถาบันพัฒนา และรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ( พรพ .) ในหัวข้อ “ การจัดการความรู้คืออะไร : ทำไมไม่รู้ ” ( สามารถดูต้นฉบับจริงได้ใน http//www.ha.or.th) ดังนี้

1. การจัดการความรู้ คืออะไร

การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) เป็นกระบวนการ (process) ที่ดำเนินการร่วมกัน โดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กร หรือหน่วยงานย่อยขององค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง และใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม

การจัดการความรู้ในความหมายนี้ จึงเป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการ หรือนักทฤษฎี แต่นักวิชาการ หรือนักทฤษฎีอาจเป็นประโยชน์ ในฐานะแหล่งความรู้ (resource person) หรือผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้

การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่เป็นวงจรต่อเนื่อง เกิดการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป้าหมาย คือ การพัฒนางานและพัฒนาคน โดยมีความรู้เป็นเครื่องมือ มีกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ

“ การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย

การจัดการความรู้ที่แท้จริง เป็นการจัดการความรู้โดยกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เป็นการดำเนินกิจกรรมกัน ในกลุ่มผู้ทำงาน เพื่อช่วยกันดึง " ความรู้ในคน " และ " คว้า " (capture) ความรู้ภายในองค์กรมาใช้ในการทำงาน และคอย " คว้า " ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เอามายกระดับความรู้ และนำกลับไปใช้ในการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไม่จบสิ้น

การจัดการความรู้ เป็นกิจกรรมเพื่องาน เพื่อผู้ทำงาน โดยผู้ทำงานอยู่ภายใต้การกระทำ และการตัดสินใจของกลุ่มผู้ทำงานร่วมกัน

2. หลักการ 4 ประการ ของการจัดการความรู้

หลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

2.1 ให้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิด ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ การจัดการความรู้ที่มีพลัง ต้องทำโดยคนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน มีความเชื่อ หรือวิธีคิดแตกต่างกัน ( แต่มีจุดรวมพลัง คือ มีเป้าหมายอยู่ที่งานด้วยกัน ) ถ้ากลุ่มที่ดำเนินการจัดการความรู้ ประกอบด้วยคนที่คิดเหมือนๆ กัน การจัดการความรู้จะไม่มีพลัง

ในการจัดการความรู้ ความแตกต่างหลากหลาย (heterogeneity) มีคุณค่ามากกว่าความเหมือน (homogeneity)

2.2 ร่วมกันพัฒนาวิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อบรรลุประสิทธิผลที่กำหนดไว้ หรือฝันว่าจะได้ ในการจัดการสมัยใหม่ ประสิทธิผลประกอบด้วย องค์ประกอบ 4 ประการ คือ

2.2.1 การตอบสนองความต้องการ (responsiveness) ซึ่งอาจเป็นความต้องการของลูกค้า ความต้องการของสังคม หรือความต้องการที่กำหนดโดยผู้บริหารองค์กร

2.2.2 นวัตกรรม (innovation) ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ ก็ได้

2.2.3 ขีดความสามารถ (competency) ขององค์กร

2.2.4 ประสิทธิภาพ (efficiency) ในการทำงาน

2.3 ทดลองและเรียนรู้ เนื่องจากกิจกรรมการจัดการความรู้ เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งหมายความว่าต้องคิดแบบ " หลุดโลก " จึงต้องมีวิธีการดึงกลับมาสู่ความเป็นจริงในโลก หรือในสังคม โดยการทดลองทำเพียงน้อยๆ ซึ่งถ้าล้มเหลว ก็ก่อผลเสียหายไม่มากนัก ถ้าได้ผลไม่ดีก็ยกเลิกความคิดนั้น ถ้าได้ผลดี จึงขยายการทดลองเป็นทำมากขึ้น จนในที่สุด ขยายเป็นวิธีทำงานแบบใหม่ หรือได้ best practices ใหม่นั่นเอง

2.4 นำความรู้จากภายนอกอย่างเหมาะสม โดยต้องถือว่า ความรู้จากภายนอกยังเป็นความรู้ที่ยัง " ดิบ " อยู่ ต้องเอามาทำให้ " สุก " ให้พร้อมใช้ในบริบทของเรา โดยการเติมความรู้เชิงบริบทลงไป

3. เหตุผลที่องค์กรนำการจัดการความรู้มาใช้

3.1 เพื่อเก็บความทรงจำขององค์กรไว้ เช่น องค์กรที่มีวิศวกรที่มีประสบการณ์สูงอายุเฉลี่ย 55 ปี อีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณกันหมด ทำให้ความทรงจำขององค์กร ประสบการณ์ ขีดความสามารถในการทำงาน ที่อยู่ในสมองของคนหายๆไปด้วย หรือองค์กรมีคนทำงาน เป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งจะกระโดดเปลี่ยนงาน เมื่อมีโอกาส ต้องมีการจัดการความรู้ เพื่อเก็บความรู้ไว้ในองค์กร เป็นต้น

3.2 เพื่อสงวนสมองขององค์กร ทำให้คนมีความสุข มีคุณค่า ไม่ออกไปจากองค์กร

3.3 เพื่อเพิ่มประสิทธิผลขององค์กร ซึ่งประสิทธิผลในที่นี้ ครอบคลุมการตอบสนอง ( ความต้องการของลูกค้า เป้าหมายขององค์กร และเป้าหมายของสังคม ) นวัตกรรม ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพ

3.4 เพื่อเพิ่มทุนปัญญาให้แก่องค์กร คนมีความสำคัญ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนมีความสำคัญมากกว่า

4. กิจกรรมการจัดการความรู้

กิจกรรมการจัดการเพื่อให้มีการนำความรู้ มาใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย

4.1 การกำหนดความรู้ที่ต้องการใช้ (define) เป็นการนำความมุ่งมั่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ขององค์กรมากำหนดความรู้ ที่ต้องการใช้ เพื่อให้มีการจัดการความรู้ มีจุดเน้น ไม่สะเปะสะปะ

4.2 การเสาะหา และยึดกุมความรู้ (capture) เป็นการพัฒนาขีดความสามารถ ในการเสาะหา และยึดกุมความรู้ที่กระจัดกระจาย หรือแฝงอยู่ตามที่ต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดทักษะและความชำนาญในการเสาะหา และยึดกุม

แหล่งของความรู้ที่จะเสาะหา อาจจะมาจากภายนอก ( คู่แข่ง คู่ค้า ผู้ที่เป็นเลิศ วิธีการ หลักการ ) หรือจากผู้ที่ทำงานด้วยกันในองค์กร

4.3 การสร้างความรู้ (create) ในมุมมองเดิม ความรู้จะต้องสร้างโดยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนในมุมมองใหม่ ความรู้เกิดขึ้นทุกจุดของการทำงาน โดยทุกคนที่ทำงาน เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในสมอง ซึ่งอาจจะพูดออกมาไม่ได้

การสร้างความรู้ อาจทำได้ทั้งก่อนลงมือทำ ระหว่างการทำงาน และสรุปประมวลประสบการณ์ หลังจากการทำงาน

ในการสร้างความรู้ ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ทั้งหมด 100% อาจเริ่มจาก 10-20% ก็ได้

4.4 การกลั่นกรอง (distill) ความรู้บางอย่าง เป็นสิ่งล้าสมัย บางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม กับบริบท หรือสภาพแวดล้อมสำหรับเรา จำเป็นต้องมีการกลั่นกรอง เพื่อให้นำความรู้ที่เหมาะสมมาใช้

4.5 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (share) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะแต่ละคนมีมุมมองต่อความรู้ ไม่เหมือนกัน ต้องมาแลกเปลี่ยน มิฉะนั้นจะเก็บอยู่ภายในตัว ไม่มีการยกระดับความรู้ ถ้าขาดการแลกเปลี่ยน ความรู้ที่มีอยู่จะเก่า ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ไม่งอกงาม ยิ่งแลกเปลี่ยนมาก ก็ยิ่งได้กำไรมาก

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นสิ่งยากที่สุด คนไม่อยากแลกเปลี่ยน เพราะกลัวขาดทุน กลัวเสียเปรียบ ต้องสร้างเงื่อนไข และกติกาที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน การแบ่งปัน ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีพฤติกรรมแบ่งปันความรู้ และไม่ให้ผลประโยชน์แก่ผู้มีพฤติกรรมกักตุน หรือปกปิดความรู้

4.6 การประยุกต์ใช้ความรู้ (use) ทำให้เกิดผลจากการใช้ความรู้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ / บริการ พัฒนากระบวนการทำงาน พัฒนาสมาชิกองค์การ และมีผลเชิงป้อนกลับ ต่อขั้นตอนการจัดการความรู้ที่กล่าวมา

การใช้ความรู้ต้องเน้นที่การเอาความรู้ มาใช้ในการทำงานให้มาก อย่าเริ่มด้วยการหาความรู้มาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเสี่ยงมากที่จะไม่เกิดประโยชน์ ไม่คุ้มค่า

กิจกรรมการจัดการความรู้ทั้ง 6 ขั้นตอน มีความสัมพันธ์ และเชื่อมโยงกันและกัน เป็นวงจร มิใช่ความสัมพันธ์เชิงเส้นตรง ก่อน - หลัง แต่เป็นวัฏจักรที่หมุนเวียน ผลิตซ้ำ พัฒนา และยกระดับขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด

5. วิธีการจัดการความรู้อย่างง่าย

คำแนะนำสำหรับการจัดการความรู้ คือ อย่าจดๆ จ้องๆ หรือมัวแต่อ่านตำรา หรือฟังการบรรยายของ " ครู " ด้านการจัดการความรู้ ให้ปรึกษาหารือกันเพื่อลงมือทำ หาที่ปรึกษาด้านการลงมือทำมาช่วยเหลือ โดยให้เริ่มทำในกลุ่มเล็กๆ ไปก่อน ใช้วิธีการง่ายๆ ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปใช้วิธีการที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

คำหลัก คือ " การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ " (Knowledge Sharing) ระหว่างกัน ผ่านการทำงานร่วมกัน

วิธีการใดก็ตาม ที่มีเป้าหมายพัฒนางานของกลุ่ม หรือของตน ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ หรือความรู้ที่เกิดจากการทำงาน ถือเป็นการจัดการความรู้ทั้งสิ้น

วิธีการจัดการความรู้มีเป็นร้อยวิธี ไม่ควรเน้นใช้วิธีการที่ชื่อไพเราะ โก้เก๋ หรือใช้เทคโนโลยียากๆ ควรเน้นความง่าย และเรียบง่าย ในช่วงเริ่มต้น แล้วค่อยๆ ใช้วิธีการที่ยาก หรือซับซ้อนขึ้น ตามความจำเป็น วิธีการจัดการความรู้ ได้แก่ 1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากวิธีการทำงานแบบ Best practices 2) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน " ชุมชนนักปฏิบัติ " (Community of Practice - CoP) 3) วงจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกกำลังสาม บวก คว้า

1) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิธีทำงานแบบ Best practices

วิธีทำงานที่เป็น best practices คือ วิธีทำงานที่เกิดผลงานในลักษณะที่น่าภูมิใจ น่าชื่นชม ผลสัมฤทธิ์สูง ประสิทธิภาพสูง หรือคุณภาพสูง

องค์กรขนาดใหญ่ต้องหา best practices ของการทำงานเรื่องต่างๆ นำมากำหนดเป็นมาตรฐานการทำงาน จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างทีมเจ้าของ best practices กับทีมอื่นๆ ให้ทีมอื่นๆ สามารถปฏิบัติงานมาตรฐานได้

และยิ่งกว่านั้น ต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนา best practices ใหม่ขึ้น ให้เป็นวิธีการที่ดีกว่าเดิม เป็นวงจรเรื่อยไปไม่สิ้นสุด

ในองค์กรขนาดใหญ่ การนำวิธีการทำงานและประสบการณ์ทำงาน โดยวิธีการที่เป็น best practices เขียนเป็นเอกสารขึ้นไว้บน intranet หรือ website ให้พนักงานใช้ password เข้ามาดูได้ตลอดเวลา จะช่วยอำนวยความสะดวก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพนักงาน

การที่ชาวบ้านที่ต้องการรวมตัวกัน แก้ปัญหาน้ำในแม่น้ำพองเน่าเสีย ร่วมกันเดินทางไปดูงาน วิธีการแก้ไขปัญหาทำนองเดียวกัน ที่จังหวัดน่าน ก็เป็นการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก best practices ในการแก้ปัญหาน้ำในแม่น้ำเน่าเสีย โดยเลือกว่า วิธีการของจังหวัดน่าน เป็น best practices

แนวทางการจัดการความรู้โดย best practices

ก . เสาะหา มีเกณฑ์ในการคัดเลือก ต้องคัดเลือกอย่างตรงไปตรงมา

ข . เป็น best practices ที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม มีเรื่องราวของกระบวนการพัฒนางาน ผ่านความยากลำบาก ( ล้มเหลว ) มีการฟันฝ่าจนกว่าจะบรรลุผล มีเรื่องราวให้เล่าเพื่อสะท้อนวิธีคิด วิธีปรึกษาหารือ ดึงเอาความรู้ฝังลึกจากสมาชิกกลุ่ม และค้นคว้าความรู้จากภายนอกมาใช้งาน

ค . ในการประชุมเสนอผลงาน ต้องเตรียมตัว และกระตุ้นให้มีการซักถาม แลกเปลี่ยน กันให้มาก และมีผู้ทรงคุณวุฒิคอยกระตุ้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และชี้ประเด็นเพื่อยกระดับความรู้ โดยใช้ตัวอย่างคำถาม เช่น

- มีใคร หรือเหตุการณ์ใดที่เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการพัฒนางานจนเกิด best practices อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในช่วงเวลาของการพัฒนาดังกล่าว ใครบ้างเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมอย่างไร เกิดกระบวนการอะไรบ้าง ที่เป็นปัจจัยสำคัญ นำไปสู่ความสำเร็จ ความยากลำบาก ที่ต้องเผชิญคืออะไรบ้าง ได้เอาชนะอุปสรรคนั้นอย่างไร

- ใช้ความรู้อะไรบ้าง ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว เอาความรู้เหล่านั้นมาจากไหน

- มีแผนจะทำให้ดียิ่งขึ้นอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง

- คิดว่า มีหน่วยงานใดบ้างที่น่าจะเรียนรู้จากกิจกรรมของกลุ่มของท่านได้

- มีความรู้อะไรบ้างที่พร้อมจะแลกเปลี่ยน กับเพื่อนร่วมงานในหน่วยงานอื่น ภายในองค์กร

ง . มีการสร้างเงื่อนไข หรือบรรยากาศให้ผู้มาร่วมประชุม นำเอาความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยน ไปปฏิบัติ เพิ่มพูนความรู้ฝังลึกของกลุ่ม และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง

2) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการทำกิจกรรม " ชุมชนนักปฏิบัติ "

ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practices-CoP) เป็นการรวมตัวกันของผู้ปฏิบัติงาน คล้ายๆ กัน หรือต้องใช้ความรู้ ในลักษณะคล้ายคลึงกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กันอย่างสม่ำเสมอ

ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practices) อาจเป็นชุมชนที่สนใจปัญหาเดียวกัน เช่น CoP เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังจัดตั้งขึ้นโดย พรพ . หรืออาจเป็นชุมชนที่สนใจชุดความรู้ (knowledge domain) ชุดเดียวกัน แต่ทำงานอยู่ในต่างหน้าที่ เผชิญปัญหาคนละปัญหา เช่น CoP เรื่อง การดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ อาจมีสมาชิกจากหออภิบาล หอผู้ป่วยอายุรกรรม หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม และหอผู้ป่วยนรีเวชกรรม เป็นต้น

วิธีการแลกเปลี่ยนที่ low tech คือ นัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกวันศุกร์ 17.00-19.00 น . เอาอาหารเย็นมารับประทานร่วมกัน และมีคนมาเล่าประสบการณ์ของคน 2 คน เป็นเครื่องมือเริ่มประเด็น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในภาคอีสาน มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน และภาคีเครือข่ายทุกเดือน เวียนสถานที่ประชุม และผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เป็นตัวอย่างของ CoP ภาคชาวบ้าน เป็น CoP ด้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมนี้มี นพ . อภิสิทธิ์ - พญ . ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร แห่งโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ประสานงาน

3) วงจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยกกำลังสาม บวก คว้า

เป้าหมายของวงจรนี้ เพื่อเป็นวงล้อหมุนให้เป้าหมายของงาน ที่กำหนดไว้ไปสู่ความสำเร็จ ในลักษณะที่เป็นความสำเร็จระดับน่าภูมิใจ ที่น่าชื่นชม

ในวงล้อหลัก ใช้พลังของการเรียนรู้ร่วมกัน ( ของทีมงาน ) ทั้งเรียนรู้ร่วมกันก่อนเริ่มงาน - รก . ( เรียนก่อน , learning before) เรียนรู้ร่วมกันระหว่างทำงาน - รร . ( เรียนระหว่าง , learning during) และเรียนรู้ร่วมกันหลังงานชิ้นนั้นสำเร็จ - รล . ( เรียนหลัง , learning after)

การเรียนรู้ร่วมกันก่อนเริ่มงาน ใช้เทคนิคที่เรียกว่า " เพื่อนช่วยเพื่อน " (Peer Assist) คือ ทีมที่จะทำงานชิ้นนั้น เสาะหากลุ่ม หรือทีมงานที่มีความสามารถในการทำงานนั้น ในระดับ best practices ซึ่งอาจเป็นกลุ่มภายในองค์กรเดียวกัน หรือกลุ่มภายนอกองค์กรก็ได้ เชิญมาทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีทำงานนั้น จะไม่กล่าวรายละเอียดของเทคนิคนี้ ผู้สนใจหาอ่านได้จาก เว็ปไซต์ของ สคส . (www.kmi.or.th)

การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทำงาน ใช้เทคนิคที่เรียกว่า AAR (After Action Review) และการเรียนรู้ร่วมกัน หลังจากงานสำเร็จ ใช้เทคนิค Retrospect ผู้สนใจอ่านได้จาก เว็ปไซต์ของ สคส .

วงจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้พลังงาน เมื่อทำต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดพลังมาก แต่ยังไม่พอ ต้องใช้พลังของอีกวงจรหนึ่ง คือ วงจร " คว้า " (capture) ความรู้จากภายนอก ทั้งที่เป็นความรู้ในกระดาษ และความรู้ในคน เอามาปรับปรุงใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเรา และคอย " คว้า " ความรู้ที่เกิดจากการทำงานของเรา เอามาตีความแลกเปลี่ยนยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และบันทึกไว้เป็นองค์ความรู้ ที่สั่งสมไว้ภายในกลุ่ม และภายในองค์กร ให้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันได้อย่างกว้างขวางขึ้น และพร้อมที่จะให้ค้นมาใช้ได้ทันการณ์

ต้องหมุนวงจรทั้ง 2 เข้าเป็นวงจรเดียวกัน หรือส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง จะเกิดผลมหัศจรรย์

บทสรุป

การที่ได้คัดเลือกเรื่องการจัดการความรู้ในงานสาธารณสุขมาเผยแพร่ในมุมวิชาการด้านสาธารณสุขศาสตร์และบริหารงานสาธารณสุขนี้ เนื่องจากมองว่าผู้บริหารควรใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานสาธารณสุข ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาวิชาการ พัฒนาคน และการพัฒนางาน และนำไปสู่การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด โดยผู้บริหารองค์กรสาธารณสุขควรจัดบรรยากาศภายในองค์กรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ปฏิบัติงานในเรื่องที่สนใจร่วมกัน เช่น การพัฒนาชมรมสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว การทำ Family Folder ให้ครอบคลุม การเพิ่มความครอบคลุมของการตรวจมะเร็งเต้านมในกลุ่มเป้าหมาย การทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Healthy Thailand เป็นต้น โดยใช้วิธีจัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนกลวิธีการทำงาน ปัญหาอุปสรรคที่พบ และวิธีการแก้ไขปัญหา ในเรื่องที่สนใจร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์ และได้ข้อสรุปความรู้ที่เป็นแนวทางในการปรับปรุงพัฒนางานต่อไป หรือใช้วิธีการจัดเวทีให้มีการนำเสนอผลงาน โดยมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการทำงานและเงื่อนไขความสำเร็จของแต่ละโครงการ ปัญหาอุปสรรคและวิธีการแก้ไขปัญหา บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้ โดยมีการคัดเลือกผลงานเด่นในแต่ละเรื่องให้เป็นกรณีตัวอย่าง สำหรับที่จะให้ผู้อื่นได้มาเรียนรู้ ดูงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสามารถนำไปประยุกต์กับพื้นที่ของตนได้




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท