เพลงพื้นบ้าน "สองแง่สองง่าม"


ต่อว่ากันด่ากันเสียดสีกัน เพื่อให้ผู้ชมสนุกสนาน

เพลงพื้นบ้าน 

สองแง่สองง่าม

        คำว่า สองแง่สองง่าม (2 แง่ 2 ง่าม) ในทางศิลปการแสดงเพลงพื้นบ้าน มักจะได้ยินคำนี้จนคุ้นหู บางคนถึงกับพูดว่า เพลงพื้นบ้าน เล่นทะลึ่ง หยาบคาย ไม่สุภาพ แต่ความเป็นจริง ผมเป็นนักแสดงผู้หนึ่งที่ยืนอยู่บนเวทีการแสดงจริง ๆ มาตั้งแต่ปี 2518-2519 จนถึงปัจจุบัน ปี 2550 ผมไม่พบว่าการแสดงเป็นไปในทางทะลึ่ง หยาบคาย ไม่สุภาพ ยกเว้น เมื่อตอนเล่นเพลงปะทะคารมให้ถึงพริกถึงขิง ผู้แสดงก็จะต้องทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วม (เพลงปะทะคารม เปรียบเสมือนคนกำลังทะเลาะกัน) อาจมีพลาดพลั้งออกไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ดูไม่สุภาพ ต่ำช้าลงไป บางคำร้องผู้ฟังอาจคิดและตีความได้ 2 ทาง คือ คิดไปทางนี้ก็ไปทางนี้ หรือคิดไปทางโน้นก็ไปทางโน้นได้ เป็นสำนวนที่ไม่ได้ร้องตรง ๆ เป็นการชวนให้ผู้ฟังคิดแต่มิใช่เป็นเพลงที่จะต้องส่อไปในทางหยาบโลน หยาบคาย หรอกครับ จึงเรียกสำนวนเพลงที่ฟังแล้วตีความหมายได้เป็น 2 นัย ว่า "สองแง่สองง่าม"

แต่ถ้าท่านเป็นผู้ชมผู้ฟัง เมื่อได้ฟังคำพูด หรือเสียงร้องในทำนองนี้ ท่านมีสิทธิที่จะคิดไปถึงเรื่องเพศ หรือเรื่องสัปดนก็ตามแต่ ในส่วนของคำหยาบก็มีใช้ แต่ผู้แสดงจะดูความเหมะสมและไม่พร่ำเพรื่อ ไม่กระทบกระเทือนถึงใครคนใดคนหนึ่งในที่นั้น ผู้แสดงจะกระทำไปตามสถานการณ์ที่เกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อยก็ผ่านไป เพลงพื้นบ้านที่เล่นในลักษณะสองแง่สองง่าม ได้แก่ เพลงอีแซว  เพลงฉ่อย เพลงเรือ ลำตัด เพลงเต้นกำ  เพลงพวงมาลัย เป็นการโต้คารมเพื่อลับฝีปากกันของพ่อเพลงและแม่เพลง มีทั้งเกี้ยวพาราสี ต่อว่ากัน ด่ากัน เสียดสีกัน  เพื่อให้ผู้ชมสนุกสนาน เฮฮา จึงมี "สองแง่สองง่าม"  เช่น

 

(ชาย)           เอ๊ย..เจ้าของงานหามา    อยากฟังวาจาหอมหวน 

              เขาอยากจะฟังสำนวน         ว่าใครจะมีแค่ไหน

              ว่าใครจะมีหมัดเด็ด             กลเม็ดเฉพาะ   

              ว่าเสียงใครจะเซาะ              เข้าไปถึงลำไส้

              แต่เอ็งพูดตัดรอน                ว่ายังอ่อนภูมิรู้

              ไม่อยากคิดต่อสู้                  ฉันมองเห็นนิสัย

              ถ้าแก่อ่อนภูมิรู้                    ควรหาครูสั่งสอน     

              จะได้เก่งทางกลอน              หากินทางไกล

              ถ้าไม่มีครูสอน                    วันหลังไปนอนที่บ้าน

              ไปนอนต่อเพลงกัน              จะได้มีเพลงใหม่

              จะหัดเช้าหัดเย็น                 หัดเล่นกันให้คล่อง (เอ๊ย) แล้วให้คล่อง

              หัดเพลงให้เต็มท้อง             เสียจนบานตะไท  (เอ๊ย)  บานตะไท

คำว่า หัดเพลงให้เต็มท้อง  เสียจนบานตะไท เชิญท่านคิดได้ตามนัยที่ท่านจะคิดกันไปทางไหนก็ได้

แต่ถ้าเราสังเกตอย่างถี่ถ้วน เป็นการร้องเสียดสีอีกฝ่ายให้เจ็บใจ เกิดโมโหนั่นเอง

(หญิง)        เอ๊ย..แกจะเป็นครูสอน   ให้ไปนอนที่บ้าน          

              ฉันยังไม่ต้องการ                 แกมาพูดก้าวก่าย

              เสมอครูอย่างแก                 ปัญญาแค่หางอึ่ง     

              ฉันกลัวจะเทียบไม่ถึง           หมดเพลงในไถ้

              ข้าเหมือนท้าวสุนทร             แกจะมาสอนนักปราชญ์ 

              ข้าเห็นเหลี่ยมฉลาด             แกไม่มีเท่าไร

              ข้าลองลวงภูมิรู้                   ของแกดูเล่นดอก     

              จะเห็นว่าหวานนอก             ระวังจะขมข้างใน

              เสมอเพลงอย่างแก              ข้ายังไม่แคนึกขาม  

              อยากทดลองถาม                ก็มีแต่เพลงในไถ้

              เอ็งจะมาสอนคนรู้               เลยนะพ่อครูข้างแรม (เอ็ย) ครูข้างแรม

              แม่ยังไม่เสียวสองแคม         อยู่ที่ข้างเรือพาย (เอ๊ย) แล้วเรือพาย

คำว่า แม่ยังไม่เสียวสองแคม  อยู่ที่ข้างเรือพาย เชิญท่านคิดได้ตามนัยที่ท่านจะคิดกันไปทางไหนก็ได้ฟังผิวเผินดูจะเป็นคำหยาบ แต่ฟังจนตลอดก็ไม่มีอะไร เป็นการแก้ต่างของอีกฝ่ายหึ่งกลับไป

คำสำคัญ (Tags): #เพลงพื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 99769เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2007 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

ชอบฟังเหมือนกันค่ะ ไม่คิดอะไร สนุกดีค่ะ

  • ครูชำเลืองคะ ว่าจะมาทักทายนานแล้วแต่ก็ยุ่งทั้งงานหลวง งานราษฏร์ เพิ่งได้โอกาสวันนี้ ทักทายช้า แต่ชื่นชมและศรัทธาครูชำเลืองมาโดยตลอด
  • เพลงพื้นบ้านถ้าขาดการโต้ตอบแบบสองแง่ฯก็จะขาดเสน่ห์นะคะ
  • ลำดวนคิดว่าผู้ฟัง ผู้ชมคงเข้าใจ
  • และเห็นเวลาครูชำเลืองให้เด็กร้อง ก็เป็นบทที่คุณครูแต่งได้เหมาะกับเด็ก ไม่มากเกินไป ฟังดูน่ารักดีค่ะ
  • เป็นกำลังใจ และชื่นชมค่ะ

ความรู้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษส้รางมาคือสิ่งที่ทุกคนตอ้งค้นหาความในที่มีอยู่แต่มองไม่เห็นด้วยตาแต่มีในความรู้สึกที่สัมผัสได้ดว้ยความภูมิใจในชาติกำเนิดตัวเองความภูมใจในสิ่งที่เรามี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท