กฎ ๓ ข้อในการเลือกสายอาชีพ


กฎสองข้อแรกไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณไม่ได้รับใช้ผู้อื่น หรือทำให้ชีวิตผู้อื่นดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง

คุณบัณฑิต อึ๊งรังษี (อีกแล้ว) แนะนำ "กฎ ๓ ข้อในการเลือกสายอาชีพ" ในคอลัมน์คนไทยทำได้ ใน นสพ.มติชน วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 พอสรุปใจความได้ว่า การเลือกอาชีพได้ถูกต้อง ทำให้เราเอาศักยภาพที่เรามีออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด ให้เราเก่งในเรื่องที่เราอยากเก่ง ทำให้เรา Focus พลังของเราไปที่จุดๆ เดียว

คุณบัณฑิตเห็นว่า อาชีพที่ถูกต้องกับตัวคุณจะต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง

1.อาชีพคุณจะต้องเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเองสนใจและรัก

เน้นว่า *คุณเองสนใจ* ไม่ใช่คนอื่นๆ รอบตัวที่คิดว่าน่าจะใช่ อันนี้คุณต้องถามหัวใจคุณเองว่าพรสวรรค์ประจำตัวตามธรรมชาติของคุณคืออะไร

แน่นอน ถ้าคุณอยากเป็นนักบาสเกตบอลระดับนานาชาติ สามารถเล่นใน NBA ของอเมริกาเหมือน *เหยา หมิง* ของจีน แต่คุณสูงแค่ 165 เซนติเมตร ก็อาจเป็นเรื่องที่ลำบากหน่อย เพราะไม่ใช่พรสวรรค์ตามธรรมชาติของคุณ (แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้)

ถ้าคุณทำงานในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ นานๆ เข้าคุณก็จะเบื่อ และในที่สุดคุณก็จะเกลียดงานนั้น แล้วไฟก็จะมอด ทำงานไปก็เพื่อมีเงินเลี้ยงตนและครอบครัวอย่างเดียว แต่ไม่ได้ประสบถึงความยินดีปรีดาในการทำสิ่งที่ตนเองรัก

การทำในสิ่งที่ตนเองรักแล้วประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น มีคนยกย่องให้เกียรติ และให้ค่าตอบแทน สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี เป็นความรู้สึกแห่งความสำเร็จที่แท้จริง

2.ศึกษาด้วยตนเองจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ

ถ้าคุณสนใจงานประเภทไหนมากๆ คุณอยากจะเก่งในด้านนั้น คุณอยากจะได้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อที่จะเป็นเลิศในด้านนั้น หัวสมองคุณจะจดจำในเรื่องนั้นได้อย่างง่ายดาย

ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดก็ตาม แม้ว่าจะเป็นสาขาย่อย เล็ก หรือไม่ค่อยมีใครสนใจ ย่อมสามารถทำเงินได้มากกว่า คนที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญแน่นอน

การที่คุณเริ่มต้นที่ความรักในสิ่งที่ทำ ทำให้คุณอยากเก่งในเรื่องนั้นขึ้นเรื่อยๆ มีกำลังใจที่จะศึกษาจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับจังหวัด ระดับประเทศ หรือระดับโลก

3.รับใช้ผู้อื่น

กฎสองข้อแรกไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณไม่ได้รับใช้ผู้อื่น หรือทำให้ชีวิตผู้อื่นดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง

แค่การทำสิ่งที่ตนรัก และเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านนั้น จะไม่ให้รายได้ตอบแทนคุณได้ ถ้าคุณไม่ได้รับใช้ผู้อื่น

ยิ่งคุณรับใช้ผู้อื่นมากเท่าไร หรือยิ่งมีคนได้ประโยชน์จากคุณและการบริการหรือ สินค้าของคุณมากเท่าไร คุณก็ยิ่งรวยมากเท่านั้น

ข้อแนะนำ ถามตนเองสองคำถามนี้เสมอ จนหาคำตอบเจอ

1.เราจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำ (สิ่งที่คุณรัก) ได้อย่างไร? หรือ

2.เราจะเสนอบริการหรือสินค้าให้กับผู้อื่นโดยการทำ (สิ่งที่คุณรัก) ได้อย่างไร?

สิ่งที่ควรตระหนัก

อาชีพยังเปลี่ยนได้ แม้เลือกแล้ว มันไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นใหม่ ผู้พันแซนเดอร์ส แห่ง KFC เริ่มต้นกิจการยิ่งใหญ่ของเขาเมื่ออายุ 60 ปี หลังจากที่ล้มเหลวมาทั้งชีวิต

ผมเองไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยกับคุณบัณฑิตทั้งหมดหรือไม่ แต่ก็อยากจดไว้ในบล็อกนี้ก่อน อยากฟังท่านอื่นๆ เหมือนกัน (เพราะทุกคนก็มีอาชีพทำกันอยู่) ว่าคิดอย่างไร?

หมายเลขบันทึก: 99031เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมีอาชีพเป็นหมอ ครับ ระหว่างเส้นทางของอาชีพหมอก็ยังมีเส้นทางให้เลือก  ว่าเราอยากเป็นหมอแบบไหน  

แล้วก็ทุกวันนี้ก็ได้มีโอกาสทำงาน ที่เราเลือกและตัดสินใจไว้ มีความสุข สนุกกับงานมากครับ ผมอ่านวิธีเลือกงานของคุณบัณฑิต แล้วลองย้อนมาดูตัวเอง

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมาถึงวันนี้ ผมก็ผ่านเส้นทางที่คุณบัณฑิต บอกไว้ทั้ง 3 ข้อ แล้วก็พบว่า ในชีวิตคนคนหนึ่ง จะน่าเสียดายมาก ถ้าตลอดชีวิต ไม่รู้เลยว่างานที่ เหมาะสมกับ ตัวเอง  คืออะไร แล้วก็น่าเสียดายอย่างที่สุด ถ้าเรารู้ว่างานที่เหมาะสมกับเราคืออะไร แต่ไม่เลือก หรือไม่มีโอกาสที่จะทำมัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท