ครึ่งทาง (ร่าง) รัฐธรรมนูญ 2550


ก่อนหน้านี้ผมเคยได้ยินมาว่า คนชุมพรเป็นคน “เก็บกด” เรื่องราวหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหานำมาซึ่งความขัดแย้ง คนชุมพรเลือกที่จะไม่พูด ไม่ปริปาก ไม่ขอร้อง ฯลฯ แต่ถ้ากดดันมาก ๆ ก็จะ “จัดการเลย” ด้วยวิธีการของตนเอง

มาถึงวันนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านมาได้ครึ่งทางแล้วนะครับ เดือนมิถุนายน 2550 ตลอดทั้งเดือน สสร. ทั้งหมดจะต้องทำงานร่วมกับกรรมาธิการยกร่างแปรญัตติ เพื่อแก้ไข, ปรับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็นให้ออกมาเป็นร่างสุดท้าย ก่อนที่ สสร.จะสิ้นวาระการทำงานในวันที่ 6 กรกฎาคม 2550

อีกเพียงสี่สิบกว่าวันเราก็จะได้เห็น รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับที่จะนำเข้าสู่การลงประชามติภายในเดือนกันยายน 2550 ถ้า...ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างที่กลัวกันอยู่

ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จ.ชุมพร เราเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไป 5 ครั้ง และตัวผมเองได้รับเชิญให้ไปทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการรับฟังฯ พิเศษอีก 2 ครั้ง ได้ข้อมูลจากพี่น้องชาวชุมพรมามากทีเดียว ท่านที่สนใจในรายละเอียดติดตามอ่านได้ที่เว็บไซท์ ชุมพรเวที www.chumphonstage.com ผมขอนำภาพรวมมาสรุป ดังนี้

จาก 15 ประเด็นสำคัญที่กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอแนะให้เวทีรับฟังความคิดเห็นนำไปใช้พูดคุยกับประชาชน ปรากฏว่า ชาวชุมพรลงมติคัดเลือกตามความสำคัญและได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในเวที เรียงตามลำดับ ดังนี้

  1. ประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด (ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันมากที่สุดทั้ง 7 เวที) คือ
    - ข้อ 5 สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน และสิทธิชุมชน
    - ข้อ 15 ปัญหาการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

  2. ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 2 (6 เวที)
    - ข้อ 2 การกำหนดคุณธรรม จริยธรรมนักการเมืองและมาตรการ
    - ข้อ 3 จำนวนและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
    - ข้อ 4 จำนวนและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  3. ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 3 (5 เวที)
    - ข้อ 6 การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 4 (4 เวที)
    - ข้อ 7 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
    - ข้อ 8 คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ
  5. ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 5 (3 เวที)
    - ข้อ 1 คณะบุคคลเพื่อหาทางออกในยามวิกฤติของชาติ
    - ข้อ 14 ปัญหาการกระทำที่ขัดต่อผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ของรัฐ
  6. ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 6 (2 เวที)
    - ข้อ 9 20,000 รายชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
    - ข้อ 12 การคานและดุลยอำนาจใบแดงคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  7. ประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับสุดท้าย (1 เวที)
    - ข้อ 10 บทบาทใหม่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
    - ข้อ 11 การเพิ่มอำนาจและลดจำนวนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
    - ข้อ 13 การปรับอำนาจบทบาทตุลาการ อัยการให้เป็นอิสระมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นปลีกย่อยอีกหลายเรื่องที่ชาวชุมพรได้หยิบยกมาพูดในเวที ได้แก่ การยุบพรรคการเมือง, การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี, การค้าปลีกค้าส่ง, การควบคุมกำหนดเวลาขายสุรา, กฎหมายผู้ทำผิดกฎจราจร ฯลฯ การแสดงออกในเรื่องเหล่านี้ได้สาระที่ใกล้ตัวและเป็นประโยชน์มาก

ก่อนหน้านี้ผมเคยได้ยินมาว่า คนชุมพรเป็นคน เก็บกด เรื่องราวหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหานำมาซึ่งความขัดแย้ง คนชุมพรเลือกที่จะไม่พูด ไม่ปริปาก ไม่ขอร้อง ฯลฯ แต่ถ้ากดดันมาก ๆ ก็จะ จัดการเลย ด้วยวิธีการของตนเอง มาบัดนี้ผมเชื่อมั่นว่า เราใช้รูปแบบ สานเสวนา (Civic Dialogue) พูดคุยกันได้

ขอเพียงได้ร่วมกันสร้างโอกาส ฟัง-คิด-พูด ด้วยความเสมอภาคและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์..ซึ่งกันและกัน.

 

คำสำคัญ (Tags): #รัฐธรรมนูญ
หมายเลขบันทึก: 98877เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท