ร่างแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม กับ ความคมชัดลึกของรองนายกฯไพบูลย์


การทำแผนแม่บทดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานของนักการเงินการคลัง ที่มิใช่ทำหน้าที่เพียงแค่จัดการงบประมาณ หาเงินเข้าคลัง ประหยัดเงินงบประมาณ

25 พฤษภาคม  2550  ไปร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณาร่างแผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคม จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมกับ มสช. สสส. พม.

 

งานนี้มีนักข่าวไปร่วมมากเพราะมีรัฐมนตรีถึงสองท่านคือ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อ.ไพบูลย์)  กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (อ.ฉลองภพ)

 

สิ่งที่เราสนใจนอกจากตัวแผนแล้ว ยังสนใจ ที่มาที่ไปของแผน และ อยากรู้ว่าเครื่องมือทางการเงินการคลัง ได้แก่อะไรบ้าง  แต่เอกสารที่แจกมาให้อ่านก่อนจะมีเพียงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ มาตรการบางประการซึ่งยังดูกระจัดกระจายเขียนมาเป็นตัวตั้งไว้พูดคุยเฉยๆ

 

ที่มาที่ไปของแผน

 

ทีมงานเล่าให้ฟังว่า แผนแม่บทฯ นี้ มีที่มาจากการพิจารณา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10  แผนแม่บทการเงินการคลังเพื่อสังคมฉบับที่ 1 (2540-44) แผนแม่บทการเงินฐานราก (ที่เพิ่งผ่านกระทรวงการคลังหลังจากทำงานกันอยู่ 2 ปี) และยุทธศาสตร์กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

มีการพิจารณากรอบของแผนแม่บทฯมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 15 มีนาคม  และหลังจากประชุมวันนี้แล้วก็จะไปฟังความคิดเห็นที่จังหวัดในภูมิภาคต่างๆ

 

สรุปว่า ที่มาของร่างแผนฉบับนี้ ไม่ได้มีข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุน แต่มาจากแผนที่มีอยู่และความรู้จากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วม 

  

เครืองมือทางการเงินการคลัง

 

โดยหลักการ  ประกอบด้วย งบประมาณ ระบบภาษี บริการทางการเงิน การจัดการทรัพย์สินของรัฐ  การเงินเพื่อช่วยเหลือสังคม   ทั้งหมดนี้จะประมวลมาเป็นนโยบายสาธารณะ

 

ความคมชัดลึกของรองนายกฯ

 

ที่น่าสนใจสำหรับเราคือคำกล่าวของอาจารย์ไพบูลย์  ได้ความรู้มากทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และวิธีการทำยุทธศาสตร์...จากการฟังเพียง 30 นาที

 

ท่านกล่าวถึงข้อน่ายินดีที่ว่า  การทำแผนแม่บทดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานของนักการเงินการคลัง  ที่มิใช่ทำหน้าที่เพียงแค่จัดการงบประมาณ  หาเงินเข้าคลัง หรือประหยัดเงินงบประมาณ  นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย และเป็นการทำงานที่เริ่มจากการคิดถึงสังคมที่พึงปรารถนา

 

ท่านกล่าวถึงสังคมที่พึงปรารถนาโดยยกเอาตัวอย่างแนวคิดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ว่าสังคมที่พึงปรารถนาประกอบด้วย (1) สมรรถภาพ (อ.ไพบูลย์ตีความว่าเท่ากับความเข้มแข็ง)   (2) เสรีภาพ (3) เป็นธรรมทางสังคม (4) ความเมตตากรุณา

 

ท่านเล่าให้ฟังถึงการทำแผนแม่บทฯฉบับที่ 1 ที่ท่านมีส่วนร่วมในขณะนั้นในฐานะเอ็นจีโอว่า  มรว.จตุมงคล  โสณกุล ในฐานะ รมต.คลังบอกว่าให้มีแค่ 2-3 มาตรการสำคัญ  ซึ่งผลลัพธ์จากแผนแม่บทฯฉบับที่ 1  ก็ทำเพียง 3  เรื่อง คือ  (1)  พอช.ในปัจจุบัน (2)  สสส  (3) แนวคิดกองทุนประกันพืชผลการเกษตร (การจัดตั้งไม่สำเร็จเพราะขาดผู้ร่วมลงขัน มีแต่ ธกส.)

  

อาจารย์ไพบูลย์บอกว่า ผลลัพธ์ (output) เพียงสองเรื่องจากแผนแม่บทฉบับแรกส่งผลกระทบ (impact) ในวงกว้าง   ท่านจึงอยากให้แผนแม่บทฉบับใหม่นี้ เลือกทำเรื่องสำคัญเพียงไม่กี่เรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมีนัยสำคัญ

  

ท่านสอนว่า  ไม่ควรเอาผลลัพธ์มาเป็นยุทธศาสตร์  ยุทธศาสตร์เหมือนการทำแผนการรบ  อาจจู่โจมเพียงไม่กี่จุดสำคัญ  ไม่ต้องดาหน้าทั้งกองทัพ     ในยุทธศาสตร์ให้มีเพียง 2-3 มาตรการก็พอ

  

แล้วท่านก็เสนอมาตรการ 4 เรื่องที่ท่านเห็นว่าควรทำ (1) ภาษีทรัพย์สิน  (2) ภาษีมรดก (3) ภาษีส่งเสริมการให้และอาสาสมัครเพื่อสังคม (4) ปรับกลไกการทำงานกองทุนประกันสังคมจากราชการสู่องค์กรมหาชน  โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของ กบข.

  

คุณศิริวรรณ เจนการ ผอ.มูลนิธิบูรณะชนบทฯ คนปัจจุบันเคยเล่าให้เราฟังในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์ไพบูลย์ว่า   อาจารย์ไพบูลย์ใช้คำว่า คิดใหม่ทำใหม่  มาก่อนไทยรักไทยเสียอีก

  

ในที่ประชุมครั้งนี้ เราได้ฟังคำคมๆจากอาจารย์ไพบูลย์อีกครั้ง   ท่านบอกว่า  คนอาจมองว่าการทำสิ่งใหม่ๆเป็นความเสี่ยง   แต่ การไม่ทำอะไร ก็เป็นความเสี่ยงเหมือนกัน

   

เดิมเราคิดว่า จะพูดถึงรายละเอียดของแผนแม่บท   แต่ดูแล้ว  ร่างที่มีขณะนี้กับแผนที่จะเกิดวันข้างหน้าอาจจะห่างไกลกันอยู่  ก็เลย เก็บไว้ก่อน   ยกเว้นวิสัยทัศน์ที่เราคิดว่าคงจะไม่เปลี่ยนแล้ว ก็คือ  "สังคมมีความสุข  มีภูมิคุ้มกัน และสามารถพึ่งตนเองได้

  
หมายเลขบันทึก: 98841เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท